พบหลักฐานมนุษย์กลุ่มแรกเดินทางจากแอฟริกาสู่จีน ไม่ใช่ยุโรป

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ 16 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3466 ครั้ง


	พบหลักฐานมนุษย์กลุ่มแรกเดินทางจากแอฟริกาสู่จีน ไม่ใช่ยุโรป

มนุษย์กลุ่มแรกเดินทางออกจากทวีปแอฟริกาไปยังพื้นที่ประเทศจีนในปัจจุบัน หลักฐานโบราณคดีจากฟันที่ค้นพบในถ้ำในประเทศจีนยืนยันว่ามนุษย์กลุ่มแรกเดิมทางไปถึงพื้นที่ดังกล่าวก่อนทวีปยุโรปหลายพันปี

16 ต.ค.58 ผู้สื่อข่าวอ้างรายงานจากเว็บไซต์newscientist รายงานเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุถึงการค้นพบหลักฐานการเดินทางของมนุษย์กลุ่มแรกว่าไม่ได้เดินทางออกจากทวีปแอฟริกาไปสู่ยุโรปตามที่เชื่อกันมา เนื่องจากการค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามนุษย์สายพันธุ์โฮโม เซเปียน เดินทางถึงจีนราว 80,000 ถึง 120,000 ปีก่อน ซึ่งขัดแย้งกับสมมติฐานเดิมที่เชื่อกันว่ามนุษย์เพิ่งเดินทางออกจากทวีปแอฟริกาเมื่อราว 60,000 ปีก่อนเท่านั้น

มาเรีย มาร์ตีนอน-ตอร์เรส (María Martinón-Torres) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน เห็นว่าเราจำเป็นต้องคิดเกี่ยวกับรูปแบบการเดินทางของมนุษย์ยุคแรกกันใหม่ และเป็นไปได้ว่าโฮโม เซเปียน จะอพยพออกจากแอฟริกาหลายระลอก

มนุษย์โฮโม เซเปียนเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในทวีปแอฟริการาว 200,000 ปีก่อน ขณะที่หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในตอนนี้ชี้ว่าพวกเขาเดินทางไปถึงยุโรปเมื่อราว 35,000 ปีก่อนเท่านั้น

มาร์ตีนอน-ตอร์เรสและคณะวิจัยค้นพบฟันจำนวน 47 ซี่ ซึ่งอาจเป็นของมนุษย์อย่างน้อย 13 คน ภายในชั้นหินงอกในถ้ำแห่งหนึ่งที่อำเภอเต้าเสี้ยน (Daoxian) มณฑลหูหนาน ทางตอนตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน มาร์ตีนอน-ตอร์เรสกล่าวว่าหินงอกมีอายุอย่างน้อย 80,000 ปี ซึ่งแปลว่าฟันเหล่านั้นน่าจะมีอายุใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบกระดูกสัตว์ยุคไพลสโตซีนในบริเวณเดียวกัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าฟันเหล่านี้น่าจะมีอายุอย่างมากไม่เกิน 120,000 ปี

คริสโตเฟอร์ เบ (Christopher Bae) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน-เกาหลี ผู้ค้นพบฟันของโฮโม เซเปียนอายุราว 100,000 ปี ในประเทศจีนเมื่อปีที่แล้ว ได้ออกมาสนับสนุนข้อค้นพบของมาร์ตีนอน-ตอรเรส เขาเห็นว่าการค้นพบครั้งนี้ทำให้ทฤษฎีเรื่องการอพยพของมนุษย์ออกจากแอฟริกาเมื่อ 60,000 ปีก่อนมีความน่าเชื่อถือน้อยลง

คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์กลุ่มนี้ มาร์ตีนอน-ตอรเรสตอบว่า “เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง พวกเขาอาจล้มตายไปเฉยๆ อาจเพิ่มจำนวนมากขึ้นในเวลาต่อมา หรืออาจมีปฏิสัมพันธ์กับโฮโมนินสายพันธุ์อื่น”

เธอหวังว่าจะค้นพบร่องรอยปฏิสัมพันธ์ระหว่างโฮโม เซเปียนกับโฮโมนินกลุ่มอื่น เช่น โฮโม อีเร็กตัส ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก่อนหน้านั้น ขณะเดียวกัน เธอยังตั้งข้อสังเกตว่า โฮโม นีแอนเดอธัล อาจเป็นอุปสรรคสำคัญของโฮโม เซเปียนยุคแรกด้วย เพราะกว่าที่มนุษย์จะเดินทางไปยุโรปได้จริงๆ ก็เมื่อนีแอนเดอธัลเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงมากแล้ว 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: