บทวิเคราะห์: อยู่กับผี...การยื้อแย่งเวลาและพื้นที่ของคนกับผี

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ 17 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 1536 ครั้ง

แน่นอน เรากำลังพูดถึงประโยคที่ว่า “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่าทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว ไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาล เวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ... ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก...โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเสียชีวิตของเสนีย์ ขณะที่การเมืองไทยวนกลับไปสู่วงจรที่เคยเป็นเมื่อนวนิยายนี้กำเนิดขึ้นนั้น จะทำให้ผู้อ่านจำนวนมากซาบซึ้งไปกับพลานุภาพของถ้อยคำที่ปรากฎในวรรคทองดังกล่าวจนลืมคิดไปว่าระหว่าง “ผม” กับ “ท่าน” ใครคือผู้ที่อยู่ยั้งยืนยงกว่ากันในวัฎสงสารแห่งการเมืองไทยที่หมุนวนไปมาคล้ายไม่รู้จบ  แต่หากสังเกตให้ถี่ถ้วน เสนีย์ในวรรคนี้กลับตาลปัตรตำแหน่งแห่งที่ของเวลาซึ่งปีศาจสถิตอยู่ เมื่อเทียบกับความเข้าใจเรื่องเวลาของปีศาจ หรือ “ผี” ในสังคมไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยปกติแล้วสังคมไทยประกอบสร้างความเข้าใจเรื่องผีจากความเข้าใจมูลฐานสำคัญสองข้อ ข้อแรกคือความเข้าใจเรื่องเวลา และข้อสองคือความเข้าใจเรื่องพื้นที่ ผีหรือปีศาจเป็นผลผลิตจากจากจุดใดจุดหนึ่งบนเส้นเวลาซึ่งเป็นอดีตที่จบไปแล้ว  แต่ผีปีศาจกลับทำตัวเป็นอำมาตย์มาเฟียเหนือกฎเกณฑ์ที่ดำรงอยู่แบบล้ำเส้นเวลาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนทำให้ปัจจุบันปั่นป่วนจากการถูกแทรกแซงของซากตกค้างจากอดีตวุ่นวายไปหมด

ผลจากการล้ำเส้นเวลา ทำให้ผีปีศาจก้าวก่ายมาอยู่ในพื้นที่ทางกายภาพเดียวกับมนุษย์ และฉะนั้น การปะทะระหว่างมนุษย์กับผีปีศาจเรื่องใครจะได้ครอบครองพื้นที่ จึงเป็นโครงเรื่องสำคัญสำหรับเรื่องผีปีศาจแบบไทยๆ

มีตัวอย่างเยอะแยะที่แสดงให้เห็นคติเรื่องเวลาและพื้นที่ซึ่งเป็นรากฐานความเข้าใจเรื่องผีปีศาจแบบนี้  แม่นากเป็นผีหญิงหม้ายที่ตายไปแล้ว แต่ไม่ยอมรับว่าเวลาของตัวเองจบลงตั้งแต่คลอดลูกตาย แม่นากจึงเป็นผีอีนากที่อยู่เรื่อยมาหลังความตายจนเผชิญกับไอ้มากและตัวละครอื่นทั้งหมด การเผชิญหน้าของผีอีนากและคนกลายเป็นเรื่องของการต่อสู้ว่าใครจะมีอำนาจครอบครองพื้นที่ทางกายภาพคือบ้านหลังนั้นกว่ากัน ส่วนฉากจบของเรื่องคือผีอีนากไปผุดไปเกิดในภพใหม่อย่างยอมรับกฎเกณฑ์ของเวลา

โปรดสังเกตด้วยว่าความน่าสะพรึงกลัวของผีอีนากล้วนพัวพันกับการที่อีนากแสดงแสนยานุภาพจนกลายเป็น “องค์” ที่ดำรงอยู่ทุกหนแห่งและปรากฏกายได้ทุกเวลา ผีอีนากยิ่งน่ากลัวเมื่อไปโผล่ที่หน้าต่างบ้านหรือห้อยหัวจากขื่อคาบ้านใครก็ได้ โผล่กลางคลองก็ได้ หรือแม้แต่ไปในศาลาการเปรียญก็ยังได้อีก ภาวะที่เป็นทั้ง omnipotent และ omnipresent ทำให้ผีอีนากเป็นภัยต่อการอยู่รอดของมนุษย์ จนต้องบังคับให้ผีเคารพกติกาของพื้นที่และเวลา

แต่การปรากฏตัวได้ในทุกพื้นที่และเวลาไม่ได้ทำให้ผีปีศาจน่ากลัวไปหมดทุกตัวเหมือนกัน  เพราะในภาพยนตร์ไทยที่สร้างต่อเนื่องและมีคนควักสตางค์ดูโดยไม่ถูกบังคับหรือ “ขอร้อง” ไปตามโรงเรียนต่างๆ อย่าง “บ้านผีปอบ” ทำให้ปอบโผล่ได้ทุกที่จากห้องส้วมไปจนถึงตุ่มน้ำและคาเฟ่  จนกลายเป็นผีที่ดู “เยอะ” ถึงขั้นน่าขันในสายตาของผู้พบเห็นไปเลย  ผลก็คือแม้ปอบจะน่ากลัวในสายตาของมนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่และเวลาเดียวกัน แต่ปอบกลายเป็นอีปอบหยิบที่แสนขบขันในสายตาผู้ชม

วรรคทองของเสนีย์ เสาวพงศ์ กลับตาลปัตรทัศนคติเรื่องเวลาอย่างที่ได้กล่าวไป เพราะเสนีย์ทำให้ปีศาจเป็นผลผลิตของเวลาในปัจจุบัน ที่รุกล้ำเข้าไปเผชิญหน้ากับผู้คนใน “โลกเก่า” ซึ่งเป็นซากตกค้างจากอดีต  ด้วยน้ำมือของพ่อมดทางภาษาที่มีความรอบรู้เรื่องโลกราวฮิปสเตอร์ทางวรรณกรรมแห่งยุคกึ่งพุทธกาล เสนีย์เสกให้ปัจจุบันมีอิทธิฤทธิ์ขึ้นมาจนเป็นองค์ประธานที่มีบทบาทในการกระทำต่อพวก “โลกเก่า” ซึ่งผูกขาดการแสดงเป็นผีปีศาจคุกคามคนรุ่นหลังมาชั่วนาตาปี

วรรคทองของเสนีย์ แสดงโลกทัศน์ที่มองเห็นการปะทะกันของเวลาตามขนบเรื่องผีปีศาจในสังคมไทย แต่การปะทะนั้นเป็นเรื่องที่โลกใหม่เข้าไปชี้หน้าด่าพวกโลกเก่าอย่างไม่เคยปรากฎในเรื่องผีปีศาจตามขนบอื่นๆ ยิ่งกว่านั้นคือ setting หรือฉากของวรรคทองวรรคนี้คือโต๊ะอาหารที่พวกโลกใหม่เป็นได้แค่แขกรับเชิญ เพื่อถูกเจ้าของอย่างพวกโลกเก่าดูหมิ่นเหยียดหยามต่างๆ นานา  แต่ฉากสุดท้ายของวรรคทองนี้คือพวกโลกใหม่เดินออกจากห้องไปสู่พื้นที่ทางกายภาพอื่น แล้วปล่อยให้พวกโลกเก่าลุ่มหลงกับความยิ่งใหญ่ของตัวเองไปบนโต๊ะอาหารในคฤหาสน์หลังเดิม

น่าสนใจว่าเสนีย์ เสาวพงศ์ ไม่ใช่นักเขียนคนแรกในรุ่นนั้นที่รื้อสร้างความคิดเรื่องความเป็นผี เพราะอัศนีย์ พลจันทร์ ก็เล่นกับความคิดเรื่องผีปีศาจตั้งแต่นามปากกาอันแสนโด่งดังของเขาอย่าง “นายผี” ด้วยเหมือนกัน  นามปากกานี้ไม่ได้สื่อถึงคนชื่อผีที่มีคำนำหน้าชื่อว่านาย  แต่หมายถึง “นายของผี” ในความหมายของผู้อยู่เหนือภูติผีทั้งหลายซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็น อภิมหาโคตรผีไปด้วย การทำให้มนุษย์เป็นองค์ประธานผู้กระทำ เสมือนพลเมืองโต้กลับต่อผีปีศาจแบบนี้  คล้ายกับเสนีย์ในวรรคทองที่กล่าวไปแล้ว เพียงแต่อัศนีย์ผนวกตัวเองกับภาวะนั้น โดยทำให้ตัวเองเป็นนายของผีปีศาจทั้งหลายด้วยตัวเองไปเลย

ถ้าอิทธิฤทธิ์ของภูตผีคือการดำรงอยู่ได้ทุกหนทุกแห่งและทุกเวลา “นายผี” ผู้เป็นนายของภูตผีปีศาจก็คือผู้ที่ดำรงอยู่ทุกที่และทุกเวลาเหนือกว่าปวงภูตผีปีศาจทั้งหมด  การมีอยู่ของ “นายผี” จึงทำให้ภูตผีกลายเป็นบ่าวซึ่งมีฤทธิ์เดชน้อยลงไปด้วย  ผลก็คือผีกลายเป็นตัวอะไรไม่รู้ ที่อยู่แบบไม่สามารถทำอะไรอย่างที่อยากทำได้ทั้งหมด  ถึงจะไม่ได้ถูกกำจัดให้สิ้นซากไปอย่างสิ้นเชิงก็ตาม

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของความไม่ลงรอยระหว่างผีกับคน ที่ฝ่ายแรกต้องการเหลื่อมล้ำเวลาและครอบครองพื้นที่เหนือฝ่ายหลัง ขณะที่ฝ่ายหลังต้องการยึดครองเวลาและพื้นที่ จนปราศจากร่องรอยของการอยู่ร่วมกันกับฝ่ายแรก  เรื่องของผีกับคนจึงวนเวียนอยู่กับการที่ผีใช้อำนาจมืดข่มขู่และสิงสู่คนเพื่อครอบครองเวลาและพื้นที่ทั้งหมด หรือไม่อย่างนั้นก็คือคนไล่ผีและกำจัดผีเพื่อสร้างโลกของคนด้วยความรู้อย่างคาถาอาคม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพรางตัวในพื้นที่ปลอดภัยอย่างแสงอาทิตย์ไปเลย

การอยู่ร่วมกันไม่ได้เป็นไปในแบบที่สองฝ่ายหลอม

เป็นหน่วยเดียวกันจนเหมือนกันไปหมด

แต่เป็นการอยู่ร่วมในแง่ความจำเป็นทางการเมือง

ที่ต่างฝ่ายต่างเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

ในปี 2558 ภาพยนตร์ไทยเรื่องบองสรันโอน แสดงความเปลี่ยนแปลงด้านความคิดเรื่องผีกับคนในแบบที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากวรรคทองของเสนีย์ เสาวพงศ์ และคำประกาศของอัศนีย์ พลจันทร์ ผ่านการใช้นามปากกาว่า “นายผี”  เพราะบองสรันโอน เล่าเรื่องของผีที่อยู่ร่วมห้องกับคน โดยอิงขนบเดิมที่ผีต้องการเป็นเจ้าของพื้นที่เหนือคนต่อไป แต่คนในเรื่องนี้กลับตาลปัตรว่าไม่ได้รังเกียจหรือมีท่าทีมุ่งมั่นในการขับไล่ผีอย่างที่เคยเห็นในหนังผีเรื่องอื่น จะสนใจก็แค่ผีกลายเป็นผีร่วมชายคาได้อย่างไร

น่าสนใจว่าผีในบองสรันโอน แสดงความน่าขยะแขยงเพื่อให้คนหวาดกลัวน้อยจนเราอาจพูดได้ด้วยซ้ำว่าผีในภาพยนตร์เรื่องนี้ไร้ความสยดสยองถึงขั้นแทบไม่ได้ปรากฎกายในรูปแบบที่ชวนขนหัวลุกเลย ยิ่งไปกว่านั้นคือผีไม่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์จนมีบทบาทคล้ายหมาเฝ้าบ้านหรือหญิงหึงผัวมากกว่าจะเป็นภูติผีในความหมายที่คุ้นเคย  ผลก็คือเราไม่เห็นต่อไปถึงความหวาดกลัวที่คนมีต่อผี จะมีอย่างมากก็คือความไม่สบายใจที่ต้องอยู่กับผีในพื้นที่เดียวกัน หรือมากกว่านั้นก็คือความอยากรู้อยากเห็นความเป็นมาของผี เพื่อรู้ต่อไปว่าทำไมผีถึงอยากอยู่ห้องนั้นตลอดเวลา 

ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงโลกทัศน์ที่เห็นว่าคนอยู่ร่วมชายคาเดียวกับผีได้  ถึงจะไม่ชอบผี และไม่สบายใจในการมีอยู่ของผี แต่ก็ไม่ได้หวาดกลัวผี  แม้ผีจะแสดงอิทธิฤทธิ์ให้หวาดกลัวก็ตาม ภาพยนตร์จึงไม่ปรากฏฉากที่คนพยายามเอาผีออกไปจากห้องนั้นในแบบแผนของการไล่ผีด้วยคาถาอาคม พระ หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ  แต่กลับเป็นไปในรูปที่คนประสงค์จะช่วยเหลือผีโดยส่งผีกลับบ้าน ผ่านการณาปนกิจศพและส่งกระดูกไปเขมรทางไปรษณีย์

มองในภาพกว้างออกไป บองสรันโอนรื้อสร้างความเข้าใจเรื่องผีที่วนเวียนอยู่กับสงครามยื้อแย่งเวลาและพื้นที่ระหว่างผีกับคนให้เป็นเรื่องของคนที่ไม่มีปัญหาอีกต่อไปที่จะต้องอยู่ร่วมกับผี ฉากจบของภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงการอยู่ร่วมห้องเดียวกันของผีกับคนที่ต่างฝ่ายต่างเป็น entity ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่ได้มีความผูกพันทางอารมณ์กันแบบผีเป็นเมียคนหรือคนเป็นผัวผีเลย

คนเลือกที่จะอยู่ห้องต่อไปถึงแม้รู้ว่าห้องมีผี และผีเลือกที่จะอยู่ห้องต่อไป ถึงแม้เถ้ากระดูกจะถูกส่งกลับบ้านไปแล้วก็ตาม การอยู่ร่วมกันของสองฝ่ายเป็นผลจากการเลือกโดยอัตวินิจฉัยซึ่งปราศจากอำนาจภายนอกบังคับ การเลือกจึงแสดงให้เห็นการยอมรับการมีอยู่ของผีต่อคนและคนต่อผีในเวลาและในพื้นที่เดียวกัน  และการยอมรับการมีอยู่ของกันและกันแบบนี้แสดงให้เห็นโลกทัศน์ของการอยู่ร่วมกันระหว่างผีกับคนที่เปลี่ยนไปจนมีนัยยะสำคัญ

ขณะที่กวีและนักประพันธ์ไทยจากสมัยกึ่งพุทธกาล ให้ความสำคัญต่อการสร้างวรรณกรรมเพื่อแสดงถึงความเชื่อมั่นและความมุ่งมั่นของคนจากโลกใหม่ต่อเหล่าภูติผีที่เป็นสิ่งตกค้างจากโลกเก่า ซึ่งครอบครองพื้นที่อย่างไม่ยอมไปผุดไปเกิด  ภาพยนตร์ไทยสมัยกลางพุทธศตวรรษกลับแสดงความเป็นไปได้ที่คนจากโลกใหม่จะอยู่ร่วมกับภูติผีจากโลกเก่า ในแบบที่ต่างฝ่ายต่างไม่ได้มุ่งกำจัดอีกฝ่ายจากพื้นที่อย่างสิ้นซาก การอยู่ร่วมกันไม่ได้เป็นไปในแบบที่สองฝ่ายหลอมเป็นหน่วยเดียวกันจนเหมือนกันไปหมด แต่เป็นการอยู่ร่วมในแง่ความจำเป็นทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

สำหรับสังคมที่ไสยศาสตร์และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติยังมีอิทธิพลสูงอย่างสังคมไทย  ความเข้าใจเรื่องผีและสัมพันธ์ระหว่างผีกับคนนั้น ช่วยได้ไม่มากก็น้อยในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ด้านอื่น  การเหลื่อมทับของผีเหนือคนที่จบลงด้วยการยอมรับการอยู่ร่วมกันของคนกับผี เป็นได้ทั้งสัญลักษณ์ของความใจกว้างระหว่างคู่กรณีทุกฝ่าย , ไม่มีฝ่ายไหนมีชัยในการกำหราบฝ่ายอี่น หรือแม้แต่สภาวะเปลี่ยนผ่านของสงครามระหว่างผีกับคน ที่ลุ่มๆ ดอนๆ มาเกือบหนึ่งร้อยปี

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: