iLaw เผยสถานการณ์ 112 เตือนแชทFB-อีเมลไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

18 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 1903 ครั้ง

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวในการนำเสนอ เรื่อง ผลกระทบทางการเมืองต่อบรรยากาศโลกออนไลน์ ในการประชุม “เวทีประชาสังคมไทยว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต” ที่มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์นว่า หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จนถึงวันที่ทำข้อมูล (13 ก.พ.58) มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 32 คน ไม่รวมคดีแอบอ้างเบื้องสูง เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากดูเฉพาะคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกเท่านั้น โดยส่วนใหญ่คดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีที่เกิดในโลกออนไลน์ 26 คน ออฟไลน์ 6 คน

นายอานนท์ กล่าวว่า กรณีออนไลน์นั้นเกิดบนเว็บเฟซบุ๊ก ยูทูบ 4share รวมถึงอีเมล ซึ่งกรณีอีเมล น่าสนใจเพราะเป็นการส่งลิงก์เว็บไซต์ให้ชาวต่างชาติ มีคำถามว่ารัฐเข้าถึงอีเมลซึ่งเป็นการสื่อสารของคนสองคนได้อย่างไร ในอนาคต ถ้ามีกฎหมายให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงอีเมลได้ง่าย คนอาจถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เยอะขึ้น

หลังรัฐประหาร คสช.ออกประกาศให้คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 27 พ.ค. ถูกพิจารณาโดยศาลทหาร ซึ่งมีโทษสูงกว่าศาลพลเรือน มีการพิจารณาลับ ไม่มีสิทธิอุทธรณ์-ฎีกา และไม่มีการสืบเสาะ ซึ่งอาจช่วยลดโทษได้

ทั้งนี้อานนท์ ตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนจะมีแนวทางว่า ความผิดออนไลน์แม้จะโพสต์ก่อนมีประกาศดังกล่าวแต่สาธารณะยังเข้าถึงได้ ถือเป็นความผิดต่อเนื่องทำให้ต้องขึ้นศาลทหาร โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีในศาลทหารอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ สิรภพ ศราวุธ สมศักดิ์ ทอม ดันดี ขณะที่กรณีคนขับแท็กซี่ถูกผู้โดยสารอัดเสียง ฟ้อง 112 เหตุเกิดออฟไลน์เมื่อ ม.ค. 57 จับกุมเมื่อ มิ.ย.57 ขึ้นศาลพลเรือน

นายอานนท์ เล่าว่า กรณี ทอม ดันดี ซึ่งถูกดำเนินคดี 112 จากการปราศรัยก่อนรัฐประหารนั้นเดิมคดีอยู่ศาลพลเรือน แต่ต่อมาในเดือน มิ.ย.พบคลิปปราศรัยดังกล่าวในอินเทอร์เน็ต ก็ถูกย้ายไปศาลทหาร อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการใช้ประกาศดังกล่าวอย่างเลือกปฏิบัติ เพราะก็มีบางคดีที่ขึ้นศาลพลเรือน เช่น ธเนศ อัครเดช

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw กล่าวด้วยว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับการจับกุมและดำเนินคดีทั้งที่หลักฐานอ่อน พร้อมยกตัวอย่างคดีจารุวรรณ สาวโรงงาน ซึ่งถูกฟ้อง 112 จากข้อความในเฟซบุ๊ก โดยเธอได้เดินทางสถานีตำรวจเพื่อชี้แจงว่าเฟซบุ๊กถูกแฮก แต่กลับถูกส่งตัวจากราชบุรีมาฝากขังที่กรุงเทพฯ พร้อมชายอีกสองคน พวกเขาถูกฝากขังอยู่ 80 กว่าวัน ก่อนอัยการจะไม่สั่งฟ้อง

กรณีการควบคุมตัวชายอีกสองคนมาด้วยนั้น อานนท์ระบุว่า มีทนายให้ข้อมูลว่า กรณีมีคนอยู่ในบ้านขณะจับกุม ทหารจะควบคุมตัวคนๆ นั้นไปด้วย พร้อมยกตัวอย่างกรณีเร็วๆ นี้ที่มีคนโพสต์เฟซบุ๊กและถูกตั้งข้อหา 112 ทหารไปจับตัวที่บ้าน ซึ่งมีน้องของผู้ต้องสงสัยอยู่ด้วย จึงนำตัวไปด้วยกัน แต่รายนี้คนน้องได้รับการปล่อยตัวในเย็นวันเดียวกัน

"กรณีจารุวรรณนั้น ในวันจับกุมสื่อหลายฉบับลงข่าวทั้งชื่อ-ที่อยู่ของเธอ แต่พอได้รับการปล่อยตัวและไม่มีการดำเนินคดีกลับไม่เป็นข่าว เช่นนี้แล้วใครจะรับผิดชอบ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงง่ายและกระจายไปได้ไกล" นายอานนท์กล่าว

นอกจากนี้นายอานนท์ยกตัวอย่างคดี 112 ที่จังหวัดอุบลราชธานี กรณีมีชายคนหนึ่งถูกดำเนินคดี 112 จำนวน 9 ข้อความ จำคุก 30 ปี แต่สารภาพลดโทษเหลือ 15 ปี โดยทนายเปิดเผยว่า วิธีที่หน่วยงานความมั่นคงใช้คือ ใช้โปรไฟล์เฟซบุ๊กเป็นสาวสวย เข้ามาขอเป็นเพื่อน (add friend) เริ่มต้นก็คุยเรื่องสัพเพเหระก่อนจะชวนคุยการเมือง ซึ่งนี่ตรงกับที่ก่อนหน้านี้ตำรวจเคยออกข่าวว่า "เราจะไปเป็นเพื่อนกับท่าน" จึงอยากเตือนผู้ใช้ให้ระมัดระวังเวลาจะพูดอะไร แม้แต่ข้อความแชทในเฟซบุ๊กหรืออีเมลก็ไม่ปลอดภัยแล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: