ชู‘ขยะ’วาระแห่งชาติ-คนไทยทิ้งหนักมาก สวนทางโรงไฟฟ้า‘พลังงานขยะ’ไม่คืบ

ทีมข่าว TCIJ 9 มิ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 6212 ครั้ง

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พูดในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ความตอนหนึ่ง  กล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย ว่าเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยลดการผลิตไฟฟ้าด้วยแก๊สและน้ำมัน จึงขอให้ประชาชนอย่าขัดแย้ง ยอมเสียสละ  พร้อมบอกว่ารัฐบาลได้ประกาศให้ขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโรดแมปการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมดำเนินการและให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแกนหลัก       

กำลังผลิตยังต่ำเมื่อเทียบกับปริมาณขยะ และแหล่งผลิตไฟฟ้าอื่นๆ

แม้กระทรวงพลังงานจะระบุว่า ที่ผ่านมาว่ามีนโยบายส่งเสริมและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในกลุ่มขยะของเสียเพื่อผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของรัฐบาลนั้น แต่ในภาพรวมแล้วพบว่าความก้าวหน้าของการใช้ขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร โดยปี 2556 ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษได้ทำการสำรวจข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศใหม่ทั้งหมดพบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมีจำนวน  26.77 ล้านตัน แต่มีการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าเพียง 0.86 ล้านตัน เท่านั้น

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานที่เปิดเผยเมื่อเดือนเมษายน 2558  ระบุว่าปัจจุบันการผลักดันการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะในประเทศไทย มีการใช้พลังงานจากขยะที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) แล้วทั้งสิ้น 74.717 เมกะวัตต์ จาก 21 โครงการ รวมทั้งมีโครงการที่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 112.568 เมกกะวัตต์ จาก 12 โครงการ และปัจจุบันมีโครงการที่มีศักยภาพได้รับอนุมัติการตอบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 12 โครงการ จำนวน 171.688 เมกะวัตต์

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ แล้ว จากข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนในปี 2556 พบว่าภาพรวมของการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้น พลังงานจากชีวมวลมีกำลังผลิตสูงสุดคือ 2,230.05 เมกะวัตต์ ตามมาด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 635.48 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 262.73 เมกะวัตต์ พลังงานลม 222.71 เมกะวัตต์ (ส่วนในปี 2556 ไฟฟ้าจากพลังขยะมีเพียง 47.48 เมกะวัตต์)

เป้าหมายการผลิตพลังงานขยะ ปี 2551-2565

โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทน ระบุไว้ว่า ตามแผนแล้วเป้าหมายการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะของไทยระหว่างปี 2551-2565 นั้นอยู่ที่ 160 เมกกะวัตต์ (จากศักยภาพที่มีกว่า 320 เมกกะวัตต์) โดยในปี 2559 ตามแผนที่วางเอาไว้จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะใน จ.ภูเก็ต เพิ่มขึ้น 2 แห่ง จ.ชลบุรี 1 แห่ง จ.จันทบุรี 1 แห่ง จ.ตาก 1 แห่ง และ จ.ชลบุรี 1 แห่ง ส่วนในปี 2565 มีเป้าหมายเพิ่มที่ จ.นครปฐม 3 แห่ง ชลบุรี 1 แห่ง และเชียงใหม่อีก 1 แห่ง แต่ทั้งนี้ในความเป็นจริงนั้นในหลายพื้นที่  ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้เนื่องจากเกิดแรงต่อต้านในพื้นที่

ส่วนในด้านปริมาณการจัดหาพลังงานหมุนเวียนขั้นต้นเมื่อจำแนกตามชนิดพลังงาน พบว่าการใช้ขยะมาผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี 2556 มีการใช้ขยะเพียง 862 พันตัน เมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ พบว่ามีการใช้กากอ้อยสูงสุดคือ 31,709 พันตัน วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 6,216 พันตัน แกลบ 2,139 พันตัน และฟืน 256 พันตัน ตามลำดับ

นโยบายสนับสนุน

ทั้งนี้แนวทางการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะ กระทรวงพลังงานได้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff (FiT) สำหรับไฟฟ้าจากขยะ โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบ FiT เมือวันที่ 15 ธ.ค.2557 สำหรับขยะชุมชน และ FiT สำหรับขยะอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2558 ตามลำดับ โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน FiT สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) ผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนจากขยะจะได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าถึง 2.61-5.82 บาท

(ดูเพิ่มเติมคลิ๊กอ่านจับตา)

อีกทั้งกระทรวงพลังงานยังมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนดำเนินการภายใต้แผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2558-2562) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน และมีโครงการหรือแผนงานที่อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เช่น โครงการนำร่องการจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจรแบบกระจายศูนย์ โครงการศึกษาออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนระดับจังหวัด เป็นต้น

แปรสภาพขยะเป็นพลังงาน ภาพรวมในระดับท้องถิ่น 

การนำขยะมาผลิตเป็นพลังงานที่แพร่หลายที่สุดในประเทศไทย
ก็ยังคงเป็นถังหมักก๊าซชีวภาพอยู่ เนื่องจากใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ และต้นทุนต่ำ

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ระบุว่าโครงการผลิตพลังงานจากขยะในระดับชุมชนท้องถิ่น มีการดำเนินการดังเช่น ในส่วนขององค์กรปกครองท้องถิ่นนั้น มีโครงการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะชุมชนในเทศบาลและ อบต. จำนวน 16 แห่ง โดยติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มและระบบผลิตขยะเชื้อเพลิง, โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากตลาดสด จำนวน 3 แห่ง ติดตั้ง ณ ตลาด อตก. และ ตลาดถนอมมิตร กรุงเทพมหานคร ตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ และโครงการถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ขนาดเล็ก จำนวน 540 ถัง ติดตั้งในโรงเรียน โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานทหาร เป็นต้น

ในด้านพลังงานจากก๊าซชีวภาพนั้น ที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้ส่งเสริมการผลิตพลังงานโดยนำของเสียประเภทต่างๆ เช่น มูลสุกร น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มาผลิตเป็นพลังงาน ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพรวมทั้งสิ้น 1,405,587,673 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า 291.2 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถจำแนกเป็นการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมและการผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มปศุสัตว์

โดยการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้น้ำเสียจากแป้งมันสำปะหลัง เอทานอล (กากน้ำตาล/มันสำปะหลัง) น้ำมันปาล์ม ยางพารา อาหาร กระดาษ และอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 351 แห่ง ปริมาตรก๊าซชีวภาพที่ได้ 1,165,390,709 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า 281.47 เมกกะวัตต์

ส่วนการผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มปศุสัตว์นั้น ใช้น้ำเสียจาก 1) สุกรพันธุ์/เนื้อ 2) เป็ดพันธุ์/ไข่/เนื้อ 3) โค/กระบือ 4) ไก่พันธุ์/เนื้อ/ไข่/โรงฆ่า 5) แกะ/แพะ รวมทั้งสิ้น 1,336 ฟาร์ม ครอบคลุมจำนวนปศุสัตว์ 235,878,786 ตัว ปริมาตรก๊าซชีวภาพที่ได้ 237,168,014 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า 9.74 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังระบุว่าจะได้เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาพลังงานขยะ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น ขอความร่วมมือในการแก้ไขผลักดันกฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และองค์การปกครองท้องถิ่น ในการส่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ให้มีความรู้ที่ถูกต้องในการบริหารจัดการขยะและโรงไฟฟ้าจากขยะ รวมถึงการประสานให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดโซนนิ่ง (Zoning) พื้นที่ที่มีศักยภาพจากพลังงานทดแทน โดยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานจากขยะเป็นลำดับแรกอีกด้วย

ปัจจัยที่ทำให้ ‘ไฟฟ้าพลังขยะ’ ไม่คืบ

เทคโนโลยีราคาแพง

หลุมฝังกลบขยะมูลฝอยราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ พื้นที่ฝังกลบ 50 ไร่ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1 เมกกะวัตต์

การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะต้องใช้ต้นทุนระดับสิบล้านถึงพันล้าน ซึ่งพบว่าในหลายพื้นที่โดยเฉพาะ อปท. ต่างๆ ไม่สามารถหางบประมาณมาดำเนินการได้ ส่วนภาคเอกชนที่มีศักยภาพด้านการลงทุน ก็ยังเจออุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “แรงต้านในพื้นที่” และ “ระบบสายส่ง” ที่พูดถึงในลำดับต่อไป

สำหรับเทคนิคการนำขยะไปทำพลังงานไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำและได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ เทคโนโลยีการฝังกลบ และระบบผลิตก๊าชชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะ (Landfill Gas to Energy) โดยขยะที่ถูกฝังในหลุมฝังกลบจะเกิดการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ซึ่งมีทั้งที่ใช้ออกซิเจนและไม่ใช้ออกซิเจนในการทำปฏิกิริยา ทำให้เกิดก๊าชชีวภาพ ซึ่งมีก๊าชมีเทนเป็นองค์ประกอบหลัก ทั้งนี้ต้องเก็บรวบรวมก๊าชชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยเพื่อนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน เทคโนโลยีการกำจัดขยะนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์จากก๊าชชีวภาพจากการฝังกลบขยะได้หลากหลาย เช่น การนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรง ทดแทนก๊าชธรรมชาติ ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำในงานอุตสาหกรรม ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ โดยผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพก๊าชและทำให้เป็นของเหลว เป็นต้น เทคโนโลยีนี้มีข้อดี คือ ค่าใช้จ่ายถูกที่สุดเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่น และได้ก๊าซชีวภาพเป็นผลพลอยได้ ส่วนข้อเสีย คือ หาแหล่งสถานที่ฝังกลบยาก เนื่องจากการต่อต้านของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งในประเทศไทยเองมีการดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซในหลุมฝังกลบ เช่น ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ผลิตกระแสไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 15.23 เมกกะวัตต์ หลุมฝังกลบขยะพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ผลิตกระแสไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 2 เมกกะวัตต์ และหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ พื้นที่ฝังกลบ 50 ไร่ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1 เมกกะวัตต์ ส่งจำหน่ายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ตั้งแต่ปี 2549

ส่วนเทคโนโลยีที่สะอาดกว่า และสร้างมลพิษต่ำกว่าเทคโนโลยีฝังกลบ ก็ได้แก่ เทคโนโลยีเตาเผาขยะ (Incineration) เป็นการเผาขยะในเตาที่มีการออกแบบเป็นพิเศษให้ใช้กับขยะที่มีความชื้นสูง พลังงานความร้อนจากการเผาขยะวิธีนี้สามารถนำมาใช้ในการผลิตไอน้ำหรือทำน้ำร้อนและผลิตกระแสไฟฟ้าได้ แต่ทั้งนี้การเผาไหม้จะต้องมีการควบคุมที่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษและรบกวนสิ่งแวดล้อม เช่น ก๊าชพิษ เขม่า กลิ่น เป็นต้น เทคโนโลยีนี้มีข้อดี คือ เหมาะกับสถานที่ที่มีพื้นที่จำกัด ส่วนข้อเสีย คือ เงินลงทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานค่อนข้างสูง

เทคโนโลยีการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากขยะชุมชน (Municipal Solid Waste Gasification: MSW Gasification) ซึ่งเป็นกระบวนการทำให้ขยะเป็นก๊าซโดยการทำปฏิกิริยาสันดาปแบบไม่สมบูรณ์ (Partial Comustion) โดยสารอินทรีย์ในขยะจะทำปฏิกิริยากับอากาศหรืออกซิเจนปริมาณจำกัด ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนออกไซต์ ไฮโดรเจน และก๊าซเชื้อเพลิง ซึ่งนำไปผลิตไฟฟ้าหรือความร้อนโดยตรงต่อไป ข้อดีของการผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีนี้คือจะให้มลพิษน้อย แต่ข้อเสียคือมีขั้นตอนการทำงานค่อนข้างมาก และใช้เงินลงทุนสูง

เทคโนโลยีผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) เป็นการนำขยะมูลฝอยมาผ่านกระบวนการคัดแยกวัสดุที่เผาไหม้ได้ออกเป็นการฉีกหรือตัดขยะมูลฝอยออกเป็นชิ้นเล็กๆ ผ่านกระบวนการจัดการเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี ทำให้เป็นเชื้อเพลิงขยะที่สามารถนำไปใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ขยะที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้จะได้ค่าความร้อนสูง มีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงที่ดีกว่าการนำขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมมาใช้โดยตรง เทคโนโลยีนี้สามารถกำจัดขยะได้หลายประเภทและปลอดเชื้อโรค แต่ยังใช้เงินลงทุนสูงและต้องหาผู้รับซื้อเชื้อเพลิงขยะไปเผาในอุปกรณ์เผาไหม้ที่เหมาะสม

แรงต้านจากพื้นที่

ด้วยมาตรฐานที่สร้างไว้ไม่ค่อยดีนักในอดีต สำหรับอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการจัดการขยะของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตชุมชนที่มีประชากรอยู่อาศัยก็มักเกิดแรงต้านทุกครั้งหากจะมีกิจการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับขยะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ จึงยังทำให้ยังมีโครงการผลิตพลังงานจากขยะชุมชนในระดับชุมชนไม่มากนัก การสำรวจล่าสุดพบ มีเพียงเทศบาลและ อบต. จำนวน 16 แห่งเท่านั้น ที่มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าจากขยะได้ จากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับงบประมาณในการจัดการขยะอย่างถูกหลักวิชาการที่มีมากกว่า 135 แห่ง

รวมทั้งปัญหาขัดแย้งกันระหว่าง “ท้องถิ่นใหญ่” (ที่ผลิตขยะจำนวนมหาศาล) กับ “ท้องถิ่นเล็ก” (ที่เป็นพื้นที่ในการทิ้งขยะ) เช่น กรณี “โรงงานไฟฟ้าขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่” ที่เป็นปัญหาที่มีรากเหง้าความขัดแย้งมากว่า 50 ปี ซึ่งในอดีตนั้นเทศบาลนครหาดใหญ่ได้ซื้อที่ดินจำนวนกว่า 130 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ฝังกลบขยะ จนกระทั่งมีการแบ่งเขตพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ ปรากฏว่าพื้นที่บ่อขยะกลับไปตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองควนลัง และแม้เตาเผาขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่พร้อมที่จะเดินเครื่องจ่ายไฟเข้าระบบแล้ว แต่กลับเปิดใช้งานไม่ได้ในขณะนั้น เนื่องจากปัญหาเรื่องเงื่อนไขและผลประโยชน์ต่างๆ กับเจ้าของพื้นที่คือเทศบาลเมืองควนลัง ที่ต้องรองรับปริมาณขยะที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า จนต้องมีการทำบันทึกทำความเข้าใจเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ในท้ายที่สุด และแม้ว่าโรงงานไฟฟ้าขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่จะเป็นต้นแบบในเรื่องการใช้เทคโนโลยีระดับสูง แต่ก็ยังพบปัญหามลพิษตามมาในภายหลัง โดยเฉพาะกลิ่นจากขยะที่รอการนำไปเผาไหม้เพื่อผลิตไฟฟ้า

 

ตัวอย่างการต่อต้านเมื่อต้นปี 2558

โรงงานไฟฟ้าขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่ (ดำเนินการแล้ว) ตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลเมืองควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แรงต้านล่าสุดเกิดจากการที่ผู้อาศัยในหมู่บ้านแอร์พอร์ต หาดใหญ่ หมู่บ้านพันพฤกษา หมู่บ้านอิงกมล หมู่บ้านเออบานา ได้ยื่นหนังสือถึงเจ้าของโครงการบ้านจัดสรร ทั้ง 4 แห่ง เมื่อเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมา ให้เร่งแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นเน่าบ่อเก็บขยะของจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ เนื่องจากส่งกลิ่นเหม็น โดยรบกวนผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านทั้ง 4 แห่ง นอกจากนั้นกลิ่นของขยะยังส่งกลิ่นเหม็นเป็นระยะๆ รบกวนไปถึงนักเรียนโรงเรียนรัฐประชาสรรค์ และผู้ที่อาศัยอยู่ในกองบิน 56 อีกด้วย

โครงการศูนย์จัดการขยะแบบบูรณาการเชียงรากใหญ่ (กำลังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนการก่อสร้าง) เบื้องต้นระบุว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 8 เมกะวัตต์ ในเขต ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อมกราคม 2558 ที่ผ่านมา ชาวบ้าน จาก ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ โดยระบุว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสร้างผลกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนชาว ต.เชียงรากใหญ่ ที่เป็นชุมชนที่อยู่อาศัย และพื้นที่เกษตรกรรม

โครงการก่อการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังไอน้ำจากเศษของเหลือใช้ (ขยะ) บ่อแฮ้ว ลำปาง (กำลังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนการก่อสร้าง) โครงการนี้มีมูลค่าการก่อสร้างถึง 1,600 ล้านบาท เจ้าของโครงการระบุว่าสามารถรองรับขยะได้วันละ 350 ตัน มีกำลังการผลิตขนาด 6.5 เมกะวัตต์ ซึ่งในขณะนี้เป็นโรงไฟฟ้าขยะที่กำลังเป็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับผู้นำชุมชนในเขต ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา มทบ.32 ลำปาง ได้พยายามเข้ามาเป็นตัวกลางในการชี้แจงและลดความขัดแย้ง ทั้งนี้เดิมทีมีกำหนดทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 29 มีนาคม 2558 แต่ต้องถูกเลื่อนออกไป

ข้อจำกัดด้านสายส่ง

แม้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะจะไม่มีปัญหาด้านการขาดแคลนวัตถุดิบเช่นพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ แต่ก็ยังคงมีปัญหาด้านเทคนิค โดยเฉพาะปัญหาเรื่องระบบสายส่งไฟฟ้า อันเนื่องมาจากระบบสายส่งไฟฟ้าในประเทศไทยไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบโดยโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่กระจายกันในหลายพื้นที่

ทั้งนี้ในการพิจารณาอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จะต้องพิจารณาถึงความพร้อมของสายส่งก่อน ซึ่งหากพื้นที่ใดมีขนาดสายส่งเพียงพอก็จะอนุมัติให้ก่อสร้างได้ แต่ถ้าพื้นที่ใดมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงแต่ยังมีปัญหาเรื่องสายส่ง ฝ่ายผู้ประกอบการก็จะต้องเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้เอง ซึ่งถ้าการก่อสร้างสายส่งมีต้นทุนที่สูงมากก็ต้องนำขึ้นมาหารือว่าจะให้หน่วยงานใดเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ โดยอาจจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาคเอกชนและ กฟผ. หรืออาจจะมีหน่วยงานอื่นเข้าร่วม

ปัญหาสายส่งไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการรับปริมาณไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้นั้น เกิดมาจากสายส่งไฟฟ้าที่ใช้อยู่ปัจจุบันออกแบบมาเพื่อจำหน่ายไฟฟ้า ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการรับซื้อไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยข้อมูลของ กฟผ. ตั้งแต่ปี 2553 พบพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่ประสบปัญหาดังกล่าว  ตัวอย่างเช่นบางจังหวัดมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากถึง 200 เมกะวัตต์ แต่สายไฟฟ้ารองรับปริมาณไฟฟ้าของจังหวัดสามารถเพิ่มขึ้นได้เพียง 8 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่หากมีการขายไฟฟ้าเพิ่มจริงจะต้องเพิ่มสถานีไฟฟ้าย่อยขึ้นมารองรับประมาณ 2 สถานี ก็รองรับได้เพิ่มขึ้นเพียง 16 เมกะวัตต์ เป็นต้น

ระบบสายส่งที่ไม่รองรับการผลิตไฟฟ้าจำหน่ายของภาคเอกชนนี่เองที่เป็นปัจจัยหลักทำให้โรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะไม่กระจายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากหากลงทุนแล้วแต่ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้ก็จะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า แต่หากจะให้มีลงทุนระบบสายส่งให้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยอย่างครอบคลุม เพื่อรองรับการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเพิ่มขึ้น โดยให้ กฟผ. ลงทุนนั้น ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่างๆ ก็จะถูกนำไปคิดเป็นค่า Ft ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟสูงขึ้นตามลำดับ

อนึ่งเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ออกมาระบุว่ากำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาสายส่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อรองรับไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และสายส่งภาคใต้เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ ซึ่งมีรวมมูลค่าลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท คาดว่าเริ่มโครงการได้ในปี 2558

อ่าน 'จับตา': “อัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5609

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: