เตรียมชงนายกใช้ พรก.แก้ไขน้ำมันขาดแคลนดูภาคใต้ หลังปั้มทยอยปิดไม่จ่ายค่าบำรุง อบจ.

14 ก.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2184 ครั้ง


	เตรียมชงนายกใช้ พรก.แก้ไขน้ำมันขาดแคลนดูภาคใต้ หลังปั้มทยอยปิดไม่จ่ายค่าบำรุง อบจ.

ก.พลังงานเล็งหารือหลังเกิดปัญหาปั๊มน้ำมันในภาคใต้ส่วนใหญ่ปิดบริการหลังประท้วงไม่จ่ายภาษีบำรุง อบจ. พร้อมประสาน ปตท.แก้ปัญหาขาดแคลน ชี้นายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการออกคำสั่งตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ หากปั๊มใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งมีโทษจำคุก 10 ปีปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย)

14 ก.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) บรรยากาศสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในจังหวัดปัตตานีพบว่าหลายแห่งไม่เปิดทำการมาตั้งแต่เช้า โดยมีนำเหล็กกั้นประตูเข้า-ออก และแจ้งงดจำหน่ายน้ำมัน ซึ่งเป็นไปตามมติของชมรมผู้ประกอบการค้าน้ำมันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อคัดค้านองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จัดเก็บภาษีหัวจ่ายเพิ่มใอีก 5 สตางค์ ทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มใน 3 จังหวัดแพงขึ้นกว่าเดิม โดยผู้ประกอบการเห็นว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวไม่เป็นธรรม อีกทั้งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจ ส่วนปั๊มน้ำมันบางแห่งที่ยังเปิดให้บริการระบุว่าได้รับการประสานมาช้า จึงดำเนินการไม่ทัน แต่ถ้าประสานมาพร้อมทำตามมติของชมรมฯ

เช่นเดียวกับปั๊มน้ำมันในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสและอำเภอใกล้เคียงหยุดให้บริการ ซึ่งนายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส จะเร่งหารือผู้เกี่ยวข้องทั้ง อบจ. และกลุ่มผู้ค้าเพื่อหาข้อตกลงกันในวันนี้

ด้านนายปัญญา อ่องสกุล หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.มิตรไทยสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ให้ความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า การเก็บภาษีเพิ่มเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้น้ำมันแพงขึ้น ขณะที่มีน้ำมันลักลอบเข้ามาขายในราคาต่างกันลิตรละกว่า 10 บาท ปั๊มน้ำมันก็ได้รับผลกระทบในจุดนี้อยู่แล้ว และยังต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก ทำให้ไม่มีกำไร หาก อบจ.จะเก็บควรไปเก็บคลังน้ำมัน เพื่อไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการรายย่อย

ขณะที่ จ.ยะลา ปั๊มน้ำมันบนถนนพิพิธภักดี อ.เมือง ที่ยังเปิดให้บริการเพียงแห่งเดียวเนืองแน่นไปด้วยรถยนต์มาต่อแถวยาวเหยียดเกือบ 1 กิโลเมตร เพื่อรอเติมน้ำมัน ท่ามกลางตำรวจจราจรมาคอยอำนวยความสะดวกการสัญจรบริเวณดังกล่าว เนื่องจากทำให้รถติดขัด จากการสอบถามประชาชนที่มาใช้บริการระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนมากจากการหยุดจำหน่ายน้ำมัน หาเติมลำบากมาตั้งแต่เช้า วันนี้มีเพียงปั๊มเดียว เพราะปั๊มอื่นปิดหมด อยากให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจ

ต่อกรณีนี้นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวถึงการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมบำรุงองค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไม่เกิน 10 สตางค์ต่อลิตรว่าที่ผ่านมามีการจัดเก็บระดับต่ำและถูกต้องตามกฎหมาย แต่การที่ผู้ประกอบการน้ำมัน 3 จังหวัดชายแดนใต้ปิดปั๊มไม่ให้บริการและไม่จ่ายภาษี รวมถึงประท้วงต่อต้าน เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับท้องถิ่น เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาน้ำมันให้เพียงพอความต้องการของประชาชน และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงพลังงาน เช่น ปตท. บางจาก เปิดให้บริการและจัดหาน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน สำหรับอัตราเรียกเก็บภาษี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 สตางค์ต่อลิตร โดยมีปั๊มทั้งหมด 130 แห่ง

ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า กรมธุรกิจพลังงานได้ประสาน ปตท.ในการแก้ไขปัญหาน้ำมันขาดแคลนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ ปิด เพราะประท้วงเรื่องภาษีน้ำมันที่ต้องจ่าย อบจ.ไม่เกิน 5 สต./ลิตร โดยล่าสุดรับทราบว่าไม่ได้ปิดทุกปั๊ม เช่น จ.ยะลา มี 54 ปั๊มแต่ปิด 40 แห่ง โดยหากพบขาดแคลน นายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการออกคำสั่ง ตามพระราชกำหนด แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดูแล โดยหากปั๊มใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งมีโทษจำคุก 10 ปีปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีครอบคลุมทั้งการผลิต การนำเข้า การจำหน่าย เพื่อให้น้ำมันไม่ขาดแคลน

ชมรมผู้ค้าน้ำมัน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ออกแถลงการณ์คัดค้านไม่เห็นด้วยกรณี อบจ.เก็บภาษีน้ำมันอย่างไม่เป็นธรรม ขู่ปิดปั๊มน้ำมันทั่ว 3 จังหวัด

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมาที่โรงแรมยะลารามา อ.เมือง จ.ยะลา น.ส.สมหญิง ชัยรัตนมโนกร ประธานชมรมน้ำมันยะลา นายวิโรจน์ รตะไพบูลย์ ประธานชมรมน้ำมันปัตตานี และนายศุภภณ ปานแย้ม ประธานชมรมน้ำมันนราธิวาส ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์กรณีคัดค้านไม่เห็นด้วยที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเก็บภาษีโดยมีข้อความว่า      

เรียนพี่น้องประชาชนชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคารพ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด ได้ออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับการค้าน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ เพื่อเก็บภาษีจากปั๊มน้ำมันทุกปั๊มใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยให้ปั๊มน้ำมันบวกราคาขายหน้าปั๊มอีก 5 สตางค์ เป็นค่าภาษีส่งให้แก่ อบจ.ทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มใน 3 จังหวัดแพงขึ้นกว่าเดิม      

การเก็บภาษีน้ำมันตามข้อบัญญัติ อบจ.ฉบับนี้ กฎหมายให้อำนาจ นายก อบจ. แต่ละจังหวัด สามารถใช้ดุลพินิจว่าจะเก็บภาษีหรือไม่ ถ้าหากเห็นว่าวิธีการเก็บภาษีมีปัญหา หรือเห็นว่าในจังหวัดของตนเองยังไม่พร้อมก็สามารถชะลอการเก็บออกไปได้ เพราะภาษีนี้เป็นภาษีท้องถิ่น ไม่เหมือนกับภาษีสรรพากร ภาษีสรรพสามิต ที่เป็นอำนาจจากส่วนกลาง เมื่อชมรมชี้แจงเหตุผลที่ชมรมฯ คัดค้านภาษีนี้ และเสนอแนะวิธีการจัดเก็บใหม่ นายก อบจ.แต่ละจังหวัดก็สามารถใช้อำนาจในการชะลอการเก็บภาษีนี้ออกไปก่อนจนกว่าจะหาข้อยุติร่วมกันได้     

ชมรมผู้ค้าน้ำมัน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ได้คัดค้านการเก็บภาษีของ อบจ.และให้ความสำคัญต่อการจัดเก็บภาษีของทุกหน่วยงานว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่คัดค้านวิธีการจัดเก็บภาษีของ อบจ.ที่เก็บแต่เฉพาะผู้ใช้น้ำมันรายย่อยที่ซื้อน้ำมันผ่านปั๊ม แต่ไม่ได้เก็บจากผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ที่ซื้อน้ำมันผ่านคลังน้ำมัน และใช้น้ำมันในปริมาณมากๆ เช่น บริษัทก่อสร้าง บริษัทขนส่ง โรงโม่หิน โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

หากการเก็บภาษีกระจายทั่วถึงทุกกลุ่มทำให้ฐานการเก็บภาษีกว้าง แม้จะเก็บในอัตราลิตรละ 1-2 สตางค์ แต่กระจายไปให้ครอบคลุมผู้ใช้ทุกกลุ่มก็จะได้จำนวนเงินภาษีที่มากกว่าการเก็บจากผู้ใช้รายย่อยเพียงกลุ่มเดียว ไม่ครอบคลุมผู้ใช้ทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ชมรมฯ ยังเห็นความไม่เหมาะสมในการเก็บภาษีในช่วงนี้ว่า สภาพความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ยากลำบากมาก ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในช่วงวิกฤตทั่วโลก เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ราคายาง และพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำ รวมทั้งมีปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมาก      

ตลอดเวลา 9 เดือนเศษๆ ที่ผ่านมา ชมรมฯ ได้พยายามชี้แจงเหตุผล และปัญหาของภาษีนี้ไปยัง อบจ. และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ให้ทุกฝ่ายทราบอย่างต่อเนื่องทั้ง 3 จังหวัด แต่ อบจ.ก็ไม่รับฟัง และยืนยันจะเก็บภาษีโดยนายก อบจ.ทั้ง 3 จังหวัดอ้างว่า ต้องทำตามมติของสมาพันธ์ อบจ. 14 จังหวัดภาคใต้ มิหนำซ้ำ อบจ.นราธิวาส ยังได้แจ้งความดำเนินคดีต่อปั๊มน้ำมันที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จำนวน 3 ปั๊ม ในข้อหาไม่จดทะเบียนสถานการค้า และไม่ยื่นแบบรายการภาษีเพื่อหลีกเลี่ยง หรือเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษี    

ชมรมผู้ค้าน้ำมัน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่มีเจตนาทำผิดกฎหมายใดๆ หรือเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามที่ อบจ.ทั้ง 3 จังหวัดได้กล่าวหา ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว ชมรมจึงขอเรียกร้อง ดังนี้      

1.ขอให้ อบจ.นราธิวาส ถอนการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อปั๊มน้ำมันทั้ง 3 ปั๊มที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยเร็ว 2.ขอให้ชะลอการจัดเก็บภาษีน้ำมัน อบจ.ออกไปจนกว่าจะมีการแก้ไขการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสม 3.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาน้ำมันเถื่อนอย่างยั่งยืน ตลอดจนศึกษาความอยู่รอดของปั๊มน้ำมันใน 3 จังหวัด เมื่อเปิดเสรีทางการค้าในกลุ่มอาเซียนต้นปีหน้าและหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่มาเลเซียที่มีราคาน้ำมันต่ำกว่าประเทศไทยอย่างมากขณะนี้ เพราะหลังจากเปิดเสรีทางการค้าในกลุ่มอาเซียน อาจทำให้น้ำมันจากประเทศมาเลเซียทะลักเข้าไทย ปั๊มน้ำมันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจต้องปิดกิจการเพราะสู้ราคาไม่ได้

แนวทางในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขการจัดเก็บภาษี อบจ.ให้เหมาะสม ดังนี้ 1.ขึ้นป้ายคัดค้านการเก็บภาษีของ อบจ.และแจกใบปลิวทุกปั๊มใน 3 จังหวัด 2.หากไม่ถอนแจ้งความปั๊มน้ำมันทั้ง 3 ปั๊มที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และชะลอการจัดเก็บภาษีออกไปจนกว่าจะแก้ไขวิธีการจัดเก็บที่เหมาะสม ชมรมฯ จะปิดปั๊มน้ำมันทั้ง 3 จังหวัด ในวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2558 และ 3.ยื่นหนังสือเรียกร้องให้แก้ไขวิธีการจัดเก็บภาษี อบจ.ต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ชมรมผู้ค้าน้ำมัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอยืนยันว่า ชมรมฯ ไม่ได้คัดค้านการเก็บภาษี อบจ. แต่ขอเรียกร้องให้แก้ไขวิธีการจัดเก็บภาษีที่เป็นปัญหาให้เหมาะสมโดยเร็ว

 

ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3] และ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: