สช. จัดเวที "ลูกขุนพลเมือง" ถกดูแลผู้สูงอายุ 

16 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 1883 ครั้ง

สช. นำระบบศาลต่างประเทศที่มีคณะลูกขุนรับฟังเพื่อทดสอบความจริงมาใช้ในไทยครั้งแรก  จำนวน 12 คน หลากหลายอาชีพ สุ่มจาก 5 จังหวัด มาอยู่ร่วมกัน 4 วัน หวังระดมความคิดเห็นประสบการณ์ในชีวิตจริงจากคนในพื้นที่ เพื่อวางแนวทางเพิ่มเติมในธรรมนูญฯ สำหรับดูแลผู้สูงอายุในอนาคต

  เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดให้มีเวที “ลูกขุนพลเมือง” ในประเด็น “การจัดระบบการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุ” ครั้งที่ 1/2558  ณ ห้องชวนชม 1 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในฐานะคณะลูกขุนพลเมือง ซึ่งเป็นภาคประชาชนที่ได้รับการสุ่มตัวอย่างมาจากทั่วประเทศ หลายหลายอาชีพจำนวน 12 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 5 คน มีอายุระหว่าง 35-75 ปี มาร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในกิจกรรมครั้งนี้ 

นพ.ณรงศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ 2558 กล่าวเปิดกิจกรรมว่า การระดมความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ น่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้ได้หรือไม่ จึงมีการคิดวิธีการใหม่ๆ เพื่อขอความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ ถึงแม้คนพื้นที่จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่เราต้องการคนมีประสบการณ์ในชีวิตจริงๆ เพื่อจะทำอย่างไรให้กระบวนการนี้ได้สอดคล้องในสิ่งที่คาดหวัง โดยสิ่งที่ดำเนินการครั้งนี้มี 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ระบบที่จะดูแลผู้สูงอายุ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่เป็นทั้งเรื่องกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองผู้สูงอายุจำนวนมาก เรียกว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุช่วงเริ่มต้น ต่อไปจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ก็อาจจะเกิดปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมตามมาได้

  "ส่วนในประเด็นที่ 2 คือเรื่องกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมาร่วมเรียนรู้ด้วยกันและระดมความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดมุมมองรอบด้านเพิ่มเติมในธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จึงหวังว่าจะสามารถได้ข้อมูลที่จะมากำหนดในเนื้อหาและทิศทางดูแลผู้สูงอายุของพวกเราต่อไป"

ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว 12 คนที่มาวันนี้ คือ ตัวแทนประชาชนที่มาจากระบบการคัดเลือกมาร่วมกระบวนการเรียนรู้ ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญจากชีวิตจริง จึงต้องการทุกคนมาแลกเปลี่ยนในเรื่องผู้สูงอายุ วันนี้ทุกคนจึงเป็นครู จะเป็นคนให้ความจริง และเคยสัมผัสมาจากของจริง ซึ่งขณะนี้สังคมเราเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว กำลังเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องมาคิดเรื่องการวางระบบ เพราะเรื่องสังคมผู้สูงอายุจะมีผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจ สังคม หรือผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นต้น จึงต้องมาดูเรื่องการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เพื่อคิดในเชิงระบบรองรับผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นบทเรียนจากทุกคนในที่นี้มีค่าสำคัญมาก เพื่อนำไปวางระบบใหญ่ๆ ในสังคมเพื่อรองรับกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ในขณะนี้

"คำว่า ‘ลูกขุนพลเมือง’ แปลมาจากภาษาอังกฤษ ระบบนี้เป็นกระบวนการหนึ่งที่ต่างประเทศใช้ที่ทดสอบจากความจริง กระบวนการนี้ไม่เคยใช้ในเมืองไทย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ถึงแม้จะเป็นเวทีวงเล็กๆ แต่อาจจะนำไปเป็นความรู้เพื่อใช้กับเรื่องอื่นได้ด้วย และจะมีคุณค่ามากในเชิงความรู้ที่จะทำเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ได้"

ขณะที่ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) กล่าวว่า นโยบายสุขภาพเคยมีการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพทุกจังหวัด มีการอภิปรายเรื่องที่จะแก้ปัญหา แต่กระบวนการนี้เวลาน้อยไม่สามารถพูดกันทั่วถึง จึงมีการแก้ปัญหาโดยเเสวงหารูปแบบอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้เกิดความคิดที่ลึกซึ้ง อันเป็นที่มาของการพูดคุยกันในรูปแบบลูกขุนพลเมืองเป็นครั้งแรก โดยหลักการ คือ มีการสุ่มจากประชาชนหลากหลาย ไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในเเวดวง เป็นผู้ที่ไม่รู้จักกัน แต่จะสุ่มมาจาก 5 จังหวัด มีการกำหนดเลือกอายุ อาชีพ และการศึกษาหลากหลายเพื่อร่วมเป็นลูกขุนพลเมือง เมื่อทำการสุ่มมาแล้วจะมาอยู่ด้วยกัน 4 วัน 

ทั้งนี้ ในระบบศาลต่างประเทศจะมีคณะลูกขุนมานั่งฟัง แล้วไปประชุมกันในห้องในเรื่องนั้นๆ แต่ที่คุยอยู่ขณะนี้เป็นลูกขุนพลเมืองเพื่อให้ความเห็นในเรื่องนโยบาย โดยก่อนเสร็จสิ้นกิจกรรมแต่ละวันคณะลูกขุนพลเมืองจะมาหารือกัน ซึ่งทุกคนก็มีสิทธิ์เชื่อหรือไม่เชื่อข้อมูลที่ให้มาได้ ซึ่งในวันแรกจะเป็นข้อมูลสถานการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับผู้สูงอายุในประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร มีวิธีการดูแลกี่วิธี จากนั้นจะมีตัวอย่างผู้ที่เคยมีประสบการณ์ดูแลผู้สูงอายุว่าเป็นอย่างไร หากคณะลูกขุนพลเมืองมีข้อสงสัยตรงไหนก็สามารถสอบถามกับผู้ให้ข้อมูลได้ ส่วนวันที่ 2 จะมีทีมให้ข้อมูลว่าการดูแลผู้สูงอายุจะพัฒนาจากการดูแลระบบชุมชนให้เข้มแข็งอย่างไร ซึ่งคณะลูกขุนพลเมืองก็สามารถสอบถามผู้ให้ข้อมูลได้เช่นกัน

“วันที่ 3 จะมีผู้มาให้ข้อมูลเรื่องสถานบริบาลในการดูแลของแพทย์ และในวันที่ 4 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย จะให้มีการตัดสินเรื่องการดูแลผู้สูงอายุว่าจะมีทิศทางจะเป็นอย่างไร มีใครเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยในเรื่องอะไร ซึ่งความเห็นต่างๆ มาจากการฟังข้อมูลจากผู้ที่ให้ข้อมูล แต่ไม่อยากให้คณะลูกขุนพลเมืองสรุปความคิดมาจากบ้าน ขอให้เปิดความเป็นไปได้จากข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาแต่ละวัน ดังนั้น กระบวนการนี้จะมีจุดเด่น 1.มีเวลา 2.มีการให้ข้อมูล และ 3.ลูกขุนพลเมืองจะได้คุยกันและนำมาเขียนสรุปเป็นทิศทางหลักๆ เพื่อให้ทีมวิชาการนำข้อมูลไปยกร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ แล้วส่งให้คณะลูกขุนพลเมืองเพื่อสรุปความเห็นชอบร่วมกัน เพื่อนำข้อสรุปไปเสนอในลำดับต่อไป”

ในช่วงหนึ่งของการจัดกิจกรรม ได้มีการฉายวีดีทัศน์เพื่ออธิบายข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุในประเทศไทยในภาพรวมศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวข้อง โจทย์หลักและโจทย์ย่อย รวมถึงเหตุผลและที่มาของการจัดเวทีเพื่อถกแถลงในเรื่องนี้ และชี้แจงกำหนดการให้ข้อมูลของพยาน จากนั้นมีการเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ดูแลผู้สูงอายุครอบครัวหนึ่ง หรือเรียกว่าพยานในกระบวนการลูกขุนพลเมือง มาเล่าถึงประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุให้กับคณะลูกขุนพลเมืองทั้ง 12 คน โดยเป็นตัวอย่างการดูแลพ่อที่เป็นโรคพาร์กินสัน และดูแลแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์ จนต้องลาออกจากอาชีพข้าราชการเพื่อมาดูแลครอบครัว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการถ่ายทอดประสบการณ์เสร็จสิ้น ได้เปิดโอกาสให้คณะลูกขุนพลเมืองสอบถามผู้ให้ประสบการณ์ และบอกเล่าถึงการฟังข้อมูลที่ได้รับทราบด้วย

              จากนั้น นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุเกณฑ์ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทยในขณะนี้มีสัดส่วนและจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเรามีผู้สูงอายุ 10 ล้านคน ถ้าในประเทศกำลังพัฒนาถ้าเกิน 7 เปอร์เซ็นต์ถือว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุเเล้ว แต่ในสังคมไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 12-14 เปอร์เซ็นต์ และจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปัญหาที่จะตามมาจะเป็นด้านสุขภาพ รวมถึงการพึ่งพาตัวเองกรณีไม่มีผู้ดูแล หากมีเด็กน้อยลงแต่มีผู้สูงอายุมากขึ้นจะทำให้ศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุของครัวเรือนถดถอยลงได้

             อนึ่ง คณะลูกขุนพลเมืองเป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นใดๆ ที่ถูกตั้งขึ้นเป็นหัวข้อการสนทนา โดยผู้ให้ความเห็นและข้อแนะนำเป็นกลุ่มคนหลากหลายที่ได้รับการสุ่มตัวอย่างมา โดยเรียกว่าคณะลูกขุนพลเมือง ส่วนผู้ที่มาอธิบายข้อมูลต่อคณะลูกขุนพลเมืองจะถูกเรียกว่าพยาน ซึ่งจะมีฝ่ายเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และเมื่อได้รับข้อมูลแล้วคณะลูกขุนพลเมืองจะมาพูดคุยกันเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่ามีข้อคิดเห็นและข้อแนะนำต่อประเด็นนั้นอย่างไร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ สช. นำรูปแบบนี้นำมาใช้กับประเทศไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: