เอฟทีเอ ว็อทช์ ชี้ เจรจา RCEP ต้องโปร่งใสและมีส่วนร่วม

9 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 1566 ครั้ง

ตามที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - Trade Negotiating Committee Meeting : RCEP-TNC) ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 9 - 13 กุมภาพันธ์ 2558 ณ กรุงเทพฯ

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) มองว่า การเจรจา RCEP แม้จะผ่านมาแล้วถึง 6 ครั้งแต่เนื้อหาการเจรจายังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของสาธารณะโดยเฉพาะข้อดีและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเจรจา งานวิจัยที่ทางกระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้สถาบันทีดีอาร์ไอดำเนินการก็ยังไม่แล้วเสร็จ ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่า กระบวนการการเจรจายังไม่มีขั้นตอนการหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน คณะเจรจาเองก็กระจุกตัวอยู่บางกระทรวงเท่านั้น

“หากเทียบกับการเจรจาการค้าภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กระทรวงต่างๆจะมีความกระตือรือล้นมากกว่ามีการทำงานวิจัยเพื่อเตรียมพร้อมการเจรจาหลายด้าน มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะประเด็นขึ้นมาเพื่อสร้างความเข้มแข็งของทีมเจรจา แต่เราพบว่า ในการเจรจา RCEP ที่เริ่มมีข้อเรียกร้องจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองการลงทุน และการเปิดเสรีบริการสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและระบบสาธารณสุขของประเทศ  แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับไม่ได้อยู่ในทีมเจรจา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก”

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ มองว่า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่สร้างผลกระทบเสียหายกับสาธารณชนโดยรวม  รวมถึงต้องไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งการเจรจา RCEP มีประเด็นที่กว้างกว่าการเจรจา ASEAN เดิมๆ เพราะขณะนี้ ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ยื่นข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการลงทุนที่ก้าวร้าวมากๆ

“ญี่ปุ่นยื่นข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุนแบบเดียวกับที่สหรัฐฯเสนอในการเจรจา TPP จนถูกประเทศสมาชิกต่อต้านอย่างมาก เพราะจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ทำลายระบบสาธารณสุข และทำให้บรรษัทและนักลงทุนมีอำนาจเหนือการควบคุมของรัฐบาลใดๆ ขณะที่ เกาหลีใต้ก็ยื่นข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุนแบบเดียวกับที่เกาหลีใต้ไปยอมสหรัฐฯและสหภาพยุโรปจนหมดสิ้นแล้ว ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศกำลังพัฒนาเลย”

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าวว่า อาเซียนต้องฟังประชาชนภาคส่วนต่างๆมากกว่านี้ และรัฐบาลไทยต้องทำให้การเจรจาโปร่งใสมากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่จะเร่งการเจรจาเสร็จสิ้นภายในปี 58

“แม้ขณะนี้จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพึงปฏิรูปการเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้ดีกว่าที่รัฐบาลนักการเมืองเคยทำไว้ ไม่ใช่เลวลง  มิเช่นนั้น ในที่สุด ผลของ RCEP จะกระจุกผลประโยชน์ตกที่ทุนใหญ่ทั้งในชาติและต่างชาติ โดยที่ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นการเจรจาการค้าที่ผ่านมาๆ โดยที่ครั้งนี้จะเป็นการทำลายโครงสร้างทางสังคมและสาธารณสุข”

และเพื่อเป็นการทำหน้าที่ของภาคประชาชนในการติดตามตรวจสอบ และทำงานร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันวิชาการต่างๆ เพื่อรักษาหลักการดังกล่าว โดยดำเนินการให้วิธีการในกระบวนการเจรจาทางการค้าฯ เป็นไปอย่างโปร่งใสและทำให้สาธารณชนเข้าใจ เอฟทีเอ ว็อทช์จึงได้ร่วมกับแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยาจัดเสวนาสาธารณะ หัวข้อ ‘RCEP การเจรจาการค้าในภูมิภาคที่ประชาชนต้องรู้’ ในวันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม D-Pak อาคารศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: