กฟผ.หวั่นหากฝนไม่ตกน้ำในเขื่อนหลักจะเหลือใช้สามสิบกว่าวัน วอนทุกภาคส่วนประหยัด พร้อมเผยต้องใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าทดแทนน้ำ ส่งผลกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า (ที่มาภาพ: vcharkarn.com)
16 มิ.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประไทย (กฟผ.) ระบุเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าจากปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือน้อยมาก ดังนั้น ปีนี้จึงคาดว่าการผลิตไฟฟ้าจากน้ำจะมีสัดส่วนลดลงจากปกติจะมีสัดส่วนร้อยละ 5 ของเชื้อเพลิงทั้งหมดเป็นคาดว่าไม่เกินร้อยละ 3 ดังนั้น ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าทดแทนคงจะต้องมาจากน้ำมันเตา เพราะปัจจุบันเชื้อเพลิงประเภทอื่นโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติมีการผลิตที่เต็มกำลังผลิตไปแล้ว
“การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตายอมรับจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะนี้หวังว่าฝนเหนือเขื่อนจะตกลงมาแก้ปัญหาภัยแล้งได้ ซึ่งการบริหารน้ำเน้นเรื่องการเกษตรและอุปโภคบริโภคเป็นหลัก บริหารโดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแล ขณะที่การผลิตไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้เท่านั้น” นายสุธน กล่าว
ส่วนการเตรียมพร้อมรับแหล่งก๊าซธรรมชาติเจดีเอ หยุดซ่อมบำรุงเดือนกรกฏาคมนี้ ทาง กฟผ.วางแผนไว้พร้อม โดยประสานงานกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกระทรวงพลังงานในการดูแลไฟฟ้าไม่ขาดแคลน มีทั้งการเตรียมพร้อมส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง การซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย การปรับให้โรงไฟฟ้าจะนะสามารถใช้น้ำมันเตาได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือภาคประชาชนลดการใช้ไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงไฟตก-ไฟดับ
นายวันชัย ประไพสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจ กฟผ. เปิดเผยว่า ภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ยังต้องตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่าในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคมจะมีฝนตกตามฤดูกาลหรือไม่ เนื่องจากเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนตกลงมาน้อยน้ำไหลเข้าเขื่อนเขื่อนภูมิพล 4 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน มีน้ำใช้งานได้ 392 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 46 หากฝนไม่ตกลงมากังวลว่าน้ำเพื่อการเกษตรจะไม่เพียงพอ เนื่องจากปริมาณน้ำในส่วนนี้ต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ด้วย นอกจากนี้ บางส่วนต้องจ่ายน้ำเพื่อการเกษตร 2.8 ล้านไร่ ดังนั้น จะใช้น้ำได้เพียง 36 วัน จากเดิม 40 วัน
“ช่วงนี้ภาครัฐจึงขอให้เกษตรกรชะลอการทำนาปี เพื่อรอให้ฝนตกลงมาก่อนและรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อไม่ให้กระทบปริมาณน้ำต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า” นายวันชัย กล่าว
สำหรับปริมาณน้ำภาคตะวันตก เช่น เขื่อนศรีนครินทร์และภาคใต้ เช่น เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลางไม่น่ากังวล เพราะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียงพอ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนจุฬาภรณ์ ที่ปริมาณน้ำลดลงดช่นกัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ