สื่อทางเลือกจับมือเปิดตัว เว็บไซต์ประชามติ www.prachamati.org สร้างพื้นที่รวบรวมความคิดเห็นต่อในร่างรัฐรรมนูญ ฉบับปี 2558 ด้านนักวิชาการชี้ รัฐธรรมนูญกลายเป็นวิกฤตสังคมไทย ขณะที่ภาคประชาสังคมแนะศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนลงประชามติ (ขอบคุณภาพจากทีมงานเว็บไซต์ประชามติ)
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ilaw สำนักข่าว Thaipublica สำนักข่าวประชาไท ร่วมแถลงข่าวการจัดทำเว็บไซต์ประชามติ www.prachamati.org ช่องทางให้ประชาชนลงประชามติออนไลน์รับ-ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยภายในงานประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมแสดงความเห็นถึงความสำคัญของการลงประชามติ
ประชามติ: เปิดพื้นที่ให้ประชาชนพูด
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการลงประชามติว่า จากการพิจารณาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะพบว่าสวนทางกับพัฒนาการทางการเมืองในรอยสิบปี ที่พัฒนาการไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเมื่อพิจารณาเนื้อหากหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนุญจะพบว่าไม่ได้เปิดช่องให้มีการแก้ไข
“เมื่อใดก็ตามที่เปิดช่องให้มีการลงประชามติ ประชาชนจะกล้าพูด กล้าออกความเห็นในประเด็นที่ตนต้องการ และเมื่อนั้น สปช. จะต้องฟังความเห็นประชาชน เพราะหากไม่ รัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชาม และเมื่อนั้นเราจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง”
และถ้าสถานการณ์เป็นแบบที่กล่าวมา สังคมจะเดินไปสู่ความขัดแย้งมากกว่าเดิม ถ้าอยากได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยต้องมีประชามติที่ทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยหวังว่าเว็บไซต์ประชามติจะเป็นอีกช่องทางแสดงความคิดเห็นเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่เป็นผลจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ไทย ไม่เคยพ้นวิกฤติรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ กล่าวถึงสายธารรัฐธรรมนูญในประเทศไทยว่า ประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีที่ผ่านมาสอนเราว่า รัฐธรรมนูญกลายเป็นวิกฤติร่วมสมัยที่ยังแก้ไม่จบ ความต้องการรัฐธรรมนูญในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกย้อนไปเมื่อ รศ.103 สมัยเดียวกับการปฏิวัติเมจิในประเทศญี่ปุ่น ขุนนางและเจ้านายสยามกลุ่มเล็กๆ บอกว่า สยามต้องรัฐธรรมนูญเพื่อเท่าทันกระแสโลก สามสิบปีให้หลัง ความต้องการัฐธรรมนูญแห่งสยามปะทุขึ้นอีกครั้งในเหตุการณ์กบฎ รศ.130 สุดท้ายสำเร็จที่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 สยามได้สัมผัสกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นฉบับแรก
อย่างไรก็ตามสภาพการณ์ปัจจุบันกลับบ่งชี้ว่า วิกฤติรัฐธรรมนูญยังไม่จบ เพราะเรายังไม่ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่มีรากฐานมาจากการเลือกตั้ง
แนะเสนอข้อมูลอย่างเพียงพอ
ด้านภาคประชาสังคม กรรณิการ์ กิติเวจกุล กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยจากแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่าตนเชื่อมั่นและสนับสนุนให้มีการลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ แต่ควรเป็นการลงประชามติที่มีคุณภาพ กล่าวคือ ควรเปิดให้มีการถกเถียงข้อดี ข้อเสีย ของรัฐธรรมนูญ ทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน จากนั้นค่อยจัดการลงประชามติ เนื่องจากจะทำให้มีข้อมูลในการตัดสินใจเพียงพอว่ารับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญเพราะเหตุใด
ขณะที่ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) เสนอเพิ่มว่า อยากให้เว็บประชามติ นำเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในบางมาตรา โดยเฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน อาทิ รัฐสวัสดิการ ขึ้นมาพิจารณา ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจจริงๆ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ