ย้อนรอย 10 ปีวาเลนไทน์ ไฟต์บังคับรัฐไทย 'ส่องไฟ-ม่านรูด-รักนวลสงวนตัว'

ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 12 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 2483 ครั้ง

มาตรการ ‘ส่องไฟ-ตั้งด่านหน้าม่านรูด’ ถือเป็นนวัตกรรมทางนโยบายการป้องกันการเสียตัวของวัยรุ่น ที่ริเริ่มโดย ‘วัฒนา เมืองสุข’ หนึ่งในรัฐมนตรีที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่งในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเดือน ส.ค.2548 วัฒนาเริ่มต้นยุคในการคุมกระทรวงนี้ด้วยการสร้างความฮือฮาจากโครงการ ‘รวมพลคนรักมอเตอร์ไซค์’ จัดแข่งรถให้เด็กแว้นอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมาตรการคุมเข้มสถานที่สุ่มเสี่ยงที่เด็กจะไปมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเทศกาลลอยกระทงเมื่อปี 2548 เป็นครั้งแรก โดยนโยบายนี้จะเป็นการคุมเข้มสถานที่ต่าง ๆ เช่น สวนสาธารณะ โรงแรมม่านรูด โดยการไปส่องไฟในสวน ส่องไฟในรถตู้ ส่องไฟหน้าโรงแรมม่านรูด และมีการตั้งด่านตรวจประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการโรงแรมม่านรูด เป็นต้น ซึ่งในขณะนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากเพราะเป็นมาตรการที่หวือหวา แต่หลังจากการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 รัฐบาลขิงแก่ที่ดูจะมีความอนุรักษ์นิยมมากกว่าก็ยังนำมาตรการของเขาไปใช้ต่อในวันวาเลนไทน์อีกด้วย

และนี่คือความเคลื่อนไหวช่วงวันวาเลนไทน์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา…

วาเลนไทน์ปี 2549

วาเลนไทน์ภายใต้บรรยากาศการเมืองที่คุกรุ่นจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในการขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วงวาเลนไทน์ที่ดูเหมือนจะโดนข่าวการเมืองกลบไปนั้น รัฐก็ยังคงมาตรการเข้มงวดในการแยกเพศและตรวจตราความเป็นระเบียบของหอพัก การเข้มงวดเรื่องการรับเยาวชนต่ำกว่า 18 ปีเข้าพักในโรงแรม การไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เยาวชนที่ต่ำกว่า 18 ปี การให้ความสว่างและจัดยามเดินตรวจในสถานที่สาธารณะตามประกาศของกระทรวงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องมาจากช่วงลอยกระทงปี 2548 ก็ยังถูกนำมาใช้

วาเลนไทน์ปี 2550

วาเลนไทน์ภายใต้รัฐบาลขิงแก่ของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่สืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจเมื่อปลายปี 2549 มีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังคงใช้นโยบายคุมเข้มเยาวชนในวันวาเลนไทน์ ตามนโยบายของพรรคไทยรักไทยอยู่

โดย น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขานุการรัฐมนตรีว่าการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อในช่วงนั้นว่ากรณีวัยรุ่นชายเตรียมใช้วันวาเลนไทน์มีเพศสัมพันธ์กับกิ๊กหลายคนว่า พฤติกรรมเด็กมีแนวโน้มน่าตกใจมากขึ้นจริง มาตรการป้องกันปัญหาในวันวาเลนไทน์จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คนก่อน (วัฒนา เมืองสุข) เคยทำไว้ เช่น ไปสำรวจสถานที่สุ่มเสี่ยงที่เด็กจะไปมีเพศสัมพันธ์ สวนสาธารณะ โรงแรมม่านรูด โดยการไปส่องไฟในสวน ส่องไฟในรถตู้ ถือเป็นมาตรการที่หวือหวา เป็นประโยชน์ได้ผลทางจิตวิทยา แม้จะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่ก็ทำให้เด็กที่จะไปมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมระมัดระวังตัวมากขึ้น ตนจึงให้ข้อแนะนำในการใช้มาตรการดังกล่าว โดยหน่วยปฏิบัติคือตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พร้อมก็ควรดำเนินการ รวมทั้งใช้พลังเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน 75 จังหวัด และสภานักเรียนทั่วประเทศ ช่วยกันดูแลเป็นกลุ่มเพื่อนเตือนเพื่อนช่วงวันวาเลนไทน์

ส่วนกระทรวงวัฒนธรรมที่มีคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ เป็นรัฐมนตรีว่าการในขณะนั้น ระบุว่าว่าช่วงเทศกาลวาเลนไทน์จะใกล้เคียงกับวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาของไทย แต่เป็นวันที่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ละเลย ไม่ค่อยให้ความสำคัญ จึงอยากเรียกร้องให้เด็กและเยาวชนหันมาให้ความสำคัญกับวันมาฆบูชาให้มากขึ้น โดยกระทรวงจะจัดพิมพ์ ส.ค.ส. ส่งความสุขในวันมาฆบูชา 20,000 ฉบับออกเผยแพร่เพื่อมุ่งส่งความปรารถนาดีให้แก่กันแทนการให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ โดยเป็นบัตรอวยพรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา 3 ประการคือ ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

วาเลนไทน์ปี 2551

แม้จะได้รัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชาชน ที่ชนะการเลือกตั้งมาเมื่อปลายปี 2550 แต่ผลพวงจากวิกฤตซับไพรม์ทำให้วาเลนไทน์ในปี 2551 ไม่คึกคักเท่าที่ควร โดยสุธา ชันแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า กระทรวงได้จัดกิจกรรมในวันวาเลนไทน์ โดยนำเยาวชนจากสถานศึกษาที่ต่างๆ มาเข้าอบรมให้ความรู้ถึงพฤติกรรมเสี่ยง ล่อแหลมศีลธรรมที่จะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และอยากฝากเด็กเยาวชนว่าความรักเป็นเรื่องดี สวยงาม แต่ต้องให้ถึงเวลาที่พร้อมก่อนจะคิดมีเพศสัมพันธ์กัน ส่วนที่มีข่าวสมาชิกเว็บแคมฟร็อกเตรียมนัดหมายไปกินข้าวและมั่วสุมมีเพศสัมพันธ์กันในวันวาเลนไทน์ปี 2551 ถือเป็นหน้าที่กระทรวงไอซีทีและตำรวจที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบดูแล

"ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องกำชับสั่งการเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่เข้าไปเข้มงวดดูแลสถานบริการต่างๆ เพื่อป้องกันเด็กเข้าไปใช้บริการโดยไม่เหมาะสม รวมทั้งปัญหาแพเธคที่จังหวัดกาญจนบุรี แหล่งมั่วสุมของเยาวชน เป็นหน้าที่กระทรวงมหาดไทยที่จะเข้าไปเข้มงวดดูแล คิดว่าภาครัฐเตรียมป้องกันและรับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว" สุธาระบุกับสื่อมวลชน

ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้สุภาพสตรีแต่งกายให้รัดกุม

ไม่ใส่เครื่องประดับที่มีมูลค่าสูง เพื่อไม่ให้เป็นการยั่วยุทางเพศ

และเป็นเหตุจูงใจต่อการประทุษร้ายต่อทรัพย์ (ปี 2555)

ส่วนกระทรวงมหาดไทยที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นก็ระบุว่า การกวดขันในช่วงวันวาเลนไทน์ว่า ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะดูแลเรื่องความปลอดภัย ไม่ลงลึกถึงขั้นไม่ให้คนพลอดรักกัน แต่จะขอร้องลูกหลานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า หากเที่ยวเตร่ ให้ระมัดระวัง ให้เคารพสิทธิส่วนบุคคล ห่วงพ่อ ห่วงแม่ ทำตัวให้เป็นลูกที่น่ารัก ในส่วนตนไม่ห้าม แต่เป็นห่วง

"ให้ถึงขั้นสั่งการให้ไปดูตามโรงแรมม่านรูด ไม่ได้หรอกถือว่าดูถูกลูกหลานมากไป ขอเตือนให้ระมัดระวัง รักนวลสงวนตัวอย่าทำอะไรที่ทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจ ทำในสิ่งดีๆ การเที่ยวเตร่มันต้องมีบ้างเพราะเป็นวัฒนธรรมอันยาวนานของทั่วโลก จะไม่ย้ำเรื่องนี้มาก" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อช่วงวาเลนไทน์ปี 2551

ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่กวดขันในช่วงนี้ก็ระบุว่ามาตรการส่องไฟในสถานที่สุ่มเสี่ยงต่างๆ นั้นเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเกินไป โดย พล.ต.ต.วิมล เปาอินทร์ ผบก.ปดส. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี) ระบุถึง มาตรการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนถือโอกาสใช้เทศกาลวันวาเลนไทน์ไปมั่วสุมทางเพศว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของชุดปฏิบัติการตั้งแต่ 1-10 ออกกวดขันสถานประกอบการ เช่น สถานบันเทิง โรงแรมม่านรูด และสถานบริการต่างๆ โดยก่อนหน้านี้ตนได้เคยเรียกผู้ประกอบการมาประชุมขอความร่วมมือ เพื่อให้ช่วยกันสอดส่องดูแลป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปใช้บริการมั่วสุมทางเพศ หากยังพบว่าเจ้าของสถานบริการรายใดรู้เห็นเป็นใจหรือปล่อยปละละเลยจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

พล.ต.ต.วิมล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้สั่งให้กวดขันไปตามสวนสาธารณะต่างๆ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนเข้าไปมั่วสุมทางเพศ ส่วนมาตรการนั้น หากพบครั้งแรกก็จะมีการว่ากล่าวตักเตือนก่อน หลังจากนั้นเมื่อเกิน 4 ทุ่มไปแล้ว ยังมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่กลับบ้านก็จะเรียกผู้ปกครองมารับตัวต่อไป

"สำหรับแผนปฏิบัติการครั้งนี้จะไม่ดำเนินการเฉพาะแค่ช่วงวันวาเลนไทน์นี้เท่านั้น แต่เราจะเริ่มออกปฏิบัติการเช่นนี้ต่อไปอย่างเข้มงวด ส่วนการออกปฏิบัติการไปเที่ยวฉายไฟตามโรงแรมต่างๆ นั้นเราคงไม่ทำ เนื่องจากถือว่าเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล" ผบก.ปดส. ระบุกับสื่อมวลชน

วาเลนไทน์ปี 2552

อุบัติเหตุทางการเมืองได้ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนขั้วจากพรรคพลังประชาชน (ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นเพื่อไทยในเวลาต่อมา) มาเป็นพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในช่วงวาเลนไทน์ของปีนั้นคืออิสระ สมชัย (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552) เปลี่ยนตัวจากวิฑูรย์ นามบุตร ซึ่งเป็น ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์เหมือนกัน

วาเลนไทน์ในปี 2552 การควบคุมของรัฐเน้นการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการสถานบริการผับเธค-โรงแรมม่านรูด-หอพัก-ห้องเช่า-อพาร์ตเมนต์ ช่วยกันสอดส่องดูแล อย่าให้เด็กเยาวชนเข้าไปใช้บริการเป็นอันขาด และได้มีการจัดทำแผ่นพับขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงแรมม่านรูดและสถานบันเทิง โดยมีเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก การกระทำใดบ้างที่ผิดกฎหมาย รวมถึงอัตราโทษแต่ละข้อหา 

วาเลนไทน์ปี 2553

ช่วงวาเลนไทน์ในปี 2553 แกนนำรัฐบาลยังคงเป็นพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ยังคงเป็นอิสระ สมชัย เช่นเดียวกับช่วงวาเลนไทน์ของปี 2552 โดยอิสสระ สมชัย ระบุว่าในช่วงวันวาเลนไทน์ตนได้มอบหมายให้ศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รณรงค์ให้วัยรุ่นเข้าใจและรับทราบถึงภัยต่างๆ การเที่ยวเตร่ ยาเสพติด และความปลอดภัยในการเดินทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

เนื่องจากวัยรุ่นเป็นกลุ่มเสี่ยงจากการดื่มสุรา โดยเฉพาะหอพักแถวมหาวิทยาลัย ตนตรวจพบการทำผิดกฎหมายจำนวนไม่น้อย ปล่อยให้ร้านสะดวกซื้อภายในสถานศึกษาจำหน่ายสุรา หรือแม้แต่ร้ายขายยาก็เปิดจำหน่ายสุราด้วยเพราะขายดีกว่ายา โดยได้เชิญตำรวจ สรรพสามิต อธิการบดีทุกแห่ง มาร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติการตรวจจับหอพักที่ทำผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด จากนั้นตนจะเดินสายตรวจไม่เฉพาะในกรุงเทพแต่รวมถึงต่างจังหวัดด้วย

วาเลนไทน์ปี 2554

วาเลนไทน์หลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งและโศกนาฏกรรมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายเมื่อปี 2553 แกนนำรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังคงเป็นพรรคประชาธิปัตย์และอิสระ สมชัย เช่นเดียวกับช่วงวาเลนไทน์ของปี 2552 และ 2553

โดยอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ออกมาระบุกับสื่อมวลชนว่า เทศกาลวาเลนไทน์เป็นวันที่เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมชิงสุกก่อนห่าม มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยภาพรวมระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่า วัยรุ่นนิยมมีเพศสัมพันธ์กับแฟนในวันวาเลนไทน์ถึงร้อยละ 12 โดยใช้บ้าน ห้องส่วนตัว บ้านเพื่อน บ้านแฟน หอพัก ห้องเช่า โรงแรม สถานที่สาธารณะและกระท่อม ตามลำดับ จึงอยากรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนสอดส่องดูแลเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิด

ที่สำคัญเยาวชนยังอยู่ในวัยเรียนควรคำนึงถึงประเพณีไทย รักนวลสงวนตัว ไม่ปล่อยเนื้อปล่อยตัว หากไปเที่ยวที่ใดก็ควรมีเพื่อนที่ไว้วางใจได้ไปด้วย ในส่วนสถานบริการก็ควรดูแลไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่ากำหนดเข้าใช้บริการ ซึ่งตำรวจควรกวดขันอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องของเวลาเปิด-ปิดและอายุของผู้เข้าใช้บริการด้วย

วาเลนไทน์ปี 2555

วาเลนไทน์ปี 2555 การกลับมาของพรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งเมื่อกลางปี 2554 ว่ากันว่าเป็นการกลับมาของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนชนอย่างแท้จริง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในช่วงวาเลนไทน์ปี 2555 คือสันติ พร้อมพัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย วาเลนไทน์ในปีนั้นกระแส ‘สวิงกิ้ง’ ในหมู่เยาวชนก็เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง โดยสวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจพฤติกรรมการใช้และการเข้าถึงถุงยางอนามัยของเยาวชน อายุ 12-24 ปีในเขตกรุงเทพจากกลุ่มตัวอย่าง 1,014 คน พบว่า เยาวชนไทยร้อยละ 69 ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ส่วนในกลุ่มเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วระบุว่า เริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 14-15 ปี และข้อมูลที่สำคัญพบว่ามีเยาวชนประมาณ 1 ใน 3 ยอมรับว่าเคย ‘สวิงกิ้ง’ กัน

ส่วนนโยบายควบคุมวันวาเลนไทน์ของรัฐบาลเพื่อไทยเริ่มกลับมาใช้ยาแรงแบบสมัยของไทยรักไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะการประกาศ ‘เคอร์ฟิว’ เด็กวัยรุ่นไม่ให้ออกจากบ้าน ซึ่งบทบาทการจัดระเบียบสังคมในช่วงวาเลนไทน์ของปี 2555 รัฐบาลเพื่อไทยให้น้ำหนักไปที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ในขณะนั้นมีบทบาทมากกว่าสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ออกกฎเหล็ก 7 ข้อในช่วงวาเลนไทน์ คือ

1.ดำเนินการตามมาตรการพิทักษ์เด็ก 2.เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสถานบริการต่างๆ โดยปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบสังคมอย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้สถานบันเทิงเปิดเกินเวลาหากพบฝ่าฝืนให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด เช่น ให้หยุดกิจการชั่วคราว 3.กวดขัน ตรวจตรา ประชาสัมพันธ์สถานประกอบการ เช่น ตามสถานบันเทิงโรงแรมม่านรูด โดยจะเรียกผู้ประกอบการแต่ละพื้นที่มาขอความร่วมมือสอดส่องดูแลไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปมั่วสุมทางเพศ 4.กวดขันจับกุมสถานที่ลักลอบจำหน่ายสุราแก่เด็กและเยาวชน 5.จัดกำลังตำรวจ กวดขัน ตรวจตราตามสถานที่ต่างๆ อย่างสวนสาธารณะ โรงภาพยนตร์ โต๊ะสนุกเกอร์ ร้านคาราโอเกะ โดยจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ กทม. ในการออกตรวจตรา หากพบเด็กหรือเยาวชนประพฤติตนไม่เหมาะสม ขั้นต้นจะตักเตือนและขอความร่วมมือห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ออกจากบ้านหลังเวลา 22.00 น. หากเจ้าหน้าที่พบหลังเวลาที่กำหนดจะเชิญตัวมาตักเตือนที่สถานีตำรวจ พร้อมเรียกผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้าน 6.ตั้งจุดตรวจ หรือ ว.43 และ ว.43 พิเศษ จะเน้นการกวดขันจับกุมผู้ที่ดื่มแอลกฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนดและขับขี่ยานพาหนะ และ 7.ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้สุภาพสตรีแต่งกายให้รัดกุม ไม่ใส่เครื่องประดับที่มีมูลค่าสูง เพื่อไม่ให้เป็นการยั่วยุทางเพศและเป็นเหตุจูงใจต่อการประทุษร้ายต่อทรัพย์

วาเลนไทน์ปี 2556

วาเลนไทน์ปี 2556 รัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เปลี่ยนมือจากสันติ พร้อมพัฒน์  มาเป็นปวีณา หงสกุล จากพรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกัน โดยแนวทางในการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและเยาวชนในเทศกาลวันวาเลนไทน์ปี 2556 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกอบไปด้วย

1.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนให้วันวาเลนไทน์เป็นวันแห่งความรักของครอบครัว ฉลองวันวาเลนไทน์ให้ปลอดภัย โดยเฉพาะผู้หญิงต้องพึงระวังและหลีกเลี่ยงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และสร้างจิตสำนึกให้เด็กเยาวชนต้องดูแลตัวเอง 2.แจ้งเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองและครอบครัวให้ดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด 3.ประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและเยาวชนในที่สาธารณะ 4.ขอความร่วมมือสถานศึกษาให้ความรู้แก่เด็กเยาวชนในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย โรคติดต่อทางเพศ การคุมกำเนิด 5.ขอความร่วมมือหอพัก บ้านเช่า คอนโดมิเนียม โรงหนัง คาราโอเกะ ให้ช่วยดูแลความประพฤติเด็กเยาวชน 6.ขอความร่วมมือสถานประกบอการ รีสอร์ต โรงแรม ห้ามมิให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาใช้บริการ 7.ขอความร่วมมือร้านค้าให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ พ.ศ.2551 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 8.ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสถานที่ที่เสี่ยงของเด็กและเยาวชนในช่วงเทศกาล และ 9.ขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคีเครือข่าย ร่วมกันเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชน

วาเลนไทน์ปี 2557

บรรยากาศการเมืองไทยในช่วงวาเลนไทน์ปีนี้อยู่ในช่วง ‘สุญญากาศ’ จากการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศยุบสภาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 และการเลือกตั้งต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 แต่ดูท่าทีว่าจะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ รวมทั้งการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง (ซึ่งได้ปูทางไปสู่การทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ในท้ายที่สุด) ในด้านนโยบายการควบคุมในวันวาเลนไทน์ของรัฐบาลแทบจะไม่มีให้เห็นเนื่องจากอยู่ในช่วงสุญญากาศของอำนาจรัฐ

ส่วนบรรยากาศวันวาเลนไทน์ 2557 โดยรวมคึกคักน้อยกว่าปี 2556 เนื่องจากราคาสินค้าแพงขึ้น อีกทั้งตรงกับวันมาฆบูชาและมีความกังวลต่อความปลอดภัยและการชุมนุมทางการเมือง ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่าการใช้เงินเฉลี่ยต่อคนในช่วงวาเลนไทน์ปี 2557 ลดลงเหลือ 996 บาท จากปี 2556 ที่ 1,041 บาท ทำให้เงินสะพัดมีมูลค่า 3,361 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 8 ปี เลยทีเดียว

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง:
จับตา: 3 ทศวรรษกับเชื้อเอชไอวี 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: