ยิ่งลักษณ์" โต้คำแถลง ป.ป.ช. คดีจำนำข้าว - สรุปความเคลื่อนไหว สนช. – สปช. ประจำสัปดาห์ 5 – 9 ม.ค. 58

10 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 1817 ครั้ง

เมื่อวันที่ 9 ม.ค.58 ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาเปิดแถลงโต้แย้งข้อกล่าวหาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการแถลงเปิดคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

"ดิฉันมาในวันนี้ก็เพื่อขอความเป็นธรรมต่อสภาแห่งนี้ขอโอกาสต่อท่านประธานและสมาชิก สนช. ที่จะได้ชี้แจงและโต้แย้งต่อข้อกล่าวหาต่อตัวของดิฉันและรัฐบาลของดิฉันในช่วงตลอกเวลาที่บริหารราชการแผ่นดิน ก่อนที่จะมีการชี้แจงลึกลงไปในข้อกล่าวหาขอเรียนให้สมาชิก สนช. ทราบก่อนว่า ประเด็นที่สภาจะพิจารณาอยู่นี้มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อการบริหารแผ่นดินและการเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ประเด็นที่หนึ่งเกี่ยวกับความถูกต้องชอบธรรมและความจำเป็นในการถอดถอน โดยในความเป็นจริงแล้วดิฉันได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ซึ่งเสมือนถูกถอดถอนไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกด้วยผลของการยุบสภา ครั้งที่สองด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และครั้งที่สามด้วยคำประกาศของคณะรักความสงบแห่งชาติ(คสช.) ทั้งหมดมีผลสมบูรณ์แล้ว และวันนี้ดิฉันไม่เหลือตำแหน่งอะไรให้ถอดถอนอีกแล้ว หลังจากนั้นถ้าจะดำเนินการต่อไปก็ถือเป็นการถอดถอนซ้ำซ้อนเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองและกฎหมายที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมในอนาคต  สำหรับประเด็นที่สอง การพิจารณาของสภาแห่งนี้จะมีผลกระทบไม่เพียงแต่ต่อตัวของดิฉันหรือนักการเมืองทั่วไปเหล่านั้นแต่จะมีผลกระทบต่อเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพี่น้องชาวนาไทย ประชากรส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวนาและมีฐานะยากจน จึงมีความหวังอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับข้าวและผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้นการพิจารณาถอดถอนในวันนี้จะมีผลต่อการจัดทำนโยบายในอนาคตถัดไปและเป็นการตัดความหวังของชาวนาไทยไปอีกนาน"

"ดิฉันของอนุญาตประธานและสมาชิกที่จะเริ่มต้นด้วยการปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกข้อกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และฝ่ายคัดค้านในอดีต ดิฉันขอคัดค้านโต้แย้งตลอดจนรายงานข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ดิฉันขอยืนยันว่าดิฉันบริหารแผ่นดินในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างถูกต้องเป็นไปตามหลักของรัฐธรรมนูญ ข้อกฎหมาย  ระเบียบข้อบังคับและแนวทางการบริหารราชการที่ดี ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ดิฉันถูกชี้มูลทั้งๆที่ข้อสรุปของกรรมการ ป.ป.ช. ตามเอกสารหน้า 124 ยอมรับว่าพยานหลักฐานนั้นยังไม่เพียงพอและเป็นจริงได้ ผู้ถูกกล่าวหามีร่วมในการทุจริตหรือยินยอมให้เกิดการทุจริต

ดิฉันขออธิบายใน 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่เป็นเนื้อหาเรื่องข้าวและส่วนที่เป็นเรื่องของข้อกฎหมายดังต่อไปนี้ โดยเริ่มต้นด้วยความเป็นมาและเจตนารมณ์ของโครงการรับจำนำข้าวว่า โครงการนี้เป็นแนวคิดของพรรคเพื่อไทยและเป็นนโยบายหลักของพรรคจนได้รับการผลักดันจากพี่น้องประชาชน จึงถือว่า โครงการดังกล่าวเป็นสัญญาของพรรคที่จะต้องทำให้กับชาวนาไทยและประชาชนทุกคน แนวคิดที่มาจากพรรคเพราะพรรคได้มองเห็นถึงปัญหาของประชาชนชาวนาซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติและเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่องทั้งมีรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลังมีหนี้สิ้นท่วมล้นพ้นตัว และมีรายได้ที่ต่ำเมื่อเทียบกับลูกจ้างแรงงานทั่วทุกประเทศ ทำให้ปัญหาพี่น้องยังคงมีอยู่ และทั้งราคาผลผลิตที่ตกต่ำในขณะที่ต้นทุนนั้นก็สูงขึ้นทุกปี ฉะนั้นนโยบายรับจำนำข้าวจึงมีเจตนารมณ์ต้องการให้ชาวนาไทยมีชีวิตที่ดีสามารถลืมตาอ้าปากได้ และได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมไม่มีการถูกกดราคาหรือเอาเปรียบ จึงมีการศึกษาโครงการรับจำนำข้าวและพบว่า เป็นวิธีที่ดีไม่ใช่นโยบายประกันราคาข้าวอย่างที่มีการนำเสนอเพราะนโยบายอื่นไม่สามารถตอบโจทย์ให้ชาวนาได้ และเมื่อนโยบายนี้เป็นสัญญาประชาคมรัฐบาลจึงประกาศเป็นโยบายของรัฐบาลที่ได้มีการแสดงไว้ต่อรัฐสภาและถือเป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นความรับผิดชอบต่อรัฐบาล เป็นการกระทำซึ่งเป็นไปตามแผนการพัฒนาแห่งชาติ ที่รัฐบาลจะต้องดูแลผู้มีรายได้น้อยและสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยขอเท็จจริงแล้วโครงการรับจำนำข้าวก็ไม่ใช่โครงการที่ใหม่ แต่มีการเกิดขึ้นมานานกว่า 33 ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาวิเคราะห์เป็นการแก้ปัญหาในแนวปฏิบัติที่ทำให้โครงการไม่บรรลุเป้าหมายพอสมควรและไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้สิ้นของประชาชนได้ ดิฉันขอสรุปปัญหาหลักๆในอดีตว่า ปัญหาแรกคือ การรับจำนำข้าวในราคาที่ต่ำกว่าราคาท้องตลาดและการรับจำนำในปริมาณที่น้อยจึงไม่มีแรงผลักดันจะทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงขึ้น และส่งผลให้ชาวนายังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อต้นทุน เกิดเป็นภาระหนี้สินอย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่สองคือ ตลาดข้าวเป็นกลไกที่เรียกว่าเสรีแต่ไม่เป็นธรรม เพราะชาวนาไม่มีอำนาจต่อรองต่อราคาที่แท้จริง ถ้าดูจากสไลด์จะเห็นได้ว่าชาวนา 3.6 ล้าน ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะอยู่ที่ 22 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยทั้งประเทศ เทียบกับพ่อค้าคนกลางซึ่งทุกวันนี้มีเพียง1,500 ราย คิดเป็นสัดส่วนชาวนา 4000 รายต่อพ่อค้าผู้ซื้อ 1 ราย ปัญหาที่สาม คือ พ่อค้าคนกลางก็ยังสามารถที่จะกดราคา เพราะชาวนาส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยากจนและมีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงเป็นแรงกดดันให้ชาวนาต้องรีบขายข้าวในราคาที่ถูกและไม่เป็นธรรม ดังนั้นคณะทำงานของพรรคและรัฐบาลได้ศึกษาวิเคราะห์การประกันรายได้ของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ด้วย และพบว่าโครงการดังกล่าวก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

โดยผลประการแรก คือส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาประกันไม่ส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้นและพ่อค้าคนกลางก็ยังกดราคาข้าวอยู่ทำให้ชาวนารายได้ต่ำกว่าราคาที่ตั้งไว้มาก ประการที่สอง คือ ระบบประกันการจ่ายเงินโดยไม่ต้องนำข้าวมาแสดงมีลักษณะที่เรียกว่า ไม่เห็นข้าว จึงเห็นได้ง่ายในการขึ้นทะเบียนของเกษตรกรที่ไม่ได้ตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกจึงยากต่อการตรวจสอบในพื้นที่ จึงปรากฏว่า จำนวนข้าวที่นำมาแจ้งประกันที่มากเกินความจริง ดังนั้นจากการศึกษารัฐบาลดิฉันจึงได้นำมาปรับเปลี่ยนตามปัญหาในอดีต เพื่อให้ชาวนาไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุด โดยมีวัตถุประสงค์ 3 หลัก ดังนี้ วัตถุประสงค์แรก คือ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ภาระหนี้สิน และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น พร้อมมีรายได้ที่เพียงพอเมื่อเทียบกับกับอาชีพอื่น และเพื่อปรับปรุงกลไกการตลาดข้าวให้เกิดความเสรีและเป็นธรรม"

"จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงการกำหนดเป็นรายละเอียดของโครงการดังกล่าว 1. มีการกำหนดราคาจำนำอยู่ที่ 15,000 บาทต่อตัน ซึ่งการกำหนดราคาข้าวเป็นการกำหนดที่สูงกว่าตลาดนั้นเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและให้ชาวนามีรายได้ที่เป็นธรรม เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ทั้งนี้อย่างน้อยที่สุดเราก็อยากเห็นชาวนามีรายได้ใกล้เคียงกับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และจากเอกสารที่เราได้เปรียบเทียบนั้น ราคาข้าว 10,000 บาทต่อตันนั้น ชาวนาจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 329 บาทต่อวัน 2. การประกาศรับจำนำข้าวทุกเม็ดควบคู่กับราคา 15,000 บาทต่อตัน ทั้งนี้เพื่อควบคุมปริมาณข้าวเปลือกที่เพียงพอและมีระดับที่สูงขึ้น ซึ่งมีผลให้ชาวนาเข้าร่วมโครงการและไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็ได้รับประโยชน์ด้วย 3. ได้มีการปรับปรุงโครงการข้าวเสรีมากขึ้น โดยทำให้ชาวนานั้นมีทางเลือกทำให้ขายและอำนาจต่อรองมากขึ้น และรัฐก็ไม่ได้ผูกขาดตลาดข้าวและพ่อค้าคนกลางก็ยังสามารถขายข้าวได้ตามปกติ และที่เห็นจำนวนข้าวที่มีอยู่ก็แสดงว่ายังสามารถขายข้าวได้อีก ดังนั้นจึงเรียนว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นการบิดเบียนกลไกการตลาดตามที่ได้ถูกกล่าวหา 4. มีการวางขั้นตอนมาตรการต่างๆเพื่อเสริมสร้างโครงการไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น การช่วยเหลือชาวนนาตามโครงการจำนำข้าวนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องที่แปลกเพราะทุกรัฐบาลในโลกก็มีการช่วยเหลือสนับสนุนชาวนนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ผลิตอาหารหลักหรืออาหารที่เลี้ยงประชากรทั้งประเทศ ทุกรัฐบาลก็ยังมีโครงการสาธารณต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติและเป็นภารหน้าที่ของรัฐบาลด้วยซ้ำที่จะต้องดูแล

สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน การช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา โครงการสาธารณะมีการกระทำมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ ปส. หรือโครงการชุบช่วยชาติ หรือการก่อสร้างถนนสาธารณะต่างๆ โดยเห็นได้จากข้อมูลอีกด้านหนึ่งคือ โครงการความร่วมมือหรือที่เรียกว่า โอบีซีดี โดยทั่วโลกก็มีการอุดหนุนสินค้าอื่นและการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ข้าวที่ได้รับการอุดหนุนมากกว่าสินค้าอื่น อย่างประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ก็มีการช่วยเหลือเกษตรกรเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย และจีน ก็มีการอุดหนุนชาวนาเพิ่มขึ้นเช่นกัน และเมื่อเปรียบเทียบในระบบเม็ดเงิน ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการสนับสนุนเงินถึง 83,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศญี่ปุ่นสนับสนุน  63,000 ล้านเหรียญสหรัฐ"

"แต่ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมกลับมีการสนับสนุนเงินเพียง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะทำความเข้าใจว่าทุกประทศมีการวางนโยบายและมาตรการช่วยเหลือประชาชน เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา และโครงการสาธารณะต่างๆ โดยทุกประเทศนั้นถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่สำคัญที่สุดคือเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและเป็นการลงทุนของประทศที่ไม่ใช่การคิดกำไรหรือขาดทุน ทุกวันนี้คนไทยจึงภูมิใจว่า ชาวนาไทยคือกระดูกสันหลังของชาติ สามารถผลิตข้าวมีคุณภาพที่ดี รสชาติอร่อย และขายได้ราคาดีที่สุด แต่ยังมีบ้างคนกลับบอกว่า อย่าไปอุดหนุนหรือใช้เงินกับประชาชนชาวนาเลย จะทำให้ประทศเสียหาย ถ้าคิดเช่นนี้ดิฉันคิดว่าเป็นความน่าเสียใจมาก ถ้าการลงทุนนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อชาวนาดี เศรษฐกิจดี ก็จะมีการจับจ่ายใช้สอยที่ดีมีการเลือกซื้อสินค้าที่มากขึ้น ทั้งผู้ค้าผู้ผลิต หรือ เอสเอ็มอี ก็จะมีการขายสินค้ามากขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น นี้เป็นประโยชน์ส่วนร่วมของคนทั้งประเทศ"

ทั้งนี้ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงคัดค้านคำแถลงเปิดสำนวนเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุม สนช.ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการซักถามขึ้น 9 คน โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า หากสมาชิก สนช.คนใดมีความประสงค์จะซักถามเพิ่มเติมให้ยื่นประเด็นซักถามมาภายในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 13 ม.ค.58 ขณะเดียวกันได้กำหนดวันนัดประชุมเพื่อตอบข้อซักถามในวันที่ 16 ม.ค.58 เวลา 10.00 น.

สรุปความเคลื่อนไหว สนช. – สปช. ประจำสัปดาห์ 5 – 9 ม.ค. 58

5 ม.ค. 58

ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกีฬา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผลักดันกีฬาสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามกีฬา ลดความขัดแย้ง สร้างความปรองดองในพื้นที่

สปช.ประชุมพิจารณาโครงการปฏิรูปเร็วที่กรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสนอ โครงการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี ก่อนให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบส่งต่อให้รัฐบาลหรือไม่ หวังผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์สร้างความมั่นคงทางพลังงาน เป็นของขวัญปีใหม่ 2558 แด่พี่น้องชาวไทย

รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่หนึ่ง ยืนยัน สนช.พิจารณาคดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามหลักกฎหมายและข้อบังคับการประชุม พร้อมระบุ ไม่กระทบต่อแนวทางปรองดอง เชื่อทุกฝ่ายเข้าใจ

ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุ มีการประสานและรายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติทุกสัปดาห์ ขณะ วันที่ 12 ม.ค. นี้ เริ่มพิจารณายกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตรา เตรียมเปิดให้กรรมาธิการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ที่เสนอความเห็น ได้เข้าร่วมประชุม

ที่ประชุม สปช. มีมติเห็นชอบในรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานด้วยเสียง 206 ต่อ 15 เสียง ให้เสนอประเด็นปฏิรูปเร็วด้านพลังงานต่อรัฐบาล โครงการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี หวังให้ประชาชนไทยเป็นผู้ใช้และผู้ผลิตพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า

6 ม.ค. 58

สภาปฏิรูปแห่งชาติ พิจารณาประเด็นปฏิรูปเร็วที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอ เรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานจริงเป็นวินาที เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค

กมธ.การกฎหมายฯ สนช. จัดสัมมนา “การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” อังคารที่ 13 ม.ค. 58 หวังนำข้อเสนอที่ได้ไปกำหนดแนวทางในการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม

ที่ประชุม สปช. มีมติเห็นชอบในรายงาน เรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริงโดยคิดเป็นวินาที ด้วยเสียง 211 ต่อ 3 เสียง ก่อนส่งต่อให้ คสช.เห็นชอบ และให้ กสทช. ออกหลักเกณฑ์ควบคุมผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุ การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดภาระโลกร้อน พร้อมสร้างรายได้ให้ประชาชน คาดอีก 5 ปีข้างหน้าจะติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 1 แสนหลังคาเรือน หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในภูมิภาคอาเซียน

ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รับหนังสือจากเครือข่ายจังหวัดปกครองตนเองและคณะ ขอให้ สปช. ออกกฎหมายปกครองตนเองให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หวังลดความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งในสังคม

ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยี สภาปฏิรูปแห่งชาติ รับหนังสือจากเครือข่ายเดอะเนชั่น ขอให้ตรวจสอบบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ หลังเข้าถือหุ้นเนชั่นไม่ชอบมาพากล หวั่นครอบงำสื่อ

ชาวบ้าน จ.เพชรบุรี   ร้องคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช.  แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และถูกเอาเปรียบจากนายทุน ด้านประธานกรรมาธิการ ยืนยัน  ให้ความช่วยเหลือเต็มที่อย่างเป็นธรรม ตามกรอบกฎหมาย  แต่ย้ำมีหนี้ต้องใช้คืน

คณะกรรมาธิการปฏิรูปการกีฬา สภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดประชุมสัมมนาเวทีประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคมนี้ หวังแลกเปลี่ยนความเห็นปฏิรูปกีฬาอย่างยั่งยืน

รองประธาน สนช. คนที่ 1 ระบุ เป็นเรื่องดีที่อดีตนายกยิ่งลักษณ์ จะเข้าชี้แจงกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ต่อที่ประชุม สนช.ด้วยตนเอง ในวันที่ 9 ม.ค.นี้ ยืนยัน กมธ.ซักถามผู้ถูกถอดถอนจะทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ไม่มีอคติ เนื่องจากไม่สามารถตั้งคำถามใหม่ได้เอง 

อดีตนายกฯ  ยิ่งลักษณ์"เข้าชี้แจงคดีถอดถอนปมจำนำข้าว 9 ม.ค.นี้ด้วยตนเอง   และมั่นใจในความบริสุทธิ์ หวังจะได้รับความเป็นธรรมจาก สนช.  พร้อมเตรียมส่งผู้แทนรวม 8 คน เป็นอดีต รมต. 4 คน และทนาย 4 คน เข้าชี้แจงที่ประชุมด้วย

7 ม.ค. 58

รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง  ยืนยัน  ภารกิจออกกฎหมายรอบปี 2557   สนช. รักษาคุณภาพของกฎหมายทุกฉบับ   พร้อมเผย กฎหมายภาษีการรับมรดก คาดมีผลบังคับใช้กลางปีนี้

ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับหนังสือจากแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ขอให้ สนช.ถอนรายชื่อ ไม้ยางพารา ออกจากร่าง พ.ร.บ.สวนป่า (ฉบับที่..) พ.ศ..ป้องกันการละเมิดสิทธิ์และควบคุมการปลูกต้นไม้ของประชาชน

ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้การรับรองรองประธานสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งเวียดนาม ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย พร้อมเผยคาดประเทศเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ต้นปี 59 ด้านรองประธานสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งเวียดนาม หวังไทยปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ

สภานิติบัญญัติแห่งชาตินัดแถลงเปิดคดีถอดถอน "นายนิคม ไวยรัชพานิช" และ"นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ในวันพรุ่งนี้ จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.

 

คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฎิรูปแห่งชาติ ( วิปสปช. ) เตรียมลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชน  พร้อมมีมติบรรจุเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมแปลงที่ 21 ในการประชุม สปช.วันที่ 13 มกราคมนี้

ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยืนยัน พิจารณาคำแถลงเปิดคดีถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างเปิดเผย ระบุ ถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดช่อง 11

8 ม.ค. 58

รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติคนที่สอง มอบจักรยานเนื่องใน “งานฉลองวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2558” ของรัฐสภา ด้านเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เชิญชวนเด็กๆ ทุกคนร่วมงานวันเด็กที่รัฐสภา

ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.. เผย เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้ สนช.พิจารณา หลังพิจารณาเสร็จแล้ว หวังสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรฯ ของไทยให้ครอบคลุม

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง 189 ต่อ 2 เสียง

ตัวแทนเยาวชน ให้กำลังใจ สนช. ขอมีมติผ่านร่าง พรบ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในวาระ 2 และ 3 หวังปกป้องเด็กและเยาวชนจากสื่อล่อลวง มอบเป็นของขวัญวันเด็ก ปี 2558

ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ สนับสนุนให้ กสทช.เร่งดำเนินการออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลการคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาทีทั้งระบบแบบยั่งยืน หวังปฏิรูประบบการคิดค่าบริการโทรคมนาคม

ที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.เหรียญพิทักษ์เสรีชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 176 เสียง พร้อมตั้งข้อสังเกตประเด็นหลักเกณฑ์การพิจารณามอบเหรียญ หวั่นเป็นการให้โดยหวังผลหรือให้แก่พวกพ้อง ขณะ รมช.กลาโหม ย้ำ การพิจารณามอบเหรียญจะมีหลักเกณฑ์และเป็นไปอย่างเหมาะสม

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เริ่มพิจารณาวาระเรื่องด่วนในการแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช. เพื่อถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ออกจากตำแหน่ง จากกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.

ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุ การสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศ เชื่อ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ พร้อมตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองฯ เดินหน้าสร้างความปรองดองควบคู่กับการปฏิรูป

นายนิคม อดีตประธานวุฒิสภา แถลงโต้แย้งยืนคำเปิดสำนวน ปปช.  โดยยืนยันทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม ไม่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550  เชื่อสมาชิก สนช. จะให้ความเป็นธรรม  ขณะที่ นายสมศักดิ์ อดีตประธานรัฐสภา ไม่ได้เดินทางมามาแถลงโต้แย้งคัดค้านเปิดคดีด้วยตนเองหรือส่งตัวแทนมาชี้แจง แต่อย่างใด  คาดสิ้นเดือนนี้ สนช.จะลงมติว่าจะถอดถอนบุคคลทั้งสองหรือไม่  ส่วนวันพรุ่งนี้ อดีตนายกยิ่งลักษณ์ จะเดินทางมาแถลงโต้แย้งคัดค้านข้อกล่าวด้วยตนเอง

9 ม.ค. 58

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มั่นใจพร้อมชี้แจงทุกข้อกล่าวหาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ด้านป.ป.ช. ชี้  อดีตนายกฯ ส่อทำผิด เพราะรู้ปัญหาทุจริตแต่ไม่แก้ไข  พร้อมย้ำไม่ได้เร่งรัดคดี หรือ 2 มาตรฐาน

ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับหนังสือจากนายกสมาพันธ์บุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ขอให้ สนช.ช่วยผลักดันสวัสดิการลูกจ้างชั่วคราวทางการศึกษาให้ได้รับความเป็นธรรม เพื่อความมั่นคงและเป็นขวัญกำลังในการปฏิบัติหน้าที่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: