ทุนนิยมจะอยู่รอดต่อไปหรือไม่ (ตอนที่ 1)

แฟร์กน็องด์ โบรเดล (แปลโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์) 15 มิ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 1546 ครั้ง


เมื่ออินเดียเข้ายึดครองหรืออย่างน้อยได้รุกคืบสู่ดินแดนอินเดียตะวันออกอันไกลโพ้นในศตวรรษแรกของยุคสมัยของเรา เมื่อโรมันมีอำนาจปกครองเหนือดินแดนเมดิเตอร์เรเนียนและดินแดนอื่นๆ เมื่อจีนผลิตธนบัตรขึ้นใช้ในศตวรรษที่ 9 เมื่อชาติตะวันตกพิชิตดินแดนเมดิเตอร์เรเนียนได้อีกครั้งระหว่างศตวรรษที่ 11 ถึง 13 เมื่อตลาด “โลก” เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างในศตวรรษที่ 16 “ชีวประวัติของทุน” เองก็ล้วนได้รับการจดจารขึ้นในทุกๆ ช่วงเวลาข้างต้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ในการสืบสาวรากเหง้าของทุนนิยม นักประวัติศาสตร์บางคนปฏิเสธการหวนกลับไปไกลก่อนหน้าศตวรรษที่ 16 หลายคนเลือกขีดเส้นแบ่งไว้ที่ศตวรรษที่ 18 โดยชี้ว่าทุนนิยมคือสิ่งเดียวกับการปะทุขึ้นอย่างเป็นปรากฏการณ์ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม กระนั้น ทัศนะที่ “สั้น” เช่นนี้ก็ยังเกี่ยวพันกับช่วงเวลา 3 ถึง 5 ศตวรรษ ด้วยเหตุนี้ เราจึงกำลังมองไปยังโครงสร้างของช่วงเวลาที่ยาวนาน มีบ้างบางครั้ง แต่ไม่บ่อยนัก ที่รอยแยกครั้งใหญ่ได้ล่วงล้ำเข้ามา และแน่นอนว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในรอยแยกที่ว่านั้น แต่โดยพื้นฐานแล้ว ผู้คนยังคงตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของทุนนิยมมาโดยตลอด อันที่จริง นี้เองเป็นหนึ่งในคุณลักษณะประการสำคัญของทุน กล่าวคือ ทุนนิยมยังคงประคับประคองตนเองได้อย่างพอเหมาะพอเจาะด้วยการปรับเปลี่ยนผันแปรตนเองไป ทุนเติบโตขึ้นด้วยการเปลี่ยนแปลง ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับข้อจำกัดที่กำหนดนิยามผลตอบแทนและความเป็นไปได้ของระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ในยุคสมัยที่แตกต่างกันอยู่เสมอ

การคิดจินตนาการว่าทุนนิยมเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นเรื่องผิด ทำนองเดียวกัน เป็นความผิดพลาดหากจะทึกทักเอาว่าทุนนิยมเติบโตขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือ เริ่มจากยุคก่อนทุนนิยม จากนั้นก็เรียงกันไปตั้งแต่ทุนนิยมพ่อค้าวาณิชย์ ทุนนิยมอุตสาหกรรม และทุนนิยมการเงิน พร้อมกับทุนนิยม “ที่แท้จริง” ที่ตามมาเป็นลำดับสุดท้ายหลังทุนยึดครองวิถีการผลิตในศตวรรษ 19 ได้สำเร็จ ในความเป็นจริง “พ่อค้าวาณิชย์” ในยุคก่อนอุตสาหกรรมไม่ได้ทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการเฉพาะ พวกเขาต่างประสบความสำเร็จจากการมีเอี่ยวทั้งในทางการค้า การธนาคาร ธุรกรรมทางการเงิน การเก็งกำไรในตลาด หรือแม้แต่ในภาคการผลิตไปในเวลาเดียวกัน

การดำรงอยู่ร่วมกันของทุนนิยมต่างรูปแบบมีให้เห็นแล้วในฟลอเรนซ์ในศตวรรษที่ 13 ในอัมสเตอร์ดัมในศตวรรษที่ 17 ในลอนดอนก่อนศตวรรษที่ 18 ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ภาคการผลิตสามารถทำกำไรได้มหาศาล ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทุนนิยมได้ปรับเปลี่ยนตัวเองไปมากเพียงใด กระนั้นก็ตาม เหล่านายทุนต่างเปิดโอกาสให้ตัวเองอยู่เสมอ ในอังกฤษ เมื่อการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นเริ่มลดทอนกำไรจากธุรกิจสิ่งทอลงทีละน้อย ทุนได้ไหลบ่าไปยังกิจการเหล็กกล้าและทางรถไฟ ทุนนิยมการเงิน การธนาคาร การเก็งกำไร การค้าระหว่างประเทศ และการกดขี่ขูดรีดในอาณานิคมฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง ลองดูตัวอย่างจากครอบครัวว็องแดล (Wendel) ในฝรั่งเศส พวกเขาเป็นเจ้าของโรงตีเหล็ก ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจผลิตและขายเสื้อผ้าในเมืองวอร์กชส์ (Vorges) และรับตัดชุดเครื่องแบบให้กองทัพฝรั่งเศสที่เดินทางไปอัลจีเรียในปี 1830 ไปพร้อมๆ กัน

กล่าวโดยรวบรัด เอกสิทธิ์พิเศษของทุนนิยมตลอดหลายศตวรรษ ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน คือเสรีภาพในการเลือก และเหตุเพราะมันเลือกได้ ทุนนิยมจึงมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิถีทางไปในเวลาใดเวลาหนึ่ง และนี่เองคือความลับที่หล่อเลี้ยงชีวิตของทุนนิยม

แน่นอนว่าความสามารถดังกล่าวไม่อาจคุ้มครองทุนนิยมจากภยันตรายได้ทุกครั้ง ยามที่เกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ นายทุนจำนวนมากล้มละลาย แต่อีกหลายคนก็อยู่รอดปลอดภัย และหลายคนยังคงเลื่อนฐานะขึ้นมาจากเบื้องล่าง นักประวัติศาสตร์นาม ดาเวอแนล (d’Avenel)[1] รู้สึกประหลาดใจระคนยินดี เมื่อทราบว่าความมั่งคั่งเปลี่ยนผลัดจากมือคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งเสมอมา จนทำให้เจ้าที่ดินต่าง “เชื้อชาติ” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวดองกันเลยผลัดกันเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ผืนเดียวกันได้ นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุนนิยม ในยามที่มันเปลี่ยนรูปแบบไป ทุนก็มีความสามารถอันไม่สิ้นสุดในการแทนที่ตัวมันเอง ลองพิจารณาคำพูดของเฮนรี่ โฮป (Henry Hope) นักธุรกิจชาวอัมสเตอร์ดัมที่มีชื่อคนหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงการค้าในปี 1784 ภายหลังสงครามครั้งที่ 4 ระหว่างอังกฤษกับดัตช์สิ้นสุดลงไว้ว่า “ถึงจะเจ็บกระออดกระแอดอยู่หลายครั้ง แต่มันไม่เคยตาย”. 

 

แปลจาก Fernand Braudel, “Will Capitalism Survive?,” The Wilson Quarterly 4, no. 2 (Spring, 1980): 108-116.


[1] ฌอร์ชส์ ดาเวอแนล (Georges d'Avenel, 1855-1939) นักประวัติศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: