มองพม่า : สืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร ผ่านรัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้ง-อ้างปฏิรูป

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ : TCIJ School รุ่นที่ 1 13 ส.ค. 2558 | อ่านแล้ว 13909 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ  เปิดมุมมองต่อประเทศพม่าหรือเมียนมาร์ เพื่อนบ้านใกล้ชิดไทยจนแทบเรียกได้ว่าเป็นพี่น้องเครือญาติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม   เพื่อจับตาเหตุการณ์ภายในประเทศพม่า ที่อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ก็คือการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ศกนี้ (ที่มาภาพประกอบ: karennews.org)

สาเหตุที่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่จับตา เพราะเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่า ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาจากการปกครองโดยเผด็จการทหาร ที่กินระยะเวลายาวนานกว่าหกสิบปีไปสู่ประชาธิปไตย  อย่างไรก็ดีการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งที่สอง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 2008

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะนำความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมาสู่พม่าซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารมากว่าหกสิบปีหรือไม่ คำถามนี้ตอบได้ไม่ยาก หากเราลองพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2008 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของพม่า

กว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2008

การเลือกตั้งครั้งแรกของพม่ามีขึ้นในเดือนเมษายน 1947 เพื่อหาสมาชิกนิติบัญญัติที่จะทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่า[1] รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ทันที่ที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มกราคม 1948 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกอบด้วยบทบัญญัติทั้งสิ้น 14 หมวด 234 มาตรา ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ พม่ามีการเลือกตั้งอีกสามครั้ง ครั้งแรกระหว่างปี 1951-1952  ซึ่งใช้เวลาถึง 10 เดือนในการลงคะแนน เนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบอันเกิดจากการสู้รบภายใน ประเทศ การเลือกตั้งครั้งที่สองในปี 1956 และครั้งสุดท้ายในปี 1960 ซึ่งการเลือกตั้งทั้ง 3 ครั้ง พรรค AFPFL นำโดย อูนุ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทุกครั้ง

ในปี 1962 นายพล เนวิน ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 1947 และแต่งตั้งสภาปฏิวัติ (Revolutionary Council) อันประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นทหารทั้งหมดขึ้นมาบริหารประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ เนวินใช้แนวทางที่เรียกว่า “สังคมนิยมวิถีพม่า” (The Burmese Way to Socialism) ในการบริหารประเทศ ยุบเลิกพรรคการเมืองทั้งหมด และก่อตั้งพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party: BSPP) แต่เพียงพรรคเดียว  มาบริหารประเทศ โดยมีตัวเองเป็นประธานพรรค  เนวิน ปกครองประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญจนกระทั่งปี 1973 จึงมีการทำประชามติเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือฉบับปี 1974 [2] อันประกอบด้วยบทบัญญัติ 15 หมวด 209 มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแปลกอยู่ตรงที่การกำหนดโครงสร้างของสถาบันต่างๆ เช่น สภาแห่งรัฐ สภารัฐมนตรี สภาความยุติธรรมของประชาชน สภาผู้ตรวจการ สภาประชาชน และอื่นๆ ภายใต้หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 1974 พม่ามีการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ในปี 1974, 1978, 1981 และ 1985 ซึ่งแม้จะมีข้อครหาเรื่องความโปร่งใสมาโดยตลอด  เนวิน ก็ผูกขาดการเป็นผู้นำสูงสุดมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ความล้มเหลวของรัฐบาลทหารในการบริหารประเทศที่สะสมมานานหลายสิบปีนับแต่เนวินยึดอำนาจในปี 1962 ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก แม้จะมีความไม่พอใจและมีการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลทหารหลายครั้ง แต่ก็ไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จนกระทั่ง การนัดประท้วงครั้งใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ที่รู้จักกันดีในนาม เหตุการณ์ “8888”  ซึ่งทหารใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก หลังจากนั้นมีการยึดอำนาจจาก BSPP โดยทหารอีกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SLORC (State Law and Order Restoration Council) ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า  เนวินยังคงมีอำนาจสั่งการสูงสุดอยู่นั่นเอง หลังเหตุการณ์ “8888”  รัฐธรรมนูญฉบับ 1974 จึงถูกแขวน และพม่ากลับเข้าสู่ภาวะไร้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง

ปี 1990 พม่าผ่อนคลายกฎระเบียบ อนุญาตให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง และจัดให้มีการเลือกตั้งแบบหลายพรรค โดยได้ประกาศล่วงหน้าว่าผู้ชนะได้เสียงข้างมากจะไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หากยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่[3] รัฐบาลทหารมั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้งผ่านพรรคการเมืองตัวแทนที่นำโดยอดีตสมาชิก BSPP  แต่ผลกลับกลายเป็นว่า พรรค NLD ของนาง อองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้รับเลือกถึง 392 ที่นั่ง จาก 479 ที่นั่ง[4] ส่วนพรรคที่เป็นตัวแทนของกองทัพ เช่น พรรค NUP และ พรรค USDP ได้มาเพียง 10 ที่นั่ง และ 1 ที่นั่งตามลำดับเท่านั้น

หลังการเลือกตั้งในปี 1990  พรรค NLD ซึ่งได้เสียงข้างมาก อ้างสิทธิอันชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ประกาศจะนำรัฐธรรมนูญปี 1947 มาปรับปรุงและหวังใช้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว[5] เนื่องจาก พรรค NLD มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 1947 มีความเป็นเป็นประชาธิปไตยและมีความชอบธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ให้การยอมรับสนธิสัญญาปางหลวง ขณะที่รัฐบาลทหารผู้ซึ่งพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในสนามเลือกตั้ง ออกแถลงการณ์ ที่ 1/90 [6] ปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจบริหาร โดยประกาศว่าผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้าการเลือกตั้ง SLORC ยังคงอำนาจเต็มในการบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติต่อไป

SLORC ประกาศแผนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอีก 2 ปีต่อมา โดยตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ที่จะมีเข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการสรรหาชุดนี้มี 42 คน มาจาก SLORC เอง 14 คน อีก 28 คนมาจากพรรคการเมืองต่าง ๆ รวม 7 พรรคโดยมีผู้บัญชาการทหารภูมิภาคย่างกุ้งเป็นประธาน คณะกรรมการสรรหาดังกล่าวได้ประกาศรายชื่อผู้ที่จะทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 702 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งในปี 1990 เพียง 99 คน ผู้ที่ได้รับเลือกส่วนมากจะเป็นตัวแทนจากแต่ละเมืองซึ่ง SLORC เลือกมา  จะเห็นได้ว่าที่มาของผู้ที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดูจะไม่มีความชอบธรรม  นอกจากนี้ ระหว่างขั้นตอนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เต็มไปด้วยการต่อสู้และต่อรองระหว่างคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญด้วยกันเอง  และระหว่างตัวแทนส่วนน้อยที่ได้รับการเลือกตั้งในปี 1990 กับตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากฝ่ายกองทัพ มีการประท้วงในที่ประชุมบ่อยครั้ง  จนทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความล่าช้า ในปี 1995 คณะยกร่างในสัดส่วนที่มาจากพรรค NLD จำนวน 86 คน ถูกขับออกออกจากการทำหน้าที่ เท่ากับว่าส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดเป็นตัวแทนของฝ่ายทหาร

 ภาพจาก Reuters

หลังจากใช้เวลากว่า 16 ปี ในที่สุดการร่างรัฐธรรมนูญก็สิ้นสุดลงในปี 2008 รัฐบาลพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยการจัดให้มีการลงประชามติ  ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกประกาศใช้ แม้พรรค NLD  ของนาง ซูจี จะรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนเสียงไม่รับร่าง โหวตไม่รับร่าง แต่ปรากฏว่าผลการโหวตยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้สูงถึง 93.82% ท่ามกลางข้อกังขาของประชาชนชาวพม่า

ส่องรัฐธรรมนูญพม่า ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ของพม่า แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานที่สุด ระยะเวลาที่ใช้ไปมิได้ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคุณภาพ มีความเป็นประชาธิปไตย และบริสุทธิ์ดังที่หลายฝ่ายคาดหวัง

ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐสภาพม่าซึ่งทรงอำนาจนิติบัญญัติ ประกอบด้วย 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร(House of Representatives) หรือ สภาล่าง มีจำนวนผู้แทน 440 คน และ สภาชาติพันธุ์ (House of Nationalities) หรือสภาสูง มีจำนวนผู้แทน 224 คน

ที่มาของผู้แทนทั้งสองสภานั้น รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า มาจากการเลือกตั้ง 75% อีก 25% ต้องเป็นทหาร และได้รับการแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด  ดังนั้น ทั้งสองสภาจะมีสมาชิกเป็นทหารในอัตราส่วนหนึ่งในสี่ ซึ่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้เดียวที่ได้สิทธิ์ในการแต่งตั้ง

ในหมวดที่เกี่ยวกับที่มาของประมุขแห่งรัฐและฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญระบุว่าประธานาธิบดีจะมาจากการลงคะแนนเสียงของรัฐสภ าซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารมาจากการลงคะแนนเสียงของรัฐสภา โดยรัฐธรรมนูญระบุถึงที่มาของผู้ที่จะเป็นตัวแทนในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจำนวน 3 คน โดยผู้แทนจากสภาชาติพันธุ์ในส่วนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพ  จะได้รับสิทธิเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมหนึ่งคน ผู้แทนจากสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพจะเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมหนึ่งคน  และผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพจากทั้งสองสภาร่วมกันเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมอีกหนึ่งคน  หลังจากนั้นรัฐสภาจะลงคะแนนเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี  ผู้ได้รับการเสนอชื่ออีกสองคนแต่แพ้การลงคะแนน  จะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีโดยอัตโนมัติ

ในรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนถึงคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานาธิบดีว่าจะต้องถือสัญชาติพม่า และต้องไม่มีคู่สมรสหรือบุตรธิดาที่ถือสัญชาติอื่น ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นความพยายามของกองทัพที่จะกีดกันไม่ให้นาง อองซานซูจี  ไม่มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อ

ประธานาธิบดีมีหน้าที่แต่งตั้งตำแหน่งบริหารอย่างรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่าง ๆ ยกเว้น 3 กระทรวง คือกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน  ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้แต่งตั้ง หากประธานาธิบดีต้องการจะแต่งตั้งทหารในกองทัพให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องได้รับการเห็นพ้องจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญระบุให้อำนาจประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งประธานผู้พิพากษา ผู้พิพากษาศาลฎีกา อัยการสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ประธานาธิบดียังทรงไว้ซึ่งอำนาจ ในการแต่งตั้งประธานรัฐมนตรีเขตประจำรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละเขต  และประธานรัฐมนตรีของแต่ละรัฐประจำรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐ  (พม่าแบ่งเขตการปกครองเป็น 7 เขตตามพื้นที่ที่คนเชื้อชาติพม่าอาศัยอยู่หนาแน่น เช่น เขตย่างกุ้ง เขตพะโค เขตมัณฑะเลย์ ฯ  และ 7 รัฐ ตามพื้นที่ที่คนชาติพันธุ์อื่นอาศัยอยู่หนาแน่น เช่น รัฐกะเหรี่ยง รัฐกะฉิ่น รัฐมอญ เป็นต้น)

จะเห็นได้ว่า อำนาจในการบริหาร การแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆในการบริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในมือประธานาธิบดีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด การชนะเลือกตั้งได้เสียงส่วนมากในสภา ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะได้อำนาจในการบริหาร เพราะยังมีขั้นตอนในการเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งผู้แทนในสภาในสัดส่วนของกองทัพได้สิทธิในการเสนอหนึ่งชื่อด้วย

มีสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อใด ทหารออกมาควบคุมได้ทุกเมื่อ

ในรัฐธรรมนูญยังมีหมวดเฉพาะสำหรับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เขียนไว้อย่างละเอียดถึง 23 มาตรา โดยกำหนดให้มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิก 11 คน ประกอบด้วย ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดีทั้งสองคน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีกิจการชายแดน รัฐมนตรีต่างประเทศ ประธานสภาประชาชน และประธานสภาแห่งชาติ  ซึ่งเราจะพบว่าโดยโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญแล้ว สมาชิกกว่าครึ่งเป็นสัดส่วนที่มาจากกองทัพ  และในความเป็นจริงสมาชิกเกือบทั้งหมดของสภาความมั่นคงแห่งชาติชุดปัจจุบันนี้เป็นทหารหรือเคยเป็นทหารมาก่อน

รัฐธรรมนูญมาตรา 410 เขียนไว้ว่า หากประธานาธิบดีหรือหน่วยงานปกครองท้องถิ่นมีความเห็นว่าไม่สามารถใช้อำนาจในการบริหารได้ หลังจากประสานงานกับสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ มาตรา 412 (b) เขียนไว้ว่า หากไม่สามารถจัดการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ให้ประธานาธิบดีประสานงานกับ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีมหาดไทย และส่งคำแถลงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้สภาความมั่นคงแห่งชาติอนุมัติ 

ถึงจุดนี้มีข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญเขียนให้อำนาจการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่แท้จริง อยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ เพราะหน่วยงานปกครองท้องถิ่นหากเห็นว่าไม่สามารถใช้อำนาจปกครองได้ เมื่อประสานงานกับสภาความมั่นคงก็สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้แล้ว อำนาจการอนุมัติอยู่กับสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งตามโครงสร้างมีสัดส่วนจากกองทัพรวมกับตำแหน่งรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโดย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มากกว่ากึ่งหนึ่งอยู่แล้ว

มาตรา 413-418  ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีอายุ 1 ปี ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินต่ออายุได้ครั้งละ 6 เดือน สองครั้งหากจำเป็น ประธานาธิบดีสามารถมอบอำนาจในการบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ให้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยผู้บัญชา การทหารสูงสุด จะใช้อำนาจดังกล่าวด้วยตัวเองหรือมอบให้หน่วยงานของกองทัพใช้ก็ได้ อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาจะหมดไปนับแต่วันที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

มาตรา 420  ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อได้รับการถ่ายโอนอำนาจมา สามารถจำกัดหรือยกเว้นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ในพื้นที่ที่มีความจำเป็นได้

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังระบุไว้ว่า “ หากรัฐสภาหมดอายุระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติทำหน้าที่แทนรัฐสภา”  โดยให้คงตำแหน่ง ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ประธานสภาทั้งสอง เอาไว้ (เนื่องจากเป็นตำแหน่งตามโครงสร้างสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ)  จนกว่าจะมีสภาใหม่ โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติจะเป็นแต่งตั้งหน่วยงานปกครองท้องถิ่นระหว่างที่ยังไม่มีรัฐสภาใหม่  เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง และใช้อำนาจแทนประธานาธิบดี

หากทหารไม่เห็นชอบ หมดสิทธิ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่ากระทำได้ยากยิ่ง มีขั้นตอนคือต้องทำการยื่นผ่านรัฐสภา สำหรับหมวดที่ 1-6 (ว่าด้วยโครงสร้างรัฐ ประมุขของประเทศ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ) หมวดที่ 11 (ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน)  และหมวดที่ 12 มาตรา 436 (ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ)  จะต้องมีเสียงรับรองจากรัฐสภาเกิน 75%  และผ่านการทำประชามติโดยได้รับเสียงไม่ต่ำกว่าครึ่งของผู้ที่มีสิทธิ์ลงประชามติ  ส่วนการแก้ไขมาตราอื่นจากนี้ ใช้เพียงเสียงสนับสนุนในรัฐสภาเกิน 75% โดยไม่ต้องผ่านการทำประชามติ

ภาพจาก Irrawaddy.org

ในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้ หากมีความประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยที่ผู้แทนฝ่ายกองทัพไม่เห็นด้วย เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องได้เสียงสนับสนุนเกิน 75%  ขณะที่สัดส่วนของผู้แทนจากกองทัพตามรัฐธรรมนูญคือ 25%  นอกจากนี้ในสัดส่วนของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ยังมีผู้แทนจากพรรคการเมืองตัวแทนของทหารอีกด้วย ซึ่งหากผ่านด่านนี้ไปได้ก็จะเจอด่านการทำประชามติ  ซึ่งต้องใช้เสียงสนับสนุนเกินครึ่งของผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติ ไม่ใช่เกินครึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาลงคะแนนตามวิธีปฏิบัติที่ใช้กันทั่วไป

สืบทอดอำนาจเผด็จการผ่านรัฐธรรมนูญ  เป็นประชาธิปไตยแค่เปลือก

แม้รัฐบาลทหารพม่าจะเน้นย้ำหลายครั้ง ก่อนที่จะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2008 ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คือรัฐธรรมนูญที่จะนำประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย  แต่เมื่อสำรวจรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของพม่า จะพบว่า เผด็จการทหารมีความต้องการจะสืบทอดอำนาจในการบริหารประเทศอย่างชัดเจนที่สุด กองทัพมีโควตาในการแต่งตั้งตัวแทนของตนเข้าสภา ทั้งยังให้อำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุดในการแต่งตั้งรัฐมนตรีบางกระทรวงโดยตรง การให้สิทธิ์ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแก่ประธานาธิบดีหรือรัฐบาลท้องถิ่น กระทำภายใต้ความเห็นชอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งก็มีสัดส่วนข้างมากเป็นคนจากกองทัพ  การให้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด  การตัดสิทธิ์ผู้มีคู่สมรสหรือบุตรที่ถือสัญชาติอื่นในการเป็นประธานาธิบดี  ก็ชัดเจนว่าคือความพยายามในการที่จะสกัดกั้นนาง อองซานซูจี ไม่ให้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ตลอดจนสร้างเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่งโดยที่กองทัพไม่เห็นชอบ พฤติกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากองทัพพยายามสืบทอดอำนาจในการปกครองประเทศโดยใช้รัฐธรรมนูญบังหน้า มีการเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมที่จะสร้างความชอบธรรม  แม้จะมีรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ มีการเลือกตั้ง พม่าก็เป็นประชาธิปไตยแต่เปลือกห่อหุ้ม ส่วนเนื้อแท้แกนกลางยังคงความเป็นเผด็จการทหาร

หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในชาติ การมีรัฐธรรมนูญที่มีที่มาไม่ชอบธรรม ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ร่างขึ้นจากกลุ่มคนที่แสวงประโยชน์จากรัฐธรรมนูญในการสืบทอดอำนาจ  แม้จะมีการเลือกตั้งหรืออ้างการปฏิรูปประเทศ ก็เป็นเพียงพิธีกรรมที่ไม่ต่างจากพิธีกรรมตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ ที่ไม่สามารถหาเหตุผลอันชอบธรรมใดๆมาอธิบายได้  การมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง จึงไม่อาจแอบอ้างได้ว่าบรรลุแล้วซึ่งเจตนารมณ์ประชาธิปไตย

*** ผู้เขียนขอขอบคุณ ดร.ลลิตา หาญวงศ์ และอาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช สำหรับคำแนะนำและข้อเสนอแนะในการเขียนบทความชิ้นนี้

อ่าน 'จับตา': “ต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยแค่ไหน ประชาไทยจะอยู่ดีกินดี”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5734

อ้างอิง

[1] รัฐธรรมนูญพม่า ปี 1947 อ่านได้ที่ http://www.burmalibrary.org/docs07/1947Constitution-facsimile-red.pdf

[2] รัฐธรรมนูญพม่า ปี 1974 อ่านได้ที่ http://www.burmalibrary.org/docs07/1974Constitution.pdf

[3] Steinberg, David I. (2010). Burma/Myanmar - What Everyone Needs to Know. Oxford University Press, หน้า 91

[4] อ้างแล้ว

[5] รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ร่างโดยพรรค NLD อ่านได้ที่ http://www.networkmyanmar.org/images/stories/PDF2/nldint.pdf

[6] แถลงการณ์ SLORC 1/90 อ่านได้ที่ http://www.ibiblio.org/obl/docs/Declaration_1-90.htm

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: