บทวิเคราะห์: ค่าเงินบาทกับเศรษฐกิจไทย

ดร.ชยงการ ภมรมาศ 8 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 3756 ครั้ง

ดูเหมือนว่าความหวังที่จะใช้ภาคส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คงจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่มีเพียงเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นก็อยู่ระหว่างการต่อสู้กับภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำและเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนจีนเองก็ค่อนข้างพึงพอใจกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับประมาณร้อยละ 7 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการเจริญเติบโตอย่างมากในอดีต ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยล้วนอยู่ในภาวะที่ไม่สดใสนัก ภาคส่งออกของไทยคงจะต้องพยายามอย่างมากที่จะเร่งตัวเลขการส่งออกให้ถึงเป้าหมายที่ประมาณร้อยละ 4 ดังที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งความหวังไว้ในปี 2558

นอกจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกแล้ว ภาคการส่งออกของไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ ‘สงครามค่าเงิน’ ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้วในขณะนี้ ภาวะสงครามค่าเงินที่ว่าก็คือสถานการณ์ที่ประเทศต่างๆ ต้องการให้ค่าเงินของตนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินของประเทศอื่น ตั้งแต่ต้นปี 2558 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) โดยธนาคารกลางยุโรปจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเดือนละ 60,000 ล้านยูโรทุกๆ เดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 จนถึงเดือนกันยายน 2559 และเมื่อถึงกำหนดเดือนกันยายน 2559 แล้วหากภาวะเงินเฟ้อและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ธนาคารกลางยุโรปก็สามารถขยายอายุมาตรการ QE ต่อไปได้อีก กล่าวโดยสรุปก็คือภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีครึ่งจากนี้จะมีเม็ดเงินอย่างน้อย 1.1 ล้านล้านยูโรจากธนาคารกลางยุโรปไหลเข้าสู่ระบบการเงินโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศใช้มาตรการ QE  

ผลกระทบของมาตรการ QE ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่ใช้เงินยูโรเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้ประกาศยกเลิกการผูกค่าเงินของตนกับค่าเงินยูโรก่อนที่ธนาคารกลางยุโรปจะประกาศใช้มาตรการ QE เพียงไม่กี่วัน ธนาคารกลางของเดนมาร์ก อินเดีย ต่างก็ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศตนลง โดยคาดหวังว่าการลดลงของอัตราดอกเบี้ยจะช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้าและทำให้ค่าเงินของตนอ่อนตัวลงได้

สาเหตุที่ประเทศต่างๆ ไม่ต้องการให้ค่าเงินของตนแข็งค่าก็เนื่องมาจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่งออก ยกตัวอย่างเช่น ข้าวสารไทย 1 กระสอบมีราคาจำหน่าย 1,200 บาทหากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 40 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ และไม่มีต้นทุนอื่นๆ ในการขนส่งข้าวสารไปขายที่สหรัฐอเมริกา ราคาข้าวสาร 1 กระสอบที่สหรัฐอเมริกาจะเท่ากับ 30 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าต่อมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็น 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (เงินบาทแข็งค่าขึ้นก็คือใช้เงินบาทจำนวนน้อยลงในการแลกเงินดอลลาร์สหรัฐ 1 ดอลลาร์) ข้าวสาร 1 กระสอบซึ่งมีราคาเป็นเงินบาทเท่าเดิมที่ 1,200 บาทจะมีราคาขายในประเทศสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นเป็น 40 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาข้าวสารของไทยที่สูงขึ้นนี้จะส่งผลให้ข้าวสารไทยขายยากขึ้น หากรายได้ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาข้าวสารของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ผลกระทบของค่าเงินต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกของประเทศจะยิ่งรุนแรงขึ้นหากค่าเงินของประเทศคู่แข่งอ่อนค่าหรือแข็งค่าน้อยกว่าเพราะจะทำให้ราคาสินค้าส่งออกของประเทศคู่แข่งมีความได้เปรียบเพิ่มขึ้น

ในขณะนี้ภาคการส่งออกของไทยก็กำลังเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินของประเทศอื่น ดังเห็นได้จากข้อมูลในตารางด้านล่าง ซึ่งแสดงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินสกุลต่างประเทศเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคม 2557 กับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งจะพบว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศเกือบทุกสกุล ยกตัวอย่างเช่นค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 1 เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับเงินยูโร สาเหตุที่เงินบาทไทยแข็งค่ามากกว่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรก็เพราะว่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังมีปัญหามากในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน

 

มกราคม 2557

5 กุมภาพันธ์ 2558

อัตราการเปลี่ยนแปลง

ดอลลาร์สหรัฐ

32.943

32.604

ร้อยละ -1.03

ปอนด์อังกฤษ

54.2428

49.5175

ร้อยละ -8.71

ยูโร

44.8702

36.9918

ร้อยละ -17.56

เยนญี่ปุ่น (ต่อ 100 เยน)

31.6809

27.8271

ร้อยละ -12.16

ริงกิตมาเลเซีย

9.9825

9.1248

ร้อยละ -8.59

ดอลลาร์สิงคโปร์

25.881

24.1854

ร้อยละ -6.55

รูเปียอินโดนีเซีย

2.703

2.5833

ร้อยละ -4.43

 ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทนั้นไม่ได้แข็งค่าขึ้นเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เท่านั้น แต่เงินบาทก็ยังแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย โดยค่าเงินบาทแข็งขึ้นประมาณร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับเงินริงกิตมาเลเซีย และแข็งค่าขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สิงคโปร์

เงินบาทที่แข็งค่ามิได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยเฉพาะด้านขีดความสามารถในการแข่งขันเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบกับรายได้ของผู้ส่งออกด้วยทั้งนี้ เพราะในการค้าระหว่างประเทศจะนิยมใช้เงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐและยูโร ในการชำระเงินระหว่างประเทศ ดังนั้น หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นรายได้ของผู้ส่งออกเวลานำมาแลกกลับเป็นเงินบาทก็จะลดลงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรของผู้ส่งออกด้วย

ปัญหาที่จะต้องขบคิดกันคงไม่ใช่ประเด็นที่ว่า

เศรษฐกิจไทยจะไม่ขยายตัวเพราะค่าเงินบาทแข็ง

แต่น่าจะเป็นประเด็นที่ว่าเราจะดูแลกลุ่มผู้มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ

แม้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกโดยเฉลี่ยทุกประเภท แต่ผลกระทบที่มีต่อผู้ผลิตสินค้าแต่ละประเภทจะแตกต่างกัน โดยสินค้าส่งออกที่มีส่วนประกอบของการนำเข้าสูงจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าสินค้าส่งออกที่มีส่วนประกอบของการนำเข้าต่ำ สินค้าที่มีส่วนประกอบของการนำเข้าสูง เช่น สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์นั้นประเทศไทยยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้น เมื่อค่าเงินบาทแข็งก็ย่อมส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าชิ้นส่วนเหล่านี้ลดลงตามไปด้วย ในขณะที่สินค้าที่มีส่วนประกอบของการนำเข้าต่ำ เช่น สินค้าเกษตรจะไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าใดนักจากการลดลงของต้นทุน แต่จะได้รับผลกระทบมากกว่าจากรายได้และกำไรในรูปเงินบาทที่ลดลง ดังนั้น หากค่าเงินบาทยังคงแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบสูงก็คือกลุ่มผู้ส่งออกที่มีต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินบาท เช่น กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตรกรรม ในขณะที่กลุ่มผู้ส่งออกที่มีต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ (ผ่านการนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบ) เช่น กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรมนี้เป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญมาก ทั้งนี้เพราะในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ก็จะไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมภาคเกษตรกรรมให้มีรายได้ลดลงไปอีก และก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมส่วนใหญ่จะมีรายได้ไม่สูงนัก ดังนั้น หากไม่มีการบริหารจัดการในเรื่องนี้ให้ดีพอก็อาจจะส่งผลกระทบทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยในสังคมไทยจะยิ่งกว้างขึ้นไปอีก

 ความกังวลเกี่ยวกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนี้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเริ่มเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าดูแลให้เงินบาทอ่อนค่าลง เช่น มีข้อเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 2 โดยคาดหวังว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอันนำไปสู่การลดลงของอัตราดอกเบี้ยจะช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศและมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ขณะนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันมากระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นที่ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้จริงหรือไม่ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าการที่เงินทุนจะไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้นคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยเพียงปัจจัยเดียว การลดอัตราดอกเบี้ยจึงอาจจะไม่ตอบโจทย์ของการทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง เหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งหากปรับลดดอกเบี้ยลงอีกก็จะยิ่งส่งผลกับวินัยการออมของประชาชน

ก่อนอื่นคงต้องยอมรับกันว่าเหตุที่เงินบาทแข็งค่านั้น ส่วนสำคัญก็มาจากความเข้มแข็งของภาวะเศรษฐกิจไทยเองไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยแม้จะมีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่ก็คงจะมีผลได้ไม่นานนัก หากประเทศไทยยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องและมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สุดท้าย ค่าเงินบาทก็จะกลับมาแข็งค่าอีก

การลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะส่งผลในแง่ของการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแลค่าเงินบาทเพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนั้น คงเป็นการยากที่จะหวังให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลค่าเงินบาท หากธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงก็น่าจะเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (ปัจจุบันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยก็ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงค่อนข้างมากแล้ว) ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทอาจจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกลุอื่นไปอีกสักช่วงหนึ่ง แต่เมื่อการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นก็น่าจะส่งผลให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปรับลดลงได้ เพราะการลงทุนในโครงสร้างขนาดใหญ่จะต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศค่อนข้างสูง และอาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก็จะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเองได้ในอนาคต

ปัญหาที่จะต้องขบคิดกันคงไม่ใช่ประเด็นที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ขยายตัวเพราะค่าเงินบาทแข็ง แต่น่าจะเป็นประเด็นที่ว่าเราจะดูแลกลุ่มผู้มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ต้องพึ่งพิงการส่งออก ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขณะนี้อย่างไรมากกว่า ต่อจากนี้เราคงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีกลยุทธ์อะไรเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์สงครามค่าเงินที่จะเกิดขึ้นตลอดปี 2558 นี้ครับ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนลไน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: