รายงานพิเศษ วันนี้ที่แม่เมาะ ข้อเท็จ-จริงและการต่อสู้เพื่อ‘ยุติ-ธรรม’ ชาวบ้านแม่เมาะชนะคดี กฟผ.จริงหรือ ?

ทีมข่าว TCIJ และ TCIJ school รุ่น 2 18 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 9524 ครั้ง

ค่ายสื่อสานพลัง TCIJ School Alumni    

ทีมข่าว TCIJ พร้อมด้วยนักเรียน TCIJ School  รวมสิบชีวิต ลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่และข้อเท็จจริง ภายหลังคำพิพากษา ที่นำมาซึ่งความเข้าใจของสาธารณชนทั่วไปว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นฝ่าย ชนะคดีและปัญหาเรื้อรังต่างๆได้ยุติลงแล้ว นับแต่นี้ ข่าวคราวความเจ็บป่วยและมลพิษแม่เมาะจะค่อย ห่างหายไปจากความสนใจของสื่อและสังคม ในขณะที่ข้อขัดแย้ง ความแตกแยก ความระแวงแคลงใจ ทั้งในหมู่ชาวบ้านผู้รับผลกระทบด้วยกันและต่อ กฟผ. ยังคงดำรงอยู่และนับวันทวีความรุนแรง  ผลการศึกษาสภาพอากาศและสถิติความเจ็บป่วยของชาวบ้านแม่เมาะยังมีปัญหาต่อเนื่อง ในส่วนกฟผ.ก็ยังเดินหน้าเปิดเหมืองขุดถ่านหินพร้อมๆกับการขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงไฟฟ้าเฟสใหม่ต่อไป ยิ่งเมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้เร่งรัดก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่กระบี่และเทพากับที่ กฟผ.เดินหน้าสำรวจพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 14 แห่งทั่วประเทศ ล้วนเป็นสถานการณ์ที่ยิ่งทำให้กรณีแม่เมาะ สมควรเป็นบทเรียนระดับชาติแก่ทุกฝ่าย    

ย้อนรอยแม่เมาะ ก่อนวันพิพากษา  

จากนโยบายพลังงานในอดีตและการค้นพบถ่านหินที่อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นับจากปี 2497 เป็นต้นมา  ถ่านหินถูกนำมาใช้ในกิจการรถไฟ โรงงานยาสูบ โรงงานปูนซิเมนต์  จนถึงปี 2511 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร กำหนดให้มี พ.ร.บ.จัดตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อมาปี 2515 โรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ 2 โรงแรกก็เปิดเดินเครื่อง  จนถึงปัจจุบันรวมเป็น 13 โรง ซึ่งต้องมีการขยายกำลังการผลิตถ่านหิน ควบคู่กันด้วย คือการเพิ่มพื้นที่เปิดหน้าดินทำเหมืองแม่เมาะที่ขยายวงกว้าง  

เมื่อเหมืองถ่านหินประชิดชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกฟผ.ต้องการพื้นที่ขุมเหมืองและที่ทิ้งดิน การเปิดหน้าดินจนถึงชั้นลิกไนต์ต้องใช้เครื่องจักรทำงานที่ส่งเสียงดัง และลิกไนต์ที่ถูกขุดขึ้นมาถูกกับอากาศจะเกิดกลิ่นเหม็น ปี 2535 เกิดปรากฏการณ์ฝนกรดในเขต อ.แม่เมาะเป็นบริเวณกว้าง พืชผักเหี่ยวเฉา สัตว์เลี้ยงเป็นแผลเน่าเปื่อยล้มตาย ชาวบ้านแสบคันตามร่างกาย หายใจลำบาก และเจ็บป่วยนับพันคน กฟผ.จึงต้องดำเนินการอพยพชาวบ้านระลอกใหญ่ 10 หมู่บ้าน โดยให้เหตุผลว่าเป็นพื้นที่ราชพัสดุ สงวนไว้สำหรับการทำเหมืองแร่ และจะจัดหาที่อยู่ที่ทำกินใหม่ให้พร้อมทั้งเงินชดเชย ชาวบ้านส่วนใหญ่ยินยอมย้ายออก ส่วนคนที่ไม่ยอมก็ถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ดินกฟผ.   

ช่วงปี 2543-2544 กลิ่นเหม็นจากซัลเฟอร์ลอยเข้าชุมชนอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้นด้วย อาการหายใจไม่อิ่ม แสบหน้าอก แสบคอ แสบจมูก บางรายอาการหนักต้องใช้อ๊อกซิเจนมือถือซึ่งมีราคาแพง ชาวบ้านยากจนใช้วิธีทอดผ้าป่าหาเงินซื้อถังอ๊อกซิเจนไว้เป็นของส่วนกลาง ใครที่อาการหนักเอาถังไปใช้  ตายไปก็เปลี่ยนให้คนอื่นใช้ต่อ  ผลกระทบด้านอื่นปรากฏเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศและผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากกรีนพีช และ WPF.   หรือ World Food Program โครงการอาหารโลก พบว่าในอากาศมีซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ ส่วนในน้ำพบการปนเปื้อนซัลเฟส แมงกานีส สารหนู แคทเมี่ยม ทองแดงและ ปรอท

แผนที่อาณาบริเวณเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ยืดเยื้อ-สูญเสีย- การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่ไม่'ยุติ'

ปี 2546 ชาวบ้านที่รับผลกระทบจำนวนหนึ่งรวมตัวกันในนาม”กลุ่มสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ” ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ผ่านมาจนถึงปี 2552 ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ กฟผ.จ่ายเงินเยียวยาผู้ฟ้อง  แต่ทางฝ่าย กฟผ. ยื่นอุทธรณ์โดยให้เหตุผลว่า "...การที่ศาลวินิจฉัยว่า กฟผ. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกระทำละเมิดต่อผู้อื่นนั้น หาก กฟผ. ไม่ยื่นอุทธรณ์จะส่งผลต่อชื่อเสียงและการดำเนินการของ กฟผ...”  [2]  ในขณะ เดียวกัน ก็เป็นห้วงเวลาที่มีโฆษณาในพื้นที่สื่อจำนวนมากด้วยวาทกรรม"พลังงานถ่านหินสะอาด”

ระหว่างการรอคอยความยุติธรรม มีผู้ฟ้องคดีที่ป่วยและเสียชีวิตไป 20 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตที่ถอนฟ้อง 6 ราย ขณะที่อีก 346 รายที่ยื่นฟ้องแต่ไม่ได้เข้ารับการตรวจร่างกายและไม่มีใบรับรองแพทย์  ศาลไม่รับฟ้อง ทำให้เหลือผู้ฟ้องคดี 131 ราย 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะกระทำละเมิดละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน (อ่าน"คําตัดสินศาลปกครองสูงสุด" ใน จับตา) นับแต่ปี 2546 คดีดังกล่าว   ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งอ้างรายงานการตรวจวัดอากาศของกรมควบคุม มลพิษระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2535 – สิงหาคม 2541 ที่วัดค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่แม่เมาะ  เกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 50 เดือน (จากระยะเวลาที่ตรวจวัด 70 เดือน ) ค่าที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 คือไม่เกิน 1,300 ลูกบาศก์ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  เฉพาะในพื้นที่แม่เมาะ  ขณะที่พื้นที่อื่นในประเทศกำหนดที่ 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลือ อีก 20 เดือน พบค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 17 เดือน โดยกฟผ. เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยเฉพาะพิษของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้คนที่ได้รับเข้าไปมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและทำให้เยื่อบุจมูก เยื่อบุคอ เยื่อบุตาอักเสบ ประกอบกับราษฎรที่ได้รับก๊าซ  ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นเวลา 67 เดือน ซึ่งมีการปล่อยก๊าชซัลเฟอร์ฯ เกิน มาตรฐานไม่น้อยกว่า 248 ครั้ง  และศาลกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยและจิตใจ  ผู้ฟ้องส่วนใหญ่จะได้รับชดเชยรายละ   246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย

หากเทียบกับระยะเวลา 23 ปีนับจากปี 2535 ที่เกิดมลพิษสะสมเรื่อยมา บางคนป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเองระหว่างที่รอคอยคำพิพากษา ผู้ฟ้องที่เจ็บป่วยหรือทายาทของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วซึ่งศาลตัดสินให้ได้เงินชดเชยสูงสุด จะได้รับเงินเยียวยาจากการรับมลพิษครั้งนั้นเฉลี่ยประมาณวันละ 60.61 บาท ขณะที่คนที่ได้รับเงินค่าชดเชยน้อยที่สุดจะได้รับเงินเยียวยาเฉลี่ยวันละ 2.24 บาท (คำนวนจากค่าเสียหายสูงสุด 246,900 บาท และค่าเสียหายต่ำสุด 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวัน ฟ้องคดีเป็นเวลา 10 ปี)  จึงไม่อาจยุติความเดือดร้อนคับข้องใจของชาวบ้านได้  ชีวิตและน้ำตา  การจำใจละทิ้งที่ทำกินและบ้านเกิด นำมาซึ่งความล่มสลายของครอบครัวจำนวนมาก รวมทั้งชุมชนเก่าแก่ของแอ่งแม่เมาะที่ไม่อาจฟื้นคืนมา 

เงินชดเชยที่ศาลพิพากษาให้กฟผ.ต้องชดใช้มีแค่ค่าเสื่อมสมรรถภาพทางร่างกาย สุขภาพและอนามัย แต่ค่าสูญเสียด้านจิตใจ กฟผ.ไม่ต้องชดเชย ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์จากการประกอบวิชาชีพ ค่าสูญเสียโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติจนกว่าจะเสียชีวิต และค่าเสียหายในอนาคต กฟผ.ไม่ต้องชดเชย โดยศาลระบุว่าชาวบ้านไม่มีพยานหลักฐานให้ศาล 

ข้อกังขาและข้อเท็จ-จริงจากสองฟากฝ่าย

หนึ่งในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดต่อกรณีแม่แมาะคือให้ กฟผ.ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและ แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับ หมู่บ้านทางทิศใต้ ภายใน 90 วันหลังศาลมีคำพิพากษา อย่างไรก็ตามเนื่องจากตอนท้ายของคำพิพากษาระบุว่า “ในกรณีที่ กฟผ. มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองที่มีมาตรฐานและเหมาะสมกว่ามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขท้ายประทานบัตร ให้ กฟผ. ดำเนินการยื่นขอแก้ไขต่อสำนักงานนโบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ " ทำให้ชาวบ้านหลายคนที่ได้รับผลกระทบเกิดข้อกังขาต่อคำพิพากษา ว่าเอื้อประโยชน์ให้ กฟผ. ไม่ต้องดำเนินการแก้ไขตามมาตรการที่ศาลสั่ง โดยเฉพาะการติดตั้งม่านน้ำดักจับซัลเฟอร์

จนถึงวันนี้  ทาง"กลุ่มสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ" และชาวบ้านจำนวนหนึ่งทั้งในชุมชนใหม่และชุมชนเก่า เชื่อว่ายังมีการปล่อยมลพิษในอากาศและฝุ่นละเอียด  รวมทั้งคิดว่ายังมีผลกระทบสะสมในดิน น้ำและอากาศ โดยชาวบ้านบอกว่า  ยังมีอาการผื่นคันตามร่างกาย  หายใจลำบากโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่มีความกดอากาศต่ำ ชาวบ้านไม่กล้าดื่มกินน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและแม้แต่น้ำประปาหมู่บ้าน เกือบทุกบ้านทั้งในชุมชนใหม่และชุมชนเก่า จึงต้องซื้อน้ำบรรจุขวดและถังเพื่อการบริโภค ทำให้มีค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำดื่มกินเพิ่มขึ้นเดือนละ 150 -300 บาท

 

อย่างไรก็ตามข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (http://maemoh.egat.com/) ระบุว่าได้ติดติดตั้งเครื่องดักก๊าซซัลเซอร์ไดออกไซด์ สำหรับโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 12 และ 13 (ชนิด wet Scrubber ประสิทธิภาพ 92%) ไปแล้วหลังปี 2535  ซึ่งมีประสิทธิภาพสามารถดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สุดได้ตามข้อกำหนดองค์การอนามัยโลก WHO ของฝุ่นละอองในอากาศระดับที่ไม่เป็นอันตราย ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่าขนาดเล็กที่สุดที่ PM10 หรือ 10 ไมครอน อีกทั้งรายงานคุณภาพอากาศที่ตรวจและรายงานโดย กฟผ. ก็อยู่ในระดับที่ดี

 

ที่มาภาพ http://maemoh.egat.com/index_maemoh/index.php?content=sulfur

 

ขณะที่ข้อมูลอีกด้านของกรีนพีช องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ติดตามปัญหามลพิษในอากาศ ร่วมกับกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ระบุว่า ปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้วัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองในอากาศ กฎหมายกำหนดตามมาตรฐาน  WHO คือ PM 10 เครื่องมือที่ใช้ตรวจจับความเข้มข้นของฝุ่นละอองจึงตรวจจับเฉพาะฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน  ในขณะที่ฝุ่นที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กมากขนาด 2.5 ไมครอน (PM2.5 เล็กกว่าฝุ่นละอองขนาด PM10)  ที่เราใช้เครื่องมือวัดกัน ดังนั้นฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก 2.5 ไมครอน หากมีกฎหมายกำหนดให้มีการวัด  จะทำให้พบในปริมาณที่มากขึ้นกว่าที่ปรากฎในสถิติข้อมูลของ กฟผ.

อีกทั้งหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ที่ระบายออกมาจากปล่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งฝุ่นละอองที่ปล่อยออกมานั้นเป็นฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 เล็กกว่าความกว้างของเส้นผมมนุษย์  มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

ทางด้านแพทย์ประจำโรงพยาบาลแม่แมาะและนักวิชาการศูนย์เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมแม่เมาะ ให้ข้อมูลตรงกันว่า เหตุที่ประชากรในอำเภอแม่เมาะเข้ามารับการรักษาด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจมาก เนื่องจากสภาพพื้นที่เมืองลำปางเป็นแอ่งกะทะ ทำให้ฝุ่นละอองในอากาศไม่สามารถกระจายตัวได้ดี  ซึ่งเป็นปัญหาเช่นเดียวกับแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน และแอ่งเชียงราย ที่ทุกปีจะมีฤดูกาลที่หมอกควันหนาแน่นอันเนื่องมาจากความกดอากาศต่ำและการเผาซากการเกษตร 

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่สาเหตุการป่วยส่วนใหญ่มาจากการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กจากโรงไฟฟ้า แพทย์ระบุว่าไม่สามารถฟันธงได้ เพราะผู้ป่วยหลายคนมีต้นทุนทางสุขภาพไม่เท่ากัน  อีกทั้งโรงไฟฟ้ามีมาตรการป้องกันเป็นอย่างดี ตั้งแต่ปี 2535 อีกทั้งโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้นส่วนใหญ่จะพบร่วมกับผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่  นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเฟสใหม่ ทำให้มีธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและการจ้างช่วง นำเอาแรงงานต่างถิ่นเข้ามาจำนวนมาก เป็นประชากรแฝงที่ทำให้สถิติผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสูงขึ้นมาก

  

ข้อกังขา กฟผ.บิดพลิ้วคำสั่งศาล

นอกเหนือไปจากมาตรการด้านสุขภาพที่ กฟผ.ต้องดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด การฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ชาวบ้านและภาคประชาสังคมยังกังขา เนื่องจากพื้นที่ขุมเหมืองเดิมปัจจุบันแปรสภาพเป็นสนามกอล์ฟและสวนพฤกษศาสตร์  ซึ่งชาวบ้านเห็นว่า กฟผ.ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาในการถมดินขุมเหมืองและฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนมา

เลิศศักดิ์ คำคงศักด์  กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีนี้ว่า หากพิจารณาจากแผนที่สนามกอล์ฟและสวนพฤกษศาสตร์ที่เป็นเหมืองมาก่อน มีการถมดินกลับจริง แต่สนามกอล์ฟคือการปรับภูมิทัศน์เท่านั้น ไม่ใช่การฟื้นฟูเหมืองให้กลับคืนมาดังเดิม เป็นการปรับภูมิทัศน์เพื่อสร้างเมืองใหม่ หรือสร้างสุนทรียสถานของคนเมือง คือไม่กลับเป็นป่าอีกแล้ว เพราะบริเวณนี้ถูกถอนสภาพป่ามานานแล้ว

“คำถามคือการถูกถอนสภาพป่า มีกำหนดอายุหรือไม่ ? ถ้าไม่มีนั่นแสดงว่า กฟผ.ไม่คิดจะคืนผืนป่า แต่คิดจะปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อเก็บพื้นที่นี้ไว้ใช้ในระยะยาวนานมาก ๆ ต่อไป และก็เพราะพื้นที่แอ่งแม่เมาะจะไม่มี คน/ มนุษย์อาศัยอยู่อีกต่อไป” เลิศศักดิ์กล่าว

เลิศศักดิ์ ยังคาดการณ์ว่า ที่กฟผ.ไม่ยอมฟื้นฟูกลับสสภาพเดิมตามธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่ยอมถมขุม เหมือง/ถมแอ่ง หนอง  เพราะ 1- น่าจะยังมีถ่านหินอยู่ในชั้นที่ลึกลงไปอีก 2 - การฟื้นฟูเหมืองเป็นเรื่องต้องลงทุนมาก ทำให้กำไรน้อยลง 3 - การฟื้นฟูมีต้นทุนสูงกว่าการปรับภูมิทัศน์ และการปรับภูมิทัศน์เช่นนี้เป็น CSR และแหล่งท่องเที่ยวได้ ได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง...  “กฟผ. จะเอาพื้นที่บ่อเหมืองไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น สันทนาการ หรือมีความเป็นไปได้ว่า เก็บเอาไว้สำรวจหามีเทนต่อไป” เลิศศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า  “ที่ต้องการ อพยพชาวบ้านออก ไม่ใช่เรื่องเห็นใจชาวบ้านนะ แต่ต้องการเอาพื้นที่หมู่บ้านที่ถูกอพยพออกไป เป็นที่ทิ้ง ดินมากกว่า”

ทางด้านตัวแทน กฟผ.แม่เมาะ นายบุญเทียร คำภิระปาวงศ์ วิศวกรระดับ 10 ที่รับผิดชอบโครงการอพยพ ชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า และนางนภณภัสสร ถาวรอธิวาสน์ หัวหน้าศูนย์จิตอาสา กฟผ.แม่เมาะ ให้คำอธิบายแก่ทีมข่าว TCIJ ว่า  “ชาวบ้านเข้าใจผิดตรงที่เป็นสนามกอล์ฟนั้นไม่ใช่ขุมเหมือง จึงไม่อยู่ในข่ายที่ต้องถมดินกลับ” นายบุญเทียรชี้แผนที่ธรณีวิทยาแอ่งแม่เมาะให้ดูประกอบ และบอกว่า สวนพฤกษศาสตร์มีการปลูกต้นไม้จำนวนมากร่มรื่นเป็นป่าเช่นกัน

ในกระบวนการผลิตถ่านหินลิกไนต์ จะต้องเปิดเปลือกดินออกไปทิ้งนอกบ่อเหมืองก่อนที่จะขุดเอาถ่าน ลิกไนต์ส่งให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ทำให้เหมืองแม่เมาะมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ดังนี้ ๑. บ่อเหมือง ๓๗ ตร.กม. (๒๓,๑๒๕ ไร่) ๒. ที่ทิ้งดินนอกบ่อเหมือง ๔๐ ตร.กม. (๒๕,๐๐๐ ไร่) อยู่ในประทานบัตรที่ยังไม่สิ้นอายุ ๖๑ แปลง ๑๖,๐๒๖ ไร่ และอยู่ในขุมเหมืองที่มีการขุดลิกไนต์ไปแล้วที่ไม่ถมกลับ/ฟื้นฟู

พื้นที่แอ่งแม่เมาะที่ลิกไนต์กระจายตัวอยู่ประมาณ ๓๗ ตร.กม. (๒๓,๑๒๕ไร่) ตอนนี้ทำไปแล้ว ๒ หมื่นกว่าไร่ ยังสามารถขยายเหมือง/ขอประทานบัตรแปลงใหม่ในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ยังไม่ได้ขุด ประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าไร่

 ข้อกังขาปัญหาการอพยพ - เกณฑ์การชดเชย

บ้านฉลองราช หมู่ 8 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ คือหมู่บ้านตั้งใหม่ในเขตป่าเสื่อมโทรม ที่รองรับการอพยพชาวบ้านห้วยคิง 4 หมู่บ้าน จำนวน 473 ครอบครัว หลายหลังคาเรือนคือผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า และเป็นสมาชิก"กลุ่มสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ" ซึ่งนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ แกนนำกลุ่มฯ เล่าว่า กฟผ.จัดสรรที่อยู่อาศัยให้ครอบครัวละ 1 ไร่ โดยวิธีจับฉลาก ดังนั้น คนไม่รู้จักกันมาก่อนต้องมาอยู่บ้านติดกัน แต่ญาติพี่น้องกลับต้องแยกกันอยู่  ส่วนที่ทำกิน กฟผ.ก็จัดสรรแยกส่วนไปต่างหาก ไม่สะดวกต่อวิถีชีวิตและวิถีทำกิน ทำให้ชาวบ้านที่อพยพออกมาแล้ว ยังคงกลับไปทำการเกษตรในชุมชนเดิม บางส่วนที่เคยค้าขายในหมู่บ้าน เมื่อย้ายออกมาก็หมดอาชีพ  องไปหางานทำต่างถิ่นหรือไปอยู่ในเมืองกับลูกหลาน

TCIJ เดินทางไปสำรวจทั้งที่ชุมชนใหม่บ้านฉลองราช และที่บ้านห้วยคิง(ชุมชนเดิม)หลายครั้ง รวมทั้งการพูดคุยกับชาวบ้านหลากหลายวัย พบว่า บ้านใหม่ฉลองราชวันนี้ค่อนข้างร้างผู้คน สิ่งปลูกสร้างไม่ต่างกับแบบบ้านจัดสรรชั้นเดียวชานเมืองทั่วไป บ้านแต่ละหลังมีพื้นที่ 1ไร่ ลักษณะผังชุมชนเป็นตารางสี่เหลี่ยม หลายบ้านปลูกสร้างไม่เสร็จ หลายบ้านยังใช้วัสดุชั่วคราวและไม่มีผู้อาศัย ส่วนบ้านที่มีผู้อาศัยอยู่มักเป็นคนแก่หรือผู้ป่วย สภาพไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นชุมชนหรือหมู่บ้าน บางหลังถูกขายต่อด้วยวิธีการเปลี่ยนย้ายชื่อบุคคลที่เป็นเจ้าบ้าน เนื่องจากยังไม่มีโฉนดที่ดิน

ช่างซ่อมรองเท้าสตรีริมถนนสายลำปาง-แม่เมาะ วัย 46 เล่าว่า พอใจที่จะอพยพออกจากที่อยู่เดิม ซึ่งมีอยู่เพียง 80 ตารางวา ที่ใหม่นี้ กฟผ.จัดสรรให้ถึง 1ไร่ ตนจึงไม่เข้าใจว่า ชาวบ้านจะรวมกลุ่มเรียกร้องอะไร นักหนาจาก กฟผ. เพราะเขาก็ชดเชยให้คุ้มแล้ว ทำเครื่องดักฝุ่นแล้ว ถ้าตนจะร่วมสู้ด้วย ก็คงมีเพียงเรื่องอยากได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น

ส่วนกรณีนางแปง (นามสมมุติ) ชาวบ้านที่อพยพออกมารุ่นแรกๆ ช่วงปี 2535  ปัจจุบันอยู่บ้านนาเขมพัฒนา เล่าให้ TCIJ ฟังว่า แต่เดิมตนมีที่ดิน 2  ไร่กว่า มีอาชีพปลูกผักและเลี้ยงหมู แต่มาที่ใหม่นี้ได้รับการจัดสรรที่สำหรับปลูกบ้านเพียง 200 ตารางวา ซึ่งตนไม่เข้าใจว่า ทำไมบางคนอยู่ที่เก่ามีที่ดินน้อย ถูกย้ายมาที่ใหม่ได้ที่ดินมากกว่าเดิม ในขณะที่ตนกลับได้ที่ดินน้อยกว่าเดิม อีกทั้งยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจนถึงขณะนี้

สำหรับบ้านห้วยคิง หมู่ 6 ชุมชนเก่าในเขตเหมือง แม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในรายชื่อผู้อพยพออกไปสู่ที่อาศัยใหม่ที่บ้านฉลองราชและได้รับเงินชดเชยแล้วก็ตาม แต่ที่นี่กลับยังคงสภาพความเป็นชุมชนที่ผู้คนยังดำเนินชีวิตปกติ และก็มีหลายบ้านที่รกร้างและมีรหัสเลขหมายบางอย่างที่ กฟผ.มาพ่นสีติดไว้ สอบถามจากชาวบ้านได้ความว่า เป็นบ้านที่ต้องย้ายออกในระลอกหลังสุดหรือระลอกที่ 7 ส่วนเครื่องหมายกากะบาทหรือข้อความแสดงกรรรมสิทธิ์โดย กฟผ. หมายความว่า หากกลับเข้ามาใช้ประโยชน์จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

เมื่อสอบถามถึงการประกอบอาชีพ  หลายบ้านให้คำตอบว่าลูกหลานทำงานกับ กฟผ. สอดคล้องกับที่ มะลิวรรณ แกนนำ"กลุ่มสิทธิผู้ป่วยเมาะ" เล่าให้ฟังว่า  เมื่อชาวบ้านหมดสิ้นวิถีอาชีพในแบบเดิม ส่วนใหญ่ได้แต่หวังว่าจะได้เข้าทำงานกับ กฟผ. และดูเหมือนประเด็นนี้ได้กลายเป็นความกินแหนงแคลงใจในหมู่ชาวบ้านกันเองว่า บ้านโน้นได้งาน กฟผ. แต่บ้านนี้ไม่ได้

ทางด้านนายบุญเทียร คำภิระปาวงศ์ วิศวกรระดับ 10 กฟผ. ที่รับผิดชอบโครงการอพยพชาวบ้านฯ อธิบายเกณฑ์การย้ายและชดเชยผู้อพยพแก่ TCIJ ว่า ครั้งที่1-4 เป็นการอพยพราษฎรเพราะ กฟผ.ต้องใช้พื้นที่เพื่อการขุดถ่านหิน เรียกว่าย้ายโดย’รัฐต้องการ‘  ส่วนครั้งที่ 5–7 ราษฎรแจ้งความประสงค์ขอย้ายออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากฝุ่น เสียง และมลพิษทางอากาศ เป็นการอพยพแบบ ’สมัครใจ’ และได้รับค่า ชดเชยตามเงื่อนไขไปแล้ว บ้านเรือนต้องตกเป็นทรัพย์สินของรัฐ แต่กลับมีการลักลอบรื้อถอน ขนย้ายไม้เรือนเก่าออกไป ทั้งคนที่เคยเป็นเจ้าของและไม่ใช่เจ้าของ  ขณะที่บางครอบครัวได้รับค่าชดเชยจากรัฐไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมย้ายออกไปจากบ้านหลังเดิม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายบุญเทียร ยังได้อธิบายถึงเกณฑ์การจัดสรรที่ดินที่เป็นข้อข้องใจของชาวบ้านว่า “ในชุมชนเดิมนั้น บางรายเป็นโฉนดที่ดิน  แต่บางรายมีปนกันทั้งโฉนดและนส.3  และบางรายไม่มีกรรมสิทธิ์เลย  แต่เป็นการจับจองที่ทำกินเท่านั้น  กฟผ.ใช้เกณฑ์ ‘ที่แลกที่’คือ ใครมีที่เดิมเกินกว่า 1 ไร่  เราก็จัดสรรที่ใหม่ 1 ไร่ ส่วนที่เกินจากนี้เราชดเชยเป็นตัวเงิน... แต่ปัญหาคือพื้นที่ใหม่นั้นเป็นป่าเสื่อมโทรมบ้าง พื้นที่ป่าอนุรักษ์บ้าง ซึ่งต้องยกเลิกพื้นที่ป่าเสียก่อน จึงจะสามารถออกเอกสารสิทธิ์ให้ราษฎรได้ แต่กรมป่าไม้ยังไม่มีการยกเลิกเขตป่าให้ ทำให้กฟผ.ดำเนินการต่อไม่ได้”

ไม่ว่าข้อเท็จและจริงของปัญหาทั้งหมดนี้จะเป็นเช่นไร ปฏิเสธไม่ได้ว่ากว่าครึ่งศวตวรรษที่ผ่านมา แนวทางพัฒนาประเทศไทยที่ถูกกำหนดจากบนลงล่าง  ได้ทำร้ายชุมชนท้องถิ่น สร้างความเดือดร้อนสูญเสียจากนโยบายหรือโครงการใหญ่ที่ดูดดึงทรัพยากรจากชุมชนท้องถิ่น เพื่อป้อนให้การบริโภคและอุตสาหกรรมอย่างไม่รู้จักพอ ชาวบ้านคนเล็กคนน้อยต้องกลายเป็นผู้เสียสละอย่างไร้ทางเลือกในนามของ"การพัฒนา"เสมอมา 

(ภาพและข้อมูลจาก โครงการจัดการที่ดินและอพยพเหมืองแม่เมาะ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)

อ่าน 'จับตา': “คำตัดสินศาลปกครองสูงสุด”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5841

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: