กรมชลประทานคาดการณ์ต้นปีหน้าจะเกิดภัยแล้งรุนแรง ขอเกษตรกรงดทำนาปรัง

14 ก.ย. 2558 | อ่านแล้ว 2361 ครั้ง


	กรมชลประทานคาดการณ์ต้นปีหน้าจะเกิดภัยแล้งรุนแรง ขอเกษตรกรงดทำนาปรัง

กรมชลประทานเผยต้นปีหน้าน้ำยังขาดแคลน ขอเกษตรกรงดทำนาปรังเนื่องจากน้ำไม่เพียงพอจะส่งให้ อีกทั้งคาดว่าจะไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกใด ๆ ได้เลย ด้านกรมทรัพยากรน้ำยืนยันจะบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอทุกพื้นที่ หลังพบแนวโน้มว่าอาจประสบภัยแล้งในอนาคต

14 ก.ย. 2558 นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงสถานการณ์น้ำกับสำนักข่าวไทยไว้ว่าแม้ขณะนี้จะมีฝนตกชุกขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ปริมาณฝนยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกปี ปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ เหลือน้อยมาก กรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรังเนื่องจากน้ำไม่เพียงพอจะส่งให้ อีกทั้งคาดว่าจะไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกใด ๆ ได้เลย ทั้งพืชฤดูแล้งหรือพืชใช้น้ำน้อย จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน รัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมต่าง ๆ หาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรด้านอาชีพที่จะทำแทนการนาปรัง เช่น กรมชลประทานเคยจ้างงานขุดลอกคลองชลประทานและซ่อมแซมอาคารบังคับน้ำ กรมปศุสัตว์จะส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำแนวทางดังกล่าวนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงต่าง ๆ ช่วยเหลือเกษตรกรด้านอาชีพในขอบข่ายงานของแต่ละกระทรวง เพื่อให้ชาวนามีรายได้ชดเชยการที่ไม่ได้ขายข้าวจากการทำนาปรัง

ด้านสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.กล่าวถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในปัจจุบัน ทางรายการเปิดใจไทยคู่ฟ้า ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ว่า คณะรัฐมนตรีได้รับทราบสถานการณ์น้ำในปัจจุบันแล้ว โดยเขื่อนหลักที่มีปริมาณน้ำน้อยขณะนี้ ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสัก ส่วนอ่างเก็บน้ำ 33 แห่ง มีปริมาณน้ำไม่ถึง ร้อยยะ 30 จำนวน 17 แห่ง จึงต้องหาแนวทางบริหารจัดการให้เพียงพอ เนื่องจากมีแนวโน้มอาจประสบปัญหาภัยแล้งในอนาคต โดยนายกรัฐมนตรี ได้กำชับว่า รอบเมืองในเขตชลประทานต้องมีน้ำอย่างเพียงพอ

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แม้ปริมาณฝนที่ตกยังไม่มากเท่าที่ควร แต่ทุกหน่วยงานพยายามเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้มากที่สุด เพื่อบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีมาตรการเสริมช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ส่วนชาวนาที่ต้องการปลูกข้าวนาปีในปี 2559 ควรเริ่มต้นเพาะปลูกช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ทันฤดูน้ำหลาก

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ย้ำว่าจะบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และจะเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำให้ดีที่สุด ทั้งนี้ ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือทางศูนย์ดำรงธรรมได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: