เผยผลสำรวจผักผลไม้มาตรฐาน Q  มีทั้งปลอมตราสินค้า-สารเคมีตกค้าง

ฐิฏิลักษณ์ เครือพฤกษ์ : TCIJ School รุ่นที่ 2 16 ก.ค. 2558 | อ่านแล้ว 5024 ครั้ง

จากผลสำรวจของ Thai-PAN ผักผลไม้ตรา Q ร้อยละ 62.5 พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ซ้ำถูกลักลอบปลอมแปลงเครื่องหมาย ทั้งขายเครื่องหมายให้และปลอมเครื่องหมายเอง เผยกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับยังไม่สามารถทำได้ครบวงจร ระเบียบปฏิบัติของงานราชการติดขัดเรื่องงบประมาณ (ที่มาภาพประกอบ: Thai-PAN)

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เปิดเผยผลสำรวจผัก-ผลไม้กว่าร้อยละ 40 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน จากการสุ่มเก็บตัวอย่างพืชผักและผลทั้งหมด 118 ตัวอย่าง จากตลาด ห้างค้าปลีก และสินค้าตรา ‘Q’ พบว่า ในผักผลไม้ 118  ตัวอย่าง ซึ่งเป็นผักผลไม้ที่เรานิยมบริโภคและหาซื้อได้ง่ายในตลาดสด ห้างสรรพสินค้า หรือแผงขายผักผลไม้ทั่วไปคือ คะน้า ถั่วฝักยาว พริกจินดา ผักชี กะเพรา ส้ม แอปเปิ้ล ฝรั่ง แตงโมง และสตรอเบอร์รี่

เมื่อแยกประเภทแหล่งที่มาของสินค้าเหล่านี้เป็น 3 แหล่งคือ ผักผลไม้ที่มากจากตลาดทั่วไป ผักผลไม้ตรา Q และผักผลไม้ที่มาจากห้างค้าปลีก ผักผลไม้ตรา Q พบว่า มีเพียงร้อยละ 12.5 ที่ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ขณะที่ร้อยละ 25.0 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ แต่ไม่เกินค่า MRLs ที่เหลืออีกถึงร้อยละ 62.5 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่า MRLs สุดท้ายคือผักผลไม้ที่มาจากห้างค้าปลีก พบว่า ร้อยละ 35.6 ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร้อยละ 11.1 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง แต่ไม่เกินค่า MRLs และอีกร้อยละ 53.3 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่า MRLs

จากผลการตรวจสอบข้างต้นเป็นที่น่าสังเกตสำหรับผู้บริโภคว่า เหตุใดผัก-ผลไม้ที่มีสัญลักษณ์รับรองจึงมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานและเหตุการณ์ดังกล่าวนี้มีจุดบกพร่องอยู่ที่ใด

สวมรอยกันที่ต้นทาง

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นผู้กำกับดูแลให้การรับรองสินค้าและ/หรือส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกร โดย มกอช. เป็นผู้ประสานงาน จัดทำระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อประโยชน์ในการควบคุม กำกับดูแลการใช้เครื่องหมาย ‘Q’ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้กรณีที่มีการปลอมแปลงเอกสารใบรับรองหรือกรณีที่สินค้ามีปัญหา การจัดทำระบบฐานข้อมูลดังกล่าวจะสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ผลิตบางรายจึงเห็นว่าเครื่องหมาย Q คือเครื่องมือเพิ่มมูลค่าผลผลิต และใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้เครื่องหมายมาติดลงบนผลิตภัณฑ์ของตน แม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะไม่ได้มาตรฐานจริง

ตัวแทนเกษตรกรภาคกลางรายหนึ่ง เล่าถึงเรื่องของการปลอมแปลงบรรจุภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมาย Q เพื่อเพิ่มราคาจำหน่ายได้สูงกว่าราคาตามท้องตลาดทั่วไปที่เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ว่า มีการปลอมแปลง 2 วิธี ที่พบเห็นบ่อยคือ 1.ฟาร์มที่ผ่านการตรวจประเมินและเกณฑ์ในการให้การรับรองขายบรรจุภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายรับรองแล้วให้กับฟาร์มอื่นที่ยังไม่ผ่านการประเมิน กล่าวคือนำสินค้าเกษตรที่ได้รับรองมาตรฐานและไม่ได้รับรองมาตรฐานมาบรรจุภายใต้เครื่องหมาย Q จัดส่งจำหน่ายแก่ผู้รับซื้อต่อไป

และ 2.มีการจัดทำบรรจุภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายรับรองขึ้นมาเอง โดยสังเกตได้จากการที่ไม่มีเลขรหัสประเภทการรับรองในระบบของการตรวจสอบเพื่อขอรับการรับรองนั้น ตัวแทนเกษตรกรเล่าว่า บางฟาร์มมีการแบ่งแปลงที่สำหรับตรวจไว้โดยเฉพาะ คือเมื่อมีการสุ่มตรวจก็จะให้เข้าตรวจแปลงที่มีระบบการผลิตที่เหมาะสม แต่เมื่อจัดจำหน่ายก็เก็บผลผลิตรวมกับแปลงที่ใช้สารเคมีปกติ

กระบวนการรวบรวมผลผลิตไม่เอื้อการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมายมีการรับรองเพื่อป้องกันการทำผิดไว้ โดย น.สพ.ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการ มกอช. ย้ำเรื่องความผิดในการปลอมแปลงว่า

“หากมีการพบการปลอมแปลงคงต้องมีการดำเนินการทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 ซึ่งได้ระบุโทษของการปลอมแปลงไว้ คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

น.สพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า เกษตรกรยังไม่มีความตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานรับรองว่าต้องการให้ควบคุมการใช้สารเคมี เนื่องด้วยความรู้ความเข้าใจของผลกระทบจากการใช้สารเคมี ทั้งต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค ปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างเชื่อมโยงกันอย่างไร

ขณะที่การจำหน่ายขึ้นอยู่กับจำนวนของผลผลิตและความสามารถในการส่งจำหน่ายของแต่ละฟาร์มเริ่มตั้งแต่ตลาดทั่วไปจนถึง Modern trade ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นการกดทับเกษตรให้เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตที่มีต้นทุนในการผลิต แต่ก็ไม่สามารถกำหนดราคาเพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุนนั้นได้ ผู้บริโภคปลายทางก็เป็นเพียงผู้รับซื้อที่ไม่สามารถทราบที่มาของสินค้าที่ตนเองซื้อว่าตรงกับความต้องการมากหรือน้อยแค่ไหน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีเพียงสัญลักษณ์มาตรฐานและราคาจำหน่ายที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นใบรับประกันคุณภาพสินค้าให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ในระบบการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าจะขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่รับซื้อ

เกษตรกรยังเล่าเพิ่มเติมเรื่องการขายผลผลิตว่า เกษตรกรรายย่อยจะไม่มีผลผลิตมากพอส่งให้กับตลาดใหญ่ จึงต้องขายให้กับตลาดทั่วไปใกล้ชุมชน หรือส่งผลผลิตต่อให้กับผู้รับซื้อนำไปรวมกันอีกที อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง การขายให้ผู้รับซื้อไปรวมกันก็อาจไปรวมกับผลผลิตที่มีคุณภาพไม่เท่า กันทั้งหมด แต่ราคารับซื้อกลับเท่ากันหมด ผู้รวบรวมก็เพียงส่งต่อให้กับตลาดขนาดใหญ่เพื่อนำไปจำหน่ายตามสาขาต่างๆ ต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ น.สพ.ศักดิ์ชัย เคยกล่าวถึงปัญหาการปลอมแปลงในสื่อสำนักหนึ่งว่า สินค้าตัว Q ยังมีปัญหาในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ ไม่สามารถทำได้ครบวงจร ตรวจได้แค่ครึ่งทางจากปลายทาง-กลางทาง หรือศูนย์รวบรวมผลผลิตเท่านั้น ไม่สามารถตรวจย้อนไปถึงต้นทางหรือแหล่งผลิต ซึ่งขั้นตอนการรับซื้อของตลาดขนาดใหญ่กับการเลือกซื้อจากผู้รวบรวมผลผลิตแต่ละแหล่งนั้นจะมีกระบวนการตรวจสอบ สุ่มตรวจ หรือตรวจสอบย้อนกลับก่อนจำหน่ายในลักษณะค้าปลีกให้กับผู้บริโภคอย่างไร ถือเป็นมาตรการของตลาดแต่ละแหล่งอีกเช่นกัน ทั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับผู้บริโภคจะเชื่อมั่นและเลือกซื้อตามความสมัครใจ

ช่องโห่วที่ขยับห่างจาก ‘ระเบียบปฏิบัติ’

ผศ.พีรชัย กุลชัย ผู้ตรวจเกษตรอินทรีย์อิสระ กล่าวว่า

“มาตรฐานเกิดจากการที่เราไม่สามารถขายให้กับผู้บริโภคโดยตรงได้ และเพราะผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงผู้ผลิตได้ ตัวมาตรฐานจึงเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบผลผลิตในฐานะตัวแทนของผู้บริโภค ตัวมาตรฐานมีหลายแบบ มาตรฐานที่ออกโดยราชการ มาตรฐานที่ออกโดยเอกชน มาตรฐานที่รับรองโดยองค์กรต่างประเทศ”

สรุปจากตารางจะเห็นว่า เครื่องหมายของแต่ละองค์กรมีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกรแต่ละราย เมื่อพิจารณากันที่มาตรฐานที่ออกโดยองค์กรภาครัฐ ผศ.พีรชัยให้ความเห็นว่าการทำงานในระบบราชการเป็นการทำงานตามงบประมาณ จึงทำให้ขาดความต่อเนื่องและระบบตรวจสอบซ้ำก็ไม่สามารถตรวจสอบซ้ำได้ แม้ค่าใช้จ่ายไม่เป็นต้นทุนของเกษตรกร แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกษตรกรตระหนักได้ว่ามีคุณค่า

ขณะที่ผู้ตรวจไม่มีทัศนคติที่ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เป็นเพียงการตรวจตามหน้าที่ เมื่อระบบการตรวจไม่เสถียร เมื่อได้เครื่องหมาย Q แล้วจึงนำไปขายให้กับรายอื่น ซึ่งถ้าหน่วยตรวจสอบรู้จะต้องเข้าไปตรวจสอบ แต่ในระบบของการตรวจสอบย้อนกลับยังไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ

ทางแก้ อาจต้องให้เกษตรกรที่ต้องการตรวจ ต้องร่วมออกค่าใช้จ่ายบางส่วนให้แก่ผู้ตรวจ เช่น ค่าเดินทาง เพราะข้าราชการที่ต้องออกตรวจมีหน่วยงานอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว หรือถ้าเป็นการรับการตรวจสอบเป็นกลุ่มก็จะยิ่งเป็นการเหมาะ เพราะเท่ากับการลงพื้นที่ครั้งเดียวสามารถตรวจหลายฟาร์มได้ในคราวเดียว กลุ่มเกษตรเองก็สามารถช่วยกันเฉลี่ยเรื่องค่าเดินทางไปตรวจได้ เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นของมาตรฐานให้น่าเชื่อถือ ในส่วนของราชการจะสามารถเขียนของบประมาณในการสุ่มตรวจประกบไปได้ด้วย

ผศ.พีรชัย กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า “เกษตรอินทรีย์ไม่ได้เป็นการรับรองว่าผลผลิตไม่มีสารเคมี เนื่องจากในธรรมชาติมีสารเคมีอยู่แล้ว แต่เป็นการรับรองว่ากระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนปราศจากการใช้สารเคมีอย่างเต็มที่และอยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้”

อ่าน 'จับตา': “หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายรับรอง Q กับสินค้าเกษตรและอาหาร”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5683

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: