ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าเป็นปัญหาอันซับซ้อนที่สร้างความสูญเสียต่อประชาชนและข้าราชการในพื้นที่ โดยเฉพาะทหารในระดับปฏิบัติการเอง ที่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของการเติมไฟความรุนแรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของความสูญเสียด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และทุพลภาพ จากการปฏิบัติหน้าที่
ปัญหาที่ตามมาอีกประการที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือปัญหาด้านสุขภาพจิตของทหารระดับปฏิบัติการ ซึ่งหากไม่มีการเยียวยาอย่างถูกวิธี ก็อาจจะสร้างปัญหาสังคมตามมา เช่นเดียวกับบทเรียนการก่อความรุนแรงของทหารปลดประจำการในหลาย ๆ ประเทศ
ภาวะเครียด-ซึมเศร้าหลังเหตุการณ์ในกำลังพลกองทัพเรือพื้นที่ชายแดนใต้
จากรายงานวิจัย โครงการความชุกของการบาดเจ็บทางสมอง ภาวะเครียดหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญและภาวะซึมเศร้าในกำลังพลกองทัพเรือที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ โดย พรหมพิทักษ์ ไหว้พรหม, วิเชียร ศรีภูธร, เนตรนภิส จันทวัฒนะ และปิยมาภรณ์ สิงห์คำ ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้ทำการศึกษากำลังพลกองทัพเรือที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 665 นาย ซึ่งสรุปผลการศึกษาที่น่าสนใจได้ดังนี้
จากงานศึกษาพบว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของกำลังพลกองทัพเรือที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี คิดเป็นร้อยละ 80.5 ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 39.0 รองลงมา คือ ภาคใต้ภาคตะวันออก คิดเป็นร้อยละ 28.5, 13.4 ตามลำดับ และน้อยที่สุด คือ ภาคตะวันตก คิดเป็นร้อยละ 1.2 ส่วนใหญ่จบมัธยมศึกษาตอนต้น คิดเป็นร้อยละ 40.0 รองลงมา คือ มัธยมศึกษาตอนปลาย และประถมศึกษาปีที่ 6 คิดเป็นร้อยละ 29.1 และ 16.1 ตามลำดับ ทหารส่วนใหญ่มีสถานภาพโสดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 64.6 ส่วนใหญ่ยังไม่มีบุตร คิดเป็นร้อยละ 76.2 ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ คิดเป็นร้อยละ 91.6 รองลงมา คือ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ คิดเป็นร้อยละ 7.7, .7 ตามลำดับ ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ระหว่าง 8,601-15,200 บาท คิดเป็นร้อยละ 55.7 นอกจากนี้ด้านสัมพันธภาพในครอบครัว ส่วนใหญ่มีสัมพันธภาพแบบรักใคร่กลมเกลียวกันดี ร้อยละ 91.7 รองลงมา คือ ต่างคนต่างอยู่และทะเลาะกันบ่อยครั้ง คิดเป็นร้อยละ 6.2 และ 0.5 ตามลำดับ
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเป็นทหาร พบว่ากำลังพลกองทัพเรือที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนใหญ่เป็นทหารกองประจำการ คิดเป็นร้อยละ 78.5 ส่วนมากมีระยะเวลารับราชการน้อยกว่า 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 78.3 รองลงมาคือ มากกว่า 10 ปี และอยู่ระหว่าง 3-9 ปี คิดเป็นร้อยละ 15.4, 6.3 ตามลำดับ ส่วนใหญ่สังกัดหน่วยเฉพาะกิจ นาวิกโยธิน 31 คิดเป็นร้อยละ 36.2 รองลงมาคือ หน่วยเฉพาะกิจ นาวิกโยธิน 32 นาวิกโยธิน 31 และกองร้อยรักษาความปลอดภัยนราธิวาส คิดเป็นร้อยละ 29.7 และ12.5 เท่ากัน ตามลำดับนอกจากนี้โดยส่วนใหญ่ไม่เคยปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดปัตตานีมาก่อน คิดเป็นร้อยละ 67.5 และปฏิบัติงานในภาคสนามเป็นส่วนมาก คิดเป็นร้อยละ 75.0 สำหรับทหารกองประจำการ โดยส่วนมากเข้ามาเป็นทหารโดยวิธีจับฉลาก คิดเป็นร้อยละ 67.5 และส่วนมากไม่เคยคิดหนีทหารคิดเป็นร้อยละ 63.0 นอกจากนี้ด้านสัมพันธภาพระหว่างเพื่อน ส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะรักและสามัคคีกัน คิดเป็นร้อยละ 95.0 ด้านทัศนคติต่อผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 59.6 รองลงมาคือ ดีมาก และเฉย ๆ คิดเป็นร้อยละ 24.9, 13.4 ตามลำดับ และน้อยที่สุดคือ มีทัศนคติไม่ดีเลย ร้อยละ 0.5 นอกจากนี้เมื่อมีปัญหาส่วนใหญ่มักปรึกษาเพื่อนทหารด้วยกัน คิดเป็นร้อยละ 69.1 รองลงมา คือ ปรึกษาผู้บังคับบัญชาและบิดามารดา คิดเป็นร้อยละ 49.5, 41.9 ตามลำดับ เมื่อลงไปปฏิบัติหน้าที่สามารถปรับตัวได้ดี คิดเป็นร้อยละ 96.7 ส่วนใหญ่ไม่มีประวัติการเจ็บป่วยทางกายและจิตใจ คิดเป็นร้อยละ 88.1 และ 97.7 ตามลำดับ และมีประวัติใช้สารเสพติด คิดเป็นร้อยละ 82.8 และสารเสพติดที่ใช้มากที่สุดสามอันดับแรกคือ บุหรี่สุราและยาบ้า คิดเป็นร้อยละ 69.7, 63.4 และ 21.6 ตามลำดับ
ลักษณะการบาดเจ็บทางสมอง พบว่าทหารที่มีการบาดเจ็บทางสมองในระดับ 1 จะมีลักษณะการบาดเจ็บจากการตกจากที่สูงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 34.4 รองลงมาคือ จากวัตถุแหลมคมและถูกยิง คิดเป็นร้อยละ 33.3 ส่วนการบาดเจ็บทางสมองในระดับ 2 ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเหตุระเบิดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 66.7 รองลงมาคือ จากวัตถุแหลมคมและถูกยิง คิดเป็นร้อยละ 33.3 เท่ากัน นอกจากนี้ทหารที่ได้รับการบาดเจ็บ 3 ลักษณะขึ้นไป จะมีการบาดเจ็บทางสมองในระดับที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 50 เมื่อพิจารณาถึงอาการหลังการบาดเจ็บ จะพบว่าทหารที่มีการบาดเจ็บทางสมองในระดับที่ 1 จะมีปัญหาการทรงตัวมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 66.7 รองลงมาคือ มีอาการมึนงงและหงุดหงิด ตามลำดับ ในขณะที่ทหารที่มีการบาดเจ็บทางสมองในระดับที่ 2 จะมีปัญหาความจำมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50.0 รองลงมาคือ ปัญหาการนอนหลับและมีเสียงดังในหู คิดเป็นร้อยละ 40.0 และ 37.5 ตามลำดับ สำหรับทหารที่มีอาการหลังการบาดเจ็บจำนวน 3 อาการขึ้นไป จะมีการบาดเจ็บทางสมองทั้งสองระดับ คิดเป็นร้อยละ 37.5 เท่ากัน
ในด้านความชุกของการบาดเจ็บทางสมอง (mTBI) ภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ (PTSD) และภาวะซึมเศร้า พบว่า กำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชายแดนใต้มีระดับการบาดเจ็บทางสมอง (mild TBI) คิดเป็นร้อยละ 9.3 โดยมี mild TBI ในระดับ 1 และ 2 คิดเป็นร้อยละ 4.8 และ 4.5 ตามลำดับ และมีอาการหลังการบาดเจ็บ 3 อาการขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 2.4 และพบว่าทหารจะมีภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ (PTSD) คิดเป็นร้อยละ 10.3 เมื่อพิจารณาถึงภาวะซึมเศร้าพบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะซึมเศร้า คิดเป็นร้อยละ 51.9 รองลงมาคือซึมเศร้าเล็กน้อยและซึมเศร้าปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 39.7 และ 6.6 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาถึง PTSD symptoms ทหารส่วนใหญ่จะมีอาการของ Hyperarousal มากที่สุด รองลงมาคือ Avoidance และ Re-experiencing ตามลำดับ ส่วนอาการ Numbing พบน้อยสุด
เหตุสะเทือนขวัญ (PTSD) เสียงสะท้อนจากความกดดันในพื้นที่
ในรายงานชิ้นนี้ TCIJ จะขอลงรายละเอียดไปที่ “ภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ (PTSD)” [คลิ๊กอ่าน จับตา: ภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ (PTSD) คืออะไร? ประกอบ] โดยจากงานศึกษา เมื่อพิจารณาถึงด้านความชุกของภาวะ PTSD ในการศึกษานี้พบร้อยละ 10.3 อยู่ในช่วงเดียวกับการศึกษาของต่างประเทศที่พบว่าทหารส่วนมากจะมีความชุกของภาวะ PTSD อยู่ระหว่างร้อยละ 2-17 ซึ่งสูงกว่าในกลุ่มพลเรือนที่พบความชุกของ PTSD ประมาณร้อยละ 8 เท่านั้น
ผลการศึกษานี้พบว่า ทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้จะมีอาการของ Hyperarousal (ภาวะตื่นตัวสูงผิดปกติ เช่น มีปัญหาการนอน ไม่มีสมาธิ และตกใจกลัวเกินความเป็นจริง) มากที่สุด รองลงมาคือ Avoidance (มักหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสิ่งกระตุ้นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ หรือรู้สึกเฉยชาไม่สนใจสิ่งรอบข้าง) และ Re-experiencing (หวนคิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ ซึ่งรบกวนจิตใจ เป็นการหวนกลับมาของเหตุการณ์นั้นทางความคิด การฝันและการเห็นภาพเหตุการณ์จริงที่น่ากลัว) และ Numbing (จำกัดการแสดงออกทางอารมณ์ แยกตัวหรือเหินห่างจากผู้อื่น และไม่สามารถนึกถึงช่วงสำคัญของเหตุการณ์ได้) ตามลำดับ
สอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศ ที่พบว่าอาการ Hyperarousal เป็นอาการของ PTSD ที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งที่สุดเนื่องจากทหารที่ผ่านสถานการณ์รุนแรงจะมีความลำบากในการควบคุมร่างกายและจิตใจให้สงบและผ่อนคลาย(relaxed) จึงต้องระแวดระวังภัย จะเห็นได้จากแม้แต่ในยามหลับนอนหรือยามพักผ่อน ทหารบางรายมักนำอาวุธติดไว้ข้างกายตลอดเวลา ในต่างประเทศจากข้อมูลของ Department of Veterans Affairs (VA) ในการบำบัดรักษาทหารกลับมาจากปฏิบัติการในประเทศแถบตะวันออกกลางพบว่ามีความชุก PTSD อยู่ระหว่างร้อยละ 13 ถึง 21 อย่างไรก็ตาม แม้พบว่าการศึกษานี้มีความชุกของ PTSD อยู่ในช่วงเดียวกับความชุกของต่างประเทศ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาหลาย ๆ เรื่องในต่างประเทศส่วนใหญ่ จะพบว่าการศึกษานี้มีความชุกของ PTSD ต่ำกว่าของการศึกษาในต่างประเทศ เห็นได้จากการประมาณการทหารที่ปฏิบัติงานในประเทศอิรักและอัฟกานิสถานจะได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะ PTSD สูงถึงร้อยละ 20 ผลการสำรวจในกลุ่มทหารบกและนาวิกโยธินระหว่างปี ค.ศ. 2003 และ 2006 พบว่า มีความชุกของภาวะ PTSD อยู่ร้อยละ 14 และ 17 บางการศึกษาพบภาวะ PTSD ของทหารสูงถึงร้อยละ 43.97 นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่าวงรอบของการปฏิบัติงานมีความสัมพันธ์กับการเกิด PTSD โดยพบว่าทหารนาวิกโยธินที่ปฏิบัติการทหารในพื้นที่มีการสู้รบในหนึ่งวงรอบจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด PTSD ร้อยละ 24 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 39 เมื่อปฏิบัติการทางทหารในวงรอบที่สอง และเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 64 เมื่อปฏิบัติการทางทหารมากกว่าสี่วงรอบขึ้นไป
โดยในการศึกษาครั้งนี้มีความชุกของ PTSD แตกต่างจากต่างประเทศ เนื่องจากการเกิดความชุกของ PTSD นั้น มีความแตกต่างกันไปตามในแต่ละพื้นที่และขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น บทบาทของการสู้รบ วัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ รวมถึง ระเบียบวิธีการสุ่มตัวอย่าง การวัดและการประเมิน รวมถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการเลือกกลุ่มตัวอย่างนอกจากนี้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหาร การเผชิญกับสถานการณ์สู้รบและสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อการเกิดภาวะ PTSD
ซึ่งความแตกต่างของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์สู้รบ มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะ PTSD เช่น การรับรู้ว่าตนเองถูกคุกคามชีวิต มีสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอันตราย วัฒนธรรมการสู้รบของสังคมนั้น ๆ รวมถึงการทารุณกรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในการศึกษาครั้งนี้จะเห็นได้ว่าทหารมีการรับรู้ว่าตนเองถูกคุกคามชีวิตและมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ PTSD ดังจะเห็นได้จากข้อมูลที่เก็บจากภาคสนามดังต่อไปนี้
“ในการออกลาดตระเวน ไม่ว่าจะเดินเท้าหรือขี่จักรยานยนต์ มีความคิดกลัวในการทำงานแต่ละวันว่าจะโดนระเบิดในวันไหน หรือจะโดนซุ่มยิง แต่คิดในใจว่าชุดทำงานของเรามีประสิทธิภาพกันทุกคน ไว้วางใจกันได้ทุกคน” (พลทหาร ช. อายุ 22 ปี)
“ในแต่ละครั้ง คิดว่าออกไปปฏิบัติงานแล้วจะพบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และคิดว่าจะป้องกันตัวเอง เพื่อนร่วมงานอย่างไร เลยทำให้รู้สึกเครียดขึ้นมา การจัดการปัญหา อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด ขอให้มีสติไว้ก่อน แต่เมื่อเกิดเหตุจริงๆ แล้ว ไม่รู้จะทำแบบที่คิดได้หรือเปล่า?” (พันจ่าเอก ถ. อายุ 49 ปี)
“รู้สึกเครียดเมื่อเห็นเพื่อนร่วมงานบาดเจ็บล้มตาย เมื่อจับผู้กระทำผิดได้ แล้วปล่อยตัว” (จ่าเอก น. อายุ 29 ปี)
“เครียดปัจจัยหรือเหตุการณ์ ข่าวในพื้นที่ ที่เราประจำอยู่ และข่าวในพื้นที่ใกล้เคียง นั่งสมาธิ ทำจิตให้ว่าง นึกถึงความตาย ที่จะมาหาเราสักวันนึง” (จ่าเอก ส. อายุ 29 ปี)
“เหตุการณ์ระเบิดที่ฐาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย พยายามไม่คิดเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ประมาทเวลาทำงาน พักผ่อนให้เพียงพอ” (พลทหาร ศ. อายุ 24 ปี)
“รู้สึกเครียดเมื่อมีการสูญเสียคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ เพื่อน รุ่นน้อง ทหาร จากการปฏิบัติ หน้าที่ ไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ทำให้กำลังใจท้อถอยในบางช่วงบางเวลาเท่านั้นเอง” 7 (จ่าเอก ศ. อายุ 23 ปี)
“เหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียเพื่อนทหาร ไม่ว่าข้าราชการหรือพลทหาร เมื่อรู้ข่าวว่ามีการสูญเสีย ผมก็รู้สึกไม่ค่อยดี ทางแก้ปัญหาคือฟังเพลง เล่นกับเพื่อนๆ บ้าง พยายามไม่คิดอะไร”(พลทหาร จ. อายุ 23 ปี)
“เครียดทุกครั้งเมื่อมีกำลังพลฝ่ายเราสูญเสีย และพิการ จากการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะญาติบุคคลของครอบครัว ที่มีการเสียชีวิต แต่ก็ต้องทำใจเพราะนี้คือภารกิจหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ” (พันจ่าเอก ก. อายุ 51 ปี)
“การที่พบเจอเหตุการณ์รายวัน เช่น ระเบิด เจ้าหน้าที่ถูกลอบยิง เห็นภาพการตายของคน รู้สึกหดหู่ หลายๆ ครั้ง ทำให้เครียด จนบางครั้ง คิดว่าเมื่อไหร่เราจะโดนแบบนี้บ้างหรือเปล่า วิธีจัดการ ปล่อยวางจะเกิดอะไรขึ้นก็ถือว่าเราทำเต็มที่แล้ว เราทำเพื่อรักษาด้ามขวานเราไว้ เราทำเพื่อประเทศเรา และหน้าที่เรา ต้องเดินต่อไป ไม่หวั่นไหว“ (จ่าเอก ว. อายุ 30 ปี)
แนะกองทัพใช้ 'แพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลและนักสังคมสังเคราะห์'
โดยจากผลการศึกษา คณะวิจัยได้สรุปข้อเสนอแนะที่สำคัญไว้ อาทิเช่น ในด้านการป้องกันปัญหาการบาดเจ็บทางสมอง ภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญและภาวะซึมเศร้า ควรมีการจัดอบรมหรือประชาสัมพันธ์ผลการศึกษาวิจัยให้แก่กลุ่มข้าราชการทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้ได้เข้าใจ เพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและให้สามารถสังเกตอาการผิดปกติในเบื้องต้นได้ และบุคลากรทางการแพทย์ควรนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาหรือคิดค้นหารูปแบบวิธีการรักษาทหารที่เจ็บป่วยที่มีโรคร่วม ทั้งการบาดเจ็บทางสมอง ภาวะ PTSD และภาวะซึมเศร้า เนื่องจากปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากการได้รูปแบบบำบัดรักษาที่เหมาะสมจะทำให้การรักษาทหารที่ประสบเหตุรุนแรงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
ด้านข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกองทัพเรือควรมีนโยบายหรือมีมาตรการในการตรวจประเมินคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต ในด้านการบาดเจ็บทางสมอง ภาวะ PTSD และภาวะซึมเศร้าในกำลังพลทุกนายก่อนลงไปปฏิบัติงาน และหลังจากกลับจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อเป็นการคัดกรองปัญหา รวมถึงเฝ้าระวังความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจิตในกำลังพลที่อาจเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติการทางทหาร กองทัพควรมีการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการบาดเจ็บทางสมอง ภาวะ PTSD และภาวะซึมเศร้า เพิ่มเติมเข้าไปในหลักสูตรการเรียนหรือหลักสูตรอบรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นหลักสูตรพยาบาล หรือหลักสูตรผู้นำหน่วยต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มเครือข่ายสำหรับการดูแลป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในกำลังพลให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
และกองทัพควรมีมาตรการในการช่วยเหลือดูแลข้าราชการทหารที่ประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เช่น เหตุจากระเบิดหรือการถูกยิง เป็นต้น หากมีทหารประสบเหตุดังกล่าว ควรมีการร่วมมือดูแลช่วยเหลือเป็นทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วยแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก พยาบาล และนักสังคมสังเคราะห์ เพื่อช่วยกันวางแผนและหาแนวทางดูแลเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อไป
อ่าน 'จับตา': “ ภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ (PTSD) คืออะไร?’ ” http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5678
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ