ไล่รื้อริมคลองแก้น้ำท่วม กระทบกว่า 7 หมื่นครอบครัว สถาปนิกชี้ ไม่ใช่ทางแก้

11 ก.ย. 2558 | อ่านแล้ว 2828 ครั้ง


	ไล่รื้อริมคลองแก้น้ำท่วม กระทบกว่า 7 หมื่นครอบครัว สถาปนิกชี้ ไม่ใช่ทางแก้

สถาปนิกชี้การแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยสร้างเขื่อน-ประตูระบายน้ำ ไล่รื้อชุมชนริมคลอง เป็นการแก้ไขปัญหาเพียงเสี้ยวเดียว ชี้มองปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ครบทุกมิติ (ขอบคุณภาพจากเพจ คน คู คลอง)

11 ก.ย. 58 เพจคน คู คลอง รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังเร่งเดินหน้ารื้อชุมชนสายคลองลาดพร้าว โดยให้เหตุผลว่า จะมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) และประตูระบายน้ำ คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ จากบริเวณเขื่อนเดิมอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหงไปทางประตูระบายน้ำคลอง สองสายใต้ วงเงินงบประมาณ 2,426  ล้านบาท งบประมาณ 4 ปี คือปี 2558-2561 คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างในวันที่ 30 กันยายน 2558  ระยะเวลาก่อสร้าง 42  เดือน

นโยบายดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นมาจากแผนการจัดการน้ำระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ผลพวงจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้สั่งดำเนินการโดยตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการในการแก้ปัญหาชุมชนริมคูคลองนี้ขึ้นมา มีรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, กลาโหม และการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานทั้ง 3 คน มีเลขาการ คสช. มาเป็นเลขานุการกรรมการ โดยแบ่งย่อยการทำงานออกมาเป็น 3 อนุกรรมการ คือ คณะอนุกรรมการการโยกย้ายประชาชน คณะอนุกรรมการการพัฒนาและจัดที่อยู่อาศัย คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวตั้งอยู่บนข้อมสมมติฐานที่ว่า หนึ่งในสาเหตุของน้ำท่วม กทม.คือ ขนาดคลองยังกว้างไม่พอต่อการระบายน้ำ อีกทั้งยังมีบ้านเรือนจำนวนราว 23,500 หลังคาเรือน สร้างรุกล้ำพื้นที่คลอง ทางแก้ปัญหาคือ ขยายขนาดคลองให้กว้างขึ้นจากเดิม เป็น  38 เมตร เป็นระยะทาง 128.37 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนอาศัยอยู่แนวริมคลองทั้ง 9 สาย ราว 12,037 ครัวเรือน เป็นจำนวนประชากรทั้งสิ้น 68,087 คน จำเป็นต้องย้ายออกจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิม

ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์จากภาควิชาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การจัดการปัญหาน้ำท่วมอง กทม. ที่ไล่รื้อชุมชนริมคลองว่า ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ครบทุกมิติ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม กทม.ครั้งที่ผ่านมานั้น เกิดจากน้ำที่ไหลมาจากทางเหนือบวกกับปัจจัยจากน้ำทะเลหนุน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยถูกรวมเข้าไปในปัญหาเรื่องน้ำท่วม ขณะที่ปัญหาการรุกล้ำริมคลองเป็นเพียงปัจจัยเสี้ยวเดียว

“ปัญหาการรุกล้ำทำให้การระบายน้ำมีปัญหาเป็นแค่ความจริงเสี้ยวเดียว ต้องมองปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพให้ครบทุกมิติ น้ำที่ท่วมกรุงเทพฯ เสี่ยงอยู่มี 3 น้ำ คือน้ำที่ไหลมาจากทางเหนือตอนน้ำท่วมปี 2554 เป็นน้ำท่ากับน้ำทุ่ง สองคือน้ำฝน น้ำท่วม 2554 ฝนไม่ได้ตกในกรุงเทพฯ เลย และสามที่สำคัญและหายไปจากแนวคิดเรื่องน้ำท่วมคือน้ำทะเลหนุน สมมติว่ามีน้ำทะเลหนุนในช่วงฝนตกหนักประสิทธิภาพการระบายน้ำลงทะเลจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง” ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: