ไทยเดินหน้าดันใช้ 'กำไลคุมประพฤติ'

17 มี.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2696 ครั้ง


	ไทยเดินหน้าดันใช้ 'กำไลคุมประพฤติ'

อธิบดีกรมคุมประพฤติ ระบุการใช้มาตรการบังคับผู้ถูกคุมประพฤติเพียงอย่างเดียวจะไม่ได้ผล ชี้ พ.ร.บ.คุมประพฤติ ประกาศใช้ จะทำให้ใช้เครื่องมือควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (EM-Electronic Monitoring) ได้แพร่หลาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เร่งเสนอ ครม.พิจารณาในเดือนมีนาคมนี้ ด้านผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.คุมประพฤติ ที่ให้อำนาจรัฐมนตรี สั่งการงานคุมประพฤติ เนื่องจากมีคณะกรรมการกลั่นกรองอยู่แล้ว 

17 มี.ค. 2558 นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุมประพฤติ เป็นกฎหมายที่ต้องรองรับภารกิจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกด้าน เนื่องจากภารกิจของกรมคุมประพฤติมีหลายด้าน โดยเฉพาะการแก้ไข ฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติด ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2558 มีผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูเดือนละประมาณ 10,000 คน โดยงานในการแก้ไขฟื้นฟู กรมคุมประพฤติจะใช้วิธีการให้ผู้ต้องหาเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขตนเอง ไม่ใช่ใช้มาตรการบังคับเพียงอย่างเดียว หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ถูกคุมประพฤติการแก้ปัญหาก็จะไม่ได้ผล

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีทั้งการให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และครอบครัว เน้นใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน แต่การใช้เครื่องมือควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (EM-Electronic Monitoring) ขณะนี้ ยังไม่มีกฎหมายรองรับ หากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้จะทำให้สามารถใช้เครื่องมือ EM ได้แพร่หลายมากขึ้น สำหรับในส่วนของข้อท้วงติงเตรียมนำไปพิจารณาแก้ไข โดย พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เร่งรัดให้กรมคุมประพฤติทำประชาพิจารณ์ และขอให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้พิจารณาภายในเดือนมีนาคมนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังเน้นการสงเคราะห์ผู้กระทำผิด เพื่อลดภาระการถูกจำคุก ให้มาควบคุมที่บ้านกึ่งวิถี โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ประกาศใช้ สำหรับพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมซึ่งพนักงานคุมประพฤติต้องลงไปปฏิบัติหน้าที่ และไม่สามารถพูด หรือ เข้าใจภาท้องถิ่น สามารถจัดหาล่ามทั้งภาษามือ และล่ามที่สามารถสื่อภาษาท้องถิ่นได้ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ด้านหม่อมหลวง ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ความสำคัญของกรมคุมประพฤติกับสังคมในโครงการพัฒนากฎหมายของกรมคุมประพฤติ และรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุมประพฤติ พ.ศ.... โดยกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่มีหลายมาตราที่ให้ความสำคัญกับงานคุมประพฤติ ทั้งกรณีการให้อำนาจกับพนักงานคุมประพฤติในการเข้าไปในเคหสถาน หรือ สถานที่ใดๆ ที่ผู้ถูกคุมประพฤติอาศัย หรือ ทำงาน การกำหนดให้พนักงานคุมประพฤติสามารถสืบเสาะและใช้ดุลยพินิจให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สำนักงานคุมประพฤติได้รับคำสั่ง อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ระเบียบการพิจารณาให้ใช้อำนาจรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการ เนื่องจากกรมคุมประพฤติมีคณะกรรมการที่ต้องกลั่นกรองอยู่แล้ว

ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา กล่าวด้วยว่า สาระสำคัญของกฎหมายนี้ ยังให้อำนาจในการคุมประพฤติเยาวชน โดยมีบิดา มารดา เข้าร่วมรับฟังเงื่อนไขการถูกคุมประพฤติ และให้ร่วมวางแผนในการแก้ไขฟื้นฟูให้เหมาะสมกับผู้ถูกคุมประพฤติแต่ละราย รวมทั้งให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดทำแผน แต่ประเด็นดังกล่าวยังมีข้อท้วงติงว่าหากผู้ถูกคุมประพฤติมีความเห็นแย้งกับผู้ทำแผน บุคคลใดจะมีอำนาจชี้ขาด ส่วนหมวดสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในงานคุมประพฤติที่มีการกำหนดให้สามารถระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิด โดยมีการเยียวยาความเสียหายให้ผู้เสียหายและชุมชน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: