คำตัดสินศาลปกครองสูงสุด

ทีมข่าว TCIJ 18 ต.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3199 ครั้ง


 

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
คดีหมายเลขดําที่ อ. ๑๖_๓๑/๒๕๕๓
คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๗๔๙-๗๖๔/๒๕๕๗

(คดีเหมืองแร่)

ให้กฟผ. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะ ตามคําขอ ปบ.ที่ ๓-๖/๒๕๓๐ และที่ ๓๐-๔๖/๒๕๓๕ ดังนี้

  1. ให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว ๘๐๐ เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับ หมู่บ้านทางทิศใต้ ตามข้อ ๑.๙ ของมาตรการฯ ที่เสนอไว้ใน EIA

  2. ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ ๕ กิโลเมตร ตามข้อ ๑.๑๔ ของมาตรการฯ ที่เสนอไว้ใน EIA และข้อ ๒.๘ ของมาตรการฯ ที่กำหนดโดย สผ.

  3. ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ กฟผ. นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ ตามข้อ ๑.๑๗ ของมาตรการฯ ที่เสนอไว้ใน EIA

  4. ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุก ๆ ๑๘ เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน wetland ตามข้อ ๒.๖ ของมาตรการฯ ที่กำหนดโดย สผ.

  5. ให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker และในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด ตามข้อ ๒.๗ ของมาตรการฯ ที่กำหนดโดย สผ.

ในกรณีที่ กฟผ. เห็นว่า มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองที่มีมาตรฐานและเหมาะสมกว่ามาตรการฯ ที่เป็นเงื่อนไขท้ายประทานบัตรดังกล่าว ให้ กฟผ.ดำเนินการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการฯ ดังกล่าวต่อ สผ. ตามข้อ ๒.๑๔ ของมาตรการฯ ที่กำหนดโดย สผ. ที่เป็นเงื่อนไขท้ายประทานบัตร และต่ออธิบดี กพร. ตามมาตรา ๕๗ แห่ง กฎหมายแร่ ๒๕๑๐ และ กฟผ. จะปฏิบัติตามมาตรการฯ ที่ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ต่อเมื่อการขอแก้ไขและเปลี่ยนแปลงนั้น ได้รับความเห็นชอบจาก สผ. และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี กพร. แล้ว

ให้อธิบดี กพร. ตรวจสอบ กำกับดูแลการประกอบกิจการของ กฟผ. ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและมาตรการฯ หาก กฟผ. ไม่ปฏิบัติตาม ให้อธิบดีกพร. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา ๑๓๘ แห่งกฎหมายแร่ ๒๕๑๐ โดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ให้อธิบดี กพร. และ กฟผ. ดำเนินการตามคำพิพากษาภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

ประเด็นสำคัญ

๒๐ ส.ค. ๒๕๕๓ คชก. ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๓ มีมติเห็นชอบรายงานการขอเปลี่ยนแปลงมาตรการฯ ของ กฟผ.
๒๗ ต.ค. ๒๕๕๓ สผ. มีหนังสือแจ้ง กฟผ. ว่า คชก. มีมติเห็นชอบฯ(ก่อนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด)

อย่างไรก็ตาม การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการฯ ดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี กพร. ตามมาตรา ๕๗ แห่งกฎหมายแร่ ๒๕๑๐ ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่า กฟผ. ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี กพร. ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการฯ ดังกล่าว มาตรการฯ ที่ กฟผ. ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงและได้รับความเห็นชอบจาก สผ. จึงยังไม่มีผลบังคับใช้ กฟผ. ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการฯ ที่เสนอไว้ใน EIA และมาตรการฯ ที่กำหนดโดย สผ.ฉบับเดิมต่อไป

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: