วิกฤตน้ำ! 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาลดการระบายน้ำ ขอความร่วมมือชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปี

12 มิ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 2094 ครั้ง


	วิกฤตน้ำ! 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาลดการระบายน้ำ ขอความร่วมมือชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปี

4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ลดการระบายน้ำ ขอความร่วมมือเกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปจนกว่าจะมีปริมาณฝนธรรมชาติเพียงพอต่อการเพาะปลูก ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ขอความร่วมมือเกษตรกรงดกิจกรรมทางการเกษตรไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม เพื่อรอปริมาณน้ำฝนให้มีเพียงพอต่อความต้องการ หลังยังมีชาวนาฝ่าฝืนประกาศทำนาปรัง ส่งผลให้น้ำในเขื่อนมีปริมาณเหลือน้อย (ที่มาภาพ: mcot.net)

12 มิ.ย. 2558 นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ เปิดเผยว่าเขื่อนสิริกิติ์ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานให้ลดการระบายน้ำลงเพื่อประหยัดน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีสถานการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น คือ มีปริมาณน้ำฝนไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในปริมาณที่น้อยกว่าการคาดการณ์ เนื่องจากได้รับแจ้งจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าในปี 2558 จะมีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางในปริมาณที่น้อย ทำให้น้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้อยมาก ประกอบกับเกษตรกรจำนวนมากได้เริ่มฤดูกาลการเพาะปลูกข้าวนาปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา เพื่อให้ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จึงมีการปรับแผนให้เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล ระบายน้ำจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ปริมาณน้ำทั้ง 2 เขื่อนลดลงอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ มีมติเห็นชอบให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ และมีมติให้ลดการระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เดิมระบายน้ำ 40-45 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เหลือ 30-35 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีชะลอการเพาะปลูกไปก่อนจนกว่าจะเริ่มมีฝนตกซุก หรือมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2558 และขอให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อป้องกันการเกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ด้านนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. เปิดเผยว่า หลังจากกรมชลประทานได้ออกประกาศงดส่งน้ำ สำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแนะนำถึงการปลูกพืชหน้าแล้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา (2557) แต่ยังมีชาวนาที่ฝ่าฝืนประกาศทำนาปรังไปกว่า 6.87 ล้านไร่ ทั้งนอกเขตและในเขตชลประทาน จากที่กำหนดไว้เพียงประมาณ 2 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาในเขตชลประทานที่ให้งดทำนาปรัง พบว่ามีการปลูกข้าวถึง 3.78 ล้านไร่ จึงส่งผลให้การใช้น้ำในเชื่อนหลัก ทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีการใช้น้ำรวมทั้งสิ้น 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำในเขื่อน สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมนี้ มีเพียงประมาณ 3,800 ล้านลูกบาศก์เมตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดกิจกรรมทางการเกษตรที่เคยดำเนินการไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม เพื่อรอปริมาณน้ำฝนและน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณเพียงพอต่อการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาดำเนินกิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น การเรียนรู้นวัตกรรมและองค์ความรู้ทางการเกษตรใหม่ๆ หรือผ่านศูนย์เรียนรู้การเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะมีกิจกรรมให้เกษตรกรได้เลือกทั้งการเรียนรู้ฟาร์มตัวอย่าง แปลงสาธิต การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ องค์ความรู้ด้านเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น โดยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดในแต่ละพื้นที่

 

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สวท.อุตรดิตถ์ และ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: