นับตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว โดยช่วงต้นปี พ.ศ.2557 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในระดับเฉลี่ยสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทว่า เมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ.2558 ราคาน้ำมันดิบในตลาดสหรัฐอเมริกาปรับลดลงมาต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลหรือมีการปรับลดลงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในระยะเวลากว่า 5 ปี และดูเหมือนว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขณะนี้จะยังหาจุดดุลยภาพหรือแม้กระทั่งจุดต่ำสุดไม่เจอ
จุดเริ่มต้นในการลดลงของราคาน้ำมันดิบครั้งนี้มาจากสถานการณ์ที่ปริมาณการผลิตน้ำมันในตลาดโลกมีมากกว่าความต้องการใช้หรือที่นิยมเรียกเป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ว่า เกิดภาวะอุปทานส่วนเกิน (Excess Supply) ขึ้น โดยปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในทวีปอเมริกาเหนือ และทางผู้ผลิตน้ำมันดิบดั้งเดิมในกลุ่มโอเปค (OPEC) ก็ได้ตอบสนองต่อสถานการณ์นี้ด้วยการตัดสินใจซึ่งผิดความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่ากลุ่มโอเปคจะประกาศลดจำนวนการผลิตน้ำมันดิบลงเพื่อให้ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น แต่กลุ่มโอเปคกลับคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบไว้เท่าเดิมทำให้สถานการณ์อุปทานส่วนเกินยังคงอยู่และทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงอย่างมาก
กลุ่มโอเปคให้เหตุผลที่คงจำนวนการผลิตน้ำมันดิบไว้เท่าเดิมว่า เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตน และกลุ่มโอเปคไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมจะต้องเป็นผู้เสียสละลดกำลังการผลิตเพื่อให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายอื่นได้ประโยชน์ นอกจากนี้ การที่กลุ่มโอเปคปล่อยให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงก็เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังผู้ผลิตรายใหม่หรือผู้ที่คิดจะลงทุนเพิ่มเติมในการผลิตน้ำมันดิบแข่งกับกลุ่มโอเปคต้องพิจารณาให้รอบคอบว่ากลุ่มโอเปคพร้อมที่จะทำสงครามราคา ซึ่งผู้ผลิตรายใหม่จะเสียเปรียบผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคเพราะต้นทุนในการผลิตที่สูงกว่ามากนั่นเอง
สถานการณ์ราคาน้ำมันยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อการตกลงของราคาน้ำมันดิบถูกนำไปเชื่อมโยงกับการตอบโต้รัสเซียของชาติตะวันตกจากกรณีข้อพิพาทในยูเครน เพราะแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลรัสเซียมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการส่งออกพลังงาน ดังนั้น การที่ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลรัสเซีย เห็นได้จากการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของเงินรูเบิล จนทำให้ธนาคารกลางรัสเซียต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในประเทศอย่างฉับพลันจากระดับร้อยละ 10.5 เป็นร้อยละ 17 ในช่วงระยะเวลาเพียงข้ามคืน จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กดดันรัฐบาลรัสเซียอยู่ในเวลานี้กลับยิ่งทำให้รัสเซียผลิตน้ำมันดิบออกมามากขึ้น เพื่อเป็นการขดเชยราคาที่ปรับลดลง โดยระดับการผลิตน้ำมันของรัสเซียใน พ.ศ.2557 อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์หลังการสิ้นสุดของสหภาพโซเวียต ซึ่งข่าวการเพิ่มปริมาณการผลิตของรัสเซียนี้ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกต่อไป
กองทุนเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลง เพราะเมื่อกองทุนเหล่านี้เห็นว่าราคาน้ำมันมีการปรับตัวลดลงทำสถิติต่ำสุดอย่างต่อเนื่องก็จะยิ่งส่งสัญญาณให้กองทุนเหล่านี้เทขายน้ำมันออกมาเพิ่มขึ้น และยิ่งมีแรงเทขายน้ำมันเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้ราคาลดต่ำลงอย่างรวดเร็วอีก ในช่วงต้นปีที่แล้วคงจะไม่มีใครคิดว่าเราจะได้เห็นราคาน้ำมันที่ต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทว่า ขณะนี้นักวิเคราะห์หลายรายเริ่มประมาณการกันว่าราคาน้ำมันดิบอาจจะลดลงได้ต่ำสุดถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจใน พ.ศ.2558
คือจะทำอย่างไรเพื่อส่งผ่านผลประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมัน
ไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ได้มากที่สุด และบรรเทาผลเสียที่อาจเกิดขึ้น
โดยหลักแล้ว การที่ราคาน้ำมันปรับลดลงน่าจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งไทย ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อราคาน้ำมันปรับลดลงจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและราคาสินค้าสามารถปรับลดลงได้ การลดลงของราคาสินค้าก็จะทำให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น การบริโภคที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การลดลงของราคาน้ำมันจึงน่าจะเป็นข่าวดีกับเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าทั้งหลายรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับกลายเป็นว่าแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ากลับถูกปรับลดลงจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของทั้งภาครัฐและเอกชน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตลอดจนถึงค่าเงินบาทก็ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมั้นทั้งสิ้น เหตุใดการลดลงของราคาน้ำมันในครั้งนี้จึงไม่เป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจไทยเท่าใดนัก? มีเหตุผลหลัก 3 ประการที่สามารถตอบคำถามนี้ ได้แก่:
เหตุผลประการที่หนึ่ง, เศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นรายได้หลัก เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซาอุดิอาระเบีย เวเนซูเอลา และรัสเซีย จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์และซาอุดิอาระเบีย แม้จะได้รับผลกระทบมาก แต่ด้วยฐานะเศรษฐกิจที่เข้มแข็งแต่เดิมก็น่าที่จะผ่านพ้นวิกฤติการณ์ราคาน้ำมันครั้งนี้ไปได้ ส่วนประเทศที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในเวลานี้ ได้แก่ เวเนซูเอลาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย ทั้งนี้เพราะนอกจากผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันแล้ว รัสเซียยังได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกทำให้เป็นที่คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจของรัสเซียในปี พ.ศ.2558 อาจหดตัวลงถึงร้อยละ 2.5
ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจรัสเซียจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย เพราะจำนวนชาวรัสเซียที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นอยู่ในลำดับที่ 3 ของชาติที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดรองจากจีนและมาเลเซีย และยังถือเป็นตลาดการท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทยในทวีปยุโรปอีกด้วย ดังนั้น หากรัสเซียต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจริง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งท่องเที่ยวอย่างพัทยาที่มีชาวรัสเซียเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
ในส่วนของผลกระทบด้านการค้าและการลงทุน แม้ว่าไทยจะมีการค้าและการลงทุนโดยตรงกับรัสเซียไม่มากนัก แต่หากเศรษฐกิจของรัสเซียอยู่ในภาวะถดถอยจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ระหว่างประเทศของภาคเอกชนรัสเซียแล้ว จะทำให้เกิดความผันผวนขึ้นอย่างมากในตลาดการเงินระหว่างประเทศและทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ทั่วโลกซึ่งอาจรวมถึงประเทศไทยด้วย
เหตุผลประการที่สอง, การตกต่ำลงของราคาน้ำมันย่อมส่งผลกระทบกับระดับผลกำไรของบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก ผลกำไรที่ลดลงของบริษัทเหล่านี้จะกดดันให้ราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มพลังงานปรับลดลง ในตลาดหลักทรัพย์ของหลายประเทศ มูลค่าหุ้นของกลุ่มพลังงานมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น การลดลงของราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานจึงส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่นกรณีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Market Capitalization) กว่า 970,000 ล้านบาท จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อราคาหุ้นในกลุ่ม ปตท. ปรับตัวลดลอย่างมาก ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวลดลงตามด้วยเช่นกัน
การลดลงของราคาน้ำมันไม่ได้ส่งผลกระทบแต่เฉพาะกับหุ้นในกลุ่มพลังงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อบริษัทในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ราคาหุ้นของบริษัท Caterpillar ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักรกลและระบบขุดเจาะก็ปรับลดลงอย่างมาก ธุรกิจต่อเนื่องของบริษัทน้ำมันนั้นมีตั้งแต่บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการสำรวจแหล่งพลังงาน ธุรกิจเหล็ก ธุรกิจท่อและวาล์ว ไปจนถึงสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อกับผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งระดับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนี้เริ่มทำให้เกิดความกังวลว่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมันบางรายอาจประสบปัญหาในการชำระหนี้ต่อไปในอนาคต และหากผลกระทบขยายตัวออกไปในวงกว้างจริงก็ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่แล้วให้อ่อนไหวเพิ่มขึ้นอีก
เหตุผลประการที่สาม, การลดลงของราคาน้ำมันอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืดขึ้นในสหภาพยุโรป ภาวะเงินฝืด (Deflation) หมายถึงการที่ระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปกติแล้วการเกิดภาวะเงินฝืดจะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะการที่ระดับราคาสินค้าภายในประเทศปรับลดลงย่อมเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจดังเช่นที่ประเทศญี่ปุ่นเคยเผชิญ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายของสหภาพยุโรปกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและเป็นที่คาดการณ์กันว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดขึ้น และหากธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินโดยการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงินยุโรปจริง สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือเงินยูโรจะอ่อนค่าลงมาก โดยการอ่อนค่าลงของเงินยูโรจะช่วยกระตุ้นการส่งออกของสหภาพยุโรปและทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น
นอกจากธนาคารกลางยุโรปแล้ว ก็เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเองก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของญี่ปุ่นก็จะทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับกรณีของเงินยูโร สถานการณ์การอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินสกุลหลักๆ ของโลก (ยกเว้นเงินดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มเริ่มกังวลถึงแนวโน้ม ‘สงครามค่าเงิน’ ที่ทุกประเทศต่างอยากให้เงินของประเทศตนเองอ่อนค่าลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและการนำเข้าที่ลดลง
ภาพจาก entertainment.goosiam.com
ประเด็นเรื่อง ‘สงครามค่าเงิน’ นี้อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางของการส่งออกเพราะยิ่งค่าเงินของประเทศคู่ค้าของไทยอ่อนค่าลงมากเท่าไหร่ก็แสดงว่าสินค้าของไทยจะส่งออกได้ยากลำบากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยจะมีราคาแพงขึ้นในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ การสิ้นสุดของสิทธิพิเศษทางภาษีที่สหภาพยุโรปเคยให้กับไทยและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก (ยกเว้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน) ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกของไทย
จากเหตุผลทั้งสามประการที่กล่าวมาข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าการลดลงของราคาน้ำมันได้นำมาทั้ง ‘ข่าวดี’ และ ‘ข่าวร้าย’ ต่อเศรษฐกิจไทย
ข่าวดีก็คือการที่ราคาน้ำมันลดลงย่อมส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนในประเทศสูงขึ้นผ่านทางอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถปรับโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและลดภาระในการอุดหนุนดังที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่
ส่วนข่าวร้ายที่ตามมาก็คือการลดลงของราคาน้ำมันในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่อ่อนไหวมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาได้ทำการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินมูลค่ามหาศาลเข้าสู่ระบบการเงิน และเป็นที่คาดหมายกันว่าสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นจะดำเนินมาตรการเพิ่มสภาพคล่องในลักษณะเดียวกัน สภาพคล่องทางการเงินที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เหล่านี้อัดฉีดเข้ามากลายเป็นเสาหลักที่ช่วยค้ำจุนตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ ปัญหาที่อาจเกิดตามมาก็คือสภาพคล่องทางการเงินเหล่านี้พร้อมที่จะเคลื่อนย้ายระหว่างตลาดการเงินหรือระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว หากเกิดเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ถ้ารัสเซียหรือผู้ผลิตน้ำมันบางรายผิดนัดชำระหนี้ สภาพคล่องทางการเงินเหล่านี้ก็จะถูกเคลื่อนย้ายอย่างฉับพลันไปยังตลาดการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ อันจะนำไปสู่ความผันผวนอย่างมากของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
แล้วประเทศไทยของเราจะต้องกังวลในเรื่องนี้มากน้อยขนาดไหน?
หากพิจารณาด้านเศรษฐกิจภาพรวมจะพบว่า เศรษฐกิจมหภาคของไทยมีพื้นฐานค่อนข้างแข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีปริมาณค่อนข้างสูงเพียงพอ ทั้งต่อการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นและการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ฐานะการคลังของรัฐบาลที่ดีเยี่ยม ระดับหนี้สาธารณะก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ตลอดจนสถาบันการเงินในประเทศมีความเข้มแข็ง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ในส่วนของเศรษฐกิจภาพรวมจึงไม่น่ามีอะไรที่จะต้องกังวลนัก สิ่งที่รัฐบาลควรจะเร่งทำในระดับมหภาคคือการเร่งรัดการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปได้ และธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก นั่นคือไม่แข็งค่าและไม่ผันผวนจนเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
แต่หากพิจารณาด้านเศรษฐกิจระดับฐานรากแล้วยังมีความน่ากังวลอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์ที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง รายได้เกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาและชาวสวนยางพาราอยู่ในระดับต่ำ และการขาดแคลนความรู้ความเข้าใจที่จะรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะยิ่งทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้มีความเปราะบางสูงมาก
ยกตัวอย่างเช่น หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ และสหรัฐอเมริกาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือสภาพคล่องทางการเงินจะเคลื่อนย้ายกลับไปลงทุนในประเทศสหรัฐ อันทำให้สภาพคล่องทางการเงินในประเทศไทยปรับลดลง อัตราดอกเบี้ยในประเทศก็ต้องปรับเพิ่มขึ้น ส่วนค่าเงินบาทก็จะอ่อนลงทำให้สินค้านำเข้าราคาสูงขึ้น ในขณะที่การอ่อนค่าลงของราคาน้ำมันจะกดดันให้ราคายางพาราลดลงตาม ทั้งนี้เพราะราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบซึ่งเป็นคู่แข่งของยางพาราปรับลดลง ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น กลุ่มผู้ปลูกสวนยางจะเผชิญกับปัญหารายได้ตกต่ำ ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพก็ปรับสูงขึ้น และด้วยภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยกดดันให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบมิสามารถกระทำได้ ดังนั้น หากไม่มีการดูแลช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษแล้ว สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนจนและคนรวยในสังคมอาจจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นภายหลังจากวิกฤติการณ์ราคาน้ำมันครั้งนี้ผ่านพ้น
ความท้าทายที่ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศจะต้องเผชิญใน พ.ศ.2558 ก็คือจะทำอย่างไรเพื่อส่งผ่านผลประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมันไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้มากที่สุด และจะทำอย่างไรเพื่อบรรเทาผลเสียจากการลดลงของราคาน้ำมันที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้สามารถประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดพ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ไปให้ได้
คงต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลจะรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะมาถึงนี้อย่างไรครับ
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ