แฉรูปแบบคุกคามนักศึกษาไม่เคยเปลี่ยน จากกฎอัยการศึกถึงอารยะขัดขืน 'ดาวดิน' 

ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ : TCIJ School รุ่นที่ 2 14 มิ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 2702 ครั้ง

ภายหลังการประกาศกฏอัยการศึกทั่วประเทศ ประชาชนและนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบห่งชาติ หรือ คสช. เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน เช่น การแสดงสัญลักษณ์ไม่เอารัฐประหารใน Facebook กิจกรรมกินแซนวิซต้านรัฐประหาร โปรยใบปลิว ชูสามนิ้ว ไปจนถึงการจัดงานรณรงค์ เสวนา  ซึ่งทุกครั้งหลังจบกิจกรรม หรือในขณะจัดกิจกรรม จะถูกขัดขวาง จับกุมจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และบางครั้งอาจมีการปะทะ กระทบกระทั่งหรือได้รับบาดเจ็บอีกด้วย

จากการสำรวจรูปแบบการคุกคามนักศึกษาที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในแต่ละภูมิภาค พบว่า เกือบทั้งหมดจะมีรูปแบบที่คล้ายกันคือ เข้าประชิดตัวนักศึกษา เชิญไปพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจนโยบายของ คสช. ที่เรียกว่า”ปรับทัศนคติ”ในค่ายทหาร ไปจนถึงกักขังและตั้งข้อหาตามกฎหมาย อาทิ ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก และฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ตาม ม.44 ซึ่งประกาศใช้แทนที่การยกเลิกกฎอัยการศึก 

ครบรอบปีรัฐประหารสู่อารยะขัดขืน

22 พฤษภาคม 2558 วันครบรอบ  1 ปีรัฐประหาร มีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค และประชาชนออกมารวมตัวกันทำกิจกรรมรำลึก 1 ปี ด้วยรูปแบบต่างๆ อาทิ

ภาคกลาง – กลุ่มนักศึกษาและประชาชนทำกิจกรรมที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ด้วยการนั่งมองนาฬิกา เพื่อสื่อสารความนัยถึงวันครบรอบ 1  ปีรัฐประหาร ที่อาจหมายถึงการแช่แข็งเวลาของประเทศไทย  แต่ยังไม่ทันได้ทำกิจกรรมก็เกิดการประทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับนักศึกษา จนนำไปสู่การจับกุม  39 คน แม้ภายหลังมีการปล่อยตัว  แต่ก็มีการตั้งข้อหากับนักศึกษาแล้ว  9  คน 

อีสาน - เครือข่ายนักศึกษาภาคอีสานรำลึก 1 ปี รัฐประหาร ด้วยการชูป้ายผ้า ที่เขียนข้อความ ว่า “ต้านรัฐประหาร” พร้อมรูปกำปั้นสีดำ แกนนำนักศึกษา 7 คนในนาม'กลุ่มดาวดิน' โพกหัวด้วยผ้าสีขาวที่เขียนข้อความเกี่ยวกับปัญหาของประชาชน รวมถึงข้อความป้ายผ้าและกระดาษ เช่น  คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วย / เหมืองเถื่อนเมืองเลย / เผด็จการทำเขื่อนได้เถื่อนมาก / ที่ดินสู้มาตั้งนานพอรัฐประหารไล่รื้ออย่างเดียว / หยุดสัมปทานโหดเหี้ยมปิโตรเลียมดงมูล  เป็นต้น  ซึ่งในขณะที่นักศึกษากำลังทำกิจกรรม ก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าห้ามปราม สะกัดกั้น จากนั้นมีทหารเข้ามาล้อมนักศึกษาไว้และพยายามจับกุมตัว เปิดความชุลมุนขัดขืน  จนนักศึกษาบางคนได้รับบาดเจ็บเพราะถูกทุบที่บริเวณอัณฑะ

ล่าสุด  นักศึกษา 'กลุ่มดาวดิน' ถูกตั้งข้อหา “ฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” โดยมีหมายเรียกให้ไปรายงานตัวในวันที่ 8 มิถุนายน นำไปสู่แถลงการประกาศ’อารยะขัดขืน‘ของกลุ่มดาวดิน ไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารและพร้อมเข้าสู่การดำเนินคดี

ภาคเหนือ - มีนักศึกษาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยการนำเค็กไปสุขสันต์วันเกิดในจุดที่มีทหารประจำ การอยู่และถ่ายรูปขึ้นเฟสบุ๊ค

ภาคใต้ - มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้เปลี่ยนรูปโปรไฟล์เฟสบุ๊คให้เป็นข้อความ เช่น ต่อต้านรัฐประหาร / ปล่อยเพื่อนเราทันที / ปล่อยนักศึกษาโดยไม่มีเงื่อนไข

หากย้อนรอยกลับไปสำรวจรูปแบบและวิธีการ ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้ในการ "จัดการ" กับกลุ่มต่อต้านโดยเฉพาะนักศึกษา จะพบว่ารอบปีที่ผ่านมา ฝ่ายความมั่นคงยังคงยึดแนวปฏิบัติในแบบเดิมๆดัง ที่กล่าวมาข้างต้น  ในขณะที่กลุ่มนักศึกษา  ดูเหมือนจะพัฒนารูปแบบวิธีการและกลยุทธ์ที่พลิกแพลง หลากหลาย รวมทั้งมีการใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นระบบมากขึ้น 

เรามาดูกันว่า นับจากวันรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ฝ่ายความมั่นคง "จัดการ" กับนักศึกษาอย่างไรบ้าง   

ภาคอีสาน: ผู้ใหญ่สั่งให้มาถาม

 ‘กลุ่มดาวดิน’ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ที่รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเกี่ยวกับประเด็นสิทธิชุมชน ประเด็นพิพาทเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหมืองแร่เมืองเลย, กรณีโรงแป้งมันขอนแก่น, กรณีขุดเจาะบ่อก๊าซที่กาฬสินธุ์, กรณีที่ดินจังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น โดยกลุ่มดาวดินจะใช้วิธีลงพื้นที่ศึกษาประเด็นปัญหาและนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะ กลุ่มดาวดินปรากฎเป็นข่าวเนื่องจากไปชู 3 นิ้ว เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ในงานรวมใจสู้ภัยแล้งที่ จ.ขอนแก่น พวกเขาถูกนำตัวไปปรับทัศนคติที่มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์ ในทันที 

ศศิประภา ไร่สงวน  สมาชิกกลุ่มดาวดินเปิดเผยว่า  หลังถูกเรียกให้ไปปรับทัศนคติ ยังมีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่อยู่เรื่อยๆ ในช่วงแรก มีเจ้าหน้าที่ขับรถมาเฝ้าดูบ้านของสมาชิกกลุ่ม และถ่ายรูป  ให้คนเดินมาถามเลขที่บ้านพักพร้อมให้เหตุผลว่า “ผู้ใหญ่สั่งให้มาถาม”  รวมถึงการที่ทหารเข้าไปหาสมาชิกกลุ่มดาวดินถึงที่บ้าน โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าอยู่บ่อยครั้ง ทำให้สมาชิกกลุ่มดาวดินรู้สึกวิตกกังวลถึงความปลอดภัย กระทบถึงการลงพื้นที่ทำกิจกรรมเพราะถูกตามตัวอยู่ตลอด

“ล่าสุดมีเจ้าหน้าที่สันติบาล และตำรวจนอกเครื่องแบบ รวม 4 คน ขับรถสองคันโดยเป็นรถกระบะปิ๊กอัพสีดำและรถตำรวจมาที่บ้านดาวดิน เชิญสมาชิกให้ไปพูดคุยกับนายทหารใหญ่จาก คสช. แต่พวกเราปฏิเสธที่จะเข้าพบ เพราะไม่เห็นถึงเหตุจำเป็น” 

ภาคเหนือ : ขอความร่วมมือ ‘โปรดหยุดเสวนา’

“กลุ่มสมัชชาเสรีเพื่อประชาธิปไตยแห่งมหาลัยเชียงใหม่” จ.เชียงใหม่ เป็นกลุ่มกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมประชาธิปไตยแก่นักศึกษาผู้สนใจทั่วไป เช่น จัดงานเสวนาประเด็นทางสังคมต่างๆ ภายหลังรัฐประหาร ทุกครั้งที่เริ่มประชาสัมพันธ์งานเสวนา จะถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเตือนให้ระงับกิจกรรม ขณะที่มหาวิทยาลัยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ โดยการรายงานกิจกรรมที่นักศึกษาจะจัดทุกครั้ง ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดจำเป็นต้องขออนุญาตใช้สถานที่จากทางมหาวิทยาลัยทุกครั้งเป็นการล่วงหน้า

ธนพงษ์ หมื่นแสน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสมัชชาเสรีฯ ถูกเรียกให้รายงานตัวกับ พันเอกโภคา จอกลอย หัวหน้าฝ่ายข่าว มทบ. 33 ค่ายกาวิละ โดยเรียกเข้าพบในวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังคสช. ทราบว่าทางกลุ่มฯ กำลังจะจัดเสวนา

ภาคกลาง : ขอเชิญรายงานตัวอีกครั้ง

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2549  โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง เรียกร้องให้มีการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553  และการค้นหาความจริงนำตัวผู้สั่งการเข่นฆ่าประชาชนมาลงโทษ เอกลักษณ์ของกลุ่มฯ คือ การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เช่น ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ในกรณี ม.112 ของอากง และ ออกแถลงการณ์ หลังเหตุการณ์รัฐประหารที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐจับตาการเคลื่อนไหวของสมาชิกกลุ่มมากขึ้น ด้วยการที่ทหารไปพบผู้ปกครองของสมาชิกกลุ่ม LLTD ถึงที่บ้าน ไปถ่ายรูปและบอกผู้ปกครองให้สั่งห้ามลูกหลานของตนออกมาทำกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีการเข้าค้นหอพักที่สมาชิกกลุ่มพักอาศัยอยู่ด้วย

ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในสมาชิกกลุ่มฯ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมและค้นบ้านโดยปราศจากหมายค้นและหมายจับ ขณะที่สมาชิกกลุ่มอีก 3 คน ถูกจับกุมขณะยืนชู 3 นิ้ว หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ สาขาสยามพารากอน

รัฐพล ศุภโสภณ นักศึกษาปี4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มฯ เปิดเผยความกังวลใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกันว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ถูกคุกคามในหลาก หลายรูปแบบ ทั้งเข้ามาพูดคุยในมหาวิทยาลัย โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ พร้อมนำรูปถ่ายใบหน้าสมาชิกกลุ่ม สอบถามกับนักศึกษาคนอื่นๆ ว่ารู้จักบุคคลในรูปหรือไม่

ภาคใต้ : ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม

กลุ่ม ‘ศูนย์บูรณการคนหนุ่มสาวเพื่อศักยภาพชุมนุมชนภาคใต้’ Youth Integration for community empowerment. (YICE.) ทำกิจกรรมเพิ่มศักยภาพเยาวชน รณรงค์ให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่น จัดเสวนาให้กลุ่มเยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา จัดตั้งสภาเยาวชนในแต่ละเขตพื้นที่

กิตติศักดิ์ ปัตตานี สมาชิกกลุ่มฯ เปิดเผยว่า หลังเหตุการณ์รัฐประหารไม่นาน ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) องค์กรหนึ่ง เชิญเข้าร่วมพูดคุยในประเด็นที่ทางกลุ่มกำลังเคลื่อนไหวและทำความเข้าใจกับกับนโยบายของ คสช. แต่ทางกลุ่มฯ ปฏิเสธเข้าร่วมเพราะไม่มีหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ 

นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาอีกหลายกลุ่มที่ทำกิจกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เยี่ยมตามหอพักและบ้านเช่าของกลุ่มฯ โดยมักใช้รูปแบบชวนไปร่วมรับประทานอาหารและจิบชา

“เราอยู่กับกฎอัยการศึกมาเกือบสิบกว่าปีแล้ว แต่ไม่ว่าจะมีกฎอะไรก็ตาม ถ้ายังมีการละเมิดสิทธิในฐานะปัจเจกหรือสิทธิทางการเมืองของทุกคนที่พึงได้พึงมี  ก็จะมีขบวนการคนรุ่นใหม่ร่วมกันออกมาเคลื่อนไหวอยู่ดี เพราะมันคือพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องรักษาและปกป้องมันเอาไว้”

เยาวชนบางคนในกลุ่มยังตั้งคำถามกับกฎอัยการศึกว่า อาจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดฝ่ายที่คิดตรงข้ามกับรัฐ  เพื่อให้ฝ่ายครองอำนาจทำงานได้อย่างราบรื่นด้วยการซุกปัญหาไว้ใต้พรม

อำนาจนิยม กระทบสิทธิพลเมือง

ภาวินี ชุมศรี หัวหน้าฝ่ายคดีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็นเรื่องผลกระทบของการประกาศใช้ ม44 แทนที่กฎอัยการศึกว่า หากมองในมุมนักศึกษาที่ทำกิจกรรมอื่นๆ นอกกิจกรรมมหาวิทยาลัย เช่น มีกลุ่มที่ออกมาเรียกร้อง เรื่องนโยบายต่างๆ ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จะถูกมองจากฝ่ายความมั่นคงว่า กำลังก่อความไม่สงบในบ้านเมือง  ม 44 จะถูกนำมาใช้กับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม ได้ตั้งแต่ควบคุมตัว ตั้งข้อหา เพราะ ม 44 ให้อำนาจที่เบ็ดเสร็จกว้างขวางยิ่งกว่ากฎอัยการศึกเสียอีก

“มันเป็นการสถาปนาอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะถ้าเราอยู่ในระบอบปกครองปกติ มันก็จะมีอำนาจอื่นมา ถ่วงดุล มาตรวจสอบ”

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึง เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกับศึกษา ในช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า เหมือนกับการใช้ ยาผิดขนานในการรักษาโรค แทนที่โรคจะหาย คนป่วยก็อาจจะตาย เพราะควรประกาศใช้ในภาวะสงคราม สถานการณ์ขณะนี้ ควรใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับธรรมมาภิบาลหรือสิทธิมนุษยชนแทน   

“การประกาศกฎอัยการศึกเป็นเรื่องที่สมควรจะได้รับการทบทวน เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของ ความปรองดองและรักษาความสงบได้อย่างแท้จริง”

(หมายเหตุ : รายงานนี้เขียนขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558  และแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน)

อ่าน 'จับตา': “คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ม.44”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5593

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: