เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำโดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ จัดเวทีสรุปกระบวนการให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง เรื่องการแจ้ง การปรึกษาล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement – PNPCA) โดยมีผู้แทนจากภาคราชการและภาคประชาชนเข้าร่วมที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี โดยในการประชุมมีรายงานว่ามีผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นหน่วยงานราชการและภาคประชาชนจำนวนราว 100 คน
ขณะที่บริเวณด้านหน้าที่ประชุม มีชาวบ้าน ระบุว่าเป็นตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทนชาวบ้านผู้ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดประเทศไทย ยืนถือป้ายประท้วงการดำเนินการในกระบวนการการประชุมของกรมทรัพยากรน้ำครั้งนี้ แม้จะไม่เป็นกลุ่มใหญ่นัก แต่การชูป้ายประท้วงก็ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน โดยทั้งหมดยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง รวมถึงเขื่อนทุกแห่งในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาทั้งหมด และชี้ว่าการดำเนินการของกรมทรัพยากรน้ำตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ถือว่าไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการให้ข้อมูลกับประชาชนมากกว่า ยืนยันว่าโครงการเขื่อนดอนสะโฮงที่เป็นข้อถกเถียงถึงกระบวนการการดำเนินการ สปป.ลาวครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องที่จะต้องมีการ ปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) ในแต่ละประเทศ ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ดังที่ควรจะเป็น
ยืนยันดอนสะโฮงปิดเส้นทางอพยพปลา
การก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงไม่ใช่ประเด็นใหม่ เพราะตั้งแต่การริเริ่มก่อสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง ในแขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของ สปป.ลาวแห่งนี้ ก็เป็นข้อถกเถียงระหว่างสนับสนุนและกลุ่มคัดค้านเคลื่อนไหวต่อเนื่องตลอดมา โดยฟากของกลุ่มคัดค้านส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่อาศัยริมสองฝั่งแม่น้ำโขงให้เหตุผลว่า การสร้างเขื่อนแห่งนี้จะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงตลอดลำน้ำ ทั้งเรื่องของปริมาณ ระดับน้ำ และรวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของพันธุ์ปลาจำนวนมากในแม่น้ำโขง
ขณะที่ฟากสนับสนุนออกมาระบุว่า เขื่อนแห่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงมากนัก เพราะไม่ได้สร้างคร่อมแม่น้ำโขงทั้งสาย ในขณะที่ฟากคัดค้าน ได้พยายามนำข้อเท็จจริงจากการศึกษาต่างๆ มาหักล้าง โดยระบุว่า แม้เขื่อนจะไม่ได้สร้างคร่อมแม่น้ำโขงทั้งสาย แต่เขื่อนจะปิดกั้นหนึ่งช่องทางน้ำหลักในพื้นที่สีพันดอนที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ฮูสะโฮง’ ซึ่งมีความยาว 5 กิโลเมตร กว้าง 100 เมตร ซึ่งเป็นเส้นทางอพยพสำคัญของปลา และทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่หาปลาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของแม่น้ำโขงตอนล่าง
นอกจากนี้ บริเวณดังกล่าวยังถือเป็นช่องทางสำคัญเพียงจุดเดียวในบริเวณนี้ที่ปลาสามารถอพยพผ่านไปได้ง่ายที่สุด เพราะมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ดังนั้น หากมีการสร้างเขื่อนปิดกั้นฮูสะโฮง หมายถึงการปิดกั้นเส้นทางการอพยพของปลาตลอดแม่น้ำโขงตอนล่าง เนื่องจากปลาแม่น้ำโขงมีลักษณะการอพยพขึ้นลง โดยเฉพาะปลาในทะเลสาบเขมร ซึ่งร้อยละ 70 จะใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางหลัก อพยพสู่ตอนบนของลาวนั่นเอง
เผยรายชื่อพันธุ์ปลาสำคัญอาจสูญพันธุ์เพราะวางไข่ไม่ได้
ก่อนหน้านี้ ดร.เอียน เบร์ด ผู้เชี่ยวชาญปลาแม่น้ำโขง คณะภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากนานาประเทศทำหนังสือแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อโครงการนี้ โดยระบุถึงรายละเอียดของพันธุ์ปลาที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกปิดกั้นเส้นทางอพยพ ไว้ดังนี้
รายชื่อสายพันธุ์ปลาที่สำคัญที่เขื่อนปิดกั้นเส้นทางอพยพ
1) เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์–ปลาขนาดกลางหลายสายพันธุ์ในกลุ่มสายพันธุ์ Cyprinid อาทิ ปลาเปี่ยน (Scaphognathops bandanensis) ปลาสะอี (Mekonginaerythrospila) ปลาหว้าซ่วง (Labeo erythropterus) ปลาหว้าหน้านอ (Bangana behri) ปลาแกง(Cirrhinus molitorella) ปลาปากกม (Hypsibarbus malcolmi) ซึ่งอพยพจากแม่น้ำเซกอง เซซาน และสเรป็อกในประเทศกัมพูชาและลาว (แม่น้ำเซกองในส่วนแขวงอัตปือและแขวงเซกอง) เข้าสู่แม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชาที่จังหวัดสตรึงเตร็ง แล้วอพยพเข้าลาวโดยผ่านฮูสะโฮง ก่อนผ่านเข้าเมืองปากเซที่ชายแดนลาว-ไทย เขื่อนดอนสะโฮงจะกีดกันทางอพยพของปลาเหล่านี้ไม่ให้ว่ายเข้าลาว อีกทั้งยังกีดกั้นการอพยพลงสู่ทางตอนล่างของลำน้ำ ซึ่งหมายถึงผลกระทบต่อพันธุ์ปลาและการประมงในแม่น้ำเซกองของลาว เนื่องจากปลาเหล่านี้อพยพไปมาระหว่างตอนเหนือของสีพันดอนและแม่น้ำเซกอง
2) เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม–ในช่วงเวลานี้ฮูสะโฮงเป็นเสมือนแหล่งอนุบาลของปลาขนาดเล็กกลุ่มสายพันธุ์ Cyprinid อาทิ ปลาสร้อย (Henicorhynchus lobatus) ปลาแตบ (Henicorhynchus Paralaubuca typus) ปลาหลังขน (Labiobarbus leptocheilus) ปลาหมูมัน (Botia modesta) ปลาแข้วไก้ (Botia helodes) และปลาเล็กอื่นๆ อีกกว่า 30 สายพันธุ์ที่อพยพมาจากทะเลสาบเขมรเข้าสู่ลาวทางสีพันดอนและฮูสะโฮง ปลาขนาดเล็กเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่รอบๆ แม่น้ำโขงทางภาคใต้และภาคกลางของลาวกำลังจะถูกเขื่อนดอนสะโฮงกีดกั้นเส้นทางอพยพ
หากมีการสร้างเขื่อนปิดกั้นฮูสะโฮง
หมายถึงการปิดกั้นเส้นทางการอพยพ
ของปลาตลอดแม่น้ำโขงตอนล่าง
3) เดือนเมษายน–ปลาขนาดใหญ่ที่สำคัญในกลุ่มสายพันธุ์ Cyprinid อาทิ ปลาพอน (Cirrihnus microlepis) ที่อพยพจากแม่น้ำโขงในกัมพูชา ผ่านฮูสะโฮงมายังพื้นที่ประเทศลาวเขื่อนดอนสะโฮงจะกีดกั้นปลาพวกนี้ในการว่ายเข้าสู่ลาว
4) เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม–ปลาหนังขนาดเล็กในกลุ่มสายพันธุ์ Pangasiidae คือ ปลายอนธรรมดา (Pangasius bocourti) อพยพจากกัมพูชาเข้ามาลาวผ่านฮูสะโฮงในแต่ละปี เขื่อนดอนสะโฮงจะกีดกั้นทางอพยพของปลาเหล่านี้
5) เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน–ปลาหนังในตระกูล Pangasiidae คือ ปลาเผาะ (Pangasius conchophilus) ปลายางหรือปลาหัวม่วม (Pangasius bocourti) ปลาซวยหางเหลือง (Pangasius krempfi) ปลาปึ่ ง (Pangasius larnaudii) และอื่นๆ ที่อพยพจากแม่น้ำโขงในกัมพูชาเข้ามาในลาวผ่านสีพันดอนและฮูสะโฮง ที่พิเศษคือปลาซวยหางเหลือง (Pangasiuskrempfi) ที่ว่ายน้ำมาไกลจากแม่น้ำโขงในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในประเทศเวียดนาม เขื่อนดอนสะโฮงก็จะกีดกั้นปลาพวกนี้ในการว่ายเข้าสู่ลาวด้วยเช่นกัน
6) เดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม-ปลาตระกูลปลาคาร์ฟ (carps) ที่กำลังใกล้จะหมดไป คือ ปลาเอินตาแดง (Probabus jullieni) และปลาเอินขาว (Probarbus labeamajor) จะวางไข่ในบริเวณสีพันดอน ใกล้กับที่ตั้งเขื่อนฮูสะโฮง
รายชื่อพันธุ์ปลาข้างต้นนี้เป็นพันธุ์ปลาหลักๆ ที่ว่ายอยพยพขึ้นแม่น้ำโขงที่สีพันดอน ซึ่งการประมงแทบทั้งหมดในลาวต้องพึ่งพาปลาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีสายพันธุ์ปลาอื่นๆ ที่ไม่โดดเด่นมากนักซึ่งจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนดอนสะโฮงเช่นกัน โดยรวมแล้ว ผลเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเฉพาะแค่สีพันดอนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประมงและชุมชนต่างๆ ตลอดทั้งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาในลาว เขื่อนจะปิดกั้นทางอพยพของปลาจากกัมพูชาสู่ลาวและจะส่งผลร้ ายต่อประชาชนหลายแสนคน
ประมงลาวกระทบมากสุดแต่ชาวบ้านไม่ (กล้า) ค้าน
ทั้งนี้ข้อมูลทางวิชาการระบุว่า ในประเทศลาว ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีจากการประมงมีสัดส่วนระหว่างร้อยละ 6-8 ส่วน ในประเทศกัมพูชามีตัวเลขสูงถึงร้อยละ 12 ส่วนตัวเลขของรายได้ต่อปีจากการจับปลาเฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนั้นสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจากรายงานของ World Fish Center ระบุว่าจะเกิดความสูญเสียอย่างกว้างขวางทางด้านสังคม นิเวศวิทยา และเศรษฐกิจของลุ่มน้ำ หากมีการปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาบริเวณนี้ การจับปลาในลำน้ำโขงเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญมากต่อความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านในแถบนี้ เนื่องจากร้อยละ 27-78 ของโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ชาวบ้านในแถบจังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงได้รับคือโปรตีนจากปลา โดยเฉพาะในพื้นที่ลาวใต้ การจับปลาเป็นกิจกรรมของครัวเรือนมากกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะในเขตสีพันดอน รายได้หลักของชาวบ้านคือร้อยละ 80-95 มาจากการหาปลา
จากการศึกษาในปี 2550 โดยกลุ่มนักวิจัยอิสระพบว่า ในกลุ่มชาวบ้านจากดอนสะโฮง, หัวสะดำ และหางสะดำ ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนดอนสะโฮงและดอนสะดำ คือดอน (เกาะ) ที่ขนาบสองฝั่งของฮูสะโฮง ครอบครัวที่มีลวงหลี (พื้นที่สำหรับการจับปลาโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘หลี’ วางตามแนวลำน้ำ) หนึ่งลวงมีรายได้จากการขายปลาสดต่อปีไมต่ำกว่า 10-20 ล้านกีบ (40,000-80,000 บาท) เมื่อรวมปลาที่จับได้ด้วยเครื่องมือชนิดอื่นๆ ก็อาจสร้างรายได้จากการขายปลาให้ชาวบ้านมากถึง 24-40 ล้านกีบต่อปี (100,000-160,000) ทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมากสำหรับชาวบ้านใน สปป.ลาว
อย่างไรก็ตาม มีรายงานระบุว่าประชาชาชนใน สปป.ลาว ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ส่วนใหญ่กลับไม่เคยรับรู้ถึงโครงการดังกล่าว แม้ว่าใน สปป.ลาวจะมีการจัดทำเวทีประชาพิจารณ์ขึ้นแล้ว 2 ครั้ง แต่ด้วยข้อจำกัดทางเสรีภาพของประชาชน ทำให้ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ทำให้เวทีดังกล่าวเปรียบเสมือนการบอกกล่าวข้อมูลบางส่วนให้กับชาวบ้านได้รับรู้ แม้ว่าจะกังวลต่อผล กระทบที่จะตามมา แต่ความเกรงกลัวทำให้ชาวบ้านเลือกที่จะนิ่งเงียบยอมรับโครงการของรัฐเหมือนที่เคยเป็นมา
เครือข่ายชาวบ้านน้ำโขงในไทยดิ้นสุดตัว ร้องกรมน้ำฯ จัดเวทีโปร่งใส
ขณะที่ในประเทศไทย ชาวบ้านที่ต้องอาศัยแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิตได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง โดยระบุถึงชะตากรรมของชาวบ้านที่ไม่แตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้าน จากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง เนื่องจากระบบนิเวศถูกทำลาย แหล่งอาหารปลาที่สำคัญจะถูกทำลาย เขื่อนดอนสะโฮงกำลังปิดช่องทางปลาในแม่น้ำโขงจากปากแม่น้ำโขงที่เวียดนาม ทะเลสาบเขมร และลำน้ำสาขา ซึ่งเป็นการทำลายความมั่นคงทางอาหารของประชาชนลุ่มน้ำโขง จึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง พร้อมทั้งเคลื่อนไหวต่อเนื่องในระหว่างการจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง สปป.ลาว ตามระเบียบปฎิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลงของกรมทรัพยากน้ำ ทั้ง 5 เวที (อุบลราชธานี, นครพนม, เชียงราย, หนองคาย, เลย และกรุงเทพมหานคร)
รวมทั้งเวทีสรุปข้อกังวลและข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงครั้งล่าสุด ชาวบ้านระบุว่าหน่วยงานรัฐแทบไม่เคยเชิญชาวบ้านเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ จึงอยากให้เวทีของรัฐเข้าถึงชาวบ้านที่อยู่ลุ่มน้ำโขงอย่างโปร่งใสและกว้างขวางกว่านี้
ขณะที่อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำระบุว่า ไม่เคยขัดขวางการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน โดยตระหนักดีว่าประชาชนในลุ่มน้ำโขงมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมาก ตอนนี้มาถึงคิวของการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่ลาว คนไทยหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน ในฐานะตัวแทนรัฐบาลก็ไม่ได้สบายใจและ พร้อมรับฟังต่อไป
“อยากให้คนไทยเปิดใจและเสนอทางออกทุกด้านไม่ใช่คัดค้านกระบวนการหารือ และอยากให้ใช้ ข้อเท็จจริงมาคุยกัน ทั้งนี้ยอมรับว่าไทยไม่ได้มีอำนาจเต็มร้อยในการสั่งชะลอหรือระงับการสร้างเขื่อนได้ แต่จะนำเสนอข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเสนอให้ลาวรับทราบในการประชุมของคณะทำงานของคณะกรรมการ ร่วม (JCWG) เพื่อหาข้อยุติของกระบวนการหารือ ซึ่งหากหาข้อยุติไม่ได้อาจจะนำเสนอผลสรุปอีกครั้งในการประชุมใหญ่ของ MRC อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่างานนี้ไม่มีการฮั้วหรือรู้เห็นเป็นใจกับการเดินหน้าสร้างเขื่อนของลาวแน่ๆ แต่ไทยไม่ได้มีอำนาจในการจัดการ เป็นแค่ฝ่ายเลขาฯ ที่ทำอะไรได้ไม่มาก ทำได้แค่นำเสนอข้อสรุปในประเทศไทยเท่านั้น”
สำหรับเขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 ที่จะสร้างกั้นช่องน้ำฮูสะโฮงที่สีพันดอน ลาวใต้ ซึ่งแม่น้ำโขงแผ่ ออกเป็นแขนงต่างๆ กว่า 17 ช่อง มีกำลังผลิตติดตั้ง 260 เมกกะวัตต์ หลังจากที่รัฐบาลลาวได้แจ้งกรณีโครงการเขื่อนดอนสะโฮง คณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ ก็ได้ตกลงเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ในปลายเดือนกันยายนและจะสิ้นสุดระยะเวลา 6 เดือนในเดือนมกราคม 2558 ซึ่งระยะเวลา 6 เดือนนี้สามารถขยายได้หากรัฐบาลประเทศสมาชิกร้องขอ
อ่าน 'จับตา: สถานะการสร้างเขื่อนบนลำน้ำโขง' http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5310
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ