เจาะลึกเส้นทาง ‘สเตียรอยด์’ จากแหล่งผลิตบนดิน ถึงแหล่งระบาดใหญ่ใต้ดิน

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 16 มี.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3686 ครั้ง

 

การแพร่ระบาดของสเตียรอยด์ในภาคอีสานผ่านขบวนการรถเร่ นับเป็นปัญหาใหญ่ที่คนในแวดวงสาธารณสุขให้ความสนใจ บรรดารถเร่ก็เหมือนข้อต่อตรงกลางที่นำสเตียรอยด์มาผสมกับยาน้ำสมุนไพร ยาโบราณ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วกระจายต่อไปยังผู้บริโภค

ที่แน่ๆ คือบรรดารถเร่ไม่สามารถผลิตสเตียรอยด์เองได้ ย่อมหมายความว่าจะต้องมีแหล่งผลิตแหล่งขายสเตียรอยด์ ที่ธุรกิจรถเร่ไปรับซื้อมาอีกทอดหนึ่ง

แต่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตวัตถุดิบ หรือสารตั้งต้นที่ใช้ผลิตสเตียรอยด์ได้อีกเช่นกัน ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แล้วนำมาตอกเป็นเม็ดยากระจายไปยังสถานพยาบาลและร้านขายยา ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ทาง อย. มีระบบติดตามที่ค่อนข้างรัดกุม เมื่อเป็นดังนี้ แสดงว่าต้องมีสเตียรอยด์ที่เล็ดลอดออกนอกระบบ  ผ่านกระบวนการที่ไม่เปิดเผย ซึ่งผู้ที่ติดตามปัญหาการแพร่ระบาดของสเตียรอยด์กลับเห็นว่าระบบติดตามของ อย. ยังไม่รัดกุมเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้กล่าวกับ TCIJ ว่า สเตียรอยด์ที่หลุดออกจากระบบ อาจจะน้อยกว่า สเตียรอยด์ ‘ใต้ดิน’ ที่มีการลักลอบนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิต ก่อนส่งต่อไปยังแหล่งขายต่างๆ อีกทอดหนึ่ง

ทลายแหล่งกระจายสเตียรอยด์ใหญ่ในขอนแก่น

กลางเดือนธันวาคม 2557 TCIJ ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ติดตามการเข้าตรวจค้นร้านขายยาเต็กกวงฟาร์มาซี ในอำเภอบ้านไผ่  ภก.เชิดชัย อริยานุชิตกุล เภสัชกรเชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กล่าวกับสื่อว่า ร้านขายยาแห่งนี้ขายยาเดกซาเมตาโซน ที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยาและฉลากไม่ระบุสถานที่ผลิตให้ประชาชนทั่วไป ทั้งยังมีการขายส่งในปริมาณมาก ซึ่งเมื่อ TCIJ ตรวจดูจากปริมาณยาที่ยึดได้  พบว่ามีไม่ต่ำกว่าล้านเม็ด

แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า ร้านนี้ถือเป็นแหล่งใหญ่ในพื้นที่ที่กระจายขายยาเม็ดให้รถเร่ รถเร่ทุกรายที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เคยจับกุมจะอ้างอิงมาถึงร้านนี้

เมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามเจ้าของร้านเต็กกวงว่า รับยาจำนวนมากนี้จากใคร คำตอบที่ได้คือเซลล์ขายยาคนหนึ่งเข้ามาเสนอขาย ซึ่งเขารู้จักแต่ชื่อเล่นและมีเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อ แต่ไม่รู้รายละเอียดอะไรมากไปกว่านั้น

บิลขาว’ ทางผ่านสเตียรอยด์ออกนอกระบบ

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า การซื้อยาโดยไม่ระบุชื่อผู้ซื้อ หรือที่เรียกว่าบิลขาว เป็นหัวใจสำคัญอีกประการของการแพร่ระบาดสเตรียรอยด์ ซึ่งแหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโรงงานอย่างน้อย 4 แห่งที่ลักลอบผลิตและกระจายสเตรียรอยด์ด้วยบิลขาว

โดยระบบแล้ว การนำเข้าและการกระจายยาและสารเคมีจะต้องมีการรายงานไปยัง อย. แต่กลับพบว่า มีการผลิตยาสเตียรอยด์ที่ไม่มีฉลาก ไม่มีเลขทะเบียนยา และที่ซุกซ่อนบรรจุอยู่ในกระปุกยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งแหล่งผลิตจำนวนหนึ่งมีการนำเข้าโดยไม่ถูกต้อง แล้วจะมีเซลล์ไปทำการติดต่อร้านขายยาหรือสถานพยาบาลด้วยการใช้บิลขาว เซลล์จะเป็นตัวประสานงานกับทางโรงงานให้ปั๊มยาตามคำสั่งซื้อ ซึ่งยาที่ออกมาอาจมีรูปลักษณ์เหมือนยาที่มีในท้องตลาดหรือเปลี่ยนรูปลักษณ์ เปลี่ยนสีใหม่ก็ได้

ส่วนที่บรรดาโรงงานผลิตยาน้ำแผนโบราณทั้งหลาย มีสเตียรอยด์มาปลอมปนได้อย่างไรนั้น ดังที่อธิบายไปในตอนที่แล้วว่า โรงงานบางแห่งอาจไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยก็เป็นได้ หรืออาจเป็นฝีมือของกลุ่มรถเร่เพียงฝ่ายเดียวก็เป็นได้  ซึ่งชื่อผู้ประกอบการธุรกิจยาน้ำแผนโบราณบางรายที่เกี่ยวข้องกับขบวนการยาสเตียรอยด์นี้ มีชื่อบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองรวมอยู่ด้วย

ข้อมูลการกระจายยาปี 2551 (มกราคม-เมษายน) พบตัวเลขที่น่าสนใจว่า ยาเพรดนิโซโลน (สเตียรอยด์รูปแบบหนึ่ง) มีการกระจาย 28.44 ล้านเม็ดไปยังโรงพยาบาลและคลินิกหรือคิดเป็นร้อยละ 46.1 ของปริมาณทั้งหมด แต่ในจำนวน 28.44 ล้านเม็ดนี้มีปริมาณที่เสี่ยงรั่วไหลออกจากระบบร้อยละ 53.8  ซึ่งเกินครึ่งของยาที่กระจายสู่สถานพยาบาล ขณะที่ยา เดกซาเมทาโซน (สเตียรอยด์อีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน) มีปริมาณการกระจายในประเทศ 118.1 ล้านเม็ดไปยังโรงพยาบาลและคลินิก คิดเป็นร้อยละ 2.6 แต่ปริมาณที่เสี่ยงรั่วไหลสูงถึงร้อยละ 97.4 จุดนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า ในโรงพยาบาลมีการสั่งใช้ยาเดกซาเมทาโซนน้อยมากเพราะมีผลข้างเคียงสูง

ดังนั้น จึงมีการสันนิษฐานว่า ยาเดกซาเมทาโซนที่ผลิตในประเทศไทยจำนวนมาก เล็ดลอดออกนอกระบบเพื่อใช้ผลิตยาชุดหรือผสมในยาลูกกลอนและยาน้ำแผนโบราณ  ซึ่ง ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“ถ้าเป็นของโรงพยาบาลรัฐใช้สเตียรอยด์น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นยาฉีดของห้องฉุกเฉินหรือห้องไอซียู ซึ่งใช้ไม่มาก ยาเม็ดจะใช้บ้าง แต่ไม่เยอะ แต่คลินิกในบางจังหวัดพบว่าเป็นแหล่งใหญ่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยา คลินิกไม่ต้องรายงานต่อ อย. ช่องโหว่ตอนนี้จึงเป็นคลินิก ซึ่งกฎหมายที่ควบคุมคลินิกคือ พ.ร.บ.สถานพยาบาล หน่วยที่ดูคือกองประกอบโรคศิลป์ อยู่ภายใต้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตรวจปีละหนเพื่อต่อทะเบียน เขาไม่มีเจ้าหน้าที่เหมือน สสจ. (สาธารณสุขจังหวัด) และถึงแม้ว่า สสจ. จะมีสิทธิ์ตรวจ แต่คลินิกเป็นแพทย์ หลายแห่งจึงอาจเกี่ยงไม่ยอมให้เภสัชเข้าไปตรวจสอบดู แม้ อย. จะพยายามให้มีรายงานจากโรงงาน แต่ผลกลับพบว่า อย. ก็ไม่ได้ใช้ข้อมูลในการจัดการปัญหา”

ผลจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ตั้งแต่ปี 2553-2557 ที่ส่งไปยังห้องปฏิบัติการสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในบรรดาตัวอย่างที่ส่งตรวจทั้งหมด 670 ตัวอย่าง พบการปลอมปนเพรดนิโซโลน และ/หรือ เดกซาเมทาโซน ถึง 118 ตัวอย่าง

สเตียรอยด์ใต้ดิน แหล่งระบาดใหญ่

ทว่า แหล่งข่าวภายในกระทรวงสาธารณสุขและ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวในทำนองเดียวกันว่า สเตียรอยด์ที่รั่วไหลจากระบบ น่าจะเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของสเตียรอยด์ที่แพร่ระบาด โดยสัดส่วนใหญ่สุดน่าจะมาจากการลักลอบนำเข้า หรือ สเตียรอยด์ใต้ดิน

แหล่งข่าวจากระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉพาะประเทศไทยกับประเทศลาวมีด่านวัฒนธรรม 77 ด่าน มีด่านที่ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบการส่งออก-นำเข้าสินค้าเพียง 10 ด่านเท่านั้น นอกนั้นถือว่าหละหลวมมาก

“คนของเราทดลองซื้อมาจากจีน แล้วนำเข้าผ่านลาว ก็นำเข้ามาได้ปกติ  หนึ่งถัง-สามหมื่นบาท มีตัววัตถุดิบห้าสิบกิโล สเตียรอยด์เม็ดหนึ่งใช้วัตถุดิบ 0.5 มิลลิกรัม”

ทั้งนี้ กลุ่มคนที่นำเข้าสเตียรอยด์แบบผิดกฎหมายต้องเป็นโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง เพราะคนทั่วไปคงไม่ตั้งแท่นปั๊มยาสเตรียรอยด์ขาย การลักลอบนำเข้าจะแจ้งข้อมูลเท็จว่าเป็นยาหรืออาหารสัตว์ เป็นต้น

ด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวว่า เท่าที่มีข้อมูลสเตียรอยด์ที่ลักลอบนำเข้ามาจากจีน โดยขนส่งผ่านมาทางแม่น้ำโขง กับอีกวิธีหนึ่งคือการหิ้วเข้ามา และเชื่อว่าตัวเลขการนำเข้าที่รายงาน อย. น่าจะน้อยกว่าที่เป็นจริงถึง 2-4 เท่า ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า  ผ่านกระบวนการของกรมศุลกากรโดยไม่ระบุว่าเป็นยา เช่นเดียวกับกรณียาซูโดในอดีต

“อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องจับตาคือบริษัทนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งจะเป็นโรงงานด้วยก็ได้ คือนำเข้า ผลิต ขาย มีใบอนุญาตทั้งสามใบ ถ้าเป็นการนำเข้าแบบไม่ถูกกฎหมายก็จะไม่ระบุพิกัดว่าเป็นยา พอไม่ระบุ กรมศุลฯก็จะปล่อยผ่านไปโดยไม่ทำอะไร ถ้าสงสัยถึงจะส่งไปที่ด่านให้ตรวจ ซึ่งก็ตรวจเฉพาะกลางวัน แต่ของพวกนี้เข้ากลางคืน ไม่ระบุพิกัด”

จากการสอบถามแหล่งข่าว พบว่า ปัจจุบัน ผู้ลักลอบนำเข้ายาสเตียรอยด์ผิดกฎหมายเจ้าใหญ่ๆ มีประมาณ 4-5 ราย ที่เรียกได้ว่าเป็นคนรับคำสั่งซื้อและหาวัตถุดิบมาส่ง โดยรายหนึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี

อย.เข้ม เพิ่มมาตรการดูแล

ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา อย.ได้วางมาตรการกำกับดูแลเรื่องนี้ด้วยการขอร้องเชิงบังคับกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่าย ให้ต้องรายงานข้อมูลออนไลน์ทุกครั้งที่มีการสั่งซื้อหรือจำหน่ายออกไปเรียกว่าเป็นแบบเรียลไทม์ จากที่เมื่อก่อนทำเพียงปีละครั้ง ซึ่งกว่าจะรู้การเคลื่อนไหวของ สเตียรอยด์ก็สายเกินการณ์ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ยังไม่ครอบคลุมในส่วนของร้านขายยา

ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะจังหวัดแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ข้อมูลทุกอย่าง ทุกจังหวัดมีรหัสของตัวเองและเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดูในระบบได้ว่า ตอนนี้มีการส่งยามายังสถานที่ที่ได้รับอนุญาตในจังหวัดที่ไหนบ้าง จำนวนเท่าไหร่

“ต้องเข้าใจว่า อย.ไม่มีสาขาภูมิภาค เราจึงต้องขอความร่วมมือจาก สสจ. ให้ช่วยมอนิเตอร์ว่าสเตียรอยด์จะไปที่คลินิกหรือโรงพยาบาลไหน มีบางคลินิกที่สั่งทีเยอะๆ เราก็เฝ้าดูอยู่ กรณีนอกระบบ เรามีทีมงานที่เฝ้าติดตามอยู่เช่นกัน

“ถ้าทำที่ว่ามาแล้ว สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เราก็จะยกระดับ เช่น กำหนดโควต้าว่าแต่ละแห่งซื้อได้เท่าไหร่ ตอนนี้กฎกระทรวงออกมาแล้วให้เรามีอำนาจกำหนดโควต้า ถ้ายังไม่ดีขึ้นอีก อาจจะยกระดับการควบคุมเป็นการจำกัดช่องทาง ร้านขายยาอาจจะมีไม่ได้เลย มีได้เฉพาะในโรงพยาบาลและคลินิกและต้องมีโควต้าด้วย” ภก.ประพนธ์ อธิบาย

แต่การจะไปยกระดับสู่การกำหนดโควต้าและจำกัดช่องทาง จำเป็นต้องมีข้อมูลว่า ปัจจุบัน ตัวเลขความต้องการใช้ สเตียรอยด์คือเท่าไหร่ ซึ่งพบว่า อย.ไม่มีตัวเลขที่เป็นทางการ

“เราอยากมีตัวเลขที่เหมาะสมจริงๆ ว่าที่ควรมีใช้ในเมืองไทยคือเท่าไหร่ แต่เราไม่มี เราจึงคาดหวังว่าตัวระบบจะทำให้รู้ได้ เนื่องจากสเตียรอยด์เป็นยาควบคุมพิเศษ เวลาขายหรือใช้ต้องมีใบสั่งแพทย์ ซึ่งเราอยากให้ระบบนี้เกิดขึ้นจริงจึงจะรู้ว่าปริมาณที่ต้องการใช้จริงๆ คือเท่าไหร่ ถ้าจะให้ยึดตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง เราคงต้องยึดตัวเลขที่ขายไปที่โรงพยาบาลกับคลินิกเป็นหลัก ซึ่งตัวเลขในระบบที่เราเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557  ขณะนี้ตัวเลขมีการแยกแยะแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอีกด้านหนึ่งเห็นว่าการสำรวจขั้นต้นทำได้ไม่ยาก แต่การปฏิบัติให้มีการจัดการนั้นยากกว่า เพราะยังไม่เห็นมีการดำเนินการใดๆ นอกจากให้รายงาน แหล่งข่าวกล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่นบางจังหวัดมียอดส่งออกมาก แต่กลับไม่มีการสืบสวนว่าส่งไปขายปริมาณมากด้วยเหตุใด หรือบางคลินิกในบางจังหวัดมียอดสั่งซื้อจำนวนหลายแสนเม็ดที่ขัดแย้งกับความจำเป็นในการใช้งาน กรณีเช่นนี้ มีการประสานกันในกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ อย่างไร  

ติดขัดระบบจัดการ อย.คาดปีนี้เห็นผล

อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ประการแรก อย.และสาธารณสุขจังหวัดไม่ใช่หน่วยงานด้านความมั่นคง จึงไม่มีงบประมาณและความเชี่ยวชาญเพียงพอสำหรับติดตามผู้กระทำผิด และสืบเสาะหาหลักฐาน ขณะที่ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเรียกได้ว่าซับซ้อน ลักลั่น เช่น อย.ไม่สามารถเข้าตรวจค้นสินค้านำเข้าที่สงสัยได้เอง เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากร เป็นต้น ดังนั้น การทำงานจึงต้องอาศัยการประสานงานอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพเพียงพอ

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ให้ความสำคัญกับปัญหาสเตียรอยด์ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากไม่ใช่ยาเสพติดที่ถือว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนกว่า

ในส่วนของระบบติดตามของ อย. สำหรับผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่ติดตามปัญหาการแพร่ระบาดของสเตียรอยด์แสดงความเห็นว่า ระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลดังกล่าว  ยังไม่สามารถทวนสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

ถึงกระนั้น หากมองด้วยความหวัง ปัจจุบัน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ได้บรรจุ ‘การจัดการสเตียรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย’ เป็นส่วนหนึ่งในวาระ ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสุขภาพได้มีมติรับรองไปแล้วเมื่อธันวาคมปีที่ผ่านมา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำแผนประสานงานร่วมกันทั้งตำรวจ กรมศุลกากร และ อย.

“ตอนนี้เป็นมติของสมัชชาฯแล้ว ต้องมีการบูรณาการ การเฝ้าระวังในท้องถิ่น มีการคัดกรองผลิตภัณฑ์ที่จะขาย เรามีชุดตรวจสอบสเตียรอยด์ให้ ระบบการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยต้องเกิดขึ้น เพราะตอนนี้บางภูมิภาค คนของเราได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน จะหยุดโดยทันทีไม่ได้ เรามีโมเดลที่ทำไว้และจะเอาโมเดลนี้มาขยายผล เพื่อคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่งต่อโรงพยาบาล ซึ่งมาตรการเหล่านี้ต้องทำร่วมกัน” ภก.ประพนธ์ กล่าว

ภก.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า คาดว่าระบบการติดตามแบบเรียลไทม์ที่ อย.ดำเนินการอยู่ตอนนี้จะช่วยปิดช่องโหว่ให้เล็กลงได้ โดยจะเริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นในปี 2558 นี้

จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ต้องติดตาม

 

อ่าน 'จับตา': “สถานการณ์เสตียรอยด์นอกระบบ”  
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5440

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ 
www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: