กระทรวงอุตสาหกรรมส่งหนังสือแจ้งเตือนโรงงานทั่วประเทศ 300 แห่งคุมเข้มการระบายน้ำลงแม่น้ำเฝ้าระวังค่าออกซิเจนที่ละลายอยู่หรือ DO หวั่นกระทบคุณภาพน้ำได้แม้ว่าจะได้มาตรฐาน เหตุปีหน้าภัยแล้งการระบายน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศท้ายเขื่อนมีน้อย โดยอุตสาหกรรมจังหวัดเตรียมร่อนจดหมายอีกรอบปีหน้า พร้อมขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด (ที่มาภาพประกอบ: commonfloor.com)
14 ธ.ค. 2558 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่าจากการประสานข้อมูลกรมชลประทานเกี่ยวกับปริมาณน้ำในปี 2559 ภาพรวมไม่มีปัญหายกเว้นพื้นที่ภาคเหนือ กลาง และตะวันออกเฉียงเหนือมีความเสี่ยงจากภัยแล้งเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก คือ ภูมิพล และสิริกิติ์ มีน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมาก็จะทำให้การปล่อยน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศท้ายเขื่อนมีน้อย แม้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะมีการระบายน้ำทิ้งสู่แม่น้ำที่เป็นไปตามมาตรฐานแต่ก็อาจเสี่ยงต่อคุณภาพน้ำได้ ดังนั้นกระทรวงฯ จึงได้ทำหนังสือแจ้งเตือนโรงงานที่มีน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลบ.ม./วัน ซึ่งมีประมาณ 300 โรงงาน ให้เข้มงวดการระบายน้ำทิ้งอย่างเคร่งครัด
“โรงงานดังกล่าวได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำออนไลน์แล้วเพื่อเฝ้าระวังการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน แต่ก็ขอให้เข้มงวดพร้อมกับขอความร่วมมือให้ตรวจสอบค่าของปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ หรือ DO ของน้ำทิ้งที่จะระบายออกนอกโรงงานควรมีค่า DO มากกว่า 2 มก./ลิตร เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับแม่น้ำ ส่วนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะมีหนังสือเตือนและขอความร่วมมือให้โรงงานใช้น้ำอย่างประหยัดและเฝ้าระวังการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานเป็นพิเศษในปี2559” นายอาทิตย์กล่าว
นอกจากนี้ กรอ.จะส่งเสริมให้โรงงานมีการใช้น้ำด้วยหลักการ 3Rs คือ ลดการใช้ ใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับจัดทำเอกสารเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ด้านเทคนิค หรือวิธีการลดการใช้น้ำของโรงงานด้วยหลักการ 3Rs ผ่านทางเว็บไซต์ กรอ. (www.diw.go.th) ส่วนโรงงานที่มีพื้นที่มาก กระทรวงอุตสาหกรรมแนะนำให้ขุดบ่อพักน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขุดเจาะน้ำบาดาล
อย่างไรก็ตาม ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในปี 2559 โดยได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาขุมเหมืองเก่าซึ่งได้มีการเก็บกักน้ำเอาไว้ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้ประสานเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น เพื่อการเกษตรกรรม อุปโภคและบริโภค รวมจำนวน 9 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 27.4 ล้าน ลบ.ม. อยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ลำพูน อุบลราชธานี ขอนแก่น สระบุรี และตาก โดยทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ