ใช้ชีวิตใน 5 เมืองที่เป็นมิตรกับสุขภาพ

13 ม.ค. 2558


สิงคโปร์ (Singapore)

สิงคโปร์มีอัตราการตายของทารกต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีอายุคาดเฉลี่ยมากถึง 84.07 ปี สูงเป็นอันดับสี่ของโลกตามที่ระบุไว้ใน CIA World Factbook  ซึ่งนอกจากระบบดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพรองรับประชากรที่ใช้บริการของรัฐกว่าร้อยละ 80 สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่มีความสะอาดมาก ด้วยกฏหมายเกี่ยวกับการทิ้งขยะที่เข้มงวด และรัฐบาลใช้นโยบายลดปริมาณรถยนต์ เพื่อไปใช้ระบบคมนาคมที่ทันสมัย อย่าง SMRT ที่ขนส่งผู้โดยสารจำนวนกว่า 2 ล้านคนในแต่ละวัน และด้วยความที่มีสวนสาธารณะที่เชื่อมกับพื้นที่สีเขียว ระยะทางร่วมกว่า 200 กิโลเมตร รวมถึงทางเดินเขาจำนวนมาก ทำให้สิงคโปร์ขนานนามตัวเองว่าเป็น 'Garden City' ที่เน้นสมดุลของการใช้ชีวิตและการทำงานมากขึ้น

โตเกียว (Tokyo)

กรุงโตเกียวปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าหลายประเทศในเอเชีย ตามที่ระบุใน World Bank ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 4.89 ตันต่อคน ขณะที่ปักกิ่ง ตัวเลขสูงถึง 10.8 ตัน และสิ่งคโปร์ 7.86 ตัน ทำให้โตเกียวถูกจัดเป็นเมืองที่ดีต่อสุขภาพอันดับสองของโลก เนื่องจากมีอายุคาดเฉลี่ย สูงมากถึง 84.19 ปี เป็นผลเนื่องมาจากนโยบายการลงทุนและวางแผนด้านสุขภาพ ความสัมพันธ์ของครอบครัว วัฒนธรรมความสะอาด และที่สำคัญที่สุดคืออาหารที่ชาวโตเกียวบริโภคในแต่ละวัน อย่างข้าว ปลา และพืชผักชนิดต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารได้เป็นอย่างดี

เพิร์ธ (Perth)

เพิร์ธถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกโดย The Economist Intelligence Unit และยังเป็นเมืองที่ดีต่อสุขภาพอันดับต้นๆ สำหรับผู้หญิง การจัดอันดับดังกล่าวมีเกณฑ์ 5 อย่างคือ ความมั่นคงของชีวิต ระบบดูแลสุขภาพ การศึกษา สาธารณูปโภค วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในแง่ของระบบคมนาคมระหว่างปี ค.ศ. 1998-2009 จำนวนคนปั่นจักรยานในเพิร์ธเพิ่มขึ้นถึง  450% และมีการติดตั้งที่เก็บจักรยานในหลายสถานีของระบบขนส่งมวลชน นอกจากนี้เมืองเพิร์ธยังเหมาะกับการทำกิจกรรมนอกบ้าน เพราะมีอากาศที่อบอุ่นและอยู่ใกล้กับชายหาดที่แสนจะเอื้อต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย

โคเปนเฮเกน (Copenhagen)

วัฒนธรรมการปั่นจักรยานแพร่หลายมากในโคเปนเฮเกน และปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัดในทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงถึงร้อยละ 20 ในปีค.ศ. 2005 ในอนาคตรัฐบาลมีแผนจะเป็นเมืองไร้คาร์บอนให้ได้ภายในปีค.ศ. 2025 ในทุกๆ วัน ชาวโคเปนเฮเกนประมาณร้อยละ 50 จะเดินทางไปทำงานโดยการปั่นจักรยาน บนเลนจักรยานที่ยาวถึง 400 กิโลเมตร ตั้งแต่ Dronning Louises Bridge ไปถึงย่านชุมชน Nørrebro  ทำให้ในบริเวณนั้นมีจักรยานปั่นผ่านถึง 36,000 คันในแต่ละวัน

โมนาโก (Monaco)

โมนาโกเป็นเมืองเล็กๆ ที่เคยอยู่ภายใต้ฝรั่งเศส ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมือง Nice เป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลกและมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 89.6 ปี ปัจจุบันเป็นเมืองที่มีเศรษฐีจำนวนมากอาศัยอยู่ และเนื่องจากประชากรมีกำลังทรัพย์มหาศาล จึงสามารถสร้างระบบดูแลสุขภาพที่ดีมาก จนได้รับการจัดการอันดับเป็นระบบดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดลำดับ 13 ของโลกในปีค.ศ. 2000 โดย World Health Organization  นอกจากนี้มูลนิธิเจ้าชายอัลเบิร์ตที่สองแห่งโมนาโก ได้เริ่มต้นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมากมาย เช่น การประชุมเพื่อหาสิ่งทดแทนคาร์บอน และการรณรงค์หน่วยงานท้องถิ่นหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

 

ที่มา: www.bbc.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: