โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมักจะเกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย หรือความปลอดภัย เช่น การถูกข่มขืน การถูกจับเป็นตัวประกัน หรืออุบัติเหตุร้ายแรงทั้งจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ เช่น แผ่นดินไหวหรือการวางระเบิด เป็นต้น ซึ่งบุคคลนั้นอาจเผชิญเหตุการณ์นั้นด้วยตนเองหรือเป็นพยานรู้เหตุการณ์ นั้น ๆ ก็ได้ การจดจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ร้ายแรง แม้ว่าคนนั้นพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น (trigger) หรือพยายามที่จะไม่นึกถึง (reminders) เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ความรู้สึกเหล่านี้จะรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงจะทำให้บุคคลนั้นมีภาวะตื่นตัวสูง (hyperarousal) และระแวดระวังตัวสูงผิดปกติ (hypervigilance) ความจำ เกี่ยวกับภาพเหตุการณ์รุนแรงนั้นจะส่งผลต่อความสามารถในการมีสัมพันธภาพกับคนอื่นและความสุขในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง ปัจจุบันปัญหาการก่อการร้ายและการปฏิบัติการทางทหารในประเทศอิรักและอัฟกานิสถานได้กลายมาเป็นปัญหาสังคมที่กำลังได้รับความสนใจ โดยเฉพาะปัญหา PTSD ที่เป็นผลตามมาจากปัญหาดังกล่าว จากการศึกษาอุบัติการณ์ของ PTSD พบว่า เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 4 โดยพบในเพศชายร้อยละ 10.3 และในเพศหญิงร้อยละ 18.3 ทั้งนี้อุบัติการณ์การเกิด PTSD ที่สูงในกลุ่มประชากรทั่วไป มีสาเหตุมากจากอัตราความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในสังคมปัจจุบัน จากการประเมินเมื่อไม่นานมานี้พบว่าประชากรโดยทั่วไป มีโอกาสเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต โดยประมาณร้อยละ 25 มีโอกาสเกิด PTSD
ตารางที่ 5 เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่พบได้บ่อยในกลุ่มประชากรทั่วไปจําแนกตามเพศ
นอกจากจะได้รับความทุกข์ทรมานจาก PTSD แล้ว ผู้ที่รอดจากเหตุการณ์รุนแรงมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการผิดปกติทางจิตอื่นได้อีก เช่น อาการซึมเศร้า ตื่นตระหนก วิตกกังวล และใช้สารเสพติด คนที่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายจากเหตุการณ์รุนแรงในวัยเด็กหรือเผชิญกับความตึงเครียดอยู่เป็นประจำมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางกายอื่นด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เป็นต้น โดยทั่วไปคนเราหากตกอยู่ในภาวะอันตรายที่คุกคามชีวิต จะมีปฏิกิริยาตอบสนองมาเป็น 2 ลักษณะคือ การต่อสู้หรือถอยหนี แต่การจะเลือกแสดงออกแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ หลายด้าน ทั้งปัจจัยส่วนบุคคลสิ่งแวดล้อม หรือประเภทของอันตรายที่เกิดขึ้น บุคคลอาจจะพยายามที่จะหลีกหนี หรือมีอาการลืมเหตุการณ์ที่สะเทือนใจนั้น บางรายอาจจะจดจำเหตุการณ์ร้ายแรงเหล่านั้นไว้เป็นระยะเวลานาน ซึ่งมักพบในกลุ่มของทหารที่ไปสู้รบในสงครามแล้วรอดชีวิตกลับมาได้ การตอบสนองดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เฉพาะเจาะจง อาจเป็นสิ่งอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็ได้
PTSD ถูกค้นพบในปี 1980 โดยเป็นการอธิบายถึง อาการที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเป็นการตอบสนองต่อความเครียดที่รุนแรง การวินิจฉัยมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมและอาการทางร่างกายที่เกิดจากความเครียดอันจะนำไปสู่การป่วยเป็นโรคต่อไป การวินิจฉัย PTSD ที่คิดค้นขึ้นในช่วงแรกนั้น เป็นช่วงที่ผู้คนให้ความสนใจกับทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนาม ผู้ที่มีอาการเรื้อรังหลังจากผ่านเหตุการณ์มาแล้วหลายปี สรุปได้ว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้รอดชีวิตนั้น เป็นความยืดเยื้อของอาการที่เกิดขึ้นในตอนแรกเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่ว่า PTSD เป็นการแสดงออกถึง ความล้มเหลวในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะปกติของบุคคล
จาก American Psychiatric Association’s Diagnostic and Statistical Manual IV-TR (DSM-IV-TR)ได้ให้คำนิยาม “PTSD” ไว้ว่า เป็นอาการวิตกกังวลหรือความเครียดที่เพิ่มขึ้น เมื่อบุคคลนั้นเผชิญกับสถานการณ์สะเทือนขวัญที่คุกคามต่อชีวิต (life-threatening traumatic event) ทำ ให้เกิดความรู้สึกกลัว (terror) หวาดวิตก (horror) และความรู้สึกสิ้นหวัง (helplessness) เหตุการณ์ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิด PTSD แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
1. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงระหว่างบุคคล (interpersonal violence)
2. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุหรือวินาศภัยซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตทั้งที่เกิดจากมนุษย์กระทำหรือเกิดจากธรรมชาติ
ความหวาดกลัวต่อการบาดเจ็บหรือการตาย และการยึดติดอยู่กับความรู้สึกกลัว (terror) หวาดวิตก (horror) และความรู้สึกสิ้นหวัง (helplessness) เป็นจุดเริ่มต้นของการตอบสนองที่จะนำไปสู่การเกิด PTSD
ในขณะที่ DSM-IV ได้ระบุว่า PTSD สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลซึ่งเห็นเหตุการณ์ (witness) หรือรับทราบเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้น ดังนั้นการได้เห็นเหตุการณ์ การบาดเจ็บที่รุนแรง หรือการเสียชีวิตที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือแม้แต่การได้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่รักก็สามารถก่อให้เกิด PTSD ได้ Traumatic event ไม่มีคำจำกัดความที่แน่นอนว่าหมายถึงอะไร แต่ลักษณะเฉพาะของTraumatic event ขึ้นอยู่กับบทบาทที่บุคคลเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ซึ่งประกอบด้วย บุคคลนั้นต้องเผชิญต่อเหตุการณ์ , บุคคลที่รอดจากเหตุการณ์, บุคคลที่สามารถนึกถึงประสบการณ์ได้ด้วยตนเอง และประสบการณ์เกิดขึ้นกับคนอื่นโดยที่บุคคลนั้นจะต้องเป็นพยานรู้เห็น สำหรับเหตุการณ์ที่จัดว่าเป็น Traumatic event ในความหมายของ DSM-IV ได้แก่
1. การถูกทำร้าย (ทั้งทางร่างกาย ทางเพศ การถูกปล้น/ชิงทรัพย์)
2. การถูกลักพาตัว
3. การถูกจับเป็นตัวประกัน
4. การสู้รบในสงครามหรือเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ
5. การโจมตีของผู้ก่อการร้าย
6. การทนทุกข์ทรมาน
7. การเป็นนักโทษสงครามหรืออยู่ในค่ายกักกัน
8. การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือจากการกระทำของมนุษย์
9. การเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่รุนแรง
10. การป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรงถึงชีวิต
ผลกระทบจาก PTSD จะทำให้บุคคลนั้นเกิดความโศกเศร้า เสียใจ มีปัญหาในการทำงานและการเข้าสังคม มีปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวัน การใช้สารเสพติด และปัญหาสัมพันธภาพกับคนอื่น นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า จากการศึกษาทหารอเมริกันที่กลับมาจากการปฏิบัติงานในประเทศอิรักและอัฟกานิสถาน พบว่า มีภาวะ PTSD ถึงร้อยละ 19 เบื้องต้นอาการดังกล่าวจะเกิด “ความเครียดแบบเฉียบพลัน (Acute Stress Disorder: ASD)” อาการของ ASD จะเกิดขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์แรกหรือประมาณ 1 เดือน หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โดยมีอาการตอบสนองครั้งแรก คือ กลัว สิ้นหวัง สับสนไม่รู้ว่าตนเองอยู่ที่ไหน เป็นต้น หากไม่ได้รับการช่วยเหลือทางด้านจิตใจที่เหมาะสมก็มีแนวโน้มอย่างมากที่จะพัฒนาไปสู่ภาวะ PTSD จากสถิติพบว่า บุคคลที่มีภาวะ ASD กว่าร้อยละ 80 จะนำไปสู่โรค PTSD ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากเผชิญเหตุการณ์นั้น
ลักษณะทางคลินิกและผลกระทบของภาวะเครียดหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญอาการ PTSD สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากเผชิญเหตุการณ์รุนแรง ตามเกณฑ์วินิจฉัย A1 ที่ระบุว่า เหตุการณ์รุนแรงเกี่ยวข้องกับการสูญเสียหรือการถูกคุกคามชีวิต การบาดเจ็บที่รุนแรงการเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์การเสียชีวิต หรือ การเห็นคนใกล้ชิดหรือคนรักได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง คนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงจะตอบสนองเหตุการณ์ด้วยความกลัว สิ้นหวัง รู้สึกหวาดกลัวต่อเหตุการณ์รุนแรงนั้น (ตามเกณฑ์วินิจฉัย A2) อาการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการได้แก่
1.กลุ่มอาการ B : re-experiencing มักหวนคิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ (recollection) ซึ่งรบกวนจิตใจ เป็นการหวนกลับมาของเหตุการณ์นั้นทางความคิด การฝันและการเห็นภาพเหตุการณ์จริงที่น่ากลัว
2.กลุ่มอาการ C : avoidance/numbing มักหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสิ่งกระตุ้นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ หรือรู้สึกเฉยชาไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ซึ่งรวมไปถึงการจำกัดการแสดงออกทางอารมณ์ แยกตัวหรือเหินห่างจากผู้อื่น และไม่สามารถนึกถึงช่วงสำคัญของเหตุการณ์ได้
3.กลุ่มอาการ D : hyperarousal มักมีภาวะตื่นตัวสูงผิดปกติ เช่น มีปัญหาการนอน ไม่มีสมาธิ และตกใจกลัวเกินความเป็นจริง
สำหรับเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD จะต้องมีการแสดงอาการเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งเดือน ซึ่งต่างจากความเครียดแบบฉับพลัน (acute stress disorder) อาการจะดีขึ้นภายใน 4 สัปดาห์หลังจากเกิดเหตุการณ์ อาการของ PTSD จะส่งผลทำให้เกิดความรู้สึกโศกเศร้า หรือมีความบกพร่องในการเข้าสังคมและประสิทธิภาพการทำงานลดลง ลักษณะเฉพาะของ PTSD จะแสดงอาการภายใน 6 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง (บางครั้งอาจจะเกิดช้ากว่านี้ก็ได้) คนที่มีอาการ PTSD มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD เรื้อรัง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน ติดแอลกอฮอล์ และละเลยดูแลสุขภาพของตนเองจากข้อมูลปัจจุบันพบว่า ทหารผ่านศึกที่เจ็บป่วยด้วยโรค PTSD จะมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม(dementia) สูงเป็น 2 เท่าของทหารที่ไม่เป็น PTSD บางครั้งคนที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงอาจไม่เกิดอาการตามเกณฑ์วินิจฉัย PTSD ในทุกกลุ่มอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งเรียกว่า “subsyndromal” หรือ “partial” การประเมินต้องพิจารณาถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย โดยเฉพาะปัญหาจาก TBI สำหรับกลุ่มลักษณะเด่นของ PTSD ทั้ง 3 กลุ่มอาการ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
Re-experiencing symptoms
PTSD เป็นอาการของผู้รอดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ไม่สามารถปลดปล่อยความคิดจากเหตุการณ์นั้น ภาพความรุนแรงยงหวนกลับเข้ามาในความคิดโดยไม่ได้ตั้งใจในรูปของมโนภาพ (image) ความทรงจำที่ไม่พึงปรารถนา (unwanted memories) ฝันร้าย (nightmare) การหวนคิดถึงเหตุการณ์นั้น ๆ มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดอาการทางกาย เช่น เหงื่อออก หายใจสั้น และหวาดวิตก เมื่อคิดถึงเหตุการณ์นั้น อาการเหล่านั้นเรียกว่า intrusiveหรือ re-experiencing สำหรับเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ผู้ป่วยเผชิญมักหวนกลับมามีลักษณะดังนี้
1. การหวนกลับมาของเหตุการณ์ทางมโนภาพ ความคิด และการรับรู้
2. การฝันถึงเหตุการณ์นั้น
3. การกระทำ หรือความรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอีก (ซึ่งรวมไปถึงภาพลวงตา ภาพหลอน flashback)
4. ความทุกข์ทรมานจิตใจอย่างรุนแรงเมื่อพบสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำอีก
5. ปฏิกิริยาทางกายซึ่งตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้นึกเหตุการณ์นั้น
re-experiencing symptoms มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญดังนี้
- บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่สามารถควบคุมการเกิดอาการได้
- re-experiencing คือการรับรู้ เหตุการณ์ที่เหมือนกับเหตุการณ์จริง
- การรับรู้นี้จะแตกต่างจากการเล่าเรื่อง
Persistent หมายถึง อาการที่เกิดขึ้นเกือบทุกสัปดาห์ ลักษณะที่พิเศษ คือ การเกิดอาการซ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น เพราะมี traumatic scene ซ้ำ โดยเฉพาะในช่วงก่อนนอนซึ่งเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่ค่อนข้างผ่อนคลาย บุคคลนั้นจะรู้สึกตกใจต่อภาพเหตุการณ์อันน่ากลัวที่เกิดขึ้น บางครั้งภาพเหตุการณ์จะมากับความฝัน ทุกองค์ประกอบของเหตุการณ์รุนแรง เช่นเสียง สี ฉากเหตุการณ์ ฯลฯ สามารถกระตุ้นให้เกิดความกลัวได้ ปฏิกิริยาทางร่างกายเมื่อผู้ป่วยเผชิญกับเงื่อนไขดังกล่าวได้แก หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก รู้สึกหนาว เหมือนจะเป็นลม
Avoidance symptoms
การที่บุคคลนั้นพยายามรับมือกับความทรงจำที่เลวร้าย ทำให้เลือกที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้น ซึ่งรูปแบบพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงอีกประการ คือ ความรู้สึกเฉยชา (numbing) หรือการไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นได้แก่
1. ความพยายามหลีกเลี่ยงความคิด ความรู้สึก หรือพูดถึงเหตุการณ์นั้น
2. ความพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรม สถานที่ หรือบุคคลที่กระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น
3. การที่ไม่สามารถนึกถึงช่วงสำคัญของเหตุการณ์นั้น
4. ความรู้สึกสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ลดลง
5. ความรู้สึกแยกตัวหรือห่างเหินจากผู้อื่น
6. การจำกัดการแสดงออก (เช่น ไม่สามารถรู้สึกถึงความรัก)
7. การรู้สึกว่าไม่มีอนาคต (เช่น ไม่คาดหวังในอาชีพการงาน การแต่งงาน การมีครอบครัว หรือการมีอายุยืนยาว)
กลุ่มอาการนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ การหลีกเลี่ยงอย่างแท้จริง (actual avoidance) และความเฉยชาต่อการตอบสนองโดยทั่วไป (numbing to general responsiveness) กลุ่มอาการเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อการตอบสนองต่อภาวะตึงเครียดแบบ fight or flight
Hyperarousal symptoms
ผู้ที่รอดจากเหตุการณ์รุนแรงมักจะมีความผิดปกติทางสรีรวิทยา โดยมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ และหวาดระแวงตลอดเวลา กลุ่มอาการนี้เรียกว่า increased arousal ซึ่งประกอบด้วย
1. ปัญหาการนอนหลับหรือไม่สามารถนอนหลับได้นาน
2. มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือโกรธง่าย
3. ไม่มีสมาธิ
4. มีอาการระแวดระวัง (hyper vigilance)
5. มีอาการตกใจกลัวเกินความเป็นจิรง
บุคคลที่มีอาการ increased arousal ซึ่งจะทำให้กิจวัตรในชีวิตประจำวันไม่เป็นระเบียบเพราะต้องจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้ไม่ดี มีการปรับตัวน้อยลง โดยพยายามหลีกเลี่ยง และแยกตัวออกจากสังคม ซึ่งการหวนกลับมาของเหตุการณ์อาจเกิดจากการกระตุ้นของสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องโดยอาจอยู่ในรูปของความรู้สึกหรือการมองเห็น ที่จะก่อให้เกิด หรือไม่เกิดความเจ็บป่วยทางกายและใจก็ได้ หรือเกิด flashback หรือในรูปของความฝัน การหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับสิ่งเร้าหรือเมินเฉยต่อสิ่งรอบข้างเป็นลักษณะการตอบสนองอย่างที่สอง ซึ่งบางครั้งอาจเป็นลักษณะขอการแยกตัว ไม่สมาคมกับคนอื่น ไม่มีการแสดงออกทางอารมณ์ ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง ไม่สามารถรักชอบใครได้ หรือหลีกเลี่ยงกิจรรม สถานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ร้ายแรงนั้น การมีภาวะตื่นตัวสูง เป็นลักษณะสุดท้าย โดยมีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่มีสมาธิ มีอาการหวาดระแวงหงุดหงิดฉุนเฉียว และตกใจกลัวเกินความเป็นจริง และในกรณีที่มีอาการหนักภาวะตื่นตัวสูงและการหลีกหนีดูจะเป็นอาการเด่นของคนกลุ่มนี้
ที่มาจาก: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการความชุกของการบาดเจ็บทางสมอง ภาวะเครียดหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญและภาวะซึมเศร้าในกำลังพลกองทัพเรือที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ โดย พรหมพิทักษ์ ไหว้พรหม, วิเชียร ศรีภูธร, เนตรนภิส จันทวัฒนะ และปิยมาภรณ์ สิงห์คำ ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ