สมาคมส่งเสริมร้านค้าหนังสือและเครื่องเขียนไทยวอน ศธ.ทบทวนผูกขาดตำรา

14 พ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 2505 ครั้ง


	สมาคมส่งเสริมร้านค้าหนังสือและเครื่องเขียนไทยวอน ศธ.ทบทวนผูกขาดตำรา

สมาคมส่งเสริมร้านค้าหนังสือและเครื่องเขียนไทย วอนให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนข้อเสนอที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานขอความร่วมมือโรงเรียนในสังกัด สพฐ.สั่งซื้อหนังสือใน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศึกษา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จาก อค. และให้บริษัทไปรษณีย์ไทยดำเนินการจัดส่งแทนการสั่งซื้อจากสำนักพิมพ์เอกชน เตรียมพบ รมว.ศธ.ในวันจันทร์ที่ 16 พ.ย.2558 

14 พ.ย. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าโรงแรมตรัง แยกวิสุทธิกษัตริย์ วังขุนพรหม กรุงเทพมหานครฯ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีตัวแทนร้านค้าหนังสือแบบเรียน นำโดย นายภคภพ ตัณฑเศรณี นายกสมาคมส่งเสริมร้านค้าหนังสือและเครื่องเขียนไทย และนายณัฐวุฒิ วิทยานนท์ ตัวแทนร้ายสมใจ และนายส่งศักดิ์ สายปัญญา  นัดพบกรรมการบริหารสมาคมผู้สื่อข่าวการศึกษา เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมผ่านสมาคมผู้สื่อข่าวการศึกษาไปยัง พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และ นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ หัวหน้าคณะทำงานกำหนดแนวทางการประเมินประสิทธิภาพและติดตามการดำเนินงานขององค์การค้า (อค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ขอให้ทบทวนข้อเสนอที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอความร่วมมือโรงเรียนในสังกัดสพฐ.สั่งซื้อหนังสือใน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศึกษา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1-6 จากอค. และให้บริษัทไปรษณีย์ไทยดำเนินการจัดส่งแทนการสั่งซื้อจากสำนักพิมพ์เอกชน อ้างเพื่อให้เด็กได้ใช้ตำราที่มีเนื้อหาเดียวกันและแก้ปัญหาการจัดส่งหนังสือล่าช้า

นายภคพล เผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกในสมาคมฯ กว่า 700 ร้านค้าหนังสือแบบเรียนทั่วประเทศไทย ต่างวิตกทุกร้อนกันไปหมดกับข้อเสนอดังกล่าว ในการสั่งซื้อหนังสือแบบเรียน 4 วิชาจากองค์การค้าและให้ไปรษณีย์เป็นผู้ดำเนินการจัดส่ง นั้น หากเกิดขึ้นจริง แน่่นอนร้านค้าหนังสือส่วนใหญ่กระจายอยู่ตามชุมชนทั่วประเทศ จะได้รับความเดือดร้อนแน่นอน รวมถึงพนักงานกว่า 27,000 ครอบครัว อาจจะต้องถูกเลิกจ้างได้ในอนาคต หากร้านค้าฯไม่ต้องจัดส่งตำราเรียนให้กับโรงเรียนกว่า 35,000 แห่งทั่วประเทศ

“ร้านค้าหนังสือส่วนมากกระจายอยู่ตามชุมชน กลายเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด ยิ่งช่วงปิดเทอมเดือน มี.ค.-เม.ย. ของทุกปีจะมีนักเรียน นักศึกษา มาทำงานในร้ายค้า ซึ่งมีแต่งแต่ชั้นม.3-ปริญญาตรี บางคนทำงานจนสามารถจ่ายค่าเทอมได้ และเลี้ยงพ่อแม่ หากระบบที่ดำเนินมากว่า 10 ปีนี้ต้องยกเลิกไป แน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อเยาวชนที่หารายได้ช่วงปิดเทอม ซึ่งมีอยู่ร่วม 1,000 คน รายได้ส่วนนี้อาจจะต้องขาดหายไป รวมถึงต้นทุนร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีการเก็บสต็อกตำราเรียนมูลค่าหลายล้านบาทก็ต้องเดือดร้อน”นายกสมาคมส่งเสริมร้านค้าฯ กล่าว

นายยกสมาคมส่งเสริมร้านค้าฯ กล่าวอีกว่า ได้พยายามขอเข้าพบ คุณธเนศพล ซึ่งได้รับคำแนะนำที่ดีหลายอย่าง แต่เรื่องนี้ถือว่ายังไม่ถึงที่สิ้นสุด ซึ่งทางสมาคมฯได้ติดต่อประสานงานเพื่อขอเข้าพบ พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอความเป็นธรรม และขอให้ทบทวนข้อเสนอดังกล่าว ในเบื้องต้นจะได้เข้าพบ รมว.ศธ.ในวันจันทร์ที่ 16 พ.ย.2558 นี้

อนึ่ง นักเรียนชั้น ป.1-ป.6 ที่จะได้รับแจกฟรีตำราเรียนตามนโยบายเรียนฟรี 12 ปี มีจำนวน  10 ล้านคน อีกทั้งประเทศไทยได้เปิดเสรีตำราเรียนมาตั้งปี 2542 หากใช้อำนาจรัฐ ให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อตำราเรียนจากหน่วยงานของรัฐ เท่ากับหน่วยงานรัฐทำผิดกฏหมายบ้านเมือง ผิดทั้งพ.ร.บ.การศึกษา 2542 ผิดทั้งพ.ร.บ.ฮั้ว 2542 ผิดทั้งพ.ร.บ.ปปช.และเข้าข่ายรัฐผูกขาดตำราเรียนเป็นการฮั้วขั้นเทพระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยอ้างธุรกิจกำไรขาดทุนขององค์การค้าให้อยู่รอด แต่ละเลยบทบาทหน้าที่หลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการจัดการศึกษาให้ดีและมีคุณภาพกับคนไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: