10 ปีไฟใต้ เด็กสังเวย 81 ศพ Soft Target ที่กั้นกลางระหว่างรัฐและผู้ก่อการ

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 15 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2152 ครั้ง

เป็นเวลากว่า 10 นับจากเสียงปืนนัดแรกดังขึ้นในเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาสคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 ความรุนแรงระลอกใหม่เริ่มปะทุขึ้นเป็นวงกว้าง กว่าทศวรรษที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น 14,688 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตสะสม 6,286 คน ขณะที่ฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2547–ธันวาคม 2557 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตสะสมทั้งสิ้น 81 คน โดยปีที่มีจำนวนการเสียชีวิตสูงสุด คือ ปี 2550 จำนวน 21 คน

ในสงคราม ‘เด็ก ผู้หญิง คนชรา’ คือเป้าหมายอ่อนกั้นกลางระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก บ่อยครั้งที่คู่ต่อสู้หยิบยกกความตายของเด็กมาใช้สร้างคุณค่าให้ฝั่งของตนด้วยเหตุผลสวยหรู ‘เราทำเพื่ออนาคตที่สงบสุข’

ความตายของเด็กในพื้นที่ความขัดแย้ง

รายงานสถานการณ์เด็กในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้ ประจำปี 2557 ของ กลุ่มด้วยใจ ระบุว่า ระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้น มีเพียงปีแรก (ปี 2547) เท่านั้นที่ไม่มีเด็กเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ หลังจากนั้นตัวเลขความสูญเสียจึงเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ

เด็กส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกยิงจำนวน 13 ราย และได้รับบาดเจ็บจำนวน 14 ราย ในขณะที่เด็กที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดมีเพียง 4 ราย แต่จำนวนเด็กที่ได้รับบาดเจ็บกลับสูงถึง 30 คน การเสียชีวิตที่เกิดจากการถูกยิง โดยส่วนใหญ่เด็กจะอยู่กับบุคคลในครอบครัว จึงอาจไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เป็นลูกหลงในเหตุการณ์ กรณีเด็กถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา เพราะเมื่อเด็กได้ยินเสียงปืนจึงวิ่งออกมาดูจนโดนยิงในที่สุด

โจมตีเด็ก: กระจกสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของคู่ขัดแย้ง

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำวิชาสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กในพื้นที่ความขัดแย้งว่า การโจมตีเป้าหมายอ่อน (Soft target) หรือพลเรือน เป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของขบวนการ เนื่องจากในความเป็นจริงคู่ต่อสู่หลักของผู้ก่อความไม่สงบคือ ‘รัฐ’ หรือกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ที่มีศักยภาพทัดเทียมกันทางกำลังทหาร ดังนั้น เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีทรัพยากรทางทหารทัดเทียมกัน จึงใช้วิธีโจมตีเป้าหมายอ่อนหรือพลเรือนไร้ทางสู้ เพราะไม่ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับคู่ขัดแย้งหลักที่มีทรัพยากรทางทหารเหนือกว่า

การโจมตีเป้าหมายอ่อน (Soft target) หรือพลเรือน

เป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของขบวนการ

กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย ชญานิษฐ์อธิบายว่า จากการเก็บข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กจากหลายหลายหน่วยงาน พบว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กส่วนใหญ่ไม่ใช่ความรุนแรงแบบจงใจหรือแบบตั้งใจทำร้ายเด็กโดยตรง โดยมากเป็นกรณีเด็กโดนลูกหลง ทั้งจากเหตุลอบวางระเบิดและลอบยิง ซึ่งสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่มักเป็นสถานที่สาธารณะ จุดพบกันของสองชาติพันธุ์ไทยพุทธและมลายูมุสลิมหรือพื้นที่วัฒธรรมร่วม อาทิ ร้านน้ำชา ตลาด และโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐ ซึ่งถูกผู้ก่อความไม่สงบมองว่าเป็นเครื่องมือผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมและสัญลักษณ์ของรัฐไทย

“การเผาโรงเรียน กราดยิงร้านน้ำชา หรือตลาด เป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้ก่อความรุนแรงใช้ป้องปรามมิให้คนทั้งสองชาติพันธ์มีปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่วัฒนธรรมร่วม รวมถึงสร้างความระแวงสงสัยต่อกัน เช่น คนพุทธอาจจะคิดว่าไม่ควรไปเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนมลายูในร้านน้ำชา เพราะกลัวจะโดนลูกหลง หรือคนมลายูอาจจะคิดว่าไม่ควรส่งลูกไปเรียนโรงเรียนของรัฐร่วมกับคนพุทธ”

เมล็ดพันธุ์เลือด?: เด็กในฐานะเหยื่อความรุนแรง

10 ปี คือช่วงอายุที่เด็กสามารถเข้าใจถึงผลของการตายอย่างแท้จริง เด็กจะเริ่มเข้าใจถึงความยุติธรรมหรือความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับการตายของคนในครอบครัว สิ่งที่รายงานสถานการณ์เด็กในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้ยังไม่ได้พูดถึงชัดเจนคือ เด็กที่เติบโตในสถาพแวดล้อมที่ผู้ใหญ่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรงจะมีอนาคตเป็นอย่างไร ซึ่งระยะเวลา 10 ปี นานพอที่จะบ่มเพาะทัศนคติตที่เด็กมีต่อคนต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม

ภาพจาก www.dawn.com

งานวิจัยเรื่อง ‘ความรุนแรงในภาคใต้กับความคิดของเด็ก: ศึกษากรณีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ’ ของ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ศึกษาเด็กในพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเด็กเขียนเรื่องเล่าพร้อมภาพประกอบ 3 เรื่อง คือ หมู่บ้านของฉัน โรงเรียนของฉัน และสิ่งที่ฉันอยากเป็นในอนาคต สิ่งที่งานวิจัยค้นพบคือ เด็กหลายคนที่คนในครอบครัวบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในพื้นที่ยังคงมีความรู้สึกอยากแก้แค้นให้ครอบครัว อาทิ บางคนอยากเป็นทหารเพื่อลงโทษคนร้าย

เพิ่งจะผ่านวันเด็กมาไม่นาน หลายหน่วยงานจัดงานเฉลิมฉลองให้เด็ก วลียอดนิยม ‘เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า’ แล้ววันนี้เราลงทุนกับเมล็ดพันธุ์เหล่านี้อย่างไร เพราะ 10 ปี ในวังวนแห่งความรุนแรง นานพอที่เมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะเติบใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชัง

อ่าน 'จับตา: เหยื่อเด็กจากความไม่สงบชายแดนใต้' http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5301

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: