Series ปฏิรูป: แก้ความเหลื่อมล้ำด้วย‘ธนาคารที่ดิน’?

ทีมข่าว TCIJ 9 ก.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3120 ครั้ง

ประเทศไทยมีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 51 ของโลก คือมีพื้นที่ 320.7 ล้านไร่ (513,115 ตารางกิโลเมตร) แบ่งเป็นพื้นป่าไม้ประมาณ 107 ล้านไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 150 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ อีกทั้งสิ้นกว่า 60 ล้านไร่ แต่กระนั้นยังพบความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นรากเหง้าสำคัญของความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไร้ที่ดินและสูญเสียที่ดิน ของเกษตรกรและคนยากจนที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยจากการสำรวจลักษณะการถือครองที่ดินเพื่อทำการเกษตรในปี 2556 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่าจากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้นกว่า 149.24  ล้านไร่ ประมาณ 77.64 ล้านไร่ หรือร้อยละ 52 เป็นพื้นที่เช่า ขณะที่ 71.59 ล้านไร่เป็นพื้นที่ของเกษตรกรเอง แต่ในจำนวนนี้มี 29.72 ล้านไร่ติดจำนองอีก 1.15 แสนไร่ อยู่ในกระบวนการขายฝากซึ่งมีความเสี่ยงที่ที่ดินจะหลุดจากมือของเกษตรกร

ด้านปัญหา การกระจุกตัวของที่ดิน ข้อมูลการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินในปี พ.ศ.2555 ของกรมที่ดินพบว่าผู้ถือครองที่ดินน้อยกว่า 5 ไร่ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 72.07 ในขณะที่ผู้ถือครองที่ดินตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.02 และหากแบ่งผู้ถือครองออกเป็น 10 กลุ่ม ตามขนาดการถือครองที่ดิน พบว่าผู้ถือครองที่ดินร้อยละ 10 มีการถือครองที่ดินมากที่สุด โดยมีส่วนแบ่งการถือครองที่ดินมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยถือครองที่ดินเฉลี่ยคนละมากกว่า 100 ไร่ ในจำนวนนี้ผู้ถือครองที่ดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือจำนวน 631,263 ไร่ ในขณะที่ผู้ถือครองที่ดินอีกร้อยละ 90 ที่เหลือ มีส่วนแบ่งการถือครองที่ดินไม่ถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยถือครองที่ดินเฉลี่ยรายละไม่เกิน 1 ไร่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเป็นอย่างมาก

ส่วนปัญหา การปล่อยที่ดินรกร้างและการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากการขาดมาตรการด้านภาษีที่เหมาะสมการขาดกลไกเพื่อทำหน้าที่รักษาที่ดินให้เกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจนส่งผลให้ที่ดินหลุดมือไปสู่นายทุนซึ่งกักตุนที่ดินในลักษณะเก็งกำไรโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลในปี 2554 พบว่าประเทศไทยมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าจำนวนกว่า 48 ล้านไร่ โดยที่ดินประมาณร้อยละ 70 ของประเทศไม่ได้ถูกนำมาใช้ หรือใช้ไม่คุ้มค่า นอกจากนี้ปัญหาข้อจำกัดด้านการเช่าที่ดินยังส่งผลให้มีที่นาร้างจำนวน 1.19 ล้านไร่ ในปี 2550 และจากรายงานของกรมพัฒนาที่ดินในปี 2543 พบว่ามีที่ดินประมาณ 30 ล้านไร่ ซึ่งอยู่ในเขตชลประทานและเหมาะสำหรับการทำนาปลูกข้าวแต่กลับถูกใช้ผิดประเภท โดยมีการนำไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรม รีสอร์ท บ้านจัดสรร สถานที่ราชการและสถานศึกษาไปแล้วประมาณ 5 ล้านไร่ หรือประมาณ 1 ใน 6 ของพื้นที่เขตชลประทานและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมากตามลำดับ

จากที่กล่าวมาจึงมีความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้มาตลอดทุกยุคทุคสมัย แต่กระนั้นก็ดูเหมือนว่ายังเป็นแค่ความพยายามที่ยังไม่บรรลุผลเสียที

ความเคลื่อนไหวหลัง 2475 ถึงก่อน 2519

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ก็มีข้อเสนอการปฏิรูปที่ดินมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอแนวคิดในการจัดระบบการถือครองที่ดินไว้เมื่อปี 2476 โดยข้อเสนอส่วนหนึ่งของปรีดีก็คือให้รัฐบาลซื้อที่ดินจากประชาชนที่ต้องการขายแล้วนำมาพัฒนาทำคูทำคันนา จัดทำเป็นที่ดินประกอบการเกษตรของรัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาและมีการใช้วิชาการสมัยใหม่ จากนั้นให้ราษฎรมาเป็นลูกจ้าง ประกอบการเกษตร ของรัฐบาล แต่แนวคิดนี้ถูกคัดค้านเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นสูง

ต่อมาในสมัยของ จอมพล ป.พิบูล​สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มี​การ​ประกาศ​ประมวล​กฎหมาย​ที่ดิน พ.ศ. 2497 ให้​จำกัด​การ​ถือ​ครอง​ที่ดิน โดย​ระบุ​ว่า ที่ดิน​สำหรับ​เกษตรกร​ถือ​ครอง​ได้​ไม่​เกิน 50 ไร่ ส่วน​ที่ดิน​เพื่อ​การ​พาณิชย์​และ​อยู่​อาศัย​ถือ​ครอง​ได้​ไม่​เกิน 2 ไร่ แต่​สุดท้าย กฎหมาย​ฉบับ​นี้​ก็​ถูก​ยกเลิก​ไป​ใน​ปี พ.ศ. 2502 สมัย​จอมพลสฤษดิ์ธนะ​รัช​ต์ที่​มอง​ว่ากฎหมาย​จำกัด​การ​ถือ​ครอง​ที่ดิน​นั้น​ขัด​กับ​หลัก​ความ​เจริญ​ก้าวหน้า​ของ​เศรษฐกิจ​ของ​ประเทศ

ก่อนปี 2516 บุคคลที่ได้รับการยกย่องอีกท่านหนึ่งก็คือ ดร.ไชยยงค์ ชูชาติ (เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปี 2518-2520) ได้ศึกษาปัญหาการถือครองที่ดิน และจัดรูปที่ดินขึ้น เพื่อให้พิจารณากำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมา ทำให้รัฐบาลสนใจปัญหาที่ดินทำกิน ของเกษตรกรและมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อจัดหาที่ดินให้เกษตรกร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2513 เพื่อใช้ในการจัดหาที่ดินแปลงใหญ่ที่ เหมาะสม มาจัดสรรให้เกษตรกร ผ่อนส่ง ภายใน 15 - 20 ปี โดยคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี และยังได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาเรื่องการปฏิรูปที่ดินด้วย

จากนั้นช่วงหลังปี 2516 ในช่วงที่แรงผลักดันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทวียิ่งขึ้น ชาวนา ชาวไร่ นัดชุมนุมกันหลายครั้ง เพื่อเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากความเดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกิน รัฐบาลในขณะนั้น โดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจแก้ไขปัญหา โดยวิธีการปฏิรูปที่ดิน และได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2518

(อ่านเพิ่มเติมใน จับตา: พัฒนาการ ‘กองทุนที่ดิน’ และแนวคิด ‘ธนาคารที่ดิน’ ของไทย)

ก่อนจะมาเป็น "โฉนดชุมชน"

ขยับมาในยุคร่วมสมัย กลุ่มภาคประชาชนได้ผลักดันแนวคิดปฏิรูปที่ดินมาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนที่จะมาตกผลึกเป็นเรื่อง "โฉนดชุมชน" และ "ธนาคารที่ดิน" นั้นกลุ่มภาคประชาชนได้มีการทำงานเคลื่อนไหวทางความคิดเรื่องสิทธิในการจัดการที่ดิน ต่อเนื่องกันมาเกือบระยะเวลา 30 ปี (2529-2558) โดยสังเขปดังนี้

ก่อนปี 2529 ได้มีการรวมตัวของเครือข่ายชุมชนแออัดในเขตเมืองทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง ซึ่งต่อมาในปี 2535 รัฐบาลในช่วงนั้นได้มีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) ภายใต้การเคหะแห่งชาติขึ้นมา

ปี 2535 ได้มีการผลักดันเรื่องการจัดตั้งสภาการเกษตรแห่งชาติ เกิดการรวมตัวของเกษตรเป็นสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน โดยที่ภาคอื่น ๆ เกษตรกรก็รวมตัวเป็นเครือข่ายในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ ภาคเหนือ เกิดเครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายเกษตรภาคเหนือ ภาคใต้ เกิดสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ 13 จังหวัด เป็นต้น โดยเครือข่ายเหล่านี้ได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย 1 จนมาถึงรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา จึงได้มารวมตัวกันเป็น "สมัชชาคนจน" ในที่สุด

ปี 2538 สมัชชาคนจน ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายของชาวบ้านจากท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่เกิดขึ้นท่ามกลางการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติระหว่างรัฐ กลุ่มทุน และชาวบ้านทั้งที่อยู่ในชนบทและเมือง ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐในประเด็นที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ต่อสู้มากว่า 25 ปี และผ่านมาถึง 17 รัฐบาล

ปี 2543 มีการก่อตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ขึ้น โดยรวมสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) ภายใต้การเคหะแห่งชาติ และกองทุนพัฒนาชนบทภายใต้ธนาคารออมสิน มีเงินกองทุนที่เกิดขึ้นจากการรวมทุนและงานของสองหน่วยงานจำนวนประมาณ 2,800 ล้านบาท โดยภารกิจหนึ่งของ พอช. คือการสนับสนุนการพัฒนาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินของประชาชนทั้งในเขตเมืองและชนบท

ปี 2553 มีการก่อตั้งขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม (ขปส. : P-move) ขึ้น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายภาคประชาชนที่มีปัญหาที่ดินทั่วประเทศ เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายเกษตรกรพันธะสัญญา กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น ได้เสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ตลอดจนยุติการไล่รื้อ จับกุมคุมขัง ประชาชนคนยากจนที่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินซึ่งทางราชการประกาศเป็นเขตต่าง ๆ ทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน หรือที่อยู่อาศัยมาดั้งเดิม รวมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อคนจนได้มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

แนวคิดเรื่องโฉนดชุมชน

แนวคิดเรื่องโฉนดชุมชน เป็นหนึ่งในแนวคิดเรื่องของสิทธิรวมหมู่ (Collective Right) ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (Natural Sustainable Management) ซึ่งต่างจากกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (Private Property) และกรรมสิทธิ์ของรัฐ (State Property) แต่เดิมสิทธิรวมหมู่หรือสิทธิร่วมถูกตีความหมายไปในเชิงลบ หรือที่รู้จักโดยทั่วไปว่า The Tragedy of the Common ซึ่งหมายถึง การใช้ทรัพยากรกรธรรมชาติที่เป็นของส่วนรวมโดยขาดการดูแลรักษาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน กล่าวคือเมื่อพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล หรือกรรมสิทธิ์ของรัฐเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน ก็จะไม่มีใครสนใจหรือดูแล หรือใช้สอยพื้นที่นั้น ๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังได้มีงานวิจัยที่ออกมาวิพากษ์และท้าทายแนวคิดนี้อย่างแพร่หลาย เพราะการอนุญาตให้ใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีขีดจำกัดและก่อให้เกิดผลเสียหายนั้น ไม่น่าจะหมายรวมถึงการดูแลจัดการทรัพยากรร่วมกันของชุมชน โดยงานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าชุมชนที่ดูแลทรัพยากรท้องถิ่นร่วมกันนั้น มีความก้าวหน้าในการบริหารจัดการทรัพยากร และประสบผลสำเร็จมากมาย ฉะนั้นสิ่งที่สร้างความเสียหายไม่ใช่เรื่องของสิทธิรวมหมู่ แต่เป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่การใช้ทรัพยากรอย่างไม่จำกัด (Open Access to All) และการไม่ได้รับการควบคุมดูแล ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐ เอกชน หรือท้องถิ่น มิใช่การจัดการทรัพยากรร่วมกันของชุมชน (Common-pool Resources)

ในประเทศไทยได้มีการผลักดันเรื่องของสิทธิชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชนแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากหน่วยงานทางราชการ ในการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพราะรัฐกลัวว่าจะเป็นการทำลายมากกว่าการอนุรักษ์และก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่จำกัด อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ และไม่เชื่อมั่นในแนวคิดนี้ รวมถึงยังคงติดอยู่กับภาพมายาคติเดิมๆ ที่ว่า ชาวบ้านที่อยู่กับป่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ทำลายป่ามากกว่าอนุรักษ์ นอกจากพ.ร.บ.ป่าชุมชนแล้ว ยังมี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนต่างๆ ที่ได้มีการจัดทำหรืออยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งการทำงานของสถาบันพระปกเกล้า (คณะกรรมการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชน ตามมาตรา 66-67) หรือทางคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ทำโครงการพัฒนากฎหมายสิทธิชุมชน ตามมาตรา 66 และ 67 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

โดยกรอบแนวคิดหลักของโฉนดชุมชนคือ การรักษาพื้นที่ทางการเกษตร ลดภาวะการสูญเสียที่ดินโดยไม่ให้บทบาทของตลาดเข้ามามีอิทธิพลต่อการควบคุมจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ อาศัยพลังของกลุ่มหรือชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการหาพื้นที่ให้กับผู้เสียเปรียบในสังคมให้มีสิทธิ และความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน (Safety-net)

หลักคิดโฉนดชุมชนในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ให้นิยามของโฉนดชุมชนไว้ดังนี้

• โฉนดชุมชน หมายถึง หนังสืออนุญาตให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการ การครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเพื่อสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน ซึ่งชุมชนมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยกฎหมายและระเบียบนี้

• ชุมชน หมายถึง กลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน เพื่อการจัดการด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีการวางระบบบริหารจัดการและการแสดงเจตนาแทนกลุ่มได้ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามปีก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ

โดยกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการให้มีโฉนดชุมชน มีสาระสำคัญดังนี้

• ผู้ได้รับโฉนดชุมชนจะมีสิทธิถือครองที่ดินตามกฎหมาย แต่ไม่เกิน 30 ปี

• ต้องปลูกป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม หรือต้องไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

• ไม่สามารถนำที่ดินไป จำนอง จำหน่าย จ่ายโอนหรือซื้อขายกรรมสิทธิ์ภายหลังจากคณะกรรมการพิจารณามอบโฉนดชุมชนแล้ว ชุมชนจะต้องไปจัดสรรให้สมาชิกในชุมชนได้เข้าถึงในการทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียมกัน โดยชุมชนที่ได้รับสิทธิจะต้องอยู่อาศัยในพื้นที่นั้น ๆ มาไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนที่จะมีการออกระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน

ที่มา: การสำรวจองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย : โฉนดชุมชน, สกลฤทธิ์ จันทร์พุ่ม, 2556

 

นโยบาย 3 รัฐบาลหลังสุด ‘อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์-ประยุทธ์’

นโยบายรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีแนวนโยบายเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและโฉนดชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐในรูปแบบโฉนดชุมชน โดยในปี 2553 ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 โดยตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) และสำนักงานโฉนดชุมชนขึ้นในสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณาจัดให้มีโฉนดชุมชน รวมทั้งได้มีมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน ทั้งนี้ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ได้ดำเนินการจัดโฉนดชุมชนได้ 2 แห่ง คือ โฉนดชุมชนสหกรณ์คลองโยงจังหวัดนครปฐม และโฉนดชุมชนสหกรณ์บ้านป่าซาง จังหวัดลำพูน (จำนวนสองแปลง) นอกจากนี้ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก็ยังมีการออกพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดิน พ.ศ. 2554 (องค์การมหาชน) แต่มีข้อจำกัดในด้านงบประมาณและกำลังคนทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้

นโยบายสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงดำเนินนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม และให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันในลักษณะที่ทำให้คนมีภารกิจดูแลรักษาป่าไม้ให้มีความยั่งยืน โดยได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ทั้งนี้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ดำเนินการจัดให้มีโฉนดชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง คือโฉนดชุมชนพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา

นโยบายสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาไร้ที่ทำกินของเกษตรกร และการรุกล้ำเขตป่าสงวนโดยการกระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่ไม่อยู่ในพื้นที่ และออกมาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในครอบครองของผู้ที่มิใช่เกษตรกร

สปช. หวังปฏิรูปประเทศ  เสนอ ‘ธนาคารที่ดิน’ บ้าง

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2558 ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณารับทราบรายงานพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน วาระปฏิรูปที่ 28 ระบบเพื่อส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง เรื่อง ธนาคารที่ดินและร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารที่ดิน พ.ศ. .... ที่มี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นประธานคณะ กมธ.ฯ ทั้งนี้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กมธ.ได้สรุปสาระสำคัญของการจัดตั้งธนาคารที่ดิน โดยอธิบายว่าธนาคารที่ดินมีหน้าที่หลัก 4 ประการ คือ 1. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ที่ดินหลุดจำนอง ด้วยการให้สินเชื่อ หรือการช่วยเช่าซื้อ โดยคำขอสินเชื่อมาจากชุมชน หรือ ธ.ก.ส. (Demand-driven) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของชุมชน  2. บริหารจัดการที่ดินของรัฐ  3. บริหารจัดการที่ดินของเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์  และ 4. จัดซื้อที่ดินเข้าธนาคารที่ดิน

โดยทุนและรายได้ของธนาคารที่ดินจะมาจาก 1. เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมจำนวนห้าพันล้านบาท 2. เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3. ส่วนแบ่งของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4. การออกพันธบัตรโดยรัฐบาลค้ำประกัน หรือไม่ค้ำประกัน 5. เงินสมทบจากสถาบันการเงินภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนด 6. ค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร 7. ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของธนาคาร 8. กำไรจากการดำเนินการและการลงทุน 9. ทุนหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และ 10. เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้

นอกจากนั้นแล้ว ธนาคารที่ดินมีหน้าที่ในการวบรวมข้อมูลด้านที่ดิน ซึ่งในระยะแรก เน้นการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ที่ดินหลุดจำนอง โดยอาศัยเครือข่ายธนาคารภาครัฐและสถาบันการออชุมชนเป็นผู้ส่งคำขอสินเชื่อเข้ามาสำหรับเงินทุนที่จะใช้ในการดำเนินการนั้น จะมาจากเงินทุนประเดิมและการออกพันธบัตรที่กระทรวงช่วยค้ำประกัน ระยะกลาง บริหารที่ดินของหน่วยงานรัฐ และระยะยาวดำเนินการบริหารที่ดินเอกชนและจัดซื้อที่ดิน โดยข้อกำหนดเกี่ยวกับการได้มาและการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่่ดิน คือ

1. ที่ดินที่หลุดจำนองที่เป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารที่ดิน ให้เจ้าของเดิมหรือทายาทมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินได้ภายใน 5 ปี โดยวิธีเช่าซื้อที่มีกำหนดระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี ตามหลักเกณฑ์วิธีการคณะกรรมการกำหนด 2. ที่ดินของรัฐที่ธนาคารที่ดินรับมาบริหารคงเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินของเอกชนได้  3. ที่ดินที่ธนาคารจัดซื้อถือเป็นสินทรัพย์ของธนาคารที่ดิน ที่สามารถให้เกษตรกรหรือชุมชน เช่าได้ตามกฎเกณฑ์ที่จะกำหนด (ในลักษณะเดียวกับที่ดินของกรมธนารักษ์ และสำนักงานทรัพย์สินฯ) 4. ค่าเช่าของที่ดินของธนาคารที่ดิน จะแปรตามคุณสมบัติของที่ตั้งของที่ดิน ตามที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด โดยธนาคารจะต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลที่ดิน ระบบการประเมินราคาที่ดินและระบบการแบ่งประเภทที่ดินที่เหมาะสม  5. รัฐสภาสามารถนำที่ดินของธนาคารที่ดินไปใช้สนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยรัฐชดเชยราคาตามประเมิน  และ 6. ธนาคารอาจใช้ที่ดินที่อยู่ในความครอบครองเพื่อประโยชน์สาธารณะ

โดยคณะ กมธ. ฯ  ยังระบุเป้าหมายว่าหากมีการจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นแล้ว จะสามารถจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรและคนยากไร้ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 ราย ในช่วงเวลา 5 ปีแรก และ 300,000 รายในช่วง 10 ปี

ท้ายสุดที่ประชุม สปช. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2558 ได้มีมติเห็นชอบหลักการของรายงานฉบับนี้ โดยมีมติเห็นชอบ 166 คะแนนไม่เห็นชอบ 41 คะแนน งดออกเสียง 14 คะแนน และไม่ลงคะแนน 0 คะแนน สปช.จะต้องส่งไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนั้นแล้วที่ประชุม สปช. ได้มีมติเห็นชอบกับหลักการของร่าง พ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน พ.ศ. ... โดยมีมติเห็นชอบ 143 คะแนน ไม่เห็นชอบ 53 คะแนน งดออกเสียง 25คะแนน และไม่ลงคะแนน 0 คะแนน โดย สปช.จะส่งร่าง พ.ร.บ. และความเห็นของสมาชิก สปช. กลับไปยังคณะ กมธ.เพื่อ ยกร่าง พ.ร.บ.ให้แล้วเสร็จจากนั้นจึงดำเนินการส่งไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปอีกเช่นเดียวกัน.

อ่าน 'จับตา': “จับตาปฏิรูป : พัฒนาการ ‘กองทุนที่ดิน’ และแนวคิด ‘ธนาคารที่ดิน’ ของไทย”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5673

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: