พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง: เส้นทางสู่รัฐทหารและรัฐล้มเหลว

ภัควดี วีระภาสพงษ์ 17 พ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 2414 ครั้ง


พ.ร.บ.นี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากและมีแนวโน้มจะสร้างความปั่นป่วนให้สังคมไทยไม่น้อย  ผลกระทบของมันจะประเมินได้อีกทีก็เมื่อเริ่มมีการเรียกตัวทหารกองหนุนไปสักครั้งสองครั้ง  เสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่า พ.ร.บ.นี้จะทำให้การเรียน รด. ไม่มีความหมาย ซึ่งคงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะการเรียน รด.ก็ยังหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ทหารเป็นเวลาสองปี แล้วเสี่ยงกับการถูกเรียกในฐานะกำลังพลสำรองแค่สองเดือน

คำถามที่น่าถามมากกว่าคือ ทำไม?  ในภาวะที่ประเทศไทยไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรงกับประเทศเพื่อนบ้าน  ไม่มีแนวโน้มจะเกิดสงครามใหญ่ๆ  มิหนำซ้ำเศรษฐกิจก็อยู่ในภาวะชะลอตัว  งบประมาณของประเทศก็กำลังมีปัญหาขาดดุล  เหตุใดรัฐบาลทหารจึงต้องการใช้กฎหมายนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและงบประมาณของประเทศไม่น้อยทีเดียว

ปัญหาด้านการเมือง-สังคม

เราคงอธิบายเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากคาดว่ารัฐบาลทหารต้องการสร้างรัฐทหารสมบูรณ์แบบขึ้นมาในประเทศไทย  ชุดวิธีคิดของทหารที่อยู่แต่ในค่ายทหารและไม่ค่อยรับรู้โลกภายนอก ทหารจึงมีความเชื่อว่าวิธีการของตัวเองดีที่สุด ระบบจัดตั้งของตัวเองดีที่สุด และเนื่องจากกองทัพไทยไม่เคยรบกับใครมานมนาน กองทัพไทยจึงไม่เคยประเมินประสิทธิภาพของตัวเองอย่างจริงจัง มีแต่ความเชื่อลม ๆ แล้ง ๆ ว่ากองทัพไทยมีความยิ่งใหญ่ไร้เทียมทาน  ทั้งยังเชื่อว่าตัวเองเป็นองค์กรที่รักชาติรักสถาบันมากกว่าใครอื่นในประเทศนี้ (ซึ่งก็ยังไม่มีบทพิสูจน์อย่างจริงจังเช่นกัน)

เมื่อรัฐบาลทหารยึดอำนาจปกครองประเทศไทยและเผชิญกับการขัดขืนท้าทายจากประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ   กองทัพจึงคิดว่าจะสามารถกดปราบความคิดเห็นขัดแย้งนั้นได้ด้วยกำลังข่มขู่และการล้างสมอง  กองทัพพยายามรุกคืบเข้าไปในทุกบริบทของสังคมไทย ทั้งด้านการศึกษาที่บังคับให้นักเรียนต้องท่องคำขวัญ 12 ประการ  การคุกคามข่มขู่นักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย  การเข้าไปแทรกแซงควบคุมการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองของประชาชน ฯลฯ  รัฐบาลทหารคงคิดว่าวิธีการข้างต้นทั้งหมดยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงน่าจะเกณฑ์ชายไทยเข้ารับการอบรมฝึกทหาร พร้อมกับปรับทัศนคติครั้งใหญ่ไปพร้อม ๆ กัน

กองทัพคงคิดว่าวิธีการนี้จะมีประโยชน์แบบยิงปืนนัดเดียว นกร่วงทีเดียวหลายตัว นอกจากเกณฑ์ประชาชนชายทุกวัยเข้าไปปรับทัศนคติให้รักใคร่ชื่นชมกองทัพแล้ว  พ.ร.บ.นี้ยังน่าจะเปิดช่องให้กองทัพสามารถเกณฑ์บรรดาประชาชนหัวแข็งที่ติดแบล็กลิสต์ไม่สยบยอมต่อกองทัพให้ต้องเข้าค่ายทหารอย่างน้อยสองเดือน  เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ปรับทัศนคติโดยไม่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน  ในแง่หนึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเป็นการทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนบางด้านถูกกฎหมายเสียเลย

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังกำหนดว่า เมื่อมีภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก กองทัพสามารถระดมพลสำรองได้ทันที  นี่เป็นวิธีการอันแนบเนียนในการกดปราบประชาชนหากมีการรัฐประหารครั้งต่อไป  แทนที่จะปล่อยให้ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ก็เกณฑ์ประชาชนจำนวนหนึ่งไปเป็นพวก หรือกลุ่มไหนที่มีแนวโน้มจะต่อต้าน ก็เกณฑ์เข้ามาไว้ในกองทัพเสียเลย  การรัฐประหารครั้งต่อ ๆ ไปก็จะยิ่งราบรื่นสะดวกโยธิน

แต่สิ่งที่กองทัพอาจนึกไม่ถึงก็คือ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา กองทัพมีแต่ประสบการณ์ของการฝึกอบรมเยาวชนไทยที่เป็นวัยรุ่นและวัยหนุ่มอ่อน  นักศึกษาวิชารักษาดินแดนอยู่ในวัยมัธยมปลายและทหารเกณฑ์ก็อยู่ในวัยยี่สิบต้น  เยาวชนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำงานเป็นหลักเป็นฐาน ประสบการณ์ชีวิตในด้านต่าง ๆ ยังไม่มีมากนัก  ในขณะที่กำลังพลสำรองที่กองทัพจะเรียกเข้าไปรับการฝึกอบรมนั้น จะมีประชาชนวัยผู้ใหญ่ที่เรียนจบแล้ว ทำงานแล้ว มีครอบครัวแล้ว สั่งสมทักษะความรู้ความสามารถและประสบการณ์แตกต่างกันไป บางคนอาจผ่านการเรียนและการทำงานในต่างประเทศ เคยเดินทางท่องเที่ยวเห็นโลกกว้าง บางคนประสบความสำเร็จในที่ทำงาน และต่างคนก็ก่อรูปทัศนคติประจำตัวที่ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ เหมือนเยาวชน  ทหารในกองทัพที่มีประสบการณ์และความรู้ความสามารถด้อยกว่าในหลาย ๆ ด้าน หากยังคงใช้วิธีการเก่า ๆ ในการฝึกอบรม การบังคับอย่างไม่มีเหตุผล การว้าก การทำโทษ การทวงบุญคุณ ฯลฯ  ผลสะท้อนที่ย้อนกลับมาจากกำลังพลสำรองเหล่านี้อาจตรงกันข้ามกับที่กองทัพคาดหวัง  การปรับทัศนคติอาจกลายเป็นไปในทางตรงกันข้าม  ความรู้สึกต่อต้านอาจรุนแรงกว่าเดิม และความแตกแยกในสังคมไทยอาจแปรผันจากความคิดแตกต่างด้านการเมืองมาเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกองทัพก็ได้

ปัญหาด้านเศรษฐกิจ

ประเด็นที่หลาย ๆ คนกังวลกันอย่างมากก็คือปัญหาด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ประเด็นที่หลายคนพูดถึงก็คือการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากคนวัยทำงานต้องเข้าไปใช้เวลาในค่ายทหารสองเดือน  การที่นายจ้างถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินเดือนแก่ลูกจ้างที่ถูกเรียกตัว อีกทั้งยังไม่มีคำตอบด้วยว่า หากผู้ถูกเรียกตัวประกอบอาชีพอิสระ ช่วงเวลาสองเดือนที่ถูกเรียกตัวนั้น ทางการจะชดเชยและช่วยเหลือตัวเขาและครอบครัวอย่างไร

ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ  นั่นหมายความสัดส่วนของคนหนุ่มสาวและคนวัยทำงานชาวไทยลดลงหรือมีไม่พอต่อการเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจ  รัฐบาลทหารกำลังซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนกำลังการผลิตในภาคเศรษฐกิจ ด้วยการเกณฑ์ผู้ชายวัยทำงานกว่าสี่หมื่นคนเข้าไปอยู่ในค่ายทหารทุกปี  นอกจากกำลังการผลิตที่หดหายไปแล้ว ภาวะความไม่แน่นอนของการจะถูกเรียกตัวหรือไม่ ย่อมทำให้ผลิตภาพของคนทำงานลดต่ำลง  นักลงทุนจากต่างประเทศย่อมไม่อยากลงทุนในประเทศที่คนทำงานอาจถูกเรียกตัวไปฝึกทหารได้ทุกเมื่อ 

เนื่องจากเรากำลังก้าวเข้าสู่การเปิดเสรีอาเซียน  พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง  ทั้งในแง่ความน่าดึงดูดของการลงทุน  หรือในแง่การจ้างงานที่สถานประกอบการอาจหันไปจ้างงานชาวต่างชาติมากกว่า  สุดท้ายแล้วอาจทำให้เกิดภาวะคล้ายยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งชาวจีนที่ไม่ต้องเกณฑ์แรงงานกลายเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่าและกุมอำนาจเหนือเศรษฐกิจไทยได้ในที่สุด  ในขณะที่คนไทยเจ้าของประเทศแท้ ๆ ต้องเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปกับการเป็นเลกไพร่เข้าเดือนออกเดือนหรือระบบเกณฑ์แรงงานแบบอื่น ๆ

การที่ประเทศไทยมีภาคเศรษฐกิจนอกระบบค่อนข้างใหญ่ ประกอบกับลักษณะการจ้างงานในยุคสมัยใหม่ที่ทำให้เกิดการเหมาช่วงงาน การรับงานไปทำที่บ้านหรือฟรีแลนซ์เพิ่มมากขึ้น  การเกณฑ์กำลังพลสำรองจะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจแก่คนกลุ่มนี้มากที่สุด  เพราะคนกลุ่มที่จ้างงานตัวเองไม่มีนายจ้างมาจ่ายเงินเดือนให้  ทางกองทัพเองก็ยังไม่มีมาตรการที่แน่ชัดว่าจะชดเชยอย่างไร  การเกณฑ์คนกลุ่มนี้ไปเป็นกำลังพลสำรองจะทำให้พวกเขาไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว  หนี้สินที่เกิดจากการผ่อนรถผ่อนบ้านต้องขาดชำระ กิจการที่สร้างไว้ต้องหยุดชะงัก นำไปสู่การเกิดปัญหาหนี้ค้างชำระ หนี้นอกระบบ การล้มละลาย ฯลฯ

พ.ร.บ.กำลังพลสำรองจะทำให้เกิดภาระงบประมาณแก่ประเทศด้วย  ในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยในระดับโลก อีกทั้งประเทศไทยมีภาวะซบเซาและมีศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจต่ำลงกว่าเพื่อนบ้านอยู่แล้ว  แทนที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลทหารกลับเพิ่มภาระด้านงบประมาณให้ประเทศ  ทุกวันนี้กองทัพมีภาระต้องเลี้ยงดูทหารกว่าสามแสนนาย  งบประมาณกองทัพก็เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ และไม่มีทีท่าจะลดลง  สาธารณูปโภคและการขนส่งคมนาคมของประเทศก็เริ่มล้าหลังกว่าประเทศอื่นในทุกด้าน  แต่เรากลับต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อเลี้ยงดูกำลังพลสำรองเพิ่มขึ้นอีก  นอกจากไม่ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ  ยังกลับจะต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาในหลาย ๆ ด้านแล้ว  พ.ร.บ.กำลังพลสำรองดูเหมือนมีแต่ข้อเสียมากกว่าข้อดี  และสุดท้ายแล้วอาจทำให้รัฐไทยกลายเป็นรัฐล้มเหลว (Failed State) ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม  ทั้งหมดนี้เพียงเพราะเราปล่อยให้กลุ่มคนที่ไม่รู้จักโลกมาบริหารประเทศ

และผู้เขียนยังไม่ได้กล่าวถึงปัญหาการคอร์รัปชั่นที่อาจตามมาเลยด้วยซ้ำ.....

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: