ในการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 58 ที่ผ่านมา เป็นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ตามข้อเสนอของคณะอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราแห่งรัฐธรรมนูญ วันที่ 3 วานนี้ เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ในร่างมาตรา (1/2/2) 14 วรรคหนึ่ง ระบุว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนโดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น"
และในวรรคสองระบุว่า "การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนาหรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน"
ทั้งนี้ อนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราฯ ได้ชี้แจงเหตุผลว่า เพื่อให้การจำกัดสิทธิของประชาชนในการพูด เขียน พิมพ์ โฆษณาไม่สามารถกระทำได้ ยกเว้นเป็นการกระทำที่เข้าข่าย คือ การก่อให้เกิดความรุนแรง หรือความไม่สงบ ดังนั้นการใช้เสรีภาพดังกล่าวอาจจะถูกจำกัดได้ด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย
นอกจากนั้น กมธ.ยกร่างฯ ยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า บทบัญญัตินั้นเขียนเพื่อป้องกันเพื่อไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไปสร้างความเกลียดชังหรือคำนิยามที่เรียกว่า hate speech (ถ้อยคำรุนแรง ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง) โดยมีข้อเสนอให้เขียนคำจำกัดความลักษณะของการกระทำความผิดหรือการกระทำที่เข้าข่ายที่ทำให้เกิดความเกลียดชังไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบที่เกี่ยวข้องด้วย
อย่างไรก็ดี ทางอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราฯ แสดงความเห็นโต้แย้งและชี้แจงว่า หลักการที่จะรับรองให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ต้องเขียนเป็นถ้อยคำที่ไม่จำกัดดุลยพินิจและวิจารณญาณของผู้ที่พิจารณาหรือถ้อยคำในกฎหมาย ดังนั้นการเขียนถ้อยคำที่ว่าเพื่อไม่ให้ใช้เสรีภาพกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม ถือเป็นกรอบที่จะใช้ในการเขียนกฎหมายอย่างละเอียดต่อไป
หลังจากที่ กมธ.ยกร่างฯได้มีการอภิปรายกันพอสมควรแล้ว จึงมีมติให้ผ่านมาตราดังกล่าว โดยให้คงถ้อยคำตามข้อเสนอของอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราฯ
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่างมาตรา (1/2/2) 15 โดยอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราฯ ได้เสนอบทบัญญัติที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โดยได้มีการอภิปรายความเห็นเพิ่มเติมจากบทบัญญัติที่ทางอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราฯนำเสนอ
โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดมาตรการป้องกันรัฐใช้สิทธิการเวนคืนที่กระทบต่อกรรมสิทธิ์ของประชาชนที่เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน รวมถึงการกำหนดกรอบระยะเวลาและวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดเป็นประเด็นการฟ้องร้องในชั้นศาล และการเวนคืนอันเป็นการกระทบสิทธิในที่อยู่ของประชาชน โดยรัฐจะต้องจัดรับฟังความคิดเห็นก่อน ทั้งนี้ที่ประชุมและอนุกมธ.ได้สรุปความเห็นให้มีการปรับถ้อยคำตามข้อเสนอก่อนที่จะผ่านการพิจารณามาตราดังกล่าว
สำหรับบทบัญญัติในมาตรา (1/2/2) 15 ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว มีบทบัญญัติวรรคแรกว่า "สิทธิในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วย ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ" วรรคสองระบุว่า "การสืบมรดกย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิในการสืบมรดกย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ"
ส่วนวรรคสาม ระบุว่า "การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกิจการของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น โดยต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น โดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด การได้มาสภาพและที่ตั้งอสังหาริมทรัพย์ ความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนและประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน และถ้ามิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
ขอบคุณภาพจากผู้จัดการออนไลน์
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น จุดเด่นของหมวดสิทธิเสรีภาพของบุคคลมีการแยกเป็น 3 ส่วน คือ บททั่วไป สิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง โดยมีคำใหม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ คือ บัญญัติว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยมีการเพิ่มคำว่า "เพศสภาพ" เข้ามาด้วย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการคุ้มครองเสรีภาพของคนกลุ่มนี้ แต่ยังไม่ถึงขั้นรับรองการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน โดยเห็นว่าในส่วนนี้น่าจะไปอยู่ในกฎหมายลำดับรองมากกว่า
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพ คือ การจำกัดเสรีภาพเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติ หรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ซึ่งเป็นการบัญญัติตามสภาพปัญหาในปัจจุบัน ที่มีการใช้คำพูดยั่วยุหรือที่เรียกว่า hate speech โดยประเด็นนี้จะเกี่ยวพันถึงการใช้เสรีภาพของสื่อสารมวลชนทุกแขนง รวมถึงในโลกออนไลน์ด้วย โดยอาจต้องมีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มฐานความผิดและการกำหนดโทษเพิ่มเติม
สรุปความเคลื่อนไหว สนช. – สปช. ประจำสัปดาห์ 12-16 ม.ค. 58
12 ม.ค. 58
ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีคำสั่งนัดประชุม 12-13 ม.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญคือการติดตามความคืบหน้าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเปิดโอกาสให้ สปช. แสดงความเห็นเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง และเสนอแนวทางป้องกันการทุจริต
กมธ.ยกร่าง รธน. เตรียมลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชน จ.สุพรรณบุรี 17 - 18 มกราคมนี้ เชื่อ จะได้แนวทางประกอบการยกร่าง รธน.ตามที่ประชาชนต้องการ
“เสรี สุวรรณภานนท์” แนะ แยกอำนาจนายกรัฐมนตรีออกจากฝ่ายนิติบัญญัติแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง ขณะที่ “ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์” ระบุต้องให้อำนาจ กกต. จัดการเลือกตั้งปราศจากการเมืองครอบงำ
สภาปฏิรูปแห่งชาติ หารือสร้างระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรมในประเทศ เน้นกระจายอำนาจ และมอบอำนาจ กกต. ให้ชัด ขณะที่ สมาชิก สปช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง เชื่อถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบได้
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผย เพิ่มเนื้อหามาตรา 7 วรรค 2 ให้ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด กรณีมีปัญหาต่อการกระทำใดที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ย้ำ พิจารณาสำนวนถอดถอนตามหลักกฎหมาย ยืนยัน ไม่มีใบสั่งจาก คสช. ถอดนายนิคม อดีตประธานวุฒิสภา นายสมศักดิ์ อดีตประธานรัฐสภาและนางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี
13 ม.ค. 58
ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รับหนังสือจากสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ และคณะ เรียกร้อง บรรจุประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับสตรีในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หวังให้สตรีมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน
ปธ.สปช. เห็นชอบให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รายงานความคืบหน้าการจัดทำรัฐธรรมนูญในการประชุมทุกนัดของ สปช.ขณะ ปธ.กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เผย พิจารณายกร่างแล้ว 29 มาตรา กังวลรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีเนื้อหายาว
ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้การรับรองเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ใหม่ หวังกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมแจกจุลสารรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูป ให้ประชาชนศึกษาหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมเสนอความเห็นประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยัน ไม่ใช่การทำประชาพิจารณ์
กรรมาธิการซักถาม สรุปจำนวนคำถามคดีถอดถอน ถามอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ 60 คำถาม นายนิคม อดีตประธานวุฒิสภา 17 ข้อและนายสมศักดิ์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร 9 ข้อ โดยจะเป็นการประชุมแบบเปิดเผยและถ่ายทอดสด ในวันที่ 15 และ 16 ม.ค. นี้
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผย มีการกำหนดหน้าที่พลเมืองห้ามยั่วยุและสร้างความเกลียดชังหรือใช้ความรุนแรงระหว่างคนในชาติหรือศาสนา พร้อมตัดฐานความผิดของพรรคการเมืองที่โยงมาจากยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ให้เป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคล
สภาปฏิรูปแห่งชาติ พิจารณาศึกษาเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดยสมาชิก สปช. ตั้งคำถามการเปิดสัมปทานเป็นการเร่งรีบหรือไม่ โดยสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับรายงานการศึกษาของ กมธ.เสียงข้างมากใน กมธ.ปฏิรูปพลังงาน ที่ให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยคะแนน 130 ต่อ 79 เสียง งดออกเสียง 21 เสียง
14 ม.ค. 58
คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับหนังสือจากสภาพัฒนาแรงงาน ขอให้ สนช.ผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ บังคับใช้เป็นกฎหมายโดยเร็ว หวังคุ้มครองสิทธิผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ
กรรมาธิการ สปช.รับการยื่นหนังสือจากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขายตรงอิสระที่ขอให้ สปช.ช่วยสร้างกลไกการค้าขายบนโลกอินเตอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติคำใหม่ “เพศสภาพ” ไว้ในรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล หวังครอบคลุมสิทธิเสรีภาพไม่เจาะจงเฉพาะเพศกำเนิดเท่านั้น
วิปสปช.เตรียมส่งรายงานความเห็นเปิดสัมปทานปิโตเลียมรอบที่ 21 ให้นายกรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ ระบุ ขึ้นอยู่กับนายกฯ และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จะเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบที่ 21 หรือไม่
15 ม.ค. 58
อดีตประธานวุฒิสภา เผย ยังไม่ได้รับคำถามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมมั่นใจสามารถชี้แจงข้อซักถามได้
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผย บรรจุสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างเต็มที่ พร้อมห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นกิจการสื่อไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ป้องกันการครอบงำและการลิดรอนสิทธิ
ประธาน สนช. นัดลงมติ ถอดถอนนายนิคม อดีตประธานวุฒิสภา นายสมศักดิ์ อดีตประธานรัฐสภา และนางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 23 ม.ค. นี้ ขณะที่ ป.ป.ช. ชี้ นายนิคม นายสมศักดิ์ ส่อทำหน้าทีโดยมิชอบ มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่นายนิคม ยืนยัน ไม่เคยหวังแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเป็น ส.ว.อีกสมัย ด้านสมศักดิ์ ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ในข้อหาปลอมแปลงร่างรัฐธรรมนูญยืนยัน เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายอุดมเดช ของแท้อย่างแน่นอน
ตัวแทนรัฐบาล เข้าหารือ ร่วมกับ ประธาน ส.ป.ช. ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ กรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการทำงาน และ กำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน
16 ม.ค. 58
สนช.ประชุมดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กรณีละเลยและไม่ยับยั้งการทุจริตในโครงการรับจำข้าว โดยวันนี้เป็นขั้นตอบข้อซักถามของคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่ปรึกษากฎหมายของอดีตนายกฯ ยืนยัน เจ้าตัวไม่เข้ามาตอบข้อซักถาม
ทีประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติประชุมลับเมื่อเวลา 11.09 นาฬิกา เพื่อหารือวิธีการซักถามกรณีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหตุผู้ถูกกล่าวหาไม่มาตอบข้อซักถามด้วยตนเอง
วิป สปช. เผย การหารือการทำงานร่วมกับรัฐบาลเป็นไปด้วยดี ด้านรัฐบาล ยืนยัน ให้การสนับสนุนการทำงาน สปช.เต็มที่ ระบุ นายกรัฐมนตรีพร้อมใช้ ม.44 เร่งขับเคลี่อนปฏิรูปประเทศ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ