ธุรกิจ“ไทยลีก”อู้ฟู่ หวั่นวิกฤตฟองสบู่ 
หลังสโมสรหืดจับต้องลงทุนเอง

กรนัดดา กิตติวรภูมิ : TCIJ School รุ่นที่ 2 12 เม.ย. 2558 | อ่านแล้ว 4816 ครั้ง

ฐานแฟนบอลกว่าล้านครึ่ง ยอดไลค์ 20 ทีมรวมมากกว่า 3 ล้าน ดันวงการฟุตบอลไทยถึงจุดเปลี่ยน ผู้คร่ำหวอดวงการฟุตบอลไทย จี้ถึงเวลารื้อโครงสร้างการบริหาร หลังพบทับซ้อนผล ประโยชน์ระหว่างสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และไทยพรีเมียร์ลีกมานาน แต่ไม่มีการแก้ปัญหา จนเกิดความไม่โปร่งใส ตั้งแต่การเลือกนายกสมาคมฯ ยันถึงเม็ดเงินบริหาร  เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาฟุตบอลไทย  หวั่นเกิดฟองสบู่ในวงการ หลังสโมสรใช้เงินอัดฉีดเกทับกันเอง (ที่มาภาพประกอบ: sanook.com)

จากเสียงดังกระหึ่มของแฟนบอลไทยที่มาร่วมเชียร์ทีมรักติดขอบสนามกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เรื่อยไปจนถึงแฟนๆที่นั่งเกาะขอบจอทีวีเพื่อรอลุ้นด้วยใจระทึก สิ่งเหล่านี้เป็นการยืนยันถึงความเติบโตที่เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านของวงการฟุตบอลไทยในช่วงไม่ถึง 10 ปีมานี้

จากการประมาณการของนิตยสาร Positioning ระบุตัวเลขฐานแฟนบอลไทยที่ติดตามชมฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกในปี 2009 ปีเดียวว่ามีจำนวนอยู่ที่ราว 1.5 ล้านคน รวมถึงปรากฎการณ์ที่แฟนบอลนับแสนแห่ต้อนรับนักฟุตบอลทีมชาติไทยหลังคว้าชัยการแข่งขันฟุตบอล AFF ซูซูกิคัพ ได้สำเร็จ นอกจากนี้ตัวเลขประมาณการจากจำนวนคนกดไลค์แฟนเพจเฟสบุคของทีมฟุตบอล 20 ทีมที่เข้าแข่งใน TPL ปี 2014 ที่ผ่านมานี้ พบว่ามีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของทีม  ปรากฏการณ์แฟนคลับและตัวเลขผู้ติดตามจำนวนมากเหล่านี้ถือเป็นนัยสำคัญในแง่ของธุรกิจ เพราะแฟนคลับคือลูกค้าที่ซื่อสัตย์  ฟุตบอลจึงถือเป็นธุรกิจครบวงจรที่มีเม็ดเงินหมุนสะพัดอย่างน่าสนใจ

สปอนเซอร์วิ่งขาขวิดหวังโฆษณากับทีมบอลยอดนิยม

งานวิจัยของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า กีฬาฟุตบอลเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่สามารถแปลงความนิยมในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ให้กลายเป็นสินค้ารูปธรรมที่สามารถทำเงินได้ โดยเข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นอีกมากมาย เช่น สื่อ เครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย ฯลฯ กล่าวคืออุตสาหกรรมบันเทิงคือสนามหนึ่งที่ทุนนิยมเข้าไปทำงานได้นั่นเอง โดยหลักคิดเชิงทฤษฎีนี้ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาของ สุพจน์ ไพบูลย์พุฒิพงศ์  นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ศึกษาเรื่องอิทธิพลของการเป็นผู้สนับสนุนด้านกีฬา (Sport Sponsorship)ในการแข่งขันฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ที่ส่งผลต่อการจดจำตราสินค้าของผู้เข้าชมในเขตกรุงเทพและปริมณฑล  โฆษณาสินค้าเพื่อสร้าง Brand Awareness ให้ลูกค้าจดจำสินค้าของตนได้  ซึ่งแอบแฝงมาในหลายรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม  พบว่าการจัดมหกรรมกีฬาแต่ละครั้ง เป็นโอกาสทำเงินของภาคธุรกิจที่ควบคู่แนบเนียนไปกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่คนไทยคลั่งไคล้  ตัวอย่างจากมหกรรมกีฬา  ซึ่งสนับสนุนโดยเครื่องดื่มสปอนเซอร์ที่ทุ่มเงินกว่า 175 ล้าน ได้เปลี่ยนมือมาสู่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลัก 3 ปี (2013 - 2015) ซึ่งต้องทุ่มงบกว่า 200 ล้าน สำหรับลิขสิทธิ์ที่กำลังจะหมดตัวลงในปีนี้  คาดว่าจะมีกลุ่มทุนหลายเจ้าเข้ามาแย่งชิงกันประมูลเพื่อให้ได้สิทธิ์นี้ โดยผู้สนับสนุนรายเดิมมีแนวโน้มว่าจะสนับสนุนต่อไปคาดว่ามูลค่าปี 2015 นี้น่าจะเติบโตกว่า 20-30% ผลจากการเติบโตของฐานแฟนบอล   มาถึงตอนนี้ TPL จึงพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ  ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาขาดแคลนผู้สนับสนุนช่วงในช่วง 2547-2552  มาเป็นธุรกิจที่หอมฟุ้งจากเม็ดเงินแพร่สะพัดจำนวนมหาศาล

ถามหาความโปร่งใส TPL หลังเม็ดเงินสะพัด

จากการตลาดเข้มข้นนี่เอง ทำให้ฐานแฟนคลับที่ค่อยเพิ่มขึ้น นำไปสู่การวิ่งเข้าหาของกลุ่มทุนที่มุ่งเป้าไปที่บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด (Thailand Premier League Company Limited ) หรือที่เรียกย่อๆกันว่า TPLC ซึ่งตอนนี้กำลังเนื้อหอม  แต่คำถามคือเงินจำนวนมากเหล่านี้ กำลังจะนำวงการฟุตบอลไทยไปสู่อะไร ?

สมบัติ สวางควัฒน์ นักข่าวสายกีฬาผู้คว่ำหวอดในวงการลูกหนังมากว่า 22 ปี กล่าวถึงประเด็นปัญหาที่กำลังเป็นข้อถกเถียงนี้ โดยเห็นว่า ปัญหาที่วงการฟุตบอลไทยกำลังเผชิญเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ของการบริหารงานที่ซ้อนทับกัน

โดยถ้าย้อนกลับไปถึงจุดกำเนิดของ "ไทยลีก" ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 นั้น ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่าสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ปรับปรุงระบบการแข่งขันฟุตบอลในประเทศ  เพื่อให้เป็นรูปแบบฟุตบอลอาชีพ โดยเริ่มก่อตั้งฟุตบอลลีกสูงสุดขึ้น ซึ่งมีสโมสรฟุตบอลเข้าร่วมแข่งขัน เริ่มแรกที่ 10 ทีม ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 12 ทีมในเวลาต่อมา จนถึงปี พ.ศ. 2550 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การยุบโปรวินเชียลลีกโดยให้สโมสร 4 อันดับแรก เข้าแข่งขันในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกแทน  รวมจำนวนสโมสรในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกเป็น 16 ทีม พร้อมทั้งเพิ่มเงื่อนไขให้สโมสรซึ่งอยู่ใน 3 อันดับสุดท้ายเมื่อจบฤดูกาล ต้องตกชั้นไปสู่ไทยลีกดิวิชัน 1 โดยมีทีมชนะเลิศ กับอันดับ 2 และ 3 ของไทยลีกดิวิชัน 1 ขึ้นชั้นมาสู่ไทยพรีเมียร์ลีกเป็นการทดแทน

สำหรับจุดกำเนิดของ ทีพีแอล หรือบริษัทไทย พรีเมียร์ลีก จำกัด เกิดขึ้นจากแนวคิดของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) ในปี 2552  ที่ต้องการเห็นลีกอาชีพในเอเชียมีความเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพอย่างสมบูรณ์แบบ มีผู้ดูแลการจัดการแข่งขันอย่างเป็นระบบ มีความเป็นมืออาชีพ ทำให้สมาคมฟุตบอลฯ ที่ดูแลฟุตบอล "ไทยลีก" ในยุคเริ่มแรกต้องจัดตั้ง "บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด" ขึ้นมาดูแล  ส่วนสโมสรฟุตบอลก็ต้องจัดตั้งในรูปนิติบุคคล (บริษัท) เช่นเดียวกัน

แม้จะก่อตั้ง TPL ที่มีลักษณะเป็น "บริษัทเอกชน" มีการทำงานตามระบบของบริษัทมหาชนก็จริง  แต่หากดูจากโครงสร้างผู้ถือหุ้น (ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด www.thaipremierleague.co.th) จัดสรรจำนวนหุ้นรวมทั้งสิ้น 27,500 ( สองหมื่นเจ็ดพัดห้าร้อย ) หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด (ห้าหมื่นหุ้น) ให้กับนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยและสภากรรมการสมาคมฟุตบอลฯ และ/หรือบุคคลที่นายกสมาคมฟุตบอลฯกำหนดทั้งนี้ จำนวนผู้ถือหุ้นต้องมีไม่น้อยกว่า 5 คน

เคยมีรายงานว่า การถือหุ้นของสมาคมฟุตบอลไม่ใช่เป็นไปในลักษณะนิติบุคคล และมีชื่อของนายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลฯ เป็นผู้ถือหุ้นสูงสุด และปัจจุบัน ดร.องอาจ ก่อสินค้า ประธาน TPL  ก็เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมฟุตบอลมาก่อน  ลักษณะการทำงานของสมาคมฟุตบอลกับ TPL  จึงไม่ได้แบ่งแยกเป็นเอกเทศอย่างแท้จริง ความคล่องตัวในการบริหารงานจึงมีไม่มากนัก

จะเรียกว่า TPL ถูกครอบอีกทีโดยสมาคมฟุตบอลฯ ก็คงได้

"ถ้าสังเกตโครงสร้างของฟุตบอลลีกอาชีพชั้นนำ ระหว่าง 2 องค์กรแบบนี้จะแยกกันอย่างค่อนข้างเด็ดขาด  อย่างพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ก็จะมีพรีเมียรลีกดูแลบริหารงานอย่างเอกเทศ แม้สมาคมฟุตบอลอังกฤษถือหุ้นหลักแต่ก็เป็นลักษณะนิติบุคคล แม้จะมีอำนาจคัดค้านประเด็นสำคัญบางประการ แต่โดยรวมแล้วไม่สามารถล้วงลูกไปถึงกิจการเฉพาะของพรีเมียร์ลีก ซึ่งได้แก่เงื่อนไขและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ได้ แต่เท่าที่เห็นไทยลีกยังไปไม่ถึงจุดนั้น สมาคมฟุตบอลฯ ยังมีบทบาทเหนือ TPL ในหลายๆ ด้าน จะบอกว่าไทยลีกยังมีปัญหาโครงสร้างที่ทับซ้อนก็พอจะเรียกได้เหมือนกัน"

สมบัติ แสดงความเห็นว่า ค่าตอบแทนจากสิทธิประโยชน์ อาทิ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และผล ประโยชน์ด้านอื่นที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นทุกๆ ปี  หากให้ไทย พรีเมียร์ลีก มีอิสระที่จะเจรจาผลประโยชน์กับผู้สนับสนุนเอง รวมทั้งสิทธิในการขายสิทธิถ่ายทอดโทรทัศน์ของตนเอง แยกขาดจากสมาคมฟุตบอลไทย เหมือนพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ บางทีจะได้เห็นก้าวกระโดดของฟุตบอลลีกอาชีพไทยได้มากกว่านี้ก็เป็นได้

หากพิจารณาจากโครงสร้างฝ่ายบริหารที่มีตัวแทนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยเข้าไปเป็นหนึ่งในสี่ของคณะกรรมการบริษัทด้วย  ดังนั้น การบริหารธุรกิจจะเป็นไปได้ไม่เต็มที่หาก เพราะผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุม ยังมีส่วนที่มาจากองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมกฏระเบียบ อย่างสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยและการกีฬาแห่งประเทศไทย  เข้าไปบริหารถึง 2 ใน 4 เช่นนี้

ภาพจาก www.thaipremierleague.co.th/

ภาพจาก www.thaipremierleague.co.th

 

โครงสร้างการบริหารงานของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก

“สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากยิ่งจากโครงสร้างดังกล่าว คือเรื่องของการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ที่เท่าเทียม ดังนั้นจึงอาจไม่แฟร์นักที่ไม่ให้กลุ่มทีมฟุตบอลที่เข้าแข่งขันเข้าร่วมด้วย มีการร่วมตัดสินใจมากกว่านี้"  สมบัติ ระบุ

“ความท้าทายอันดับถัดไป คือการรักษามาตรฐานบอลลีกให้ได้มาตรฐาน AFC ปัญหาเรื่องการ ตัดสินที่เป็นกลางของผู้ตัดสิน ก็เป็นปัญหาต่อยอดจากโครงสร้างที่บิดเบือน ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดเสียงวิจารณ์ขึ้นอย่างมาก ก็คือการที่บริษัท สยามปอร์ต ซินดิเคท จำกัด มีตำแหน่งควบรวมกรรมการ บริหารผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของทีพีแอล ขณะเดียวกันก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นทีมฟุตบอลเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ด้วย แม้เป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาหลายประการ  รวมถึงเสียงวิจารณ์ของ สโมสรอื่นในลีกที่ระบุว่า มีการตัดสินที่น่ากังขา มีความไม่เป็นกลาง ผู้ตัดสินไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเป็นอิสระ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด บางครั้งความผิดพลาดอาจเป็นความ ผิดพลาดส่วนตัวของผู้ตัดสิน แต่ก็กลายเป็นปัญหาที่หมักหมม  นำไปสู่ความสิ้นศรัทธาในตัว กรรมการ และลากยาวไปสู่ปัญหาความขัดแย้งของเหล่าแฟนบอลที่อารมณ์ค้างและไม่ยอมรับคำตัดสินที่เกิดขึ้น  เกิดความรุนแรงตามมา  ปัญหามาตรฐานการทำงานของผู้ตัดสินนี้  ถ้าทีพีแอล และสมาคมฟุตบอลดูแลไม่ดี ในระยะยาวฟุตบอลไทยลีกก็จะมีปัญหาตามมาอีกมากมายแน่นอน"

นอกจากนี้  หากพิจารณาโครงสร้างฝ่ายบริหารที่มีตัวแทนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย และ ผู้ทรงคุณวุฒิอิสระภายนอก รวมถึงตัวแทนจากสมาคมฟุตบอลอีก 4 คน (1 ในนั้นจะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท) ในขณะที่ตัวแทนจากสโมสรในไทยพรีเมียร์ลีกมีเพียง 2 คน ดูจะไม่สอดคล้องกันเท่าใดนัก

300 ล้านหายไปไหน คำถามที่ไม่มีคำตอบ

ขณะที่ วรงค์ ทิวทัศน์  อดีตนักฟุตซอลทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ ชี้ให้เห็นว่าทีมฟุตบอลที่เข้าแข่งใน TPL ขาดความเชื่อมโยงกับเค้กผลประโยชน์ก้อนใหญ่ที่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกทำได้  ผลประโยชน์จาก การขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดปี 2557-2559 บริษัททรู วิชั่นส์  ชนะการประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดTPL ด้วยวงเงินทั้งหมด 1,800 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 600 ล้านบาท ผลประโยชน์ที่นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยอ้างว่า  จะเกลี่ยให้ฟุตบอลทุกลีก ตั้งแต่ TPL ยามาฮ่าลีกวัน และลีกอื่นๆ รวมแล้วกว่า 500 ล้านบาท แม้จะมีการอ้างเช่นนั้น  ก็นำไปสู่ข้อสงสัยว่า อีก 300 ล้าน ที่เหลือนั้นหายไปไหน ? มีการใช้จ่ายไปกับสิ่งใดบ้าง  มีความโปร่งใสของเงินสิทธิประโยชน์หรือไม่ ?  กับเหตุการณ์ในอดีตหลายเหตุการณ์  ตามที่ได้เคยมีสื่อเสนอรายงานเปิดเผยงบดุลของบริษัท ช่วงปี 2556 พบว่ามีการแจ้งยอดรายได้สวนทางกับรายได้มหาศาลที่ TPLC ทำได้ซึ่งแจ้งว่ามีรายได้รวม 18 ล้านบาท แต่กำไรแค่ 1.9 ล้านบาท

วรงค์ ระบุว่า การจัดการเงินของระบบนี้ ยังขาดความโปร่งใสอยู่มาก เนื่องด้วยข้อมูลการบริหาร จัดการทางการเงินที่ยังไม่เปิดเผยมากนัก การบริหารเฉพาะแค่กลุ่มจะทำให้ขาดความเชื่อมโยงกับทีมฟุตบอลที่เป็นผู้สร้างรายได้ให้กับลีกที่แท้จริง ... “ อย่าลืมว่า TPL ขายโฆษณา ลิขสิทธ์ถ่ายทอด ได้เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะการมีฐานแฟนบอลที่เหนียวแน่นของทีมต่างๆที่ติดตามรับชมผลงานของทีมหรอกหรือ “ 

ในแง่นี้จึงเกิดคำถามว่า ผลประโยชน์ทั้งหมดที่ TPL ทำได้มหาศาลนี้ สมควรที่จะเกลี่ยให้ทีม มากกว่าการให้เงินสนับสนุนแค่ทีมละ 20 ล้านบาท  เงินจำนวนนี้ถือว่าน้อยไป ใช้ยังไม่ทันไร ฤดูกาลก็หมดเสียแล้ว เนื่องจากการจัดการทีมฟุตบอลมีค่าใช้จ่ายที่สูงเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 2  ล้านบาท ถ้าค่าจ้างนักบอลขั้นต่ำประมาณ 4 หมื่น จ้างประมาณ 35 คน เผื่อใช้แข่งในฤดูกาล ก็หมดไปกว่าเดือนละ 1.4 ล้านแล้ว  ยังไม่นับรวมค่าดูแลสนาม  โบนัสนักบอล   เงินเดือนผู้ฝึกสอนค่าจ้างพยาบาล ฯลฯ   เมื่อผลประโยชน์ที่มี สร้างมาจากทีมฟุตบอล  ดังนั้นจึงควรอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้ทีมอยู่ได้ด้วยเงินที่เหมาะสม และให้ทีมพัฒนาความเป็นมืออาชีพ โดยรัฐอาจช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลอาชีพ  ด้วยการช่วยเหลือทีมเล็กๆในลีกที่ไม่สามารถหาสปอนเซอร์ได้มาก  เช่น อาจมีมาตรการลดภาษีให้บริษัทที่มาลงโฆษณา ทั้งนี้เพื่อให้วงการฟุตบอลไทยเติบโตไปอย่างยั่งยืน เพราะทุกทีมจะได้พัฒนาฝีเท้า มีรายได้เพิ่มมากขึ้น  ยิ่งทีมที่แข่งมีฝีเท้าเท่าๆกันมาแข่งกันจะ ยิ่งดึงดูดให้คนหันมาชมบอลมากขึ้น เสน่ห์ของฟุตบอลอยู่ที่การคาดคะเนไม่ได้ ตลอดทั้ง 90 นาที  มีโอกาสพลิกล็อคแพ้ชนะอยู่ตลอดเวลา แฟนบอลต่างลุ้นเชียร์ทีมในใจของพวกเขาเพื่อให้เป็นฝ่ายชิงชัย ที่ สำคัญที่สุด เป็นที่รู้กันว่าแฟนบอลพร้อมที่จะสนับสนุนทีมที่พวกเขารักอย่างซื่อสัตย์และ ภาคภูมิกับชัยชนะของทีมที่ตนสนับสนุนอยู่เสมอ

“แฟนบอลพร้อมที่จะประกาศตนว่าสังกัดทีมแชมป์ของตนขอแค่ทีมชนะก็ยืดได้แล้ว เช่น ถ้าเย็นนี้ ชลบุรีแข่งชนะ พรุ่งนี้แฟนๆ ก็พร้อมจะใส่เสื้อทีมกันว่อน ในแง่นี้ความเป็นแชมป์ ฐานแฟน และการทำธุรกิจขายสินค้าที่ระลึก จำนวนขายบัตรชมและทีม  จึงยากที่จะแยกออกจากกัน”  วรงค์ชี้แจง

หวั่นธุรกิจสโมสรลีกไทยเจอวิกฤติฟองสบู่

อดีตนักฟุตซอลทีมชาติ ยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาด้านโครงสร้างของวงการฟุตบอลไทยด้วยว่า  “ถ้าต้องการให้วงการบอลไทยพัฒนา ทีมฟุตบอลต้องเข้มแข็ง จากเงินผลประโยชน์ที่ TPL ต้องกระจายให้ทั่วถึง เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างที่บิดเบือนของไทยพรีเมียร์  ได้ปล่อยให้ทีมต้องดิ้น รนหาทางรอดกันเอง  ซึ่งก็หืดขึ้นคอพอสมควร หลายทีมก็ขาดทุนต้องควักทุนเข้าเนื้อเสมอๆ”

ข้อสังเกตคือฟุตบอลต้องใช้เงินทั้งสิ้น ทั้งการจ้างโค้ช   นักเตะทั้งคนไทยและต่างชาติ และอื่นๆจิปาถะ แนวโน้มที่ทุกทีมจะมีการเกทับอัดเงินเพื่อสร้างชื่อเสียงและความเป็นแชมป์ก็มีมาก สภาพการณ์เช่นนี้ อาจทำให้บอลไทยเผชิญวิกฤตฟองสบู่ที่เริ่มก่อตัวแล้ว เพราะการเกทับอัดเม็ดเงินของแต่ละสโมสร ทำให้ค่าตัวนักบอลก้าวล้ำสูงไปกว่าคุณภาพ ทีมไหนจ่ายดี  นักบอลก็พร้อมจะย้ายไป  

“ปัญหานี้เกี่ยวพันกับการที่สโมสรขาดการพัฒนาทีมเยาวชนของตัวเอง ทำให้ต้องซื้อนักเตะจากทีมอื่นหรือนำเข้านักเตะต่างชาติ  เมื่อรายรับไม่พอกับรายจ่าย  ทำให้ทีมต้องประสบปัญหาทางการเงินจากการบริหารที่ขาดทุน  แม้ตัวเลขจากปีที่แล้วจะตอกย้ำถึงเสียงตอบรับที่ดีจากแฟนบอลไทย จากยอดรายได้รวมของทุกทีม  ซึ่งเก็บค่าผ่านประตูได้ 160 กว่าล้าน ค่าของที่ระลึกประมาณ 73ล้าน แต่ใช่ว่าทุกทีมบูมเหมือนกันหมด เฉพาะทีมที่มีการบริหารจัดการดีมีการใช้ social network สื่อสารกับแฟนคลับมาก เช่น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, เอสซีจี เมืองทองยูไนเต็ด, ชลบุรีเอฟซี ก็จะมีโอกาสดีกว่าทีมอื่นๆ เพราะมีโอกาสทำรายได้มาก โดยอาศัยกระแสความนิยมในตัวทีม อาทิ การดึงดูดสปอนเซอร์ การขายของที่ระลึก การขายตั๋ว การขายอาหารและเครื่องดื่มภายในสนาม ฯลฯ ล่าสุดทีมชลบุรี เอฟซี เปิดขายเสื้อทีมเหย้าเปิดฤดูกาลปี 2015 จำนวน 600 ตัว ก็หมดเกลี้ยงภายในวันเดียว สนนราคาตัวละ 1,090 บาท รับไปเต็มๆ 654,000 บาท ขณะที่รายงานผลประกอบการปี 2556 ของทีมบุรีรัมย์ฯ ก็กวาดไปกว่า 405 ล้านบาท ในทางกลับกันทีมกลางๆที่งบน้อยกว่า แข่งไม่ค่อยชนะ คงไม่สามารถหาสปอนเซอร์ได้เป็นกอบเป็นกำได้เท่าทีมที่กล่าว ดังนั้นทีมที่ไร้ความ สามารถในธุรกิจฟุตบอลก็มีแนวโน้มที่จะสู้ทีมดังทุนหนาเหล่านี้ไม่ไหว เพราะมีอำนาจซื้อนักเตะดีๆน้อยกว่า นำไปสู่การตกชั้น หรือถูกเทคโอเวอร์ได้โดยง่าย หรือที่เลวร้ายสุดคือล้มหายตายจากไป นี่เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องช่วยทีมเหล่านี้แก้ปัญหาหากเราต้องการให้วงการฟุตบอลอาชีพไทยเข้มแข็ง”

แนะขยายสร้างฐานแฟนบอลสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

ต่อประเด็นอนาคตของฟุตบอลไทยลีกนั้น ในความคิดเห็นของ วรงค์ ระบุว่า ควร มีการขยายฐานแฟนบอลให้กว้างกว่าการเจาะจงอยู่แค่ตลาดแฟนบอลไทย  โดยได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ว่าอยู่ที่การผลิตอุตสาหกรรมบริการที่สามารถขยายฐานแฟนได้รอบโลก ซึ่งโมเดลนี้น่าเป็นบทเรียนที่ TPL ควรจะรับมาปรับปรุงสินค้าบันเทิงของตน  โดยอาจขยายฐานแฟนให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยตลาดเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น ลาว เวียดนาม  

“คิดในแง่ของการตลาดแล้วคุ้มค่ามาก เพราะสามารถสร้างความตื่นตัวต่อแบรนด์สินค้าได้ไม่มากก็น้อย สิ่งที่น่าจะเป็นโปรเจคในอนาคตคือ  การทำทัวร์ให้ทีมไทยเดินสายไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน  นี่เป็นอีกทางที่จะช่วยส่งเสริมการขยายทีมแฟนบอลและเพิ่มเม็ดเงินให้ไหลเวียนในธุรกิจนี้เพื่อที่จะกระจายต่อไปพัฒนาทีมต่างๆได้”  วรงค์กล่าวในตอนท้าย

แต่วงการฟุตบอลไทยจะพัฒนาไปได้อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังหรือไม่ ในยุค “ฟุตบอลไทยฟีเวอร์” ใครจะอยู่ใครจะไป  คงได้เห็นกันในไม่ช้า

อ่าน 'จับตา': “กลุ่มผลประโยชน์-ทีมฟุตบอลในระดับไทยพรีเมียร์ลีก (TPL) ฤดูกาล 2015”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5505

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ 
www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: