สลาวอย ชิเชก กับความหมายของเสรีภาพในปัจจุบัน

ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี 14 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 5605 ครั้ง


เสรีภาพเป็นทั้งแผนการของสวรรค์สำหรับมนุษยชาติ และยังเป็นความหวังสูงสุดของความก้าวหน้าบนโลกนี้[1]

อดีตประธานาธิบดี George W. Bush

 

"ผมเป็นห่วงกังวลเด็กรุ่นหลัง อย่าไปเติมเชื้อไฟให้มากนักเดี๋ยววันหน้าก็แข็งกระด้างกันไปหมด ไม่เคารพผู้ใหญ่บ้าง ไม่เคารพกติกาสังคม ไม่เคารพกฎหมาย อ้างประชาธิปไตย อ้างเสรีภาพ ไม่รู้จักคำว่าหน้าที่"[2]

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ปัญหาที่น่าสนใจคือ ผู้คนทั่วไปมักคิดว่าตนเองมีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วว่า ‘เสรีภาพ’ คืออะไร และมันมีความหมายว่าอย่างไร และใช้คำว่าเสรีภาพราวกับว่าใครๆ ก็นิยามความหมายและให้คุณค่ากับเสรีภาพแบบเดียวกันอย่างเป็นสากล หรือมองเสรีภาพแล้วเห็นแต่แง่มุมที่ดีของมันเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะจากตัวอย่างของคำพูดที่ยกมาข้างต้น เราก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้นำของสองประเทศที่มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของเวลาและวัฒนธรรมทางการเมืองนั้น ต่างก็พูดถึงคำว่าเสรีภาพและให้คุณค่ากับมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง เสรีภาพจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าที่หลายคนเข้าใจ  

ความพยายามตอบปัญหาว่าเสรีภาพคืออะไรกันแน่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นสิ่งที่นักคิดนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่จำนวนไม่น้อยพยายามตอบกันมามาเป็นเวลายาวนาน และจนกระทั่งปัจจุบันข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องเสรีภาพก็ไม่ได้มีที่ท่าว่าจะเป็นที่ยุติหรือจบสิ้นแต่อย่างใด

ตัวอย่างงานที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเสรีภาพที่สำคัญๆก็มีอยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่นงานคลาสสิกเรื่อง On Liberty ของนักคิดแนวเสรีนิยมคนสำคัญอย่าง John Stuart Mill บทความเรื่อง What is freedom?  ของ Hannah Arendt หรืองานชิ้นสำคัญของ Isaiah Berlin เรื่อง Two concept of liberty เป็นต้น กระทั่งนักคิดนักวิชาการร่วมสมัยคนสำคัญที่ยังมีชีวิตอยู่อย่าง Quentin Skinner ก็ให้ความสำคัญกับความเข้าใจเรื่องเสรีภาพเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะผ่านงานเขียนต่างๆ หรือการไปกล่าวปาฐกถาในหัวข้อวงศาวิทยาของเสรีภาพ (Genealogy of Liberty)[3] ที่มหาวิทยาลัย UC Berkley สหรัฐอเมริกาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา  

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่ได้มีความต้องการจะมาบอกกับผู้อ่านว่าอะไรคือความหมายที่แท้จริงของคำว่าเสรีภาพ หรือเราควรให้คุณค่ากับเสรีภาพมากน้อยขนาดไหนเมื่อเทียบกับคุณค่าทางการเมืองและสังคมชุดอื่นๆ เช่น ความยุติธรรม ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน หรือหน้าที่พลเมือง รวมทั้งไม่ได้จะมาบอกว่าความเข้าใจเรื่องเสรีภาพระหว่างของบุชกับของพลเอกประยุทธ์นั้นใครถูกต้องมากกว่ากัน เป้าหมายของผมในที่นี้คือการนำเสนอให้เห็นแง่มุมอื่นของการทำความเข้าใจเสรีภาพที่ผมคิดว่าน่าสนใจ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยตระหนักในประเด็นเหล่านี้มาก่อน โดยนำเสนอผ่านความคิดของนักปรัชญาชาวสโลวาเนียผู้โด่งดังในปัจจุบันที่ชื่อ สลาวอย ชิเชก (Slavoj Zizek)

ชิเชกได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพไว้ในคลิปวิดีโอขนาดสั้นของสำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษในหัวข้อ “What is freedom today?”[4] ซึ่งผมเห็นว่าเขาได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจจำนวนหนึ่งให้เราไปขบคิดต่อเกี่ยวกับความหมายของการมีเสรีภาพในโลกปัจจุบัน ทำให้เราสามารถนำประเด็นเหล่านั้นกลับมามองปรากฏการณ์ทางสังคมรอบตัวเรา รวมทั้งทำให้เราสามารถมีบทสนทนาโต้ตอบต่อความเห็นของเขาได้ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ผมจะนำเสนอความคิดหลักของเขาผสานไปกับการตีความและความเห็นส่วนตัวของผมเองในบางช่วงบางตอนด้วย

โซ่ตรวนในนามของเสรีภาพ

ชิเชกเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่า เพื่อที่เราจะสามารถมีเสรีภาพที่จะทำสิ่งต่างๆตามที่เราต้องการในชีวิตประจำวันได้นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีรัฐและองคาพยพอื่นๆของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สถาบันที่ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการลงโทษ หรือหน่วยงานที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยทางสังคม ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เราสามารถมีเสรีภาพอย่างที่เราเข้าใจอยู่ได้ ซึ่งการที่รัฐและส่วนต่างๆ คอยมาสอดส่องดูแลชีวิตเรานั้นเป็นสิ่งที่ชิเชกชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธได้ กระทั่งในหลายครั้งเราก็ถูกสอดส่อง ควบคุม ดูแลจากรัฐโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ในส่วนนี้ทำให้ผมนึกถึงตัวอย่างของการสอดส่องชีวิตประจำวันของประชาชนโดยใช้กล้องวงจรปิดของภาครัฐ การตรวจสอบควบคุมระบบอินเตอร์เน็ต กฎหมายและกลไกรัฐที่เข้ามาสอดส่องดูแลพื้นที่ส่วนตัว รวมถึงการมีหน่วยสืบราชการลับที่รัฐทำไปทั้งหมดนี้โดยอ้างเหตุผล (และเราเองก็เชื่อด้วยเช่นกัน) ว่าเป็นเรื่องของการรักษาความมั่นคงและเสรีภาพของประชาชน

ในประเด็นนี้ชิเชก (จากการตีความของผม) น่าจะกำลังเสนอว่า “เสรีภาพ” ในการดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติที่เราเข้าใจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยที่เราต้องยอมแลกกับการสูญเสียเสรีภาพบางอย่างในชีวิตไป โดยที่ตัวเราเองก็ไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกยอมรับหรือปฏิเสธมัน (หรือบางครั้งก็ไม่มีทางรู้ได้ด้วยซ้ำ) ถือเป็นความย้อนแย้งของการมีเสรีภาพบนความไร้เสรีภาพที่เราไม่ค่อยตระหนักหรือมองเห็น  

สำหรับชิเชกแล้ว เขาเห็นว่ารูปแบบของเสรีภาพที่อันตรายที่สุด ก็คือภาวะของการมีเสรีภาพที่เราไม่แม้แต่จะรู้ตัวว่าเรากำลังไร้เสรีภาพอยู่ หรือหมายถึงสภาวะที่เราไม่มีเสรีภาพแต่เรากลับเข้าใจไปว่าเรากำลังมีเสรีภาพสมบูรณ์เต็มเปี่ยมนั่นเอง คือการคิดว่าตัวเองเป็นเสรีชนโดยมองไม่เห็นสายโซ่ตรวนที่พันธนาการเราอยู่ตลอดเวลา ชิเชกอธิบายว่าพวกเรามักไม่ได้ตระหนักว่าการเลือกทางเลือกต่างๆ ในชีวิตที่เราคิดเอาเองว่าเราได้เลือกมันอย่างเสรี แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นการเลือกที่ถูกกำหนดและจำกัดทางเลือกไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว เช่น การตรวจสอบควบคุมอินเตอร์เน็ตของภาครัฐที่ทำผ่านการมีกฎหมาย พรบ.คอมพิวเตอร์ หรือความพยายามของภาครัฐที่จะสร้าง single gateway  ซึ่งประชาชนจำนวนหนึ่งมองไม่เห็นว่าเป็นการลดทอนพื้นที่ของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเราให้ลดน้อยลง แต่กลับมองว่าเป็นความจำเป็นที่รัฐต้องเข้ามายุ่งเพื่อให้เรามีเสรีภาพที่จะใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัยตราบเท่าที่เราไม่ไปละเมิดกฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น หลายคนมองว่าเป็นเสรีภาพบางส่วนที่เราต้องยอมเสียสละเพื่อรักษาเสรีภาพบางส่วนไว

เมื่อมองในภาพใหญ่ของระบบทางการเมืองและเศรษฐกิจ ชิเชกเคยกล่าวไว้ในที่อื่นว่า ในปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปได้ในระดับชีวิตประจำวันทางสังคม เช่น เราสามารถเลือกจะมีรสนิยมทางเพศแบบใดก็ได้ เราสามารถเลือกใช้โทรศัพท์ยี่ห้อใดรุ่นไหนก็ได้ เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีไปได้ไกลถึงขนาดที่มนุษย์สามารถสั่งการหุ่นยนตร์หรือคอมพิวเตอร์ให้ทำงานโดยอาศัยการถ่ายทอดความคิดของเรา (ผ่านการทำงานของคลื่นสมอง) โดยไม่ต้องใช้ระบบสัมผัสแบบในอดีตอีกแล้วก็ได้ ยังไม่นับเรื่องอื่นๆมากมายในชีวิตที่เรามองเห็นแต่เสรีภาพและความเป็นไปได้เต็มไปหมด

แต่ท้ายที่สุดแล้วในภาพใหญ่อย่างเรื่องของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ เรากลับไม่สามารถคิดถึงทางเลือกหรือจินตนาการถึงระบบเศรษฐกิจแบบอื่นนอกเหนือไปจากระบบทุนนิยมได้เลย เพราะลึกๆแล้วคนจำนวนมากเชื่อว่าระบบทุนนิยมคือระบบเศรษฐกิจเดียวที่เปิดความเป็นไปได้สำหรับการมีเสรีภาพของมนุษย์ผ่านแนวคิดเรื่องตลาดเสรี และเป็นระบบเศรษฐกิจเดียวที่อนุญาตให้มนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีและองค์ความรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นเราจึงยอมที่จะเสรีภาพในการเลือกระบบเศรษฐกิจที่ดีและเป็นธรรมมากกว่านี้ เพื่อที่เราจะยังรักษาเสรีภาพในชีวิตประจำวันที่เราพึงพอใจและคุ้นเคยต่อไปได้นั่นเอง

เสรีภาพที่ผิดพลาด

เสรีภาพอีกรูปแบบหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องอันตรายในความเห็นของชิเชก คือสิ่งที่เขาเรียกว่า “เสรีภาพที่ผิดพลาด” (false freedom) ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพที่ส่งผลกระทบร้ายแรงอย่างมากในหลายพื้นที่ และเราไม่ควรจะดูเบาโดยการมองข้ามมันไป เขาค้นพบเรื่องนี้เมื่อเขาได้ไปยังเมือง Belgrade ของประเทศเซอร์เบีย ในช่วงเวลาที่อดีตประธานาธิบดีมิโลเซวิช (Milosevic) ยังคงอยู่ในอำนาจ ณ ขณะนั้น ชิเชกได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับกับบรรดานักฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เป็นชาตินิยมบางคน เขาเล่าถึงบทสนทนานั้นให้ฟังว่า บทสนทนาดังกล่าวทำให้เขาได้บทเรียนอย่างมากในการเข้าใจว่าลัทธิรากฐานนิยมแบบชาตินิยม (nationalist fundamentalism) หรือความคิดคลั่งชาตินิยมแบบเข้มข้นนั้นทำงานอย่างไร

พวกนักชาตินิยมเหล่านั้นบอกกับชิเชกว่าพวกเขามองโลกเสรีตะวันตกเป็นโลกที่มีการกำกับควบคุมมากเกินไป เพราะพลเมืองของโลกเสรีตะวันตกจะถูกกระหน่ำด้วยข้อความต่างๆ ทั้งจากรัฐและสื่อสารมวลชนตลอดเวลา ว่าเราควรทำตัวอย่างไร หรือห้ามทำตัวอย่างไรบ้าง เช่น เราควรต้องเป็น –สิ่งที่คนมักแปลเป็นภาษาไทยว่า-  “ความถูกต้องทางการเมือง” (political correctness) หรือการมีมารยาททางการเมืองบางประการที่จะไม่ไปดูถูกเหยียดหยามคนที่มีความแตกต่างจากเรา หรือการพร่ำบอกให้เราว่าห้ามเป็นคนเหยียดเชื้อชาติ (racist) อย่าไปล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่น หรือพร่ำบอกให้เราดูแลตนเอง รักษาสุขภาพร่างกายตนเองให้ดี อย่าบริโภคสิ่งที่จะมาทำร้ายร่างกายของเราหรือคนรอบตัวเราอย่างการสูบบุหรี่ และอื่นๆอีกมากมาย

นักชาตินิยมเหล่านั้นบอกกับชิเชกอย่างเปิดเผยว่าพวกเขาอยู่ในโลกที่พวกเขาอยากจะทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากทำโดยไม่สนใจว่าใครจะมาห้าม เขาอยากกินอะไรก็ตามที่เขาอยาก เขาจะสูบบุหรี่เมื่อเขาอยาก เขาจะขโมยสิ่งที่เขาอยากได้ เขาจะทำร้ายรวมทั้งข่มขืนผู้หญิงเมื่อเขาต้องการ และกับเรื่องอื่นๆก็เช่นกัน พวกเขากล่าวว่าการเป็นนักชาตินิยมโดยการทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นได้มอบเสรีภาพที่น่ากลัวแบบนี้ให้กับพวกเขา

ชิเชกจึงไม่แปลกใจเมื่อเขาได้ยินเรื่องราวทำนองเดียวกันนี้ว่าเกิดขึ้นในพื้นที่ของประเทศอีรักและซีเรียที่ถูกควบคุมโดยกลุ่ม ISIS สำหรับชิเชกแล้วนั่นไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ที่คนทั่วไปเรียกว่าลัทธิศาสนาแบบรากฐาน (religious fundamentalism) เพราะมันยังมีเรื่องการข่มขืนหมู่ การทรมาน และการฆ่าคนแบบไม่เลือกหน้า รวมทั้งเรื่องเลวร้ายอื่นๆเกิดขึ้นอีกมาก

ชิเชกสรุปว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหาของลัทธิรากฐานนิยม (fundamentalism) ของความแนวความคิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาตินิยมหรือศาสนาก็ตาม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการไม่มีเสรีภาพ แต่ปัญหาอยู่ที่มันเป็นการใช้เสรีภาพที่ผิดพลาด (false freedom) ต่างหาก มันเป็นการปะทุขึ้นของการใช้เสรีภาพที่น่ารังเกียจทั้งหลาย

เมื่อนำมามองกลับมาที่สังคมไทย เราคงพบเห็นว่าบางครั้งประเทศเราก็เผชิญหน้ากับการที่กลุ่มพลังทางการเมืองบางกลุ่ม ลุกขึ้นมายึดพื้นที่ต่างๆใจกลางเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นถนน สถานที่ราชการ และสถานที่สำคัญๆอื่นๆ รวมทั้งกระทำการทางการเมืองบางอย่างที่ทั้งผิดกฎหมาย มีการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธอย่างชัดเจน ซึ่งนำพาสังคมเข้าสู่สภาวะที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดการจราจร คนกลุ่มนั้นอาจจะมองว่านี่คือการใช้เสรีภาพในการชุมนุมประท้วงเพื่อโค่นล้มขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมออกจากอำนาจ แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวอย่างไม่มีขอบเขตจนไปละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น รวมทั้งไม่คำนึงถึงหลักการที่ถูกต้องชอบธรรมใดๆทั้งสิ้น อาจถือเป็นการใช้เสรีภาพที่ผิดพลาดแบบหนึ่งก็เป็นได้

รูปแบบสูงสุดของเสรีภาพ

เมื่อฟังทั้งหมดนี้แล้วเราอาจนึกในใจว่า พวกเราไม่มีเสรีภาพใดๆเหลืออยู่เลยหรือ? เสรีภาพต่างๆที่เรามีล้วนแต่เป็นเสรีภาพที่จอมปลอม หรือเป็นเสรีภาพที่อันตรายเท่านั้นหรือ? แล้วเราจะสามารถมีความหวังกับเสรีภาพได้จากไหนกัน? ชิเชกไม่ได้สิ้นหวังไปเสียทั้งหมดในประเด็นนี้ เขาเสนอว่า (ในความเห็นส่วนตัวของเขาแล้ว) รูปแบบสูงสุดของเสรีภาพคือ ‘ความรัก’ (love)

สำหรับเขาแล้ว ความรักโดยพื้นฐานนั้นหมายถึงการที่คุณทุ่มเทอุทิศตัวตนของคุณให้กับบุคคลอื่นโดนสิ้นเชิง ซึ่งสภาวะที่เขาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการมีเสรีภาพในความรักคือ “การตกหลุมรัก” (the fall) เช่น การที่คุณเดินออกไปบนท้องถนนยามค่ำคืนแล้วคนประสบอุบัติเหตุหกล้ม แล้วมีคนที่บังเอิญเดิมผ่านมาแถวนั้นเข้ามาช่วยเหลือคุณ เหตุบังเอิญนี้ทำให้คุณทั้งสองตกหลุมรักกันโดยไม่รู้ล่วงหน้า ไม่สามารถคาดการณ์มาก่อนได้ว่าจะเกิดขึ้น สำหรับชิเชกนี่คือการมีความรักที่เสรีจริงๆ คือการตกหลุมรักในทันทีโดยไม่รู้ตัวและไม่ได้เตรียมใจล่วงหน้า

ข้อกังวลของชิเชกคือ เขาเห็นว่าในยุคปัจจุบัน เสรีภาพของการตกหลุมรักโดยบังเอิญแบบนี้กำลังค่อยๆถูกพรากไปจากเรา เขาอธิบายว่าความคิดเกี่ยวกับความรักของคนจำนวนมากในปัจจุบันคือการมีความรักโดยไม่ต้องตกหลุมรัก (love without the fall) เช่นการเกิดขึ้นอย่างมากของธุรกิจจัดหาคู่รักตามอินเตอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เราสามารถพบเจอคนอื่น พูดคุยและเข้าสู่ความสัมพันธ์ของเขาโดยรู้ล่วงหน้า เป็นการเข้าสู่ความรักโดยไม่ต้องตกหลุมรักแบบความบังเอิญ ชิเชกไม่เห็นด้วยกับการมีความรักในรูปแบบนี้ เขาเชื่อว่าความรักแบบเสรีที่แท้จริงมีอยู่เพียงรูปแบบเดียวคือสภาวะของ “การตกหลุมรัก” (the fall) นั่นเอง ถ้าปราศจากการตกหลุมรักนี้เสียแล้ว ชิเชกเห็นว่าความรักก็ไม่ใช่ความรักอีกต่อไป    

ถึงที่สุดแล้วเราอาจไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับชิเชกไปเสียทั้งหมดก็ได้ เช่นตัวผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับชิเชกนักว่าความรักคือรูปแบบสูงสุดของการมีเสรีภาพ ผมอาจถกเถียงกับเขาได้ว่า แท้จริงแล้วความรักเป็นเรื่องที่มนุษย์เรามีข้อจำกัดบางอย่างกำหนดไว้ล่วงหน้าอยู่ในสำนึกอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว เป็นเรื่องของบรรทัดฐานที่ทำงานในหัวเราอยู่ตลอดเวลา มันทำงานในลักษณะที่จำกัดทางเลือกที่เป็นไปได้อื่นๆของเราทิ้งไปเสีย ทำให้เรามองไม่เห็นทางเลือกอื่นๆที่เป็นไปได้ มองเห็นแค่ทางเลือกที่ถูกจำกัดไว้แล้วซึ่งสอดคล้องกับบรรทัดฐานนั้นๆ

เช่น คนที่อยู่ภายใต้บรรทัดฐานของรักต่างเพศ (heteronormativity) ก็จะไม่สามารถจินตนาการหรือคิดถึงทางเลือกที่ตนเองจะไปตกหลุมรักกับคนที่มีเพศสภาพเดียวกันได้ หรือความรักในยุคปัจจุบันก็เป็นความรักที่ถูกจำกัดว่าความรักที่ถูกต้องชอบธรรมคือความรักแบบ 1 ต่อ  1 เท่านั้น หรือเราไม่สามารถจะตกหลุมรักคนร่วมสายเลือดหรือครอบครัวของเราได้ กระทั่งเราอาจไม่คิดว่าเราจะสามารถตกหลุมรักสิ่งมีชีวิตนอกเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้เลย ความรักบางแบบจึงเป็นสิ่งที่มีเสรีภาพที่จะเลือกและจินตนาการได้ ในขณะที่รักบางแบบเป็นเรื่องต้องห้ามและอยู่เกินกว่าจินตนาการของคนจำนวนมาก

แต่ทั้งนี้ ไมได้แปลว่าเราไม่มีพื้นที่ของเสรีภาพที่จะต่อต้านขัดขืน หรือไม่ได้แปลว่าคนไม่มีพื้นที่ของเจตจำนงเสรีที่จะเลือกอะไรด้วยตนเองเหลืออยู่เลย สำหรับผม ความรักเป็นเรื่องของการมีเสรีภาพภายใต้ข้อจำกัดไปพร้อมๆกัน ไม่ใช่เสรีภาพเต็มร้อยแบบที่หลายคนเข้าใจ และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ความไร้เสรีภาพที่มนุษย์ไม่มีสิทธิ์เลือกใดๆหลงเหลืออยู่เลย หลายครั้งเราพบเห็นการต่อต้านขัดของผู้คนต่อบรรทัดฐานกระแสหลักเรื่องความรักอยู่ตลอดเวลา เป็นการไม่ยอมทำตามข้อกำหนด/ข้อจำกัดที่บอกว่าเราควรทำหรือไม่ควรทำอะไร เช่น รูปแบบของการนอกใจ การรักคนร่วมสายเลือดเดียวกัน การรักคนเพศสภาพเดียวกันแบบไม่เปิดเผยในที่สาธารณะ เป็นต้น

ในตอนท้ายชิเชกได้ทิ้งข้อเสนอที่สำคัญไว้ให้แก่เรา ไม่ว่าเราจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับเสรีภาพ สำหรับเขาแล้ว "เสรีภาพที่แท้จริงหมายถึงการตรวจสอบและตั้งคำถามต่อสมมติฐานล่วงหน้าของทุกสิ่งที่ถูกยัดเยียดมาให้เราโดยอำนาจนำทางอุดมการณ์..... ตั้งคำถามต่อทุกสิ่งรวมทั้งแนวความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพในตัวมันเองด้วย"

 

"เสรีภาพไม่ใช่การเลือกระหว่างดำกับขาว แต่เสรีภาพคือการละทิ้งทางเลือกที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว"

Theodor W. Adorno

 

“ถ้าเราปรารถนาที่จะเพิ่มเสรีภาพส่วนบุคคลของเราให้มีมากที่สุด เราต้องไม่มอบความไว้วางใจของเราให้กับเหล่าเจ้าผู้ปกครอง เราต้องควบคุมดูแลพื้นที่ทางการเมืองด้วยตัวของเราเอง”

Quentin Skinner

 



[1] อ้างอิงจากเอกสาร SELECTED SPEECHES OF PRESIDENT GEORGE W. BUSH (2001 – 2008)

[2] อ้างอิงจาก: http://www.thaigov.go.th/index.php?option=com_k2&view=item&id=93371%3Aid93371&Itemid=350&lang=th

[3] โปรดดู: https://www.youtube.com/watch?v=ECiVz_zRj7A

[4] โปรดดู: https://www.youtube.com/watch?v=UpPuTaP68Dw

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: