สตรีนิยมกับมายาคติ 

ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี 9 มิ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 15914 ครั้ง


ผมใช้มายาคติในความหมายภาพลวงตา เพราะมายาคติทำงานโดยการบดบังความเป็นจริงของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา หลังจากนั้นก็บิดเบือนมันหรือสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เราเห็นและเข้าใจในสิ่งที่ผิดแปลกไปจากความเป็นจริง

มายาคติไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะกับสตรีนิยมเท่านั้น สำหรับสังคมไทย เราเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ผู้คนลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันอย่างทารุณพราะเขามีมายาคติต่อความคิดแบบคอมมิวนิสต์ว่าเป็นปีศาจร้ายที่จะมาทำลายชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์

ที่น่าสนใจในกรณีนี้คือ มายาคติที่มีต่อสตรีนิยมไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทั่วไปเท่านั้น ในบางครั้งแม้แต่คนที่สมาทานว่าตนเองเป็นนักคิดนักเคลื่อนไหวในแนวทางสตรีนิยมก็มีมายาคติดังกล่าวอยู่โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

สตรีนิยมไม่ได้พูดแต่เรื่องผู้หญิง

การพูดถึงปัญหาผู้หญิงมีมาตั้งแต่สมัยโบราณก่อนที่คำว่าสตรีนิยมจะถูกใช้อย่างเป็นทางการ คำว่า feminism พึ่งถูกนำมาใช้จริงๆในโลกตะวันตกเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งว่ากันว่าปรากฏในโลกภาษาอังกฤษครั้งแรกเพื่อการรณรงค์สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิง จากข้อเท็จจริงนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสตรีนิยมเริ่มต้นจากการพูดถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมและความทุกข์ยากของผู้หญิงเป็นหลัก

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสตรีนิยมสนใจแต่ปัญหาของผู้หญิงจนละเลยปัญหาอื่นๆ เพราะมีนักสตรีนิยมที่ให้นิยามว่าแนวคิดแบบสตรีนิยมคือการศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดจากความแตกต่างทางเพศสภาพ บางคนถือว่าสตรีนิยมสนใจว่าเพศสภาพทำให้คนมีที่ทางและประสบการณ์ในชีวิตทางสังคมต่างกันอย่างไร หรือเพศสภาพมีผลอย่างไรต่อการจัดระเบียบชีวิตทางสังคมของผู้คน นั่นจึงทำให้สตรีนิยมไม่สามารถศึกษาปัญหาต่างๆบนฐานของประสบการณ์ผู้หญิงแบบเป็นเอกเทศแยกขาดจากเพศอื่นๆได้ แต่ต้องศึกษาในความสัมพันธ์กับผู้ชาย และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องศึกษาเพศทางเลือกอื่นๆในสังคมไปด้วย

ในระยะหลังๆ เราจึงพบเห็นงานวิชาการโดยนักสตรีนิยมที่สนใจศึกษาในประเด็นที่หลากหลาย เช่นการศึกษาว่า “ความเป็นชาย” (masculinity) ส่งผลอย่างไรต่อการใช้ความรุนแรงอย่างเช่นการข่มขืนและการทำสงครามระหว่างรัฐ มีงานศึกษาการต่อต้านการเกณฑ์ทหารและลัทธิทหารนิยม (militarism) บนฐานคิดแบบเพศสภาพ หรือไปไกลถึงขนาดการศึกษาบทบาทของเพศสภาพต่อการตัดสินใจในเชิงนโยบายระหว่างประเทศ   

แน่นอนว่านอกจากการศึกษาผู้หญิงและผู้ชายแล้ว เรายังพบการศึกษาเพศทางเลือกต่างๆของสังคมโดยนักสตรีนิยมอยู่เป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่วิพากษ์วิจารณ์รสนิยมทางเพศที่วางอยู่บนฐานของรักต่างเพศ (heterosexuality) เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคนรักเพศเดียวกัน (homosexuality) การศึกษาที่ตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ทางเพศที่เรียกว่า Queer Theory การศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการแต่งงานของกลุ่ม LGBT หรือการศึกษาประสบการณ์การถูกกดขี่และถูกกระทำความรุนแรงของเพศทางเลือกบนฐานของวัฒนธรรมและศาสนาในพื้นที่ต่างๆของโลก  

ประเด็นที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าสตรีนิยมไม่ได้สนใจเฉพาะปัญหาความทุกข์ยากของผู้หญิงเท่านั้น แต่ให้ความสนใจประเด็นที่แตกต่างหลากหลาย โดยมีจุดร่วมการวิเคราะห์ปัญหาไปที่เพศสภาพในฐานะการจัดประเภท (category) แบบหนึ่งว่าส่งผลต่อประสบการณ์ทางสังคมของผู้คนอย่างไร   

นักสตรีนิยมไม่ได้มีแต่ผู้หญิง

ครั้งหนึ่งอาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ซึ่งเป็นผู้สอนวิชาทฤษฎีการเมืองแนวสตรีนิยมอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยโพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ว่า คนเพศสภาพหญิงไม่จำเป็นต้องมี feminist mind และ feminist mind ไม่ได้มีแต่ในคนเพศสภาพหญิง” ผมคิดว่านี่คืออีกมายาคติชุดสำคัญ ซึ่งผู้สมาทานว่าตนเองเป็นสตรีนิยมที่มีเพศสภาพหญิงชอบคิดว่าสตรีนิยมสมควรผูกขาดโดยผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายไม่สามารถที่จะเป็นนักสตรีนิยมหรือพูดปัญหาแทนผู้หญิงได้ เหตุผลเพราะผู้ชายไม่ใช่ผู้หญิง และดังนั้นจึงไม่มีทางเข้าใจและรับรู้ปัญหาของผู้หญิงได้ดีเท่าตัวผู้หญิงเอง

ความเข้าใจนี้มีปัญหาสองประการ  ประการแรก ประสบการณ์ของมนุษย์ไม่ได้วางอยู่บนฐานของเพศสภาพแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการจัดประเภททางสังคมในมิติอื่นๆ ที่ผสมปนเปและดำเนินไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นทางเศรษฐกิจ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ภูมิภาค ฯลฯ นั่นทำให้ข้ออ้างที่ว่าคนมีเพศสภาพเดียวกันเท่านั้นที่เข้าใจปัญหาได้ดีกว่าคนเพศสภาพอื่นเป็นข้อสรุปที่ผิดพลาด ข้อถกเถียงภายในของวงวิชาการสตรีนิยมในระยะหลังก็ถกเถียงกันในประเด็นนี้ว่าสตรีนิยมรุ่นแรกๆ พูดถึงการปลดปล่อยผู้หญิงโดยเอาประสบการณ์และความปรารถนาของผู้หญิงผิวขาวชนชั้นกลางในโลกตะวันตกเป็นตัวตั้ง จนละเลยประสบการณ์การถูกกดขี่ของผู้หญิงในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกันออกไป ทำให้นำเสนอสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้หญิงจำนวนมาก เพราะพวกเธอเหล่านั้นไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีประสบการณ์การถูกกดขี่ร่วมกับนักสตรีนิยมกระแสหลักในยุคแรกๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ผู้หญิงผิวดำชนชั้นแรงงานในโลกนอกสังคมตะวันตกย่อมมีประสบการณ์การถูกกดขี่ที่ต่างออกไปจากผู้หญิงผิวขาวชนชั้นกลางในสังคมตะวันตกอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นข้อสรุปที่ว่าผู้หญิงเท่านั้นที่เข้าใจผู้หญิงจึงเป็นเรื่องผิด

ประการที่สอง แนวคิดทฤษฎีของสตรีนิยมในหลายตระกูล ไม่ได้ถูกริเริ่มหรือคิดค้นขึ้นมาโดยผู้หญิงราวกับว่าสตรีนิยมเริ่มจากความว่างเปล่าและเป็นเอกเทศจากแนวคิดอื่นๆ ทางสังคม ในหลายครั้งสตรีนิยมหยิบยืมเอาคำอธิบายของแนวคิดทฤษฎีอื่นๆ มาประยุกต์ใช้กับสตรีนิยมเอง บ้างก็หยิบยืมมาโดยตรงในลักษณะการผสมผสานทางความคิด บ้างก็ต่อยอดเพิ่มเติมจากแนวคิดที่หยิบยืมมาให้ไปไกลกว่าเดิม บ้างก็วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดอื่นและนำไปสู่การคิดค้นแนวคิดทฤษฎีที่ต่างออกไปโดยมีลักษณะเฉพาะแบบสตรีนิยมเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแนวคิดทฤษฎีทั้งหลายที่สตรีนิยมไปหยิบยืมมานั้นจำนวนไม่น้อยก็มาจากนักคิดที่เป็นผู้ชาย นั่นจึงแปลว่าไม่ได้มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถคิดค้นคำอธิบายปัญหาของผู้หญิงได้

ตัวอย่างที่สำคัญในกรณีนี้คือนักปรัชญาสายเสรีนิยมคนสำคัญที่ชื่อ John Stuart Mill ซึ่งสตรีนิยมในตระกูลเสรีนิยม (liberal feminism) ได้รับอิทธิพลการอธิบายปัญหาความไม่เท่าเทียมของผู้หญิงมาจาก Mill อย่างมาก โดยเฉพาะจากหนังสือเล่มสำคัญของเขาที่ชื่อ The Subjection of Women

ภาพจาก Amazon

ไม่สำคัญว่า Mill จะนิยามว่าตนเองเป็นนักสตรีนิยมหรือไม่ อิทธิพลทางปัญญาของเขาที่มีต่อสตรีนิยมตระกูลเสรีนิยมมีความสำคัญอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นทำให้ความเข้าใจที่ว่าผู้หญิงคือผู้ผูกขาดคำอธิบายปัญหาของผู้หญิงและผู้ชายไม่สามารถทำได้นั้นเป็นมายาคติอย่างชัดเจน 

สตรินิยมไม่จำเป็นต้องเกลียดผู้ชาย

ในหนังสือ “สตรีนิยม: ขบวนการและแนวคิดทางสังคมแห่งศตวรรษที่ 20” ของ วารุณี ภูริสินสิทธิ์ ซึ่งเป็นตำราภาษาไทยที่อธิบายพัฒนาการของแนวคิดสตรีนิยมอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นบทแรกด้วยการอภิปรายว่า ในประเทศไทย คำว่าสตรีนิยม หรือ Feminism ค่อนข้างมีความหมายในเชิงลบ คนมักจะเข้าใจว่า นักสตรีนิยม หรือ เฟมมินิสต์ (feminist) หมายถึงผู้หญิงที่อยากมีหนวด ต้องการสำส่อนทางเพศอย่างที่ผู้ชายเป็น” และ เกลียดผู้ชาย

ภาพจาก ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน

ภาพความเข้าใจที่ว่าสตรีนิยมต้อง “เกลียดผู้ชาย” นี้ปรากฏโดยทั่วไปต่อผู้คนในสังคม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สตรีนิยมจะได้รับการปฏิเสธทั้งจากผู้ชายและผู้หญิงที่มีภาพความเข้าใจสตรีนิยมในลักษณะเช่นนั้น แม้แต่ผู้หญิงบางคนที่สมาทานตนเองว่าเป็นนักสตรีนิยมก็คิดไปว่าการเป็นนักสตรีนิยมของตนเองคือการต้องเกลียดผู้ชาย ปฏิเสธความข้องเกี่ยวกับผู้ชายอย่างสุดโต่ง กล่าวโทษและโยนความผิดที่เกิดกับผู้หญิงทั้งหมดว่ามีผู้ชายเป็นสาเหตุ และมองผู้ชายเป็นที่มาแห่งความชั่วร้ายทั้งปวงที่เกิดกับผู้หญิง 

ผมคงไม่ปฏิเสธว่าในขบวนการสตรีนิยมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีผู้สมาทานตนเองเป็นสตรีนิยมอยู่จำนวนไม่น้อย ย่อมต้องมีคนที่นิยามสตรีนิยมในความหมายว่าต้องเกลียดและแยกตัวจากผู้ชายเป็นส่วนหนึ่งของสตรีนิยมอยู่ด้วย แต่ถ้าเข้าใจว่านั่นคือภาพทั้งหมดและสตรีนิยมจำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น ผมคงต้องบอกว่านั่นคือความเข้าใจที่ผิดพลาด เพราะสตรีนิยมไม่ได้มีลักษณะเป็นเอกภาพซึ่งเป็นประเด็นที่จะอภิปรายต่อไปข้างหน้า แต่สตรีนิยมมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปหลายตระกูลคิด ทำให้สตรีนิยมหลายตระกูลไม่ได้เกลียดผู้ชาย ไม่ได้มองผู้ชายเป็นศัตรูและไม่ได้เสนอให้ผู้หญิงต้องแยกขาดจากผู้ชายอย่างสิ้นเชิง

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างมาสตรีนิยมตระกูลไหนสุ่มเสี่ยงมากที่สุดที่จะมีภาพลักษณ์ว่าเกลียดผู้ชายก็คงเป็นสตรีนิยมสายสุดขั้ว (radical feminism) ที่มองว่าปัญหาของความไม่เท่าเทียมและการกดขี่ผู้หญิงอยู่ที่โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบนิยมชาย (patriarchy) ที่หลายคนชอบแปลว่าระบบปิตาธิปไตยหรือระบบชายเป็นใหญ่ (ไม่ได้โทษว่าปัญหาเกิดจากผู้ชายที่เป็นตัวบุคคล) ซึ่งวิธีแก้ไขที่สตรีนิยมตระกูลนี้นำเสนอเพื่อให้ผู้หญิงหลุดออกจากโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมนี้ได้ คือยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Political Lesbianism หรือการเป็นเลสเบี้ยนในเชิงการเมือง โดยเสนอให้ผู้หญิง “แยกตัว” (separate) จากผู้ชายในทุกมิติและหันมาสร้างพื้นที่ของผู้หญิงเอง ผู้หญิงต้องมองผู้หญิงด้วยกันสำคัญมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงต้องไม่แต่งงานและต้องไม่มีลูกกับผู้ชาย บางคนถึงกับเสนอเลยว่าผู้หญิงควรจะต้องมีความรักและแต่งงานกับผู้หญิงด้วยกันเองเท่านั้น ซึ่งข้อเสนอแบบนี้ทำให้สตรีนิยมตระกูลสุดขั้วได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากทั้งจากคนนอกที่ไม่ใช่นักสตรีนิยม กระทั่งโดนวิจารณ์อย่างหนักจากนักสตรีนิยมด้วยกันเองที่อยู่ตระกูลอื่นว่าสุดขั้วเกินไป มองผู้ชายในแง่ลบมากเกินไป กระทั่งมีลักษณะกดบังคับผู้หญิงให้ทำตามยุทธศาสตร์โดยไม่สนใจเจตจำนงเสรีที่จะเลือกใช้ชีวิตแบบไหนก็ได้ของผู้หญิงไป 

การวิจารณ์จากสตรีนิยมตระกูลอื่นที่มีต่อสายสุดขั้วเป็นข้อพิสูจน์ที่สำคัญว่าสตรีนิยมไม่จำเป็นต้องเกลียดผู้ชายและไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้ผู้หญิงเลิกยุ่งกับผู้ชายอย่างที่หลายคนเข้าใจ 

สตรินิยมไม่ใช่เรื่องเดียวกับสิทธิสตรี

ความสับสนอย่างมากอีกประการหนึ่งที่พบได้บ่อยครั้ง คือความเข้าใจว่าสตรีนิยมเป็นอย่างเดียวกับสิทธิสตรี บางคนถึงขนาดแปลคำว่า feminism เป็นภาษาไทยว่าสิทธิสตรีเลยด้วยซ้ำ   

เหตุผลที่บอกว่าเกิดความสับสนเพราะสองอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกันถึงแม้มีความเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะภาษาและหลักการที่ใช้ในการเรียกร้องของกลุ่มสิทธิสตรีคือภาษาที่ได้รับอิทธิพลมาจากสตรีนิยมสายเสรี (liberalist feminism) อย่างไม่ต้องสงสัย นั่นคือภาษาและหลักการเรื่องสิทธิและเสรีภาพ อาจกล่าวได้ว่าสิทธิสตรีเป็นส่วนขยายของสตรีนิยมตระกูลหนึ่งเท่านั้นเอง (ความจริงแล้วก็มีการถกเถียงกันอยู่มากว่าสิทธิสตรีกับสตรีนิยมมีความต่างกันอย่างไร แต่คงไม่สามารถนำมาอภิปรายได้ในที่นี้)

ภาษาและหลักการแบบสตรีนิยมสายนี้มีเป้าหมายหลักคือเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายและสถาบันต่างๆ เพื่อให้ผู้หญิงมีความเท่าเทียมกับผู้ชายในทุกมิติ ทั้งสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง สิทธิในการศึกษา สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน สิทธิในการเล่นการเมืองและเป็นผู้นำ และเสรีภาพในการดำเนินชีวิตในพื้นที่สาธารณะอย่างผู้ชาย ซึ่งถือเป็นแง่มุมข้อเรียกร้องที่คนส่วนใหญ่ยอมรับและเข้าใจได้ง่ายที่สุด จึงไม่แปลกว่าทำไมในหลายครั้งสิทธิสตรีจึงถูกมองว่าเป็นอย่างเดียวกับสตรีนิยม  เพียงแต่ว่านั่นไม่ใช่ภาพทั้งหมดของสตรีนิยมอย่างแน่นอนเพราะย่อมมีสตรีนิยมในตระกูลอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดแบบนี้  

หลายคนอาจไม่เชื่อว่ามีนักสตรีนิยมที่วิพากษ์วิจารณ์ความคิดเรื่องสิทธิของผู้หญิงอยู่ด้วย นักสตรีนิยมประเภทนี้วิพากษ์วิจารณ์วิธีคิดแบบสตรีนิยมสายเสรีกับกลุ่มสิทธิสตรี ว่าเรียกร้องเพียงแค่ให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะได้แบบผู้ชาย เรียกร้องให้ผู้หญิงทำได้ทุกอย่างแบบผู้ชาย แต่ไม่สนใจว่ากติกาที่กำกับควบคุมอยู่ในพื้นที่สาธารณะไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

หมายความว่า แม้ผู้หญิงจะมีความเท่าเทียมกับผู้ชายมากขึ้นแล้วในมิติต่างๆ ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจและการเมือง แต่กติกาที่กำกับควบคุมพื้นที่สาธารณะอยู่ก็ยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ดีระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ซึ่งเป็นประเด็นที่กลุ่มสิทธิสตรีและสตรีนิยมสายเสรีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ให้ความสำคัญมากพอ 

กรณีตัวอย่างของไทยค่อนข้างชัดเจนในเรื่องนี้เมื่อเรามีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงเป็นครั้งแรกที่ชื่อยิ่งลักษณ์ชินวัตร ถ้ามองจากมุมของสิทธิสตรี นี่คือชัยชนะและความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ เพราะจะมีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่ผู้หญิงขึ้นไปมีอำนาจเป็นผู้บริหารประเทศได้อีก

แต่สิ่งที่เราเห็นกับกรณีนายกฯยิ่งลักษณ์ก็คือเธอถูกปฏิบัติและคาดหวังจากสายตาของสังคมไม่เหมือนกับนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้ชาย เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแต่งกายเสื้อผ้าหน้าผม เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องร้องไห้ต่อหน้าสื่อ เธอถูกจับผิดหลายแง่มุมในแบบที่ผู้นำชายไม่เคยโดนมาก่อน มันแปลว่าถึงแม้ผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะได้แบบผู้ชายแล้ว ไม่ได้แปลว่ากติกาและความคาดหวังของสังคมในพื้นที่สาธารณะจะปรับเปลี่ยนมีความเท่าเทียมตามไปด้วย  ข้อวิจารณ์นี้จึงมองว่าการเสนอเรื่องสิทธิสตรีเป็นเรื่องไม่เพียงพอ แต่ต้องต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนกติกาและวัฒนธรรมที่กำกับควบคุมความคาดหวังของสังคมไปพร้อมๆกันด้วย

สตรีนิยมบางตระกูลวิจารณ์ว่าภาษาและหลักการแบบสตรีนิยมสายเสรีรวมทั้งสิทธิสตรีให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในพื้นที่สาธารณะมาก จนละเลยปัญหาความไม่เท่าเทียมและการกดขี่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัวอย่างเช่นในครอบครัว/ครัวเรือน เพราะไปมองว่าพื้นที่ส่วนตัวนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติและปราศจากความเป็นการเมือง ทั้งๆที่พื้นที่ส่วนตัวนั้นเต็มไปด้วยความเป็นการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิงอยู่มาก ซึ่งเป็นความไม่เท่าเทียมที่ทำงานได้แนบเนียนกว่าในพื้นที่สาธารณะเสียอีก ดังที่มีคำขวัญอันโด่งดังในหมู่สตรีนิยมว่า “The personal is political” 

สตรินิยมไม่ได้เป็นเอกภาพ

จากมายาคติจำนวนหนึ่งที่ผมนำเสนอพร้อมตัวอย่างนำมาสู่ข้อสรุปสุดท้ายที่ว่าสตรีนิยมคือแนวคิดทางวิชาการและขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพภายในแต่อย่างใด แต่สตรีนิยมมีความแตกต่างหลากหลายระหว่างตระกูลคิดต่างๆ อย่างมากจนอาจกล่าวได้ว่า คู่ถกเถียงที่สำคัญที่สุดของสตรีนิยมคือสตรีนิยมด้วยกันเอง

สตรีนิยมแต่ละตระกูลถกเถียงโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์กันไปมาในประเด็นปัญหาทางสังคมต่างๆ มากมาย ในหลายเรื่องมีความเห็นที่แตกต่างกันจนยากที่จะหาจุดร่วมหรือจุดยุติที่เห็นพ้องต้องกันได้

ผมขอยกตัวอย่างเรื่องเดียวที่ชี้ให้เห็นความไม่เป็นเอกภาพของสตรีนิยมคือการค้าบริการทางเพศ คู่ถกเถียงที่สำคัญต่อประเด็นปัญหานี้คือสตรีนิยมสายเสรี (liberal feminism) กับสตรีนิยมสายสุดขั้ว (radical feminism)

สตรีนิยมสายเสรีมองว่าการค้าบริการทางเพศโดยผู้หญิงเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะตระกูลนี้ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการเลือกทางเลือกในชีวิตของปัจเจกว่ามีความสำคัญสูงสุด เพราะปัจเจกเป็นหน่วยหลักและดำรงอยู่ก่อนสังคมโดยรวม และยังเชื่อว่าการมีเสรีภาพของผู้หญิงจะทำให้เธอได้ลองผิดลองถูกจนค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง ทำให้สังคมโดยรวมก็จะได้รับประโยชน์จากการมีเสรีภาพดังกล่าวตามไปด้วย การค้าบริการทางเพศจึงไม่ใช่เรื่องผิดในมุมมองของเสรีนิยมตระกูลนี้

ในขณะที่สตรีนิยมสายสุดขั้วมองว่าการค้าบริการทางเพศเป็นการผลิตซ้ำโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมของระบบนิยมชาย เป็นการลดทอนผู้หญิงให้กลายเป็นเพียงวัตถุทางเพศ (sex object) เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของผู้ชาย และมักอธิบายว่าผู้หญิงไม่ได้เลือกค้าบริการทางเพศอย่างเต็มใจ แต่เกิดจากการถูกบีบบังคับโดยสถานภาพทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีชีวิตรอด นักสตรีนิยมตระกูลนี้จึงไม่ได้มองว่าการค้าบริการทางเพศเป็นทางเลือก (choice) ที่เสรีจริงๆแบบที่สายเสรีนิยมมองแต่อย่างใด

ผมขอปิดท้ายด้วยการฝากไปถึงทั้งคนภายนอกที่วิพากษ์วิจารณ์สตรีนิยมและคนที่สมาทานตนเองว่าเป็นนักสตรีนิยม

สำหรับคนที่วิพากษ์วิจารณ์สตรีนิยม ผมร้องขอให้ทำการวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป เพราะสตรีนิยมไม่ได้เป็นแนวคิดที่ดีสมบูรณ์แบบในตัวเอง แต่มีจุดอ่อนและข้อผิดพลาดที่หลายครั้งก็เป็นเรื่องยากสำหรับคนในฝ่ายสตรีนิยมที่จะมองเห็นมันด้วยตนเอง ดังนั้นคำวิจารณ์จากคนนอกจึงย่อมมีประโยชน์ต่อการพัฒนาแนวคิดและขบวนการเคลื่อนไหวเสมอไม่มากก็น้อย เพียงแต่ผมอยากให้วิพากษ์วิจารณ์จากสิ่งที่สตรีนิยมเป็นจริงๆ ไม่ใช่วิจารณ์ไปที่ภาพมายาคติที่สตรีนิยมไม่ได้เป็น 

ในฝ่ายของขบวนการสตรีนิยม ผมในฐานะคนซึ่งสนใจติดตามความเคลื่อนไหวตลอด ขอเป็นกำลังใจให้คนทำงานเคลื่อนไหวที่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหามากมายที่ยังดำรงอยู่อย่างไม่ลดละ หลายคนอาจจะรู้สึกท้อถอยจากหลายสาเหตุ

เหตุผลหนึ่งอาจจะมาจากความรู้สึกว่าทำไมต่อสู้เคลื่อนไหวมายาวนานแล้วปัญหาต่างๆ ยังไม่หมดไปเสียที ผมคงต้องตอบว่าเพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่เกี่ยวข้องกับความคิดความเชื่อของคน ดังนั้นอาจใช้เวลายาวนานมาก กว่าที่เราจะเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม แค่เพียงเพราะเราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นไม่ได้แปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างหยุดนิ่งอยู่กับที่  เพราะบางครั้งความเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ไม่ได้เกิดอย่างรวดเร็วและพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในวันสองวัน แต่ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในระดับย่อยไปทีละเล็กละน้อย ค่อยๆสะสมความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆจนกระทั่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ในที่สุด ดังนั้นความพยายามของคนตัวเล็กๆจึงมีประโยชน์ต่อขบวนการเสมอ

อีกเหตุผลหนึ่งอาจจะมาจากความรู้สึกท้อเพราะคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนนอก ผมอยากจะบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่มีขบวนการทางสังคมหรือแนวคิดใดๆ ที่ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในฐานะมนุษย์ปุถุชน นักสตรีนิยมย่อมสามารถผิดพลาดได้ บางครั้งคนในขบวนการก็สามารถวินิจฉัยปัญหาผิดพลาดและนำไปสู่การแก้ปัญหาผิดทาง สิ่งที่ทำได้ยากคือการยอมรับความผิดพลาดของฝ่ายตนเองและวิพากษ์วิจารณ์มันอย่างตรงไปตรงมา

อุปสรรคสำคัญคือคนเรามักมองไม่เห็นตำแหน่งที่เรายืนอยู่ได้ชัดเจนเท่ากับคนนอก ดังนั้นคำวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์จากคนนอกจึงสามารถเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแก้ไขช่องโหว่ข้อผิดพลาดของขบวนการได้เสมอ

หากเราทำหูดับไม่รับฟังผู้อื่น เพราะคิดไปว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นมีเป้าหมายเพื่อความถูกต้องดีงาม จะทำอะไรก็ถูกไปหมดไม่ว่าคนอื่นจะทักท้วงอย่างไร เมื่อนั้นเราอาจไม่ได้แก้ปัญหามากเท่ากับกำลังสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา และเมื่อนั้นเราอาจกำลังกลายเป็นอะไรบางอย่างที่เราพยายามต่อสู้เพื่อโค่นล้มมันอยู่ก็เป็นได้  

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: