‘ตัวตนและภาพตัวแทน’ โรฮิงญา คนไร้รัฐไม่ไร้ราก

คุณวุฒิ บุญฤกษ์: 17 พ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 4094 ครั้ง


บทความชิ้นนี้ ตัดทอนจากบทหนึ่งในวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนเรื่อง ‘ผู้พลัดถิ่นชาวโรฮิงญาในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า’ ซึ่งนำเสนอ ข้อถกเถียงจากหลักฐานของนักวิชาการทั้งด้าน ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และมานุษยวิทยา จากสำนักต่างๆ เกี่ยวกับที่มาของชาวโรฮิงญา  เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณา และ เห็น ‘ความหลากหลาย’ ก่อนการสรุป ตีค่า ประเมินทางออกของปัญหานี้ร่วมกัน

โรฮิงญาคือใคร : บทสำรวจตัวตน

นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มมองว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนพื้นเมืองของรัฐอาระกัน ในขณะที่บางกลุ่มเห็นว่าเป็นกลุ่มมุสลิมที่อพยพมาจากเบงกอล (ประเทศบังคลาเทศ) เข้ามาสู่พม่าด้วยกฏบังคับของอังกฤษ

นักประวัติศาสตร์ชาวพม่า Aye Chan (2005) เสนอไว้ว่า  คำว่า “โรฮิงญา” ถูกใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1951 โดยปัญญาชนมุสลิมชาวเบงกาลีในตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอาระกัน ที่เป็นลูกหลานโดยตรงของผู้อพยพจากเมืองจิตตะกอง (Chittagong) ของเบงกอล มาสู่รัฐอาระกัน  หลังจากที่เมืองจิตตะกองถูกยึดครองโดยอังกฤษในปี ค.ศ. 1826 การที่ Chan อ้างว่าปี พ.ศ. 2494 เป็นครั้งแรกที่คำว่า ‘โรฮิงญา’ ปรากฎขึ้น ก็เสมือนการกล่าวเป็นนัยว่าชาวโรฮิงญาไม่เคยปรากฎในประวัติศาสตร์พม่ามาก่อน ดังนั้นคนกลุ่มนี้คือ ‘ผู้อพยพมาใหม่’

ขณะที่ Jacques Leider (2012) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รัฐอาระกัน ชี้ให้เห็นว่ามีการใช้คำว่า ‘Rooinga’ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18ในบทความของ Francis Buchanan ที่ชื่อว่า “A comparative vocabulary of some of the languages spoken in the Burma Empire” ว่าชาว ‘Mohamedans’ เป็นชนชาติที่อยู่ในอาระกันมาอย่างยาวนาน และเรียกตัวเองว่า “Rooinga” นอกจากนี้ Leider ยังอ้างข้อมูลทางด้านภาษาศาสตร์จาก Thibautd’Hubert ผู้เชี่ยวชาญภาษาเบงกาลี ว่าคำว่า “Rohingya” อาจเพี้ยนมาจากคำว่า “Rakhanga” ซึ่งเป็นชื่อเก่าแก่ของรัฐอาระกัน หรือคำว่า “Roshanga” ชื่อของรัฐอาระกันในภาษาเบงกาลี  

ข้อถกเถียงนี้ ตรงข้ามกับข้อถกเถียงแรก เพราะนั่นหมายถึงว่าชาวโรฮิงญา คือ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวอาระกันในพม่านั่นเอง โดย Leider กล่าวว่า ข้อถกเถียงนี้ นับว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมในการเป็นชนพื้นเมืองของชาวโรฮิงญา 

นอกจากนี้ ในงานที่ศึกษาผ่านมา เช่น งานของ Khin Maung Saw (1993) Aye Chan (2005)  Zul Nurain (2012) และ Jacques Leider (2012) ก็ล้วนเป็นงานศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โดยมุ่งหาคำอธิบายที่เกี่ยวกับที่มาของชาวโรฮิงญาในอดีต และมิติทางด้านความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ มากกว่าที่จะศึกษาวิถีชีวิตของชาวโรฮิงญาในปัจจุบัน มีเพียงงานของ Jean Berlie (2008) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการกลืนกลาย (Assimilate) ชาวมุสลิมในประเทศพม่า ที่กล่าวถึงกรณีของชาวโรฮิงญาว่า รัฐบาลพม่ามีกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ที่แฝงไว้ด้วยอคติต่อชาวโรฮิงญามาโดยตลอด เช่น การกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกก่อการร้าย หรือกระบวนการทำให้ชาวโรฮิงญาหมดความเข้มแข็งลงไป เช่น การกักขังแกนนำมุสลิมชาวโรฮิงญา การจำกัดการมีครอบครัว การจำกัดการเดินทาง และการทำให้กลายเป็นต่างชาติด้วยการกล่าวหาว่าชาวโรฮิงญานั้นเป็นกลุ่มเดียวกันกับชาวเบงกาลี

อย่างไรก็ตาม Berlie ศึกษาและพบว่าชาวโรฮิงญานั้นอาศัยอยู่ที่รัฐอาระกันเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ก่อนที่รัฐโบราณนี้จะถูกครอบครองโดยพม่า ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเป็นคนที่ถูกต้องตามกฎหมายของกฎหมายพม่า

นอกจากนี้งานของ Farzana (2011) นับว่าเป็นงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งขยายขอบเขตงานเก่าๆ นอกเหนือไปจากรากความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ในรัฐอาระกัน โดย Farzana ชี้ให้เห็นว่า การถูกบังคับให้อพยพออกจากมาตุภูมิ  คือรัฐยะไข่ในปัจจุบัน ของชาวโรฮิงญา  โดยหน่วยงานรักษาความปลอดภัยตามชายแดนของรัฐบาลพม่า (Border Security Force or NaSaKa) ไปยังชายแดนบังคลาเทศ 

ปัญหาที่ น่าเป็นห่วงคือ ทั้งพม่าและบังคลาเทศต่างก็ปฏิเสธที่จะให้สัญชาติแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา  ทำให้ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้กลายเป็นบุคคลไร้รัฐ (stateless people) ไม่ได้รับการป้องกันสิทธิขั้นพื้นฐานเท่ากับคนที่มีสัญชาติตามปกติ ซึ่งในยุคของความเป็นรัฐชาติ คนจำนวนมากเหล่านี้ไม่สามารถจะกลายเป็นคนไร้สัญชาติตลอดไปได้

ฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นคือการค้นหาว่าสิ่งใดที่จะสามารถยืนยันอัตลักษณ์ของผู้ลี้ภัยไร้สัญชาติของเขาได้ การสร้างอัตลักษณ์ใหม่ในดินแดนพลัดถิ่นของชาวโรฮิงญากลุ่มนี้คือความน่าสนใจของงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่ง Farzana เสนอว่า อัตลักษณ์ของชาวโรฮิงญานั้นมีอยู่จริง และซุกซ่อนอยู่ในความทรงจำทางสังคม (social memory) ในอดีต ทั้งในระดับปัจเจกและส่วนรวม และอยู่ในเหตุการณ์ก่อนที่เขาจะกลายเป็นคนไร้สัญชาติ

นั่นคือ มุมมองและข้อค้นพบของนักวิชาการ จากหลักฐานด้านต่างๆ   แล้วสำหรับชาวโรฮิงญาเอง เขามองตัวเองอย่างไร เป็นประเด็นที่สำคัญมาก 

จากการที่ผู้เขียน ได้ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยบริเวณชายแดนไทย พม่า  พบว่า  ชาวโรฮิงญามองว่าอัตลักษณ์ของตัวเองมาจาก มาตุภูมิของบรรพบุรุษที่อยู่ในรัฐอาระกันของพม่า และเป็นที่ๆ รู้สึกว่า ‘ตนเป็นส่วนหนึ่ง’ (Belong) โดยที่อัตลักษณ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษา วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ไม่ได้ถูกลดทอนหรือเปลี่ยนแปลงในระหว่างที่ชาวโรฮิงญาเป็นคนไร้สัญชาติ ซึ่งชุมชนของของชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นกลุ่มนี้ก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ทั้งๆ ที่ไมได้อยู่ที่รัฐอาระกัน แต่อัตลักษณ์ในหลายๆ ด้านก็ยังคงถูกรักษาอยู่ในความทรงจำและวิถีทางวัฒนธรรมในแบบคนพลัดถิ่น

เสียงจากตัวจริง ในพื้นที่ชายแดนไทย

ช่วงสองปีที่ผู้เขียนทำวิจัยเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา และได้มีโอกาสไปมาหาสู่กับคุณลุงชาวโรฮิงญาวัย 63 ปี ที่อพยพมายังชายแดนไทย-พม่า ผู้เขียนพบว่าบ้านของลุงคนดังกล่าว นอกจากจะเป็นบ้านที่ใหญ่ที่สุดของชาวโรฮิงญาในชายแดนแห่งนี้แล้ว ยังเป็นสถานที่ๆ ชาวโรฮิงญาในวัยอาวุโสไว้นัดพบปะกัน รวมถึงในบางวันยังมีการทำอาหารไว้เลี้ยงชาวโรฮิงญาด้วยกัน ทั้งที่เป็นญาติพี่น้อง คนที่ทำงานส่งของทางไกล และครูสอนภาษาอังกฤษชาวโรฮิงญาที่สอนภาษาอังกฤษให้ลูกหลานของลุงในทุกๆ เย็น บ้านหลังนี้จึงมีนัยยะเสมือน “ศูนย์กลางทางสังคม” ของชาวโรฮิงญา ถัดจาก “บาแลบังคลาเทศ” (มัสยิดที่สร้างโดยชาวบังคลาเทศอพยพ) ในยุคที่ชาวโรฮิงญาเพิ่งจะเข้ามาทำธุรกิจได้ไม่นาน

ผู้เขียนพบว่า สำหรับพวกเขา อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ยังคงดำรงอยู่ ผ่านภาษาที่ใช้ หรือป้ายเขียนต่างๆ ที่ยังมีคำว่า “อาระกัน” ที่มีความหมายของมาตุภูมิแฝงอยู่ในนั้นตลอดเวลา การเลี่ยงใช้คำว่า “โรฮิงญา” ไปใช้คำว่า “อาระกัน” อาจเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะยังคงธำรงไว้ถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ปลอดภัยจากการเฝ้ามองของรัฐ

ก่อนจะเป็นผู้พลัดถิ่น: ชีวิตที่มาตุภูมิของชาวโรฮิงญา

มุสลิมในพม่าส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่แถบรัฐอาระกัน (Arakan State) และย่างกุ้ง (Yangon) นอกเหนือจากนี้จะอาศัยอยู่ในแถบเมืองเมาะละแหม่ง (Mawlamyine) มิตจีนา (Myitkyina) บาโม (Bhamo) และ ล่าเสี้ยว (Lashio) โดยส่วนใหญ่แล้วมุสลิมเชื้อสายอินเดียมักจะอาศัยในแถบเมืองย่างกุ้งและเมาะละแหม่ง  ในขณะที่มุสลิมปันเต (Panthay) หรือมุสลิมเชื้อสายจีนมักจะอาศัยในแถบเมืองมิตจีนาและเมืองบาโม ในรัฐคะฉิ่น รวมถึงเมืองล่าเสี้ยวทางตอนเหนือของรัฐฉาน อย่างไรก็ตามชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งในรัฐอาระกันมักจะถูกแยกออกจากการเป็น “มุสลิมพม่า" เนื่องจากการถูกตราให้เป็น ‘ผู้อพยพผิดกฏหมาย’ จากรัฐบาลพม่า (Yegar 1972 และ Berlie 2008)

กลุ่มมุสลิมดังกล่าวเรียกตัวเองว่า “โรฮิงญา” แต่รัฐบาลพม่าเรียกว่า ‘เบงกาลี’ เพื่อที่จะแยกให้เป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมายและเป็น ‘ชาวต่างชาติ’  และส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงการทำสำมะโนประชากรของพม่าในช่วงต้นปี ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา (BBC 2014)

หากย้อนกลับไปพูดถึงต้นทางของชาวโรฮิงญาที่อาระกัน  เราอาจต้องทำความเข้าใจกับการถูกปฏิเสธความเป็น “พลเมืองพม่า” ของชาวโรฮิงญา เมื่อประเทศพม่าได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2491 นั้น รัฐชาติ (Nation state) ได้เกิดขึ้นแล้ว มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องพลเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่ง แต่สำหรับชาวโรฮิงญาที่อาจกล่าวได้ว่าเคยเป็นพลเมืองพม่า ในสมัยก่อนรัฐบาลของนายพลเนวิน กลับกลายเป็นคนไร้รัฐ ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2517 และพระราชบัญญัติพลเมือง พ.ศ.2525 ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในพม่าในเวลาต่อมา (Mohammed Ashraf Alam 2011) มากไปกว่านั้นชื่อของชาวโรฮิงญาซึ่งไม่ปรากฏในรายชื่อ 135 ชนชาติที่มีในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทำให้ชีวิตในอาระกันของชาวโรฮิงญา มักถูกปฏิเสธจากการจ้างงาน การเข้าถึงการศึกษา การค้าขาย และจำกัดการเคลื่อนไหวต่างๆอย่างเข้มงวด 

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เขียนจะเห็นว่าชื่อเรียกของชาวโรฮิงญาเหล่านี้ได้ถูกทำให้เป็น ‘การเมือง’ ที่ว่าด้วยเรื่องของการเป็น เจ้าของพื้นที่  (ซึ่งอยู่ในพม่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ) หรือการเป็น ‘ผู้อพยพมาใหม่’ ของชาวโรฮิงญาก็ตาม การหยิบยกประเด็นเรื่องที่มาของชื่อขึ้นมากล่าวถึง เป็นเพียงความต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งเรื่องความคิดทางประวัติศาสตร์ที่ว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพหรือเป็นผู้อยู่มาก่อนนั้นกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ผลักดันให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องอพยพออกจากประเทศพม่ามาเป็นคนไร้รัฐและพลัดถิ่นจากมาตุภูมิดังเช่นทุกวันนี้

แต่ใครเล่าจะต้องการระเหเร่ร่อนและตกในสภาพคนไร้รัฐ  ที่กำหนดอนาคตไม่ได้  สื่อสารความจริงที่ถูกต้องใดๆไม่ได้

 

(อ่านบทความตอนที่สอง ‘ตัวตนและภาพตัวแทน’ โรฮิงญา การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์)

 

อ้างอิง

Aye Chan. 2005.The Development of a Muslim Enclave in Arakan State of Burma, SOAS (Myanmar)". SOAS
          Bullentin of Burma Research, Vol3, No.2.

Fardana, Kazi Fahmida. 2011. Forced migration and statelessness: Voices and memories of Burmese
          Rohingya refugees in Bangladesh. Unpublished PhD Dissertation, National University of Singapore,                 Singapore.

Jean Berlie. 2008. The Burmanization of Myanmar’s Muslim. (1sted.).Thailand, White Lotus Co.,Ltd

Leider, Jacques. 2012. “Rohingya”: An historical and linguistic (Online). Available
          http://www.networkmyanmar.org/images/stories/PDF13/jacques-leider.pdf

Mohammed Ashraf Alam. 2011. “Marginalization of TheRohingya in Arakan State Of Western
          BURMA”(Online). Available http://www.burmaconcern.com/pdf_ftp/report/marginalization_rohingya.pdf

U KhinMaung Saw. 1993. "The Rohingya, Who Are They? The Origin of the Name Rohingya".International
          Conference. Berlin.

Yegar, Moshe. 1972. The Muslims of Burma. A Study of a Minority Group. Wiesbaden: Otto Harrassowitz.

Zul Nurain. 2009.  “Rohingya History: Myth and Reality” (Online). Available
          http://burmadigest.info/2009/12/28/rohingya-history-myth-and-reality/comment- page-2

BBC News. 2014. Burma census bans people registering as Rohingya. ”(Online). Available
          http://www.bbc.com/news/world-asia-26807239

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: