มหาวิทยาลัยเซาท์ไชน่าใช้วิธีจับฉลากคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนวิชาเอก แก้ปัญหานักศึกษาล้นห้องเรียนในบางสาขา ขณะที่บางสาขาไม่มีนักศึกษาลงเรียน (ขอบคุณภาพจาก chinadailyma)
18 ก.ย. เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หอประชุมของมหาวิทยาลัยเซาท์ไชน่า (University of South China) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเหิงหยัง มณฑลหูหนัน คับคั่งไปด้วยนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา หลายร้อยคน ซึ่งกำลังนั่งลุ้นกับการจับฉลากเลือกสาขาวิชาเอกอย่างใจจดใจจ่อ
นักศึกษาชั้นปีที่สองของคณะฯ จะต้องเลือกเรียนวิชาเอกแขนงใดแขนงหนึ่ง จากวิชาเอกทั้งหมด 7 แขนง โดยจะมีเพียงนักศึกษาที่สอบไล่ได้คะแนนสูงสุด 190 คนจากนักศึกษาทั้งหมดจำนวน 585 คน ที่จะมีสิทธิ์เลือกเรียนวิชาเอกได้อย่างเสรี ส่วนนักศึกษาที่เหลือต้องจับฉลากวัดดวงว่าจะได้เรียนสาขาใด
นาย หลู ชิงฮวา อาจารย์ประจำคณะฯชี้แจงว่า คณะฯมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการเช่นนี้ เพราะบางสาขาวิชาได้รับความนิยมสูง หากปล่อยให้นักศึกษาเลือกได้อย่างอิสระ ก็จะเกิดปัญหานักศึกษาล้นห้องเรียนในบางสาขา และมีนักศึกษาไม่พอที่จะเปิดเรียนในบางสาขา ซึ่งมหาวิทยาลัยอื่นๆเองก็ใช้วิธีแบบนี้เช่นกัน หากนักศึกษาคนใดไม่พอใจกับผลการจับฉลาก ก็สามารถขอแลกกับเพื่อนในสาขาอื่นได้ นอกจากนี้ หลังจากได้เรียนวิชาเอกไปแล้วหนึ่งปี นักศึกษาที่มีคะแนนสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละสาขาก็จะมีสิทธิขอเปลี่ยนวิชาเอกได้
นายหลูระบุต่อไปว่า มาตรการนี้ถูกใช้มาหลายปีแล้ว ในอดีตเคยได้รับความเห็นชอบจากคณะอาจารย์ และบรรดานักศึกษาแล้วถึงสองครั้ง
นักศึกษาคนหนึ่งซึ่งเข้าร่วมการจับฉลากให้ความเห็นว่า การจับฉลากเป็นวิธีที่เหมาะสมและเป็นธรรม เป็นวิธีกระตุ้นนักศึกษาให้ตั้งใจเรียน เพื่อที่จะสามารถเลือกวิชาเอกได้อย่างเสรี และแม้จะจับฉลากไม่ได้สาขาวิชาในดวงใจ สุดท้ายก็ยังสามารถขอแลกกับเพื่อนได้อยู่ดี
อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นวิธีบริหารการศึกษาแบบ ‘ขี้เกียจ’ นักศึกษาควรจะมีสิทธิ์เลือกวิชาที่ตนเองต้องการเรียน มหาวิทยาลัยไม่ควรนำอนาคตของนักศึกษามาถมกับการเกลี่ยจำนวนนักศึกษาให้เสมอกันในทุกภาควิชา มหาวิทยาลัยควรจะยุบสาขาวิชาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และควรจะให้คำแนะนำแก่นักศึกษาเวลาเลือกสาขา หลายคนก็ชี้ว่าการให้สิทธิ์ในการเลือกวิชาเอกแก่นักศึกษาคะแนนดี 190 คนเป็นการเลือกปฎิบัติ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ