กรมประมงประกาศปิดอ่าวไทย 3 เดือนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล

16 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 2349 ครั้ง

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาที่บริเวณท่าเทียบเรือเทศบาลปากน้ำชุมพร ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ชุมพร นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงสัตว์ในวัยอ่อน ฝั่งทะเลอ่าวไทย (พิธีปิดอ่าว) ประจำปี 2558 โดยห้ามชาวประมงใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ในพื้นที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค.

โดยพิธีดังกล่าวมีนายวงศศิริ พรหมชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง พล.ร.ท.สุชีพ หวังไมตรี ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 นายเชาวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรสัตว์น้ำนับวันจะลดน้อยลงเนื่องจากธรรมชาติไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ โดยเฉพาะศักยภาพทางการประมงที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้นการดูแลรักษาฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจึงเป็นนโยบายหลักที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ และเป็นภารกิจหลักที่กรมประมงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฝั่งทะเลอ่าวไทยกำลังมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน หรือที่เรียกว่า "ปิดอ่าว" ระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค.ของทุกปี ในพื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ที่ส่งผลต่อการแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะ "ปลาทู" ที่มีคุณค่าและความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

จากผลการเก็บข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า หลังฤดูกาลปิดอ่าว ความชุกชุมของสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้นถึง 4 เท่า และมีผลผลิตในภาพรวมของปี 2557 ตลอด 9 เดือน ที่มีปริมาณการจับอยู่ที่ 93,000 ตัน สูงกว่าปริมาณการจับในช่วงเวลาที่เท่ากันของปี 2553-2555 จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการปฏิบัติการควบคุมและปราบปรามตามมาตรการดังกล่าวในปีนี้ เป็นการบูรณาการร่วมกันของศูนย์ประสานปฏิบัติการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) โดยมีเรือตรวจการณ์จำนวนทั้งหมด 35 ลำ ซึ่งจะออกลาดตระเวนตรวจตราและเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมายทุกพื้นที่ตลอดระยะเวลาปิดอ่าว

โดยกรมประมงได้จัดตั้งศูนย์ประสานการปฏิบัติงานในทะเล ใช้เรือจุฬาภรณ์เป็นฐานการปฏิบัติงาน นอกจากนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังสนับสนุนเครื่องบินเกษตรจำนวน 5 ลำ สับเปลี่ยนหมุนเวียนในการลาดตระเวรเฝ้าระวังในเขตมาตรการปิดอ่าวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ชาวประมงท้องถิ่นพื้นบ้านจากปะทิว ละแม ทุ่งตะโกและบางสะพาน ได้ตั้งข้อสังเกตถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า จากกรณีที่ได้มีการปิดอ่าว 3 เดือนโดยชุมพรปิดทั้งจังหวัด และดูแลรักษาบำรุงปลาวัยอ่อนและวางไข่ แต่ทำไมถึงมีลูกปลาทูแห้งขายควบคู่ไปกับลูกปลากะตัก ทั้งแต่ชุมพรขึ้นไปจนถึง 3 สมุทรมีขายผง ทั้งๆ ที่มีการปิดอ่าวจาก 3 จังหวัดแต่มีลูกปลาทูขึ้นมาขายได้ กับอีกประเด็นการปิดอ่าว 3 เดือนเมื่อถึงวันปิดอ่าว 15 พ.ค.

แต่เมื่อถึงวันที่ เปิดอ่าว ชาวประมงชุมพรจะไม่ได้รับผลจากการที่รัฐมีกติกาจากการปิดอ่าวโดยเคร่งครัดคือ ไม่ทำการประมงผิดกฎหมาย แต่เมื่อถึงวันนี้เรื่องจาก 3 สมุทร จะรอทำการประมงกันอย่างยิ่งใหญ่ หากไม่เชื่อให้ทางการลองไปดูวันที่ 14 พ.ค.ของทุกปี การเปิดอ่าวทะเลชุมพรจะมีเรือประมงจากทั้ง 3 สมุทรคือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ พร้อมอุปกรณ์ในการทำประมงที่ดีและครบมาลอยลำรอทำประมงหลังประกาศเปิดอ่าวทันที่ ไม่ว่าอวนลากคู่ลากเดียวจนเก็บผลประโยชน์ตรงนั้นไปจนหมด แต่คนชุมพรที่อนุรักษ์ ไม่ได้เลย จึงได้มีกลุ่มประมงต่างตั้งเป็นคำถาม พร้อมทั้งขอทราบว่า หากชาวชุมพรจะอนุรักษ์ทรัพย์สินตรงนั้นได้หรือไม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: