สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำข้อเสนอการปฏิรูปประเทศไทยไปพิจารณาจัดลำดับประเด็นที่สำคัญเร่งด่วน และคัดเลือกประเด็นที่สามารถดำเนินการปฏิรูปได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนที่จะเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ
รายงานฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 และเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ที่ผ่านมาสภาปฏิรูปแห่งชาติก็รับทราบรายงานข้อเสนอการปฏิรูปประเทศไทยของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับนี้แล้ว
รายงานฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีหน่วยงานที่จัดส่งข้อเสนอการปฏิรูปประเทศไทยให้สำนักงานฯ จำนวนทั้งสิ้น 27 หน่วยงาน ประกอบด้วย (1) สำนักนายกรัฐมนตรี (2) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (3) สำนักงบประมาณ (4) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (5) สำนักงานคณะกรรมการการกฤษฎีกา (6) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (7) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (8) กระทรวงการคลัง (9) กระทรวงการต่างประเทศ (10) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
(11) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (12) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (13) กระทรวงคมนาคม (14) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (15) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (16) กระทรวงพลังงาน (17) กระทรวงพาณิชย์ (18) กระทรวงมหาดไทย (19) กระทรวงยุติธรรม (20) กระทรวงแรงงาน (21) กระทรวงวัฒนธรรม (22) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (23) กระทรวงศึกษาธิการ (24) กระทรวงอุตสาหกรรม (25) กระทรวงสาธารณสุข (26) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และ (27) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
โดยหน่วยงานต่างๆ มีข้อเสนอที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้ (หมายเหตุ: ในรายงานชิ้นนี้เลือกตัวอย่างมาเฉพาะหัวข้อใหม่ๆ ของหน่วยงานที่น่าสนใจ ส่วนข้อเสนอรายหน่วยงานอย่างครบถ้วน สามารถดูได้ที่ ‘จับตา : ข้อเสนอปฏิรูปประเทศของหน่วยงานราชการต่างๆ’ ประกอบ)
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
การปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ข้าราชการรวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวได้ใช้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี จึงสมควรปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ตลอดจนมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อสนองพระมหากรุณาและรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศและคุณค่าแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมทั้งเพื่อให้เครื่องราอิสริยาภรณ์เป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติแก่บุคคลที่กระทำความดีความชอบแก่ราชการหรือสาธารณชนจนถึงขนาดสมควรได้รับการเสนอขอพระราชทานอย่างแท้จริง และให้ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มีขวัญ กำลังใจ ในการมุ่งมั่นปฏิบัติราชการหรือการอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนด้วยความวิริยะ อุตสาหะ สืบไป
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงเสนอให้ 1) จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ.2536 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2) ดำเนินการยกเลิกระเบียบตามข้อ 1) และประกาศใช้ระเบียบฉบับใหม่
สำนักงบประมาณ
ทบทวนองค์การมหาชน ควรมีการทบทวนหน้าที่และภารกิจขององค์การมหาชน เนื่องจากองค์การมหาชนส่วนใหญ่มีการดำเนินงานซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของส่วนราชการ อีกทั้งค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากกว่าข้าราชการ ซึ่งองค์การมหาชนอ้างถึงการเป็นมืออาชีพ แต่กลับพบว่าการดำเนินงานไม่ได้แตกต่างไปจากส่วนราชการ นอกจากนี้แล้ว องค์การมหาชนบางแห่งมิได้ทำประโยชน์ตามเจตนารมณ์ที่จัดตั้งขึ้น
สำนักงบประมาณจึงเสนอให้ 1) ควรมีการทบทวน ยุบ/เลิก องค์การมหาชน 2) การจัดตั้งองค์การมหาชนต้องดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งอย่างเคร่งครัด
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
จัดตั้งกระทรวง/ทบวงความมั่นคง เพื่อบูรณาการและสร้างเอกภาพในการจัดการงานความมั่นคงให้สามารถแก้ไขปัญหา และให้สามารถรองรับและป้องกันปัญหาความมั่นคงในอนาคต ส่วนในระยะเร่งด่วน สมช. เสนอให้มีการปรังปรุงแก้ไขระบบบริหารจัดการงานความั่นคงของประเทศโดยเสนอปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 เพื่อให้ สมช. มีบทบาทหลักในการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินซึ่งจะทำ เพื่อให้การขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างประสานสอดคล้องระหว่างมิติงานความมั่นคงและความมั่งคั่ง นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้ สมช. เข้าไปร่วมกำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณประจำปี เพื่อเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ นำไปสู่การมีระบบแผนและงบประมาณด้านความมั่นคงที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ สมช. กำลังอยู่ระหว่างการเสนอรัฐบาล
จัดตั้งศาลคดีความมั่นคง เสนอให้พิจารณาเพิ่ม ‘กฎหมายสำหรับการต่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพิ่มกฎหมายพิเศษเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับลักษณะของคดีด้านการก่อการร้ายและคดีด้านความมั่นคงซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป โดยเฉพาะการมีลักษณะการทำงานแบบขบวนการและเครือข่าย นอกจากนี้ อาจพิจารณาศึกษาเรื่องการจัดตั้ง ‘ศาลคดีความมั่นคง’ เพื่อให้สามารถพิจารณาประเด็นที่มีความอ่อนไหวและคุ้มครองพยาน ซึ่งอาจได้รับการปองร้ายจากสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย
กระทรวงการคลัง
ปรับปรุงประสิทธิภาพระบบภาษี ขยายฐานการเก็บภาษีประเภทใหม่ซึ่งจะเก็บจากทรัพย์สิน เช่น ภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งเร่งรัดและพัฒนาระบบประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อรองรับภาษีที่เก็บจากทรัพย์สิน, ปรับปรุงโครงสร้างภาษีทางด้านการค้า, ปรับปรุงการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้เหมาะสม เกิดประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อย และยกเลิกการยกเว้นภาษีหรือการลดหย่อนที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีฐานะการเงินดีเพื่อความเป็นธรรมมากขึ้น
นำระบบ Negative Income Tax มาใช้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและทดแทนนโยบายประชานิยมโดยพิจารณานำ Negative Income Tax มาใช้ (Negative Income Tax หรือ NIT มีความหมายตรงข้ามกับ Positive Income Tax หรือระบบภาษีที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแทนที่รัฐบาลจะเก็บภาษีจากประชาชน NIT ก็คือการให้เงินกับประชาชน NIT เป็นการช่วยเหลือคนจนของรัฐบาลในรูปแบบของการโอนเงินหรือจ่ายเช็คให้แก่บุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์การวัดระดับรายได้เป็นเครื่องมือในการระบุผู้ที่ควรจะได้รับสิทธิ)
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
จัดตั้ง ‘กระทรวงพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย’ เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยของประเทศขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลการนำนโยบายและแผนพัฒนาไปสู่การปฏิบัติ พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ทั้งนี้หน่วยงานภายใต้กระทรวงพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยควรประกอบด้วยกรมการผังเมือง (แยกออกจากกรมโยธาธิการในปัจจุบันเนื่องจากเป็นหน่วยงานวางแผน) กรมโยธาธิการ กรมที่ดิน (เนื่องจากดูแลเรื่องการจัดสรรที่ดิน ) การเคหะแห่งชาติ (หน่วยงานที่พัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาเมืองของกระทรวง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบคมนาคมขนส่งทางรางในพื้นที่เมืองที่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย) คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย (ต้องจัดตั้งขึ้นใหม่) สถาบันพัฒนาการจัดการเมืองและที่อยู่อาศัย (สถาบันเพื่อถ่ายทอดความรู้ต้องจัดตั้งใหม่) ฯลฯ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผลักดันให้มีระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรแบบกลุ่มการผลิต โดยผ่านสถาบันเกษตรกร ด้วยการให้สถาบันเกษตรกรเป็นตัวแทนประกันภัยพืชผลในพื้นที่ โดยเมื่อเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ประสงค์จะทำประกันภัยพืชผล เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรจะต้องผลิตสินค้าทางการเกษตรตามที่สถาบันเกษตรกรกำหนดและได้วางแผนการผลิตไว้ ซึ่งสินค้าเกษตรนั้นต้องมีความต้องการจากตลาดที่ชัดเจน ทั้งนี้ เบี้ยประกันภัยพืชผลดังกล่าวทางภาครัฐ ผู้รับซื้อผลผลิต และเกษตรกร ต้องร่วมกันกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมในการชำระเบี้ยร่วมกัน
เร่งรัดให้มีกฎหมายว่าด้วยเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) เพื่อให้มีการกำหนดกรอบด้านกฎหมายของเกษตรพันธะสัญญาให้มีความชัดเจน อาทิ การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อ ร่างข้อความในสัญญา คำจำกัดความการเจรจาต่อรองการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การชดเชยของรัฐเมื่อเกิดภัยพิบัติการกำหนดหลักประกันของผู้รับซื้อผลผลิต และกองทุนชดเชยหรือประกันความเสี่ยงในการผิดสัญญา
Zoning พื้นที่เกษตร ปรับโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการและความเหมาะสมของพื้นที่ด้วยการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างพืชอาหาร พืชพลังงาน และพืชอุตสาหกรรม, ความคุ้มค่าและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ, วิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น กรณีปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมหรือผลิตแล้วไม่มีกำไร ให้แนะนำทางเลือกให้กับเกษตรกร เช่น ทำเกษตรผสมผสาน/ประมง/เลี้ยงสัตว์ทดแทน เปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเป็นการให้เช่าที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมในชุมชน เป็นต้น และการชดเชย/อุดหนุนแก่เกษตรกรจะให้เฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งอัตราการชดเชยควรแตกต่างตามชนิดพืชที่ปลูก
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ให้สอนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในสถานศึกษา เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการศึกษาไม่สอนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพึ่งพาตัวเอง ออกนโยบายภาครัฐให้หน่วยงานราชการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในการทำงานและการพัฒนาระบบงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เปิดเสรีบริการดาวเทียมสื่อสาร โดยอาจดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยอาจนำตัวอย่างในต่างประเทศมาพิจารณา
กระทรวงพลังงาน
นำรถเก่าที่มีอายุเกิน 15 ปี ออกจากท้องถนน แนวความคิด คือให้ประชาชนนำรถเก่าที่มีอายุเกิน 15 ปี และถือครองเกิน 5 ปีออกจากถนน เพื่อป้องกันการสวมรอยการถือครองนำไปใช้สิทธิซื้อรถใหม่ขนาดเท่าเดิม โดยรัฐยกเว้นภาษีทั้งหมดอาจจะเท่าราคาทุนของผู้ผลิต ทั้งนี้ส่วนต่างต้องมากกว่าราคารถเก่า เสมือนหนึ่งรัฐเป็นผู้ชื้อรถเก่าแต่ใช้เงินด้านภาษีรถ ซึ่งเป็นการสูญเสียด้านโอกาสเท่านั้น รัฐไม่ได้เสียเงินโดยตรงเพราะถ้าไม่เปลี่ยนรถ รัฐก็ไม่ได้ภาษีเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่เป็นส่วนเพิ่มจากยอดขายปรกติ โดยใช้ป้ายทะเบียนเดิม ส่วนรถเก่ายึดเป็นของรัฐ จากนั้นให้หน่วยงานรัฐ อาจจะโรงเรียนช่างเทคนิคนำไปแยกสลาย คัดแยกเพื่อ recycle เหล็ก โดยให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้น วางหลักเกณฑ์ป้องกันการนำกลับมาใช้ใหม่ โครงการอาจจะเริ่มทดลองเป็นช่วงเวลาของจำนวนปีรถการถือครอง อาจจะเริ่มรถที่ถือครอง 15-17 ปีแล้วประเมินโครงการ ถ้าโครงการสามารถเดินต่อไปได้ดี รถที่วิ่งบนถนนต้องไม่เกิน 10 ปี ผลที่ตามคืออุตสาหกรรมรถขยายตัวด้วยฐานลูกค้าเดิม
กระทรวงมหาดไทย
จัดรูปแบบและจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์การบริหารส่วนตำบล โดยพิจารณาดำเนินการ อาทิ (1) ปรับโครงสร้างท้องถิ่นให้เหลือระดับเดียว (2) ยกฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นเทศบาลทั้งหมด เพื่อให้กฎหมายเป็นรูปแบบเดียวกัน และลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลง (3) ยุบรวม อปท. ให้มีจำนวนลดลง โดยพิจารณาจาก สองเงื่อนไข ดังนี้ (3.1) เงื่อนไขด้านประชากร การยุบ อปท. ให้มีจำนวนลดลง หากใช้เกณฑ์ประชากรขั้นต่ำ 5,000 คน จำนวน อปท. จะเหลือประมาณ 5,000 แห่ง ถ้าใช้เกณฑ์ประชากรขั้นต่ำ 10,000 คน จำนวน อปท. จะเหลือประมาณ 1,300 แห่ง (3.2) เงื่อนไขด้านพื้นที่ กรณีที่พื้นที่ อบต. และเทศบาลอยู่ในเขตตำบลเดียวกัน และมีพื้นที่ทับซ้อนกัน ควรพิจารณาควบรวมจากภูมิสังคม ประกอบด้วย ภูมิประเทศโดยคำนึงถึงสังคมไม่ซ้ำซ้อนเชิงพื้นที่ปกครองและความคุ้มทุนหรือประสิทธิภาพในการบริหารงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ 1 ตำบล มี 1 อปท. เท่านั้น เพื่อลดความซ้ำซ้อนเชิงพื้นที่
ปรับปรุงให้ อปท. สามารถจัดเก็บรายได้เอง ได้มากขึ้น โดย 2 วิธีการ ได้แก่ หนึ่ง-การขยายฐานภาษีปรับปรุงโครงสร้างรายได้ของ อปท. เช่น การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้ อปท. สามารถมีฐานภาษีเพิ่มขึ้นจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แทนที่ภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งจัดเก็บได้ในอัตราที่ต่ำมาก สอง-ปรับปรุงสัดส่วนงบประมาณของ อปท. ให้เพิ่มขึ้นตามอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับการถ่ายโอนภารกิจ (ปี 2557 อปท. มีงบประมาณ ร้อยละ 27.37 ของรายได้รัฐบาล) อนึ่ง ควรจัดสรรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยกระจายการอุดหนุนเพิ่มขึ้นให้แก่ อปท. ที่มีรายได้น้อยในเขตชนบท เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงยุติธรรม
มาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษจำคุกในเรือนจำ เนื่องจากผู้ต้องขังมีจำนวนมาก เกินความจุที่เรือนจำสามารถรองรับได้ ทำให้เกิดความแออัดภายในเรือนจำ ส่งผลถึงสวัสดิการและการดูแลผู้ต้องขัง และจำนวนผู้ต้องขังที่มีจำนวนมากกว่าอัตราที่เหมาะสมระหว่างผู้ต้องขังกับจำนวนผู้คุม ทำให้เกิดปัญหาในการสอดส่องดูแล โดยการใช้มาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษจาคุกในเรือนจำได้แก่ 1.การยกเลิกการใช้โทษทางอาญา สำหรับความผิดอาญาบางประเภทที่มีฐานความผิดทางแพ่ง โดยกำหนดให้ใช้โทษอย่างอื่นแทนโทษทางอาญา 2.สนับสนุนให้มีการใช้มาตรการชะลอการฟ้องสำหรับคดีอาญาบางประเภท 3.สนับสนุนให้มีการใช้มาตรการคุมประพฤติสำหรับผู้กระทาความผิดทางอาญา โดยการขยายกฎเกณฑ์และเงื่อนไขและการนำเครื่องมือ Electronic Monitoring (EM) มาใช้ในการกำกับควบคุม 4.สนับสนุนให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีในเรือนจำลดน้อยลง 5.ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพักการลงโทษเพื่อให้ผู้ต้องขังมีสิทธิขอพักการลงโทษมากขึ้น โดยการใช้ Electronic Monitoring (EM) 6.สนับสนุนให้มีโครงการโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองราชทัณฑ์ให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ต้องขังได้เข้ารับการอบรมก่อนปล่อยพักการลงโทษกรณีพิเศษ และ 7.บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม และกระทรวงยุติธรรม
Outsource ‘เจ้าพนักงานบังคับคดี’ ให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน (Outsourcing) เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว และประหยัด ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ บังคับคดี โดยให้มีการเพิ่มประเภท ‘เจ้าพนักงานบังคับคดีวิชาชีพ’ โดยต้องผ่านการสอบเข้ามาและฝึกอบรมด้านการบังคับคดีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และผ่านการสอบไล่และฝึกปฏิบัติงานบังคับคดีแพ่งของกรมบังคับคดีภายในระยะเวลาที่กำหนด ขึ้นทะเบียน และยกฐานะกรมบังคับคดีให้มีอำนาจในการควบคุม กำกับ ดูแล รวมทั้งกระจายอำนาจให้หน่วยงานภูมิภาคมีอำนาจ ควบคุม กำกับ ดูแล โดยแบ่งออกเป็นหน่วยงานควบคุม กำกับ ดูแลระดับประเทศ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
กระทรวงแรงงาน
เพิ่มอัตรากำลังพนักงานตรวจแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันมีสถานประกอบการที่อยู่ในข่ายต้องตรวจตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานราว 4 แสนแห่ง ลูกจ้างราว 10 ล้านคน แต่พนักงานตรวจแรงงานมีเพียง 600 คน ประกอบกับมีภารกิจหลายด้าน ส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อการตรวจสถานประกอบการ
ใช้เงินงบประมาณของภาครัฐสนับสนุน NGOs ในการป้องกันการค้ามนุษย์ได้ ปรับปรุงระเบียบการใช้เงินงบประมาณของภาครัฐ ให้สามารถสนับสนุน NGOs ในการดำเนินงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ร่วมกับภาครัฐได้ โดยจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานและกำหนดตัวชี้วัดร่วมกันอย่างชัดเจน เพื่อที่ NGOs จะได้เป็นกระบอกเสียงขยายผลความคืบหน้าการดำเนินงานไปถึงนานาประเทศต่อไป สืบเนื่องมาจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด และการจัดอันดับดังกล่าวส่วนหนึ่ง สหรัฐฯ อาศัยข้อมูลอ้างอิงจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ซึ่งมักเป็นข้อมูลเก่าและขาดการตรวจสอบ
อ่าน 'จับตา': “ข้อเสนอปฏิรูปประเทศของหน่วยงานราชการต่างๆ”
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5544
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ