เพื่อคุณค่าของสาธารณรัฐ: การเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

ดิน บัวแดง 13 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2803 ครั้ง

1

การเดินขบวนเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ปารีสและอีกหลายๆ เมืองในฝรั่งเศส เป็นการเดินขบวนที่มีการพูดคุย วางแผนกันตั้งแต่หลังเกิดการบุกยิงกองบรรณาธิการของชาร์ลี เอ็บโด เมื่อวันที่ 7 มกราคม[1] ในวันที่เกิดเหตุนั้นได้มีผู้ออกมาชุมนุมไว้อาลัยกันนับหมื่นคนทั่วประเทศ ส่วนมากเป็นการนัดหมายกันอย่างเร่งด่วนทางอินเตอร์เน็ต แทบไม่มีการเตรียมการใดๆ ต่อมาในคืนนั้น ได้มีประกาศอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันไว้อาลัยของชาติและให้มีการชุมนุมกันทั่วประเทศระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม ซึ่งตรงกับวันเสาร์อาทิตย์

เป็นที่ทราบกันดีว่าในวันที่ 8 และวันที่ 9 ได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องกันหลายระลอก ตั้งแต่การยิงตำรวจเสียชีวิตที่ Montrouge บริเวณชานเมืองทางใต้ของปารีส มีการจับตัวประกันบริเวณชานเมืองทางเหนือของปารีส จนกระทั่งมีการจับและฆ่าตัวประกันในห้างของชาวยิวในกรุงปารีส ในท้ายที่สุด เหตุการณ์ทั้งหมดจบลงด้วยชีวิตของเหล่าคนร้ายรวมทั้งหมด 3 คน แม้จะไม่แน่ใจว่าเป็นจุดสิ้นสุดของ ‘ภัยก่อการร้าย’ ครั้งนี้หรือไม่ แต่ก็ทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกโล่งใจเป็นอย่างมากและบทบาทของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการครั้งนี้ก็ได้รับการสรรเสริญอย่างยิ่ง

โรงภาพยนตร์ REX ขึ้นข้อความ “Je suis Charlie” สนับสนุนการเดินขบวน

วันที่ 10 ซึ่งเป็นวันหยุดแรกหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายสิ้นสุดลง จึงเป็นวันที่มีการชุมนุมกันอย่างเป็นทางการในหลายๆ เมืองทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่มีผู้คนออกมาอย่างมหาศาล สำหรับกรุงปารีส ในเบื้องต้นจะให้มีการชุมนุมในวันนี้เช่นกัน แต่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีผู้นำต่างชาติสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการจัดการด้านความปลอดภัยให้รัดกุมยิ่งขึ้น การชุมนุมจึงย้ายไปจัดวันอาทิตย์ที่ 11 มกราคมแทน

2

ปรากฏว่าการเดินขบวนที่กรุงปารีสในวันที่ 11 มกราคม มีผู้นำประเทศกว่า 50 ชาติประกาศว่าจะเข้าร่วมเดินขบวนด้วย[2] ที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษคือเหล่าผู้นำประเทศมหาอำนาจในยุโรป เช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร สเปน และอิตาลี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผู้นำของประเทศคู่ขัดแย้งอย่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มาร่วมด้วย สำหรับภายในฝรั่งเศสเอง พรรคการเมืองแทบทุกพรรคได้เข้าร่วมการเดินขบวนครั้งนี้ ยกเว้นพรรคที่ถือว่าเป็น ‘อันดับสาม’ ของประเทศคือ พรรคขวาจัด Front National นั้นกลับไม่ได้รับเชิญ

การเดินขบวนครั้งนี้นัดหมายกันที่ Place de la république ในเวลา 15.00 น. เพื่อที่จะเดินไปที่ Place de la Nation รวมระยะทางราว 3 กิโลเมตรหากเดินในเส้นทางหลัก สำหรับเส้นทางรองนั้นให้เดินอ้อมขึ้นไปทางสุสาน Père Lachaise แล้วมาสิ้นสุดที่จุดหมายเดียวกันคือ Place de la Nation อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่มาร่วมนั้นมากเกินกว่าความคาดหมายมาก ทำให้ผู้คนล้นออกไปถนนรอบข้าง (ดูพื้นที่สีส้มในแผนภาพด้านล่าง) ส่วนมากไม่สามารถเดินในเส้นทางหลักหรือแม้แต่เส้นทางรองได้ จึงเกิดเส้นทางรองอย่างไม่เป็นทางการอีกเส้นหนึ่งไปยัง Bastille ที่ซึ่งมีความหมายสำคัญต่อสาธารณรัฐไม่แพ้กัน

แผนภาพจากสำนักข่าว Le Monde

การเดินทางไปบริเวณชุมนุมนั้นเรียกได้ว่าแออัดอย่างมาก สถานีรถไฟใต้ดินปิดกว่า 18 สถานี ส่วนสถานีรอบข้างก็มีผู้คนล้นจนไม่สามารถเข้าไปได้ รถยนต์ถูกห้ามไม่ให้วิ่งเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้น ทางเดียวที่จะเดินทางเข้าสู่บริเวณชุมนุมได้ คือการเดินเท้าเป็นระยะทางที่ยาวไกลจากจุดอื่นที่อยู่ห่างจากที่ชุมนุม เมื่อใกล้เวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลานัดหมาย ผู้คนต่างพยายามจะไปให้ถึงบริเวณ Place de la république แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากพื้นที่นั้นถูกจับจองตั้งแต่ราว 12.00 น. แล้ว เมื่อประชาชนมากันมากขึ้นเรื่อยๆ ถนนแทบทุกเส้นรอบข้างจึงถูกยึดครองและขบวนก็แทบไม่สามารถเคลื่อนที่ได้

ประชาชนเดินขบวนนอกเส้นทางหลักไปที่ Bastille

ในส่วนที่เป็นทางการนั้น การเดินขบวนนำโดยกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายครั้งนี้ ตามมาด้วยกลุ่มผู้นำประเทศต่างชาติและกลุ่มพรรคการเมืองต่างๆ ของฝรั่งเศส เห็นได้ว่าไม่มีเวทีและไม่มีการกล่าวปราศรัยอย่างเป็นทางการ ในขณะเดียวกัน ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของการเดินขบวนครั้งนี้คือส่วนที่ไม่เป็นทางการ ด้วยความที่ประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทำให้การเดินขบวนค่อนข้างเป็นอิสระ ภาพที่เห็นส่วนใหญ่คือประชาชนเตรียมป้ายเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยตนเอง มีการร้องเพลงชาติเบาๆ ที่ริเริ่มกันเองเป็นกลุ่มๆ มีการปรบมือเป็นจังหวะและตะโกนคำขวัญเป็นระยะๆ เป็นต้นว่า พวกเราทุกคนคือชาร์ลี เพื่อเสรีภาพ การเดินขบวนไม่มีผู้นำที่ชัดเจนแต่อย่างใด สำหรับกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็มีการแจกแถลงการณ์และมีการจับกลุ่มกันเดินโดยเห็นได้ชัดจากการชูธงของพรรค แต่เห็นได้ว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นส่วนน้อยของการเดินขบวน

เวลาราว 15.30 ที่ Porte Saint-Denis ห่างจากจุดนัดหมายคือ Place de la republique 900 เมตรแออัดไปด้วยผู้คน ไม่สามารถเคลื่อนไปยังจุดนัดหมายได้

ทำไมผู้คนถึงมากมายขนาดนี้? แม้ว่าผู้ชุมนุมจะมีความหลากหลายอย่างมาก ทั้งในทางศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง และเชื้อชาติ แต่ทุกคนล้วนแล้วแต่มาแสดงออกต่อต้านการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าได้รับการเน้นย้ำอย่างมากในที่ชุมนุม คือประเด็นเรื่อง ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ กล่าวคือ แม้ว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ชาร์ลี เอ็บโดเสนอ แต่ก็ไม่สนับสนุนการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของสื่อดังกล่าว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการใช้ความรุนแรงถึงขั้นพรากชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น พรรค Front National เคยฟ้องร้องชาร์ลี เอ็บโด แต่สุดท้ายก็เป็นฝ่ายหลังที่ชนะเสมอมา แสดงให้เห็นว่าสังคมฝรั่งเศสนั้นให้คุณค่ากับเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์และล้อเลียนเป็นอย่างมาก

ภาพผู้คนปีนขึ้นไปบนอนุสาวรีย์ที่ Bastille

เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการล้อเลียนผู้มีอำนาจนี้ มีประวัติยาวนานในสังคมฝรั่งเศส[3] อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคุณค่าและอัตลักษณ์หนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของชาวฝรั่งเศส แม้สังคมฝรั่งเศสจะซับซ้อนขึ้น มีอุดมการณ์ที่หลากหลายและขัดแย้งกันมากขึ้น แต่ในพื้นฐานแล้วคุณค่าเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกนี้ยังเป็นที่ยึดถืออยู่อย่างสำคัญ การศึกษาในโรงเรียนและการปลูกฝังในครอบครัวมีผลอย่างยิ่งต่อจิตสำนึกเรื่องนี้ (ในที่ชุมนุมจะเห็นผู้ใหญ่พาเด็กเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก) เราอาจกล่าวได้ว่าการบุกสังหารกองบรรณาธิการของชาร์ลี เอ็บโด ไม่ได้เป็นเพียงการสังหารกลุ่มสื่อสารมวลชนชื่อดังกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการคุกคามคุณค่าของสาธารณรัฐ เป็นการบ่อนทำลายอัตลักษณ์ของชาวฝรั่งเศสทุกคน เป็นเหตุให้ประชาชนออกมาเดินขบวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

มาดามผู้หนึ่งใช้ดินสอหลายแท่งทำผมเพื่อแสดงออกซึ่งการสนับสนุนชาร์ลี เอ็บโด

การเดินขบวนครั้งนี้ค่อยๆ สลายไปเอง จนถึงเวลา 22.00 น. ก็แทบไม่เหลือผู้ชุมนุมอยู่แล้ว ตามสถิติของ Le Monde แล้ว การชุมนุมในวันที่ 11 มกราคมที่ปารีสนั้น มีผู้เข้าร่วมราว 2 ล้านคน สำหรับในต่างจังหวัดราวๆ 2.7 ล้านคน ถือเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการเก็บสถิติมา[4] นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ การชุมนุมที่ปารีสมีหน่วยงานรักษาความสงบกว่า 5,500 คน แต่ปรากฎว่าไม่เกิดเหตุจลาจลขึ้นเลย ถือเป็นความกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นได้ยากมากสำหรับการชุมนุมในฝรั่งเศส

“พวกเราคือชาร์ลี”

องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน

3

ตั้งแต่เริ่มเตรียมการชุมนุม ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วน พรรคฝ่ายซ้ายจัด NPA กล่าวว่า ไม่เข้าร่วมและไม่สนับสนุนให้ผู้คนเข้าร่วมการชุมนุม เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนของนายทุนได้เชื้อเชิญพรรคพวกที่มีลักษณะเผด็จการมาร่วมขบวน เช่น นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลซึ่งมีส่วนสำคัญในสงครามตะวันออกกลางหรือ Ahmet Davutoglu นายกรัฐมนตรีตุรกีที่มีส่วนในการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศตนเอง[5] นอกจากนี้ ทางพรรคยังเห็นว่ารัฐบาลอาจจะใช้กรณีนี้เป็นข้ออ้างในการใช้นโยบายต่อต้านการก่อการร้ายแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีลักษณะที่เหยียดเชื้อชาติและเหยียดศาสนาอิสลาม

ปากกาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการประท้วง

ทางด้านฝ่ายขวาจัดคือพรรค Front National อันที่จริงได้เดินขบวนในเมืองอื่นๆ ยกเว้นปารีส Marine Le Pen หัวหน้าพรรคกล่าวว่าการที่พรรคไม่ได้รับเชิญให้ร่วมเดินในปารีส เพราะเป็นแผนการของพรรคการเมืองอื่นๆ ที่จะฉวยโอกาสจากเหตุการณ์อันน่าเศร้านี้สร้างคะแนนเสียงให้กับตนเอง[6] ในขณะที่ Jean-Marie Le Pen ที่ปรึกษาอาวุโสของพรรค กล่าวหาว่าเหล่านักการเมืองที่ร่วมเดินขบวนมีส่วนรับผิดชอบกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เนื่องจากพวกเขาไม่เอาจริงเอาจังพอกับการแก้ไขต้นตอของปัญหา ซึ่งก็คือการไหลทะลักเข้ามาของผู้อพยพ[7]

 

พวกเราทุกคนคือชาร์ลี

 

สำหรับ Luz นักเขียนคนหนึ่งของชาร์ลี เอ็บโด กล่าวขอบคุณประชาชนที่มาร่วมชุมนุมอย่างล้นหลาม แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าจริงๆ แล้วอุดมการณ์ของชาร์ลี เอ็บโด คือการวิพากษ์วิจารณ์ล้อเลียนสิ่งที่กลายเป็น ‘สัญลักษณ์’ และสิ่งที่ต้องห้ามต่างๆ เขาเห็นว่าขณะนี้ชาร์ลี เอ็บโดกำลังกลายเป็นสัญลักษณ์เสียเอง นอกจากนี้ หากเหล่าชาร์ลี เอ็บโดเห็นการที่ผู้ชุมนุมร้องเพลงชาติและชื่นชมเหล่าทหารตำรวจในที่ชุมนุม พวกเขาก็คงจะไม่พอใจมากๆ[8]

ผู้เข้าร่วมชุมนุมผู้หนึ่งแบก “ดินสอ” ที่เต็มไปด้วยหน้าปกของชาร์ลี เอ็บโด

แม้แทบทุกคนจะไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่กระแสการเชิดชูชาร์ลี เอ็บโด ก็ได้นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) ของชาร์ลี เอ็บโดเอง เช่น ชาร์ลี เอ็บโดเองที่ได้ชื่อว่าวิพากษ์วิจารณ์ทุกศาสนา ทุกกลุ่มการเมืองอย่างไม่เลือกหน้า กลับเคยไล่นักเขียนของตนเองที่ชื่อ Siné ออกด้วยข้อหาต่อต้านยิว แต่ต่อมานักเขียนดังกล่าวก็สู้คดีจนชนะ[9] หรือบางคนก็กล่าวว่าลักษณะงานเขียนของชาร์ลี เอ็บโด มีลักษณะที่เป็นมุมมองของตะวันตกมากและรังเกียจมุสลิม[10] เป็นต้น นอกจากนี้ สำหรับประชาชนที่รณรงค์ว่าตนเองคือ ‘ชาร์ลี’ นั้น ก็มีผู้วิจารณ์ว่าจริงๆ แล้วหลายๆ คนไม่เคยเป็น ‘ชาร์ลี’ เลย เพราะไม่เคยกล้าวิพากษ์วิจารณ์ ‘ทุกศาสนาและนักการเมืองทุกคนโดยไม่ต้องสนใจเชื้อชาติ เพศ และอุดมการณ์’[11]

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและผู้นำประเทศต่างๆ ภาพจาก lelab.europe1.fr

สุดท้าย คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ หลังจากนี้ฝรั่งเศสจะเดินหน้าอย่างไร? ‘สงคราม’ ครั้งนี้ ประชาชนฝรั่งเศสพร้อมใจกันสู้ด้วย ‘ปากกา’ โดยที่สัปดาห์หน้าจะมีการพิมพ์ชาร์ลี เอ็บโดฉบับพิเศษเป็นจำนวน 3 ล้านฉบับ รัฐบาลจะให้งบประมาณสนับสนุน และห้องสมุดเทศบาลทั่วประเทศจะสมัครสมาชิกชาร์ลี เอ็บโด ความพร้อมของประชาชนในการรักษาคุณค่าสาธารณรัฐแสดงให้เห็นแล้วผ่านจำนวนผู้ชุมนุมมหาศาลในหลายวันที่ผ่านมา ภาระจึงตกอยู่ที่รัฐบาลในการจะวางมาตรการ ‘เชิงรุก’ มากขึ้นต่อเรื่องภัยจากการก่อการร้าย

ญาติของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ภาพจาก Le Monde

อย่างไรก็ตาม หลายคนก็แสดงความท้อแท้ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ค่อนข้างด้อยประสิทธิภาพ (ประธานาธิบดีฟรองซัว ออลลอง เป็นประธานาธิบดีที่มีคะแนนความนิยมต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส) นี่จึงอาจจะเป็นโอกาสสำคัญของรัฐบาลที่จะสร้างผลงานและเรียกคะแนนความนิยมคืนมา เรื่องนี้เป็นภาระของนายกรัฐมนตรี มานูแอล วาลส์ ซึ่งจะนำ ‘มาตรการใหม่เพื่อตอบโต้การก่อการร้าย’ เข้าสู่รัฐสภาในวันอังคารที่ 13 มกราคม

คงจะต้องดูต่อไปว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะเผชิญหน้ากับภัยก่อการร้ายได้อย่างยั่งยืนเพียงใด แต่สำหรับประชาชนฝรั่งเศสนั้นได้แสดงออกให้เห็นแล้วว่าพวกเขา ‘ไม่กลัว’



[1] http://blogazine.in.th/blogs/dinbuadaeng/post/5187

[2] http://www.lemonde.fr/societe/article/2015/01/11/ils-participeront-a-la-marche-republicaine-dimanche-a-paris_4553608_3224.html

[3] http://www.nybooks.com/blogs/nyrblog/2015/jan/09/charlie-hebdo-laughter-terror/ และ http://america.aljazeera.com/opinions/2015/1/charlie-hebdo-gouaillesatireislamjournalism.html

[4] http://www.lemonde.fr/societe/article/2015/01/11/la-france-dans-la-rue-pour-defendre-la-liberte_4553845_3224.html แต่สำหรับการประเมินของกระทรวงมหาดไทนั้น ตัวเลขจะน้อยกว่าเล็กน้อย กล่าวคือจำนวนผู้ชุมนุมในปารีสนั้นอยู่ที่ 1.2 – 1.5 ล้านคน ขณะที่ในต่างจังหวัดอยู่ที่ 2.5 ล้านคน รวมเป็น 3.7 ล้านคน http://www.leparisien.fr/societe/en-direct-marche-republicaine-la-place-de-la-republique-noire-de-monde-11-01-2015-4437327.php

[5] http://www.ccr4.org/Et-en-plus-il-y-aura-Netanyahou

[6] http://www.lemonde.fr/societe/article/2015/01/08/la-presence-ou-non-du-fn-a-la-marche-republicaine-de-dimanche-fait-debat_4552008_3224.html

[7] http://www.lefigaro.fr/politique/le-scan/citations/2015/01/11/25002-20150111ARTFIG00189-marche-republicaine-pour-le-pen-les-politiques-qui-participent-sont-des-charlots.php

[8] http://tempsreel.nouvelobs.com/charlie-hebdo/20150111.OBS9721/charlie-hebdo-pour-luz-ce-soutien-est-un-contre-sens.html

[9] http://www.actuabd.com/+Le-Tribunal-de-Grande-Instance+

[10] https://www.jacobinmag.com/2015/01/charlie-hebdo-islamophobia/

[11] https://www.opendemocracy.net/can-europe-make-it/cas-mudde/no-we-are-not-all-charlie-and-that%E2%80%99s-problem

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: