จากงานวิจัยพบว่า ชาวมุสลิมจีนและชาวจีนหุย ไม่ได้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน เพราะคำว่า “มุสลิม” หมายถึง ผู้ที่ศรัทธาในอิสลามและยึดมั่นในคำสอนในคัมภีร์อัล กุรอาน แต่การศึกษาเกี่ยวกับชาวจีนหุย พบว่า การใช้ชีวิตของกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นไปตามหลักการอิสลามทั้งหมด และในบางกรณียังกระทำในสิ่งที่อิสลามสั่งห้าม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการมีรูปปั้นของสัตว์ชนิดต่าง ๆ อยู่ในสถาปัตยกรรมของมัสยิด การปรับเปลี่ยนนี้เรียกว่า การปรับการปฏิบัติตามคำสอนอิสลามไปตามสภาพของท้องถิ่น (localization of Islam) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการละทิ้งคำสอนของอิสลาม แต่เป็นการปรับเพื่อให้สามารถบูรณาการการใช้ชีวิตได้กับความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น เนื่องจากอิสลามเป็นศาสนาที่มาจากต่างแดน ที่เพิ่งเข้ามาสู่ประเทศจีนภายหลังกระบวนการที่เรียกว่า Fanfang ลัทธิขงจื้อและเต๋า
ในประวัติศาสตร์ มุสลิมฮ่อหรือชาวหุยในยูนาน เป็นเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ศาสนาของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลกลางของประเทศจีน โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ชิง ที่เป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศจีน ก่อนการปฏิวัติ ชาวหุยในยูนานต้องปลีกตัว ตั้งรกรากในชุมชนเล็ก ๆ ที่ห่างไกล พัฒนาการทางวัฒนธรรมหุยในยูนานจึงค่อนข้างแยกตัวจากส่วนอื่น เป็นเพราะชาวหุยในยูนานให้ความสนใจเชื่อมโยงกับโลกภายนอกมากกว่าชนกลุ่มอื่น จึงทำให้เกิดชุมชนชาวหุยเช่นในปัจจุบัน
ชาวหุยเป็นพ่อค้าที่มีบทบาทมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเครือข่ายการค้าขนาดใหญ่ มีคาราวานขนส่งสินค้า และเป็นพ่อค้าคนกลางในการค้าขายระหว่างตลาดการค้าสำคัญในยูนาน ประเทศจีน และประเทศอื่น ๆ เช่น เมียนมาร์ ไทย เครือข่ายการค้าของชาวหุย ไม่เพียงแต่ทำการขนส่งและค้าขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังสื่อสารและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชนกลุ่มต่าง ๆ อีกด้วย
ในเขตปกครองตนเองในยูนานที่ชื่อว่า “สิบสองปันนา” มีกลุ่มชนชาวหุยอยู่ 5 กลุ่ม ความแตกต่างเดียวที่โดดเด่นและเห็นได้ชัด ซึ่งแยกชาวหุยออกจากชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ คือ ศาสนาอิสลามที่ชาวหุยนับถือ แม้กรณีความไม่สงบในสมัยราชวงศ์ชิงจะทำให้การแสดงออกซึ่งความเป็นชาวหุยถูกกดดัน แต่จากการฟื้นฟูศาสนาในจีนตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ก็ได้เปิดพื้นที่ให้ชาวหุยสามารถกลับมาใช้วิถีชีวิตในแนวทางอิสลามได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้แนวทางที่ประยุกต์วิถีชีวิตของท้องถิ่นที่แนบแน่นกับหลักการศาสนา จนกระทั่งการทูตและการค้าผ่านเส้นทางสายไหมได้เชื่อมโยงโลกอาหรับและประเทศจีนเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาของวัฒนธรรมโลก ชุมชนมุสลิมจีนจึงได้เคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของประเทศจีน ซึ่งตลอดเวลากว่า 1,300 ปีในประเทศจีน ชุมชนมุสลิมจีนได้ผ่านทั้งจุดที่รุ่งเรือง และตกต่ำ ซึ่งปัจจุบันในประชาชนจีนทั้งหมด 56 ชาติพันธุ์ มีถึง 10 ชาติพันธุ์ที่เป็นมุสลิม โดยมีชาวหุยเป็นมุสลิมจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดอาศัยอยู่ในแทบทุกเมืองของประเทศจีน โดยเฉพาะในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของหลายตำบลในยูนานตะวันตก ที่อยู่ระหว่างเมืองต้าลี่กับชายแดนประเทศเมียนมาร์
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวหุยซึ่งเป็นมุสลิมจีนจำนวนมากอพยพหนีการกวาดล้างในยูนานเข้าสู่พื้นที่ประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบัน บ้างก็อยู่ร่วมกับชาวหุยที่อพยพมาก่อน บ้างก็ก่อร่างสร้างชุมชนใหม่ ซึ่งปัจจุบันก็ยังพบชุมชนชาวหุยขนาดเล็กกระจายอยู่ในเมืองหลักหลายเมืองในประเทศเมียนมาร์ ประกอบอาชีพค้าขาย เปิดร้านอาหาร ขายขนมปัง บ้างก็ย้ายถิ่นไปอาศัยอยู่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย และประเทศไทย โดยหลังจากความล้มเหลวของการก่อกบฏของมุสลิมยูนาน ชาวจีนมุสลิมจากยูนานได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองหลักในภาคเหนือของประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ประกอบอาชีพค้าขายผัก ผลไม้ ทำภัตตาคาร ร้านชา และร้านขายของชำ จนประสบความสำเร็จทางการค้า ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของมุสลิมจีนจากยูนานดีขึ้น คนกลุ่มนี้จึงได้รับชื่อเรียกใหม่ว่า “ฮ่อ” (Haw) แต่เป็นคำที่ชาวจีนมุสลิมจากยูนานถือว่าแสดงการดูถูกดูแคลน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชื่อนี้จะไม่ใช่ชื่อที่ชาวจีนมุสลิมจากยูนานถูกใจนัก แต่ต่อมาก็ได้นำมาใช้เป็นชื่อในการจดทะเบียนมัสยิดของตนว่า “มัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ” ในปี 1917 และการจดทะเบียนราษฎร์กับหน่วยงานของรัฐ
ในตอนต้นทศวรรษที่ 1900 ชาวหุยจำนวนหนึ่งได้อพยพสู่อำเภอเวียงพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาพื้นที่ส่วนนี้เรียกกันว่า “บ้านฮ่อ” มีการสร้างครอบครัวกับชาวจีนหรือคนเมืองที่ไม่ใช่มุสลิม จนในปัจจุบันมีการสร้างชุมชนใหม่ที่บริเวณ “สันป่าข่อย” รวมถึงในจังหวัดเชียงราย และลำปาง ซึ่งจากงานวิจัยเห็นว่าตัวเลขน่าจะอยู่ที่ 30,000 คน
การอยู่ร่วมกันในสังคมไทยล้านนา อาจทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์หรือผสมกลมกลืนไปกับสังคมที่เข้ามาอยู่ ซึ่งกระบวนการผสมกลมกลืนที่เกิดขึ้น ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากชาวจีนมุสลิมมีจิตสำนึกและศักดิ์ศรีในการตัดสินเส้นทางชีวิตทางสังคม เศรษฐกิจ และศาสนา ซึ่งกระบวนการปรับเปลี่ยนนี้แยกออกได้เป็น 3 ระดับคือ (1) อัตลักษณ์ของพ่อค้าจีน (ก่อนปี 1940) (2) อัตลักษณ์ของมุสลิมไทย (ระหว่างปี 1940-1990) และ (3) อัตลักษณ์ของมุสลิมข้ามชาติ (ระหว่างปี 1991 – ปัจจุบัน) หรืออีกนัยหนึ่งคือ อัตลักษณ์ของชาวจีนมุสลิมในภาคเหนือของประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนจากระดับท้องถิ่น เป็นระดับชาติ และระดับนานาชาติ ซึ่งการแบ่งช่วงนี้มีพื้นฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศไทย และพัฒนาการของการเมืองในโลกมุสลิม
(1) อัตลักษณ์ของพ่อค้าจีน ก่อนปี 1940 เป็นยุคที่ชาวจีนมุสลิมรุ่นแรกที่อพยพเข้ามา ได้รับการยอมรับจากสังคมในท้องถิ่นและชาวไทยภูเขา ในฐานะของพ่อค้าชาวจีน ในช่วงนี้ ชาวจีนมุสลิมต้องทำงานหนักเพื่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชีวิต ซึ่งคุณสมบัตินี้กลายเป็นอัตลักษณ์ที่รู้จักกันดีของคนกลุ่มนี้ คนเมืองในภาคเหนือและชาวไทยภูเขามักเรียกมุสลิมจีนจากยูนานกลุ่มนี้ว่า “เล่าปั้น” ซึ่งหมายถึง พ่อเลี้ยง แต่ถึงแม้การใช้ชีวิตร่วมกับคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหามากมายอะไร แต่ชาวจีนยูนานทั้งที่เป็นมุสลิมหรือไม่เป็นมุสลิมก็ถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการค้าฝิ่น โดยในตอนกลางศตวรรษที่ 20 ถูกเหมารวมว่า ฮ่อทุกคนค้าฝิ่น ซึ่งนำมาสู่นโยบายที่จะต้องกำจัดฮ่อทุกคนออกไปจากเชียงใหม่
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ชาวฮ่อจำนวนหนึ่ง อาสาปราบฮ่อที่สร้างปัญหาให้ เพราะช่วงเวลานั้นมีชาวฮ่อจำนวนไม่น้อยที่แต่งงานอยู่กินกับผู้หญิงที่ไม่ใช่มุสลิม โดยหวังว่าจะมีชีวิตใหม่ สามารถเป็นพลเมืองไทย และมีชีวิตที่มั่นคงได้ในอนาคต เรื่องนี้จึงมีส่วนช่วยให้ฮ่อ สามารถผสมกลมกลืนกับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
(2) อัตลักษณ์ของมุสลิมไทย ในปี 1939 เมื่อสยามเปลี่ยนเป็นประเทศไทย และรัฐบาลใช้นโยบายผสมกลมกลืนกับชาวจีนในประเทศไทยควบคู่ไปกับนโยบายการสร้างชาติ การได้รับการศึกษาจากโรงเรียนที่ดีเป็นปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จในชีวิตขอคนหลายคน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่ชาวจีนมุสลิมพยายามส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนคริสต์เตียนในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนจบมัธยมศึกษา เป็นการเพิ่มโอกาสในการได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น เรียนรู้ภาษาไทย ใช้ชื่อและนามสกุลเป็นภาษาไทย เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคมไทย และสามารถไต่บันไดสังคมสู่สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับชาวจีนกลุ่มอื่นที่อพยพสู่ประเทศไทยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวจีนมุสลิมรุ่นใหม่นี้จึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางในสังคมไทยปัจจุบัน
(3) อัตลักษณ์ของมุสลิมข้ามชาติ ตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นไป อิทธิพลของการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ ได้ช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงกับประเทศจีนและกลุ่มประเทศอาหรับดีขึ้น ชาวจีนมุสลิมจึงได้รับอิทธิพลจากการเมืองในโลกมุสลิมมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในช่วงนี้ ชาวจีนมุสลิมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ฮานาฟีสายจีน (2) ตับลีค-ยามาอะฮ. สายอินเดีย และ (3) ซาลาฟี-วาฮาบี สายซาอุดีอาระเบีย โดย 2 กลุ่มแรกถูกกลุ่มที่ 3 ตำหนิว่าเป็นแนวทางที่แปลกแยกจากอิสลามที่แท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มแรก ที่ถูกมองว่าผูกติดกับขนบธรรมเนียมจีนที่ไม่ได้เกี่ยวกับอิสลาม ในขณะที่กลุ่มที่ 2 ก็มองว่าแนวทางของอีก 2 กลุ่มไม่ใช่แนวทางของศาสนทูตมูฮัมมัด และเป็นแนวทางที่ให้ความสำคัญกับโลกปัจจุบันเกินไป
แม้ว่าจะมีข้อขัดแย้งในแนวคิดทางศาสนาในหมู่ชาวจีนมุสลิมในภาคเหนือของประเทศไทย แต่ทั้ง 3 กลุ่มก็ยังมีความผูกพันและความเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อรักษาและยึดมั่นในแนวทางของอิสลามคือ (1) การแต่งงานกับมุสลิมด้วยกันแทนที่จะเป็นคนต่างศาสนา แม้ว่าปู่ย่าตายายของคนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งก็ไม่ได้เป็นมุสลิมแต่กำเนิด โดยมองว่าจะเป็นเส้นทางที่จะทำให้ความศรัทธาในศาสนาอ่อนแอ (2) การปฏิเสธการมีส่วนร่วมในประเพณีไทย เช่น วันสงกรานต์ แต่จะโน้มนำให้เยาวชนมุสลิมจีนมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่นแทน และ (3) การเปลี่ยนใช้ชื่อทางการเป็นภาษาอาหรับ จากเดิมที่เคยมี 3 ชื่อคือ ชื่อจีน (ใช้ที่บ้าน) ชื่อไทย (ใช้ที่โรงเรียนและที่ทำงาน) และชื่ออาหรับ (ใช้ที่โรงเรียนศาสนา และมัสยิด) การใช้ชื่อเป็นภาษาอาหรับ เป็นหนทางหนึ่งในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมของชาวจีนมุสลิมในภาคเหนือของประเทศไทย
หลังจาก 2 ทศวรรษผ่านไป การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนมุสลิมในประเทศไทยกับประเทศจีน มีความแนบแน่นยิ่งขึ้น ประสบการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ทำให้ชาวจีนมุสลิมพัฒนาความผูกพันกับประเทศไทยและประเทศจีนอย่างใกล้ชิด ผ่านการท่องเที่ยวและเยี่ยมเยียนญาติมิตรในแดนไกล จากไทยไปจีน และจากจีนมาไทย เพื่อรักษาสายสัมพันธ์ที่เคยมีมาแต่ในอดีต ยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศจีนตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ที่ผ่านมาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการค้าขายและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ผ่านความสัมพันธ์ในเชิงเครือญาติ และทำให้เกิดการช่วยเหลือและความร่วมมือในกิจการด้านศาสนาระหว่างกัน
บทเรียนที่ได้รับ
ชาวมุสลิมจีนในยูนาน ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นหลายต่อหลายครั้งไปในหลายพื้นที่ รวมทั้งประเทศไทย ชี้ว่าแม้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนานนัก หลังจากที่ชาวมุสลิมจีนยูนานได้อพยพย้ายถิ่นมายังตอนเหนือของประเทศไทย ชนกลุ่มนี้ก็ยังสามารถเก็บรักษาอัตลักษณ์และศาสนาของตน ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ใช้ชีวิตร่วมกับคนต่างเผ่าพันธุ์ ทั้งที่เป็นมุสลิมและศาสนิกชนในศาสนาอื่น
การแสดงให้เห็นจุดยืนที่ชัดเจน ต่อต้านการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมายของชาวจีนฮ่อด้วยกัน และการมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ ทำให้บุตรหลานเติบโตเป็นทรัพยากรที่มีค่าของสังคมใหม่ และประเทศใหม่ที่พวกเขาเข้าไปร่วมอยู่ด้วย
การศึกษาสายสัมพันธ์ของมุสลิมฮ่อในประเทศไทยกับมุสลิมฮ่อในจีน น่าจะเผยแพร่เป็นภาษาไทยในวงกว้าง เพื่อให้สังคมไทยได้รับรู้ความหลากหลายของชาติพันธุ์ของมุสลิม และเพื่อให้เห็นการปรับตัวและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเพื่อนร่วมชาติที่มีบรรพบุรุษอยู่ในประเทศจีน
เผยแพร่ครั้งแรกที่ : http://rescom.trf.or.th/display/keydefault.aspx?id_colum=3275
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ