เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัดภาคเหนือ (พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก) ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมเวทีสาธารณะการรับฟังความคิดเห็นที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดขึ้นในช่วงบ่ายที่โรงเรียนเขาทรายทับคล้อพิทยา ตำบลเขาทราย อำเภอเขาทราย จังหวัดพิจิตร ว่าในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ รู้สึกผิดหวังกับการทำหน้าที่หน่วยงานราชการของ กพร.มาก เพราะก่อนหน้าที่จะมีการจัดเวที เคยขอร้อง กพร.แล้วว่าให้ยุติเวทีลักษณะนี้ เนื่องจากประชาชนที่เดือดร้อนหลายคนยังไม่ได้รับการเยียวยา และการจัดเวทีในครั้งนี้ก็เป็นไปตามสมมติฐานของชาวบ้านที่รู้ดีว่า ผู้สนับสนุนเหมืองทองคำมีจำนวนมากกว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และเหตุการณ์ก็เป็นเหมือนเดิมคือ ประชาชนที่เห็นต่างไม่มีโอกาสได้สื่อสารในเวที
คำว่ารับฟังความคิดเห็นก็ผิดจุดประสงค์แล้ว เพราะเรามาฟัง อัครากับ กพร.พูดๆ ฝ่ายเดียว ส่วนชาวบ้านที่มีสารพิษในร่างกายก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ต่อไป ทำอะไรไม่ได้ ส่วนการเรียกเอกสารมาตรวจสอบ เป็นหน้าที่ของ กพร.ที่ต้องทำตั้งแต่แรก ไม่ใช่จัดเวทีใหญ่ให้บริษัทมาพูด มาอธิบาย แล้วเรียกเอกสารมาตรวจภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง อีกกรณีคือ เรื่องการฝ่าฝืนคำสั่ง ภายหลังการ กพร.สั่งปิดเหมือง แล้วชาวบ้านได้ยินการระเบิดหินอยู่ ก็ยังไม่มีการลงโทษ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปขอใช้เวลาร่วมกับคณะกรรมการตรวจเอกสารที่อัคราได้ยื่นให้ กพร.และหารายชื่อรายบุคคลของผู้ที่ได้รับการตรวจ แต่ยืนยันเวทีวันนี้ไม่ใช่ข้อสรุป และเรารับไม่ได้ในหลักการของการจัดเวที ซึ่งอนาคตจะทำกลุ่มชาวบ้านร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง ถึงการจัดเวทีที่ไม่เกิดความเป็นธรรม” นางสาวสื่อกัญญา กล่าว
สำหรับบรรยากาศเวทีสาธารณะในช่วงบ่าย เวลาพูดคุยส่วนใหญ่ยังคงเป็นนายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกพร และผู้แทนบริษัทอัคราฯ โดยผู้แทนบริษัทอัคราฯได้เปิดเผยข้อมูลการตรวจร่างกายของชาวบ้านทั้งปี 2556 และปี 2557 โดยมีผู้ได้รับการตรวจทั้งสิ้น 258 รายจาก 313 ราย และเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 พาชาวบ้าน 4 คน ในรัศมี 500 เมตร ที่สะดวกและสมัครใจไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลทับคล้อ จากนั้นปลายเดือนมกราคม จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลอินเตอร์เวชการ จังหวัดพิษณุโลก ไปตรวจ มีผู้เข้ารับการตรวจ 254 ราย และประสานงานให้เจ้าหน้าที่ กพร.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้แทนโรงเรียน และโรงพยาบาลร่วมรับทราบ ส่วนกรณีนักเรียน ได้แจ้งทางโรงเรียนและมีหนังสือแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบแล้ว
ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบคือ นางอารมณ์ คำจริง มีโอกาสพูดในช่วงสั้นๆโดยขอให้กพร.และบริษัทอัคราฯเปิดเผยรายชื่อชาวบ้านและผลที่ทางบริษัทอัคราฯนำไปตรวจร่างกาย
ภายหลังการกล่าวปิดเวทีฯ ตัวแทนกรรมการที่ กพร.ตั้งขึ้นในช่วงเช้าเพื่อตรวจเอกสาร หลักฐานที่บริษัทคอัคราฯ ได้ส่งให้กพร.อันประกอบด้วย สสจ. อุตสาหกรรมจังหวัดทั้งพิจิตรและเพชรบูรณ์ และ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ เจ้าหน้าที่บริษัทอัครา และตัวแทนชาวบ้านรอบเหมือง ได้เริ่มต้นตรวจรับเอกสารทั้งหมดเพื่อความถูกต้อง
ขณะที่นางนุชรี ไสละสุตะ ซึ่งแจ้งกับกลุ่มผู้สื่อข่าวว่าเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทอัคราฯ ได้เข้ามาพูดคุยกับผู้สื่อข่าวโดยกล่าวว่า ขอให้กพร.เปิดเหมืองเหมือนเดิม เพราะตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่เหมืองปิดทำให้พนักงานต่างได้รับผลกระทบ แม้บริษัทอัคราฯ ยังจ่ายค่าจ้างอยู่ แต่หากในระยะยาว ถ้ามีการปิดเหมืองทอง พวกตนคงลำบากเพราะไม่มีรายได้ในการเลี้ยงครอบครัว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ