ประทุษวาจา (hate speech) เบื้องต้น สำหรับสังคมไทย

พิรงรอง รามสูต 11 ก.พ. 2558


"ประทุษวาจา" หรือ hate speech ถือว่าเป็นคำแห่งยุคสมัย ไม่ใช่เพียงเพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทยให้ความสนใจและเห็นเป็นประเด็นปัญหาถึงขนาดจะบรรจุเข้าไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยังเพราะเป็นเรื่องที่กำลังสร้างความระส่ำระสายให้กับสังคมโลก อย่างกรณีของการล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดของอิสลามโดยนิตยสารชาร์ลี เอบโดในฝรั่งเศสจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมระดับโลกไม่ลืมนั้น ก็มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเข้าข่าย hate speech หรือไม่

แม้จะไม่มีความหมายตรงกลางที่เป็นมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียว แต่ "ประทุษวาจา" ตามที่มีใช้กันในบริบทสากลมักจะหมายถึง วาจาหรือการแสดงออกทางความหมายในรูปแบบใดก็ตามที่ส่งเสริมทัศนคติหรือการกระทำที่แบ่งแยกและดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือแม้แต่ยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลหรือกลุ่มคน บนฐานแห่งอัตลักษณ์ร่วม (ลักษณะอันโดดเด่นซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนที่เชื่อมโยงผูกพันกับกลุ่มทางสังคมซึ่งบุคคลหรือกลุ่มนั้นๆ เป็นสมาชิก) เช่น เชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ สีผิว เพศสภาพ เพศวิถี ความพิการ อุดมการณ์ทางการเมืองหรือลักษณะทางสังคมใดๆ อันเป็นการแบ่งแยกได้ โดย "ประทุษวาจา" อาจจะเป็นการโจมตีด้วยคำพูด การคุกคาม การดูถูกดูหมิ่น หรือแม้แต่การล้อเลียนหรือทำให้ขบขัน

คำว่า "ประทุษวาจา" เป็นคำใหม่ในภาษาไทย เพิ่งได้รับการบัญญัติขึ้นมาโดยราชบัณฑิตยสถานเมื่อต้นปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นมีการเรียกโดยแปลความจากภาษาอังกฤษว่า วาจาที่สร้างความเกลียดชังบ้าง โทสวาทบ้าง แต่ชื่อนั้นคงไม่สำคัญไฉน หากปรากฏการณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของการใช้สื่อโดยเฉพาะสื่อขนาดเล็กที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าอย่างเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือสื่อออนไลน์เพื่อสร้างความเกลียดชังจะไม่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการสร้างความแตกแยกที่ร้าวลึกในสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ถึงแม้จะดูเหมือน "วัวหายแล้วล้อมคอก" แต่ทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ก็ได้เดินหน้าเสนอประเด็นร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ "ประทุษวาจา" ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอให้บรรจุอยู่ในหมวดที่ว่าด้วยการสร้างความปรองดอง หรือหมวดที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีการตัดสินที่จะไม่บรรจุบทบัญญัติเกี่ยวกับประทุษวาจาในร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการให้เป็นอุปสรรคและรุกล้ำเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้ ตามร่างเดิมประทุษวาจาน่าจะบรรจุอยู่ในมาตรา 14 ซึ่งบัญญัติขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับวิกฤตสังคมที่เกิดขึ้น ที่ร่างไว้ว่า

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนได้อย่างเสรี โดยไม่สามารถจำกัดเสรีภาพได้ เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน

เห็นได้ชัดเจนว่า ประทุษวาจาถูกนำเสนอในฐานะข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นของเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งไทยเป็นประเทศภาคีตั้งแต่ปี 2540 อย่างไรก็ดี บรรทัดฐานของการนิยามคำว่าประทุษวาจาจะเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีต่างๆ

ณ จุดนี้ แม้ทางคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะตัดสินใจละประเด็นนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแน่ใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่มีอะไรพลิกผันในขั้นสุดท้าย ผู้เขียนเห็นว่ายังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่บ้าง เพราะเท่าที่ได้แลกเปลี่ยนกันในหลายวง และจากประสบการณ์จากการทำวิจัยในแผนงานวิจัย "การกำกับดูแลสื่อที่สร้างความเกลียดชัง" ที่สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ค้นพบว่า ความเข้าใจของคนไทยจำนวนมากเกี่ยวกับประทุษวาจายังคงคลาดเคลื่อนและผิดเพี้ยนไปจากที่รับรู้กันในระดับสากลอย่างมีนัยสำคัญ

ประทุษวาจาจำเป็นต้องมีเจตนาหรือวัตถุประสงค์ชัดเจนที่มุ่งให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งๆ

ได้รับความเกลียดชังจากคนอื่นในลักษณะที่ถูกแบ่งแยก

และตีตราว่าไม่เป็นที่ต้องการของสังคม และอาจนำไปสู่ความรุนแรง

ตัวอย่างบางประการที่พอประมวลได้ก็คือ ประทุษวาจามักถูกมองว่าหมายถึงคำพูดหยาบคาย หรือการใช้วาจาในลักษณะผรุสวาท ด่าทอ ประณามกัน หรือแม้แต่การดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง อย่างถ้าสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งหนึ่งประณามนักการเมืองคนหนึ่งว่าขี้โกง และเปรียบเปรยนักการเมืองคนนั้นด้วยถ้อยคำหยาบคาย ก็มักจะถูกมองว่าเป็นประทุษวาจา ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคือการหมิ่นประมาท ซึ่งนักการเมืองที่ได้รับผลกระทบสามารถไปฟ้องร้องโดยใช้ความผิดฐานหมิ่นประมาทที่อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาได้เลย

ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ หากนำความผิดฐานหมิ่นประมาทมาใช้อธิบาย จะพบว่าต้องเป็นการทำให้เกิดความเสียหายในด้านชื่อเสียง และผู้เสียหายคือปัจเจกบุคคลหนึ่ง ระบุได้ชัดเจน ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีของประทุษวาจาที่เป็นการทำให้บุคคลหรือกลุ่มคนถูกเกลียดชัง โดยลักษณะซึ่งเป็นฐานที่มาของความเกลียดชังต้องมาจากความคิดแบ่งแยกแบบเหมารวม เช่น คนดำ กะเทย คนนับถือศาสนาคริสต์ คนบ้านนอก คนเสื้อม่วง เป็นต้น ผลกระทบจะไม่ได้ตกอยู่ที่ปัจเจกบุคคลเพียงผู้เดียว แต่จะส่งผลรวมไปถึงกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน และส่งแรงกระเพื่อมไปถึงเยื่อใยที่ยึดโยงกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ต่างกัน แต่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกันด้วย หากมีการยั่วยุให้เกิดความเข้าใจผิดก็สามารถนำไปสู่การบ่มเพาะความเกลียดชังได้ไม่ยาก

พูดง่ายๆ ก็คือ การหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อปัจเจกบุคคล ขณะที่ประทุษวาจาเป็นความผิดที่กระทบถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในสังคม

นอกจากนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญก็ควรจะได้พิจารณากันอย่างถี่ถ้วนถึงองค์ประกอบของประทุษวาจา และระดับความร้ายแรงที่ควรจะได้รับการกำกับดูแลจากกฎหมาย ตลอดจนบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง

ในแง่องค์ประกอบ ประทุษวาจาจำเป็นต้องมีเจตนาหรือวัตถุประสงค์ชัดเจนที่มุ่งให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งๆ ได้รับความเกลียดชังจากคนอื่น ในลักษณะที่ถูกแบ่งแยกและตีตราว่าไม่เป็นที่ต้องการของสังคม และอาจนำไปสู่ความรุนแรง โดยความรุนแรงก็ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของประทุษวาจา

ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางกายภาพ ซึ่งหมายถึงการใช้กำลังหรือการทำร้ายร่างกายและทรัพย์สิน ซึ่งถ้ามีความเกลียดชังเป็นฐานก็จะเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง (hate crimes) ได้ หรือความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง ซึ่งหมายถึงการบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มดังกล่าวกับกลุ่มทางสังคมอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคม เช่น การสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติต่อกลุ่มเป้าหมายความเกลียดชังอย่างไม่เท่าเทียม เป็นต้น

ทั้งนี้ ฐานแห่งความเกลียดชังที่ก่อเกิดโดยประทุษวาจานั้นก็ต้องมุ่งไปที่อัตลักษณ์ร่วมของกลุ่มดังได้กล่าวไปแล้ว โดยจะเป็นอัตลักษณ์ซึ่งติดตัวมาแต่ดั้งเดิม เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศสภาพ ความพิการ หรือเกิดขึ้นภายหลังและเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ศาสนา ชนชั้น สถานที่เกิด/ที่อยู่อาศัย อาชีพ การศึกษา อุดมการณ์ทางการเมือง เพศวิถี หรือลักษณะอื่นที่สามารถถูกทำให้แบ่งแยกได้

ขณะเดียวกัน บริบทแวดล้อมก็ถือเป็นองค์ประกอบอีกอย่างที่จะละเลยเสียมิได้ในการพิจารณาความผิดในฐานประทุษวาจา กล่าวคือ หากสังคมอยู่ในภาวะที่มีความขัดแย้ง วิตกกังวล และมีความตึงเครียดสูง การปลุกเร้าโดยใช้ประทุษวาจาย่อมมีโอกาสสูงกว่าที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง หรือแม้แต่อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง ยิ่งถ้ามีการรวมตัวชุมนุมของกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ร่วมกันและมีความรู้สึกเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมายร่วมกัน ความรู้สึกปลุกเร้าให้กระทำการใดๆ อันเป็นความผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองก็น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงกว่าในแนวแบบอุปทานหมู่

ทั้งนี้ ประทุษวาจาอาจมีได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่หนึ่งคือการแสดงความเกลียดชังโดยไม่มีเจตนาหรือวัตถุประสงค์ชัดเจน หรือระดับที่สองคือการมีเจตนาชัดเจนที่จะปลุกเร้าหรือโน้มน้าวใจให้ผู้อื่นมีความเกลียดชังบุคคลหรือกลุ่มเป้าหมายที่มีอัตลักษณ์ร่วมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือระดับที่สามคือการมีเจตนาชัดเจนที่จะปลุกเร้าหรือโน้มน้าวใจให้ผู้อื่นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันอาจเป็นการใช้ความรุนแรงหรือกระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองต่อกลุ่มเป้าหมายความเกลียดชัง ทั้งนี้ การพิจารณาบทลงโทษหรือมาตรการในการกำกับดูแลก็ควรที่จะดูถึงระดับความร้ายแรงดังกล่าวประกอบด้วย

ในกฎหมายที่เป็นสากลเกี่ยวกับประทุษวาจาระดับที่สาม มักใช้มาตรการทางกฎหมาย ขณะที่ในสองระดับแรกมักใช้วิธีการกำกับดูแลตนเองของสื่อและผู้ใช้สื่อเป็นหลัก

ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่ของการกำกับดูแลกิจกรรมอันเกี่ยวข้องกับประทุษวาจา จากผู้ที่มีอำนาจทางกฎหมายอาจพิจารณาประกอบด้วยถึงความต่อเนื่องของกิจกรรมหรือความพยายามในการประทุษวาจา หากเป็นกิจกรรมที่ผู้ส่งสารมีเจตนากระตุ้นเร้าด้วยการสื่อสารที่ต่อเนื่อง มีการถ่ายทอดซ้ำอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ ซึ่งแสดงถึงความมุ่งหมายอย่างชัดเจนในการสะสมความเกลียดชังเพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์อะไรบางอย่าง และไม่ลดละความพยายามที่จะทำให้เกิดความรุนแรงกับคนหรือกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์นั้นขึ้นมาจริงๆ ก็น่าจะได้มีมาตรการในการกำกับดูแลที่ชัดเจนกว่าการพูดพล่อยๆ หรือแสดงออกแบบเป็นมื้อเป็นคราวไม่ยั่งยืน

โดยภาพรวม หลักการแห่งการบัญญัติกฎหมายที่พยายามไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งว่าด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การบัญญัติไว้แต่เพียงที่จำเป็น และการกำหนดขอบเขตแห่งโทษที่เหมาะสมได้สัดส่วนกับความผิด ก็ควรจะได้เป็นหลักการพื้นฐานที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญพึงได้สังวรไว้ร่วมกัน ไม่เพียงกับบทบัญญัติเรื่องประทุษวาจาเท่านั้น แต่กับทุกๆ เรื่องที่ส่งผลต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งหวังว่าจะกลับคืนมาพร้อมๆ กับระบอบประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต

ที่มา: มติชนรายวัน 10 ก.พ. 2558

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: