ไฟเขียวแก้ กม. ยื่นเอกสารเท็จขอคืนภาษีโทษสูงสุดคุก 7 ปี 

18 มี.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2609 ครั้ง


	ไฟเขียวแก้ กม. ยื่นเอกสารเท็จขอคืนภาษีโทษสูงสุดคุก 7 ปี 

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการแก้ไขประมวลรัษฏากรของกรมสรรพากร กรณีการแนบเอกสารเพิ่มเติมสำหรับการขอคืนภาษีของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีให้มีความผิดเหมือนกับการหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการรับอัตราโทษเดียวกัน คือ มีโทษจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท ขณะที่การละเลยไม่ยอมเสียภาษี โทษปรับ 5,000 บาท โทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน (ที่มาภาพประกอบ: surustx.wordpress.com)

18 มี.ค. 2558 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมตรีแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการแก้ไขประมวลรัษฏากรของกรมสรรพากร กรณีการแนบเอกสารเพิ่มเติมสำหรับการขอคืนภาษีของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีให้มีความผิดเหมือนกับการหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการรับอัตราโทษเดียวกัน คือ มีโทษจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท ขณะที่การละเลยไม่ยอมเสียภาษี โทษปรับ 5,000 บาท โทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน

โดยหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดทางอาญา) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป นั้น กระทรวงการคลังเสนอว่า บทบัญญัติในประมวลรัษฎากรมีเนื้อหาที่ไม่สอดรับกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  และสร้างความไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับสภาพบังคับทางกฎหมาย นอกจากนี้บทบัญญัติบางมาตรายังขาดความชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมและการใช้บังคับ จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลรัษฎากร ดังนี้

1. มาตรา 69 บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการ บัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับ รายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย ที่มีผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามมาตรา 3 สัตต ทำการตรวจสอบและรับรอง แต่ไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลรัษฎากรกำหนดมาตรการบังคับสำหรับการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จึงทำให้มาตรา 69 ขาดสภาพบังคับในทางกฎหมาย 

2. มาตรา 37 ทวิ บัญญัติให้ผู้ใดเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งมีบทลงโทษที่น้อยกว่าบทกำหนดโทษกรณีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามบทบัญญัติในมาตรา 37 ทำให้สภาพบังคับทางกฎหมายของบทบัญญัติทั้งสองนี้มีความแตกต่างกันมาก ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับบทลงโทษทางอาญา 

3. มาตรา 90/4 (6) บัญญัติให้บทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใด ๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ซึ่งคำว่า “เจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม” เป็นถ้อยคำที่อาจให้ความหมายได้อย่างกว้างขวางและไม่ครอบคลุมถึงความผิดสำหรับการทุจริตในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นเท็จ” 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 

1. แก้ไขเพิ่มเติมกรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 69 โดยการฝ่าฝืนหน้าที่ในการแนบเอกสารพร้อมการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ต้องระวางโทษปรับ 

2. แก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามมาตรา 37 ให้ครอบคลุมถึงการขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ 

3. แก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำอันเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามมาตรา 37 ทวิ มีอัตราโทษเดียวกับมาตรา 37 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท โดยยกเลิกมาตรา 37 ทวิ 

4. แก้ไขเพิ่มเติมให้บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครอบคลุมถึงการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เนื่องจากวิธีการเสนอรายชื่อบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กร ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและสนับสนุนการเงินกับกลุ่มก่อการร้าย เพื่อเสนอชื่อต่อศาลกำหนดให้ขึ้นบัญชีดำ เพราะหากไทยไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ FATF มีมติขึ้นบัญชีรายชื่อให้ไทยกลับไปอยู่ในคำประกาศสาธารณะเหมือนกับปี 2555 จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นสมาชิกของ FATF ใช้มาตรการตอบโต้ผ่านการทำธุรกรรมกับลูกค้าเอกชนของประเทศไทย และสถาบันการเงินไทย ต้องทำธุรกรรมลำบากมากขึ้น และกระทบกับผู้ประกอบการของไทยในการทำธุรกิจร่วมกับต่างชาติ แม้จะแก้ไขกฎหมาย ปปง.มาแล้ว แต่ยังเป็นอุปสรรคและเกิดข้อขัดข้อง จึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ และ ครม. เห็นชอบให้โอนย้ายให้สำนักงาน ปปง. เข้ามาอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จากเดิมสังกัดกระทรวงยุติธรรม

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: