เมื่อระบบการลงโทษในโลกสมัยใหม่ได้ก้าวมาถึงจุดที่ “คุก” กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ผนวกกับความเชื่อว่าการนำคนมาขังจะทำให้สำนึกในความผิดที่ตนได้กระทำลงไป เรือนจำ จึงกลายเป็นทางเลือกหลักของการแก้ไขผู้กระทำผิด ในปี 2558 ไทยจึงครองอันดับ 1 ในอาเซียนที่มีบุคคลถูกจำกัดอิสรภาพในเรือนจำมากที่สุด
International Centre for Prison Studies (ICPS) หรือ ศูนย์ศึกษาเรือนจำนานาชาติ เปิดเผยข้อมูลเรื่องสถิติผู้ต้องขังในปี 2558 ประเทศไทยมีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 330, 923คน สูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน เท่ากับทุก 1 แสนคน มี 491 คนเป็นผู้ ต้องขัง ขณะที่ความสามารถในการรองรับผู้ต้องขังให้มีความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 190,000 คน
จำนวนผู้ต้องขังที่อยู่กันอย่างแออัดภายในเรือนจำนำมาซึ่งปัญหาอื่นอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือปัญหาทางจิตของผู้ต้องขัง
พระราชบัญญัติสุขภาพจิต 2551 ระบุให้ผู้ต้องขังที่มีภาวะอันตราย ทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง หรือผู้ต้องขังที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำแล้วพบว่ามีแนวโน้มที่จะผิดปกติต้องได้รับการรักษาทุกคน
ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ปี 2557 พบสถิติผู้ต้องขังพิการทางจิตใจ และพฤติกรรม ทั้งสิ้น 314 คน ขณะที่นักจิตวิทยาประจำกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ในแต่ละปี จะมีผู้ต้องขังที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีการป่วยทางจิต หรือเป็นโรคจิตเภท เฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 คน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังศาลพิพากษาจำคุก โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่กระทำผิดครั้งแรก ซึ่งมีจำนวนถึง 211,361 หรือร้อยละ 84.20 จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งสิ้น 312,585 คน
นักโทษใหม่ มีแนวโน้มป่วยทางจิตสูง
พรพรรณ ศิลปวัฒนพร นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ (Clinical psychology ) ประจำกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงปัญหาสุขภาพจิตของผู้ต้องขังว่า แม้จะมีผู้ต้องขังเพียง 3,000 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการป่วยทางจิต หรือเป็นโรคจิตเภท แต่ในความเป็นจริง ผู้ต้องขังเกือบทุกคนมีปัญหาสภาพจิตใจทั้งสิ้น โดยเฉพาะอาการซึมเศร้าเมื่อถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
ผู้ต้องขังใหม่ทุกคนต้องได้รับการประเมินสุขภาพจิตจากนักจิตวิทยา อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติกลับเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีนักจิตวิทยาปฏิบัติงานในกรมราชทัณฑ์เพียง 29 คน หมายความว่า นักจิตวิทยา 1 คน ต้องดูแลผู้ต้องขังใหม่ 7,288 คน
ความไม่สอดคล้องระหว่างจำนวนผู้ต้องขังกับนักจิตวิทยาในเรือนจำ ทำให้เรือนจำหลายแห่งต้องใช้พยาบาลประจำเรือนจำรับหน้าที่แทน กระนั้นก็ยังไม่สามารถตรวจประเมินและรักษาสภาพจิตของผู้ต้องขังได้ครบทุกคน ทำให้ในบางครั้งกว่าจะรู้ว่าผู้ต้องขังมีปัญหาทางจิต ก็ต่อเมื่อผู้ต้องขังฆ่าตัวตายแล้ว ซึ่งปี 2556 มีผู้ต้องขังเสียชีวิตผิดธรรมชาติ ที่เป็นนักโทษเด็ดขาด 70 คน โดย 24 คน เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย
ตารางแสดงจำนวนนักโทษเด็ดขาดที่เสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ จำแนกตามลักษณะการเสียชีวิต ประจำปีงบประมาณ 2549 – 2556 ที่ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการ
ที่มา: กรมราชทัณฑ์
สอดคล้องกับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลของทัณฑสถานหญิงแห่งหนึ่งในภาคกลางระบุว่า อาการหดหู่และซึมเศร้าจะเกิดขึ้นทันทีกับผู้ต้องขังที่ได้รับโทษสูงสุดหรือโทษประหารชีวิต
“ผู้ป่วยจิตเวชในแดนจริงๆ มี 70 คน อยู่ที่สถานพยาบาล 13 คน ให้ลงไปในแดนไม่ได้เพราะก้าวร้าวและสร้างความยุ่งยาก ทะเลาะกันเอง ส่วนใหญ่จะเป็นโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท ที่มีอาการทางจิตเวช เราจะดูแลคนไข้ที่มีคำสั่งโทษสูงหรือโทษประหารทุกเคส เพราะผู้ต้องขังเหล่านี้จะมีความเศร้าและหดหู่ใจโดยอัตโนมัติ เราจะดูแลให้เขาได้รับการให้คำปรึกษาจากทีมแพทย์และนักจิตวิทยา”
กินไม่อิ่มนอนไม่หลับ เหตุพื้นฐานปัญหาสุขภาพจิต
กินอิ่มนอนหลับ คือปัจจัยพื้นฐานขั้นแรกที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ ก่อนไปสู่ความต้องการทางจิตใจ ซึ่งสองสิ่งนี้ไม่สามารถหาได้จากในเรือนจำที่ผู้ต้องขังกว่าสามแสนคนต้องเบียดเสียดกันใช้ชีวิต
“ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ต้องขังใหม่จะมักมีปัญหาสุขภาพจิต เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ในระยะแรก อาการในระยะแรกส่วนใหญ่ที่มักเป็นคือ นอนไม่หลับ เพราะในเรือนจำผู้ต้องขังมีที่นอนเพียงกระเบื้องคนละแผ่น เรือนจำแต่ละแห่งจึงมียานอนหลับเตรียมไว้ให้ผู้ต้องขังที่มีอาการ” นักจิตวิทยากล่าว
เช่นเดียวกับ ชมพู (นามสมมติ) ผู้ต้องขังหญิง เรือนจำแห่งหนึ่งในภาคกลาง เล่าว่า ความเป็นอยู่ในเรือนจำไม่มีอะไรที่เพียงพอ ทั้งที่พักและอาหาร ระยะแรกที่เข้าไปอยู่ ตนไม่สามารถทนหลับได้เพราะได้ที่นอนเพียงกระเบื้องแผ่นเดียว ต่อมาจึงรู้ว่าสามารถซื้อที่นอนเพิ่มจากผู้ต้องขังข้างๆได้ ส่วนเรื่องอาหารในแต่ละมื้อ หากไม่ใช่ผู้ต้องขังที่อยู่มานานจนสนิทกับผู้คุม หรือทำงานในกองเลี้ยง มักจะได้กินอาหารที่ไม่ดีนัก ทำให้ต้องไปซื้ออาหารจากร้านค้าในเรือนจำเพิ่ม
วิจัยชี้โทษยิ่งสูงยิ่ง‘ป่วย’ หลายพันรายไร้ญาติเยี่ยม
การเปลี่ยนสถานะจากผู้หญิงธรรมดาทั่วไปคนหนึ่งมาเป็นผู้ต้องขังนั้น ส่งผลทางลบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิต โดยเฉพาะทุกข์ทางจิตใจที่สูญเสียอิสรภาพ ยิ่งมีคำสั่งต้องโทษสูงก็ยิ่งเป็นทุกข์และหดหู่ใจมากขึ้น ผู้ต้องขังหญิงจำนวนไม่น้อยต้องใช้เวลายาวนานทำใจรับสภาพต้องขัง ทิ้งห่วงเวลาและภาระต่างๆ ไว้ข้างนอก ขณะอีกจำนวนไม่น้อยถูกครอบครัวปฏิเสธ ไม่ยอมรับ ดังตัวเลขผู้ต้องขังหญิงที่ไม่มีญาติมาเยี่ยม ซึ่งมีจำนวนถึง 4,376 คน
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล และกุลภา วจนสาระ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสุขภาพจิตของผู้ต้องขังหญิงผ่านงานวิจัย “ผู้ต้องขังหญิง: สถานการณ์และข้อเสนอเชิงนโยบาย” ว่า แม้ผู้ต้องขังที่มีอาการทางจิตจะมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 ของผู้ต้องขังหญิงพิการลักษณะต่างๆ ทั้งหมด แต่การดูแลรับมือกับผู้ต้องขังหญิงที่มีสุขภาพจิตไม่ดีนั้นเป็นภาระใหญ่หลวง อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่เรือนจำหรือแม้กระทั่งสังคมไทยมีความรู้ทั่วไปน้อยมากในการรับมือกับผู้มีอาการทางจิตที่คาดเดาพฤติกรรมได้ยาก บางรายซึมเศร้า หดหู่ อยากฆ่าตัวตาย บางรายมีแนวโน้มใช้ความรุนแรง ทั้งตัวเองและคนอื่น บางรายมีโลกส่วนตัวพูดคนเดียว ไม่รับรู้โลกความเป็นจริง ฯลฯ และส่วนใหญ่ต้องการผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชเข้ามาช่วยเหลือดูแล ประเมินพฤติกรรม อาการ การควบคุม และรักษา เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นได้ ขณะที่หลายเรือนจำหาทางดูแลผู้ต้องขังที่มีอาการทางจิตเหล่านี้เอง เช่น ตั้งกลุ่มอาสาสมัครช่วยเหลือดูแล พาไปตรวจตามนัด กินยาสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมฟื้นฟู เป็นต้น
จำคุกเท่านั้น หรือควรเยียวยาด้วยวิธีอื่น?
แม้จะมีความพยายามในหลายทาง เพื่อแก้ปัญหาสภาพจิตของผู้ต้องขังในเรือนจำ แต่ความเชื่อที่ว่าการนำคนมาตีตรวนเพื่อให้สำนึกผิด ยังคงดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นในสังคมไทย
ว่ากันตามหลักอาชญาวิทยา การลงโทษจำคุกมีเป้าหมาย 4 ประการ ได้แก่ 1.การให้ผู้กระทำผิดชดใช้การการะทำผิดของตน (retribution) 2.การลงโทษเพื่อข่มขวัญยับยั้ง (deterrence) 3.การขจัดโอกาสที่ผู้กระทำผิดจะสามารถกระทำผิดได้อีก (incapacitation) และ 4.การเยียวยาฟื้นฟู (rehabilitation) การวางระบบของเรือนจำ จะต้องเป็นไปเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายทั้ง 4 ประการ
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 4 ประการนี้มีแนวโน้มขัดแย้งกันเอง อาทิ การตัดสินให้บุคคลถูกจำคุกเป็นระยะเวลานานโดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อให้บุคคลชดใช้ความผิดที่ทำไป และเพื่อเป็นการขจัดโอกาสที่บุคคลจะกระทำผิด มีผลทำให้บุคคลต้องถูกตัดขาดจากครอบครัว ชุมชน และสังคมนานเกินกว่าจะรักษาความสัมพันธ์กับครอบครัวและชุมชนไว้ได้ สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้เป้าหมายในเรื่องการเยียวยาและฟื้นฟูผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคมกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จนถึงกับมีผู้เสนอว่า คุกเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะคุกไม่ได้สร้างอะไรที่มีคุณค่าเลย แม้แต่เป้าหมายพื้น ๆ ในการป้องกันสังคมจากอาชญากรรม
อ่าน 'จับตา': “สิทธิประโยชน์ผู้ต้องขัง”
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5624
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ