ธเนศ วงศ์ยานนาวา: ปาก-ตีน-ตูด และความตาย

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 19 ม.ค. 2558


พูดถึงชื่อ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ปัญญาชนหรือหนอนหนังสือสายฮาร์ดคอร์คงมีเพียงน้อยคนเท่านั้นที่ไม่รู้จัก หนังสือหลายเล่มของอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนนี้ เรียกว่าต้องปีนบันไดอ่าน ถึงกระนั้นกลับมีแฟนๆ ติดตามผลงานไม่ขาดสาย ขนาดว่าการอ่านหนังสือของเขาเป็นเครื่องแบบประจำตัวสำหรับใครก็ตามที่ชื่นชมสำนักคิดหลังสมัยใหม่

การสนทนากับธเนศจะว่ายากก็ยากเพราะต้องฝ่าฟันระบบคิดอันซับซ้อน เพื่อให้ได้คำถามและคำตอบที่น่าสนใจ แต่จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะไม่ว่าจะถามอะไร สิ่งที่ออกจากปากของเขาก็ดูมีเนื้อหาหนักแน่นในตัวมันเอง

และ TCIJ เลือกแบบหลัง

เอาเข้าจริงๆ ธเนศไม่ได้ซับซ้อนเช่นผลงานของเขา นี้จึงเป็นบทสนทนา บทซักถามแบบเอ้อระเหยที่ดำเนินไปหลังแก้วกาแฟ มีเงียบเป็นบางช่วง มีซักไซ้เป็นบางที และไม่ได้มุ่งเน้นคุณค่าทางวิชาการมากไปกว่าการรับฟังการใช้ชีวิตและมุมมองต่อโลกและชีวิตของเขาผ่านหัวข้อที่ใกล้ชิดกับทุกชีวิตบนโลก-การกิน การเดินทาง การขับถ่าย จนกระทั่งความตาย ซึ่งสุดท้าย มันก็สะท้อนภาพสำนึกและชีวิตยุคใหม่ที่เราอาศัยอยู่แบบหนีไม่พ้น

ปิดท้ายด้วยคำถามคลาสสิกที่ใครๆ มักจะถามธเนศ และเราก็พร้อมจะถามซ้ำว่า เขานับถือศาสนาหรือเปล่า?

TCIJ: ได้ยินว่าอาจารย์เป็นคนชอบชิม ชอบกินอาหาร

ธเนศ: ผมก็กินได้หมดนะ ไม่ค่อยมีอะไรที่ไม่กิน อันหนึ่งที่ผมไม่กินคือไข่ที่มีกลิ่นไข่ อันนี้เป็นเรื่องปัญหาวัยเด็ก แต่อย่างอื่นกินได้หมด ทดลองกินไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรที่ไม่กิน ล่าสุดที่รู้สึกว่าแก่แล้วและกินไม่ได้คือเนื้อแมวน้ำ ไม่ไหว กลิ่นแรงเหลือเกิน มีคนซื้อมาฝาก

ส่วนงานวิจัยเรื่องการกินที่ผมทำนั่นก็นานมากแล้ว ตั้งแต่ปี 2541 แล้วก็ไม่ได้ทำอีกเลย สุดท้ายที่ผมเขียนคือเรื่องอาหารอิตาเลี่ยนในเมืองไทย นั่นก็พูดปี 2547 แล้วการเขียนงานวิชาการเรื่องอาหารก็เป็นอุบัติเหตุมากกว่า มันเกิดขึ้นเมื่อสมัยแม็คโดนัลด์เข้ามา ผมก็พูดอยู่เสมอว่าอาหารไม่มีวันที่จะสามารถรักษาความเป็นของแท้ที่คนดั้งเดิมในสังคมดั้งเดิมเขากิน มันต้องปรับเปลี่ยนรสชาติ ทุกที่เป็นแบบนี้ และแม็คโดนัลด์ก็ชัดเจนมาก เขาต้องการปรับตัว เพราะเรื่องการตลาดนี่เขาเก่งอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความสนุกสนานมากกว่างานวิชาการ

TCIJ: ไม่มีอาหารประจำชาติ?

ธเนศ: ผมคิดว่าปัญหาของเราคือเวลาเราพูดว่า ‘ของแท้’ เราคิดจากสมัยไหนล่ะ อย่าลืมว่าอิตาเลี่ยนไม่เคยมีมะเขือมาก่อนนะ มะเขือเข้ามา แล้วก็เป็นไม้ประดับมาก่อน กว่าคนจะกินมะเขือกันจริงๆ ในอิตาลีก็ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจน ฝรั่งเมื่อก่อนเชื่อว่ามันมีสารพิษ มีแต่ชนชั้นต่ำที่กิน การกินมะเขือเทศก็เป็นของใหม่ทั้งสิ้น จริงๆ แล้วของพวกนี้ผมว่ามันมาพร้อมการสถาปนาของรัฐประชาชาติมากกว่า เช่น การกินไวน์ของคนฝรั่งเศสก็ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนต้องรู้สึกเป็นสิ่งที่ต้องกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับมันไว้ แต่มันถูกสถาปนาขึ้นเพื่อให้เป็นวัฒนธรรมของคนในชาติในปลายศตวรรษที่ 19

TCIJ: อาจารย์พูดเหมือนกับว่าไม่มีเอกลักษณ์อะไรเลยที่พอจะบอกได้อาหารนี่เป็นอาหารไทย อาหารจีน อาหารอิตาเลี่ยน

ธเนศ: ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณสร้างคอนเซ็ปต์ของตัวคุณเองขึ้นมาก่อน เพื่อจะบอกว่าตัวฉันเป็นใคร ผมถามคุณว่าคุณจะเอามาตรฐานอะไรมาตัดสินว่า อันนี้คือแป้งพิซซ่า ในที่สุดคุณสถาปนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ แล้วคุณก็กำหนดกฎเกณฑ์ตรงนี้ที่อียู (สหภาพยุโรป) มันทำ เช่น Country of Origin แล้วคุณก็ปล่อยมันออกไป แน่นอน คุณอาจจะบอกว่าผลไม้ต้นนี้ ปลูกต้นนี้ ได้แบบนี้ เพราะดินตรงนี้ แต่ถามว่าคุณมีสำนึกแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมว่ามันเป็นของที่ไม่ได้มีมาตลอดกาล เราสถาปนาสิ่งพวกนี้ขึ้นมา แล้วยิ่งในโลกปัจจุบัน เราต้องการให้สิ่งเหล่านี้มีลิขสิทธิ์ทางการค้า

ผมคิดว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยน อาหารก็แลกเปลี่ยนกันไปมา แปรเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ผมคิดว่าอีก 200 ปีข้างหน้าคนฝรั่งเศสอาจจะไม่พูดว่า ไวน์เป็นวัฒนธรรมของฝรั่งเศส เพราะคนฝรั่งเศสตอนนี้ปริมาณการกินไวน์ลดถอยลงมาก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ถ้าอีก 200 ปีข้างหน้าคนไม่บริโภคแอลกอฮอล์ แล้วคุณจะว่ายังไง คือผมว่ามันก็เป็นเรื่องปกตินะ แต่ผมไม่คาดหวังให้ทุกคนไปคิดในทางประวัติศาสตร์ว่าเกิดสิ่งนี้ขึ้นมาได้ยังไง เพราะในท้ายที่สุดแล้วความสำคัญคือเวลานี้ คนคิดแบบนี้ เขาก็ต้องคิดว่านี่ของฉัน

มันมีอะไรบ้างล่ะที่คุณไม่นำเข้า ในยุโรป คริสตศาสนาคุณนำเข้ามั้ย คุณก็นำเข้า แม้กระทั่งศาสนาคุณยังนำเข้าเลย เสื้อยืดที่คุณใส่นำเข้ามั้ย วิธีฝรั่งทั้งนั้น เมื่อก่อนก็เป็นเสื้อชนชั้นต่ำ มันก็แปรเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย แต่ปัจจุบันเมื่อมันผูกขาดกับการค้า คุณก็ต้องเอาเป็นเอาตาย เอากฎหมายมาบังคับ

ใครบ้างไม่อิมพอร์ต ศาสนาคริสต์ ยุโรปก็อิมพอร์ตเข้าไป คริสตศาสนาเคยเป็นศาสนาของชนชั้นล่างมาก่อน กว่าจะแพร่ไปถึงสแกนดิเนเวียปาเข้าไปศตวรรษที่ 11 แล้ว แอฟริกาก็อิมพอร์ต สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนยังอิมพอร์ต แล้วของกินอิมพอร์ตจะเสียหายตรงไหน

ผมก็ไม่รู้ไงว่าอะไรเป็นของแท้บ้าง แต่พวกนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมก็ต้องทำให้เชื่อว่าของพวกนี้เป็นของของฉัน เราอยู่ภายใต้กรอบของรัฐประชาชาติมาก เราคิดว่ามันต้องเป็นของของฉัน ผมก็ไม่รู้ว่ามีอะไรเป็นของของฉันจริงหรือเปล่า แต่เท่าที่ผมเห็นมามันมีน้อยมาก

TCIJ: อาจารย์ชอบทำอาหารมั้ย

ธเนศ: เมื่อก่อนทำ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ทำแล้วครับ เสียเวลา ก็พอแด๊กได้ ทำพอกินได้ บางครั้งทำออกมาสุนัขไม่รับประทานก็มี ไม่ได้คิดว่าตัวเองทำอาหารเก่งอะไร บางทีทำออกมาแล้วฟลุ้กอร่อยก็มี ไม่อย่างนั้นผมไม่มาเป็นอาจารย์แล้ว ไปเป็นเชฟมิชลินสามดาวแล้ว อันนี้มันของขำๆ ปัญหาคือคุณอย่าไปคิดว่าถ้าผัวคุณบอกว่าคุณทำกับข้าวอร่อย แล้วดันไปเปิดร้านอาหารนี่เจ๊งนะ มันคนละเรื่องกัน

TCIJ: จากการกินด้วยปากกลายเป็นการบริโภค...

ธเนศ: ผมจะพูดอยู่เสมอๆ ว่า ในท้ายที่สุดคุณมีความชอบธรรมในการกินผ่านกลไกอุตสาหกรรมทั้งนั้น ปากพวกเราก็คือปากอุตสาหกรรม เพราะคุณจะกินอะไร อุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะบอกว่าคุณชอบธรรมที่จะกินอะไร

มะม่วง อุตสาหกรรมการเกษตร ถามว่ามีมะม่วงอะไรให้คุณกินบ้าง ทุเรียนกบแม่เฒ่า ไม่มีแล้ว เพราะไม่มีคนกิน มันก็เป็นกลไกตลาดที่ทำให้คุณต้องกินสิ่งเหล่านี้ ยกเว้นคุณปลูกหลังบ้านคุณเอง ข้าว ไก่ ไม่มีแบบดั้งเดิมแล้ว มันก็เปลี่ยนไป ไก่เข้ามาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 มันก็วุ่นวายไปหมดแล้ว ผมก็ไม่รู้ มันคงมีสายพันธุ์ดั้งเดิมของแท้ แต่คุณก็ไม่ได้เอาไก่สายพันธุ์ดั้งเดิมของแท้มากิน ถูกปะ

เอาง่ายๆ ไอ้กาแฟโบราณที่คุณกิน มันโบราณแค่ไหน ถูกมั้ย มันก็เป็นแค่การตั้งชื่อ เพราะฉะนั้นสำนึกเรื่องเวลาของคนในประเทศนี้ มันก็แตกต่างกัน อะไรที่เกิน 50 ปีก็รู้สึกว่ามันเก่า ช่วยไม่ได้ สำหรับผมไม่เห็นจะโบราณตรงไหน ถ้าคิดแล้วผมโบราณกว่ากาแฟ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อวัวก็เหมือนกัน เมื่อก่อนมีที่ไหนใส่ผักบุ้ง ตอนนี้ใส่กะหล่ำ คะน้า วุ่นวายไปหมด มันแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วคุณจะไปหยุดมันเหรอ ผมถามว่าส้มตำแครอทมีเมื่อไหร่ ตอนผมเด็กๆ ไม่มีส้มตำแครอท แล้วมะละกอก็ไม่ใช่พืชพื้นเมืองของเรา มาจากละตินอเมริกา แล้วส้มตำเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันก็ต้องมาพร้อมกับการขยายตัวของสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Expansion of Europe (การขยายตัวของยุโรป) ก็มาพร้อมกับการค้า ผมถามว่าแม่ค้าส้มตำจะสนใจเรื่องพวกนี้มั้ย เขาก็ไม่ได้สนใจ สับๆ แล้วก็ตำมันไป คนอยากกินแครอทก็ใส่แครอทไป คือตอนนี้อุตสาหกรรมมันยอมให้คุณกินในสิ่งพวกนี้

TCIJ: แต่เราจะเรียกสิ่งที่อุตสาหกรรมสร้างว่าความชอบธรรมได้เหรอครับ เหมือนจะบังคับเรากลายๆ มากกว่า เพราะเราไม่มีทางเลือก

ธเนศ: สมมติว่าตอนนี้ผมอยากกินเนื้อเสือ เนื้อหมี ได้มั้ย? นี่ก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกมั้ย เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้คุณกินสิ่งเหล่านี้ได้ ในอีก 30 ปีข้างหน้าคุณจะต้องเผชิญปัญหาคนกินเนื้อ ซึ่งคุณจะเห็นเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นซึ่งก็คือมะเร็ง เพราะฉะนั้นต่อไป-ซึ่งมีการทำนายมาแล้วตั้งแต่ 2523 ว่าตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ปริมาณคนกินมังสวิรัติน่าจะเพิ่มขึ้น นี่พูดกันมาเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วนะ หมายความว่าต่อไปไม่ว่าอะไรก็ตามทุกคนต้องหันกลับมากินอาหารที่ถูกต้องตามค่านิยมและความเชื่อทางการแพทย์ อุตสาหกรรมก็ต้องเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น อะไรก็ตามที่คุณกินสิ่งที่นอกเหนือ เช่น คุณกินอุ้งตีนหมี คุณกำลังทำลายสิ่งแวดล้อมใช่มั้ย?

ต่อไปคุณจะต้องเป็นมังสวิรัติ เพราะอะไร เพราะการที่คุณจะผลิตเนื้อ คุณต้องใช้พื้นที่ ใช้น้ำ ทั้งหมดสร้งปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ต่อไปคุณกินเนื้อ คุณคือสัตว์นรก ทั้งที่ทำให้เกิดมะเร็งกับตัวเองและสิ่งแวดล้อม นี่คือความหมายของสิ่งที่ผมพูดว่าความชอบธรรม

TCIJ: เราไม่มีเสรีภาพในการกินกันเลยสิครับ

ธเนศ: โทษนะครับ ใครเป็นคนตั้งชื่อคุณ ชื่อตัวเองแท้ๆ ยังไม่ได้ตั้งเลย ฝรั่งหนักข้อยิ่งกว่าเรา ต้องมีชื่อคริสเตียน จะตั้งชื่อกุ๊ดุ๋ยๆ ไม่ได้ ภาษามันก็กำหนดอยู่แล้วว่าคุณพูดอะไร ภายใต้โครงสร้างไหน เพราะฉะนั้นเสรีภาพคืออะไรล่ะ มันไม่มีหรอก ในท้ายที่สุด เราดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้างแบบนี้ ในสังคมอุตสาหกรรม เราก็ต้องดำเนินชีวิตตามสังคมอุตสาหกรรม คุณจะคิดว่าฉันอยากกินหมีขั้วโลกหรือแมวน้ำ มันมีข้อจำกัดของมัน เราทุกคนต้องมีข้อจำกัด โครงสร้างมันจำกัดเรา เราก็จะดิ้นอยู่ได้ในโครงสร้างนี้ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ให้คุณดิ้นนะ คุณก็กระโดดโลดเต้นไป

ผมว่าบางทีถ้ามันมีความคงที่ในชีวิตมากเกินไป มันก็ต้องการความตื่นเต้น เพราะฉะนั้นคุณต้องไปทำให้อะดรีนาลีนมันหลั่ง ผมเป็นคนปอดแหก ผมสร้างความตื่นเต้นแบบไม่มีอะไรมาก อ่านหนังสือเล่มใหม่ เออ ไอเดียนี้น่าตื่นเต้นดี ผมว่าชีวิตผมค่อนข้างที่จะน่าเบื่อนะ

TCIJ: ทุกวันนี้การกินไม่จำเป็นต้องผ่านปากอีกแล้ว

ธเนศ: ต้องเข้าใจนะ การกินเหมือนพิธีกรรม พิธีกรรมต้องการประสาทสัมผัสทุกส่วน ไม่ใช่ว่าหลับตา พิธีกรรมต้องได้เห็น ได้กลิ่น ได้สัมผัส มีการเคลื่อนไหว มีการเต้น กินก็เหมือนกัน สิ่งแรกที่เขายกจานมาคือคุณได้กลิ่น จากนั้นเป็นสี ถึงจะเป็นรสชาติ มันจึงเป็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น มันใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดของมนุษย์ ผมแนะนำให้ไปอ่านหนังสือของเทียนวรรณ เทียนวรรณจะบอกเลยว่าปลาตรงไหนของแม่น้ำเจ้าพระยาที่อร่อย ผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว ความหลากหลายของคนมันเพิ่มมากขึ้นเพราะการคมนาคม ซึ่งราคาค่อยๆ ถูกลงเรื่อยๆ

ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาคุณมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ในแต่ละพื้นที่ก็มีความหลากหลายของมันอยู่แล้ว เพียงแต่ในปัจจุบันเราอยู่ในโลกสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเลือก คุณไม่ชอบจมูกนี้ คุณก็เปลี่ยน คุณสวยได้ด้วยยันฮี ฉันไม่ชอบผัวคนนี้ ฉันก็เปลี่ยน เข้ามหาวิทยาลัยก็มีวิชาเลือก ตอนนี้เลือกเพศลูกคุณก็ได้ เลือกไปจนถึงเลือกนายกฯ ตอนนี้ไปถึงขั้นฉันจะเลือกวันตายของฉันที่สวิสเซอร์แลนด์ได้ มันก็เป็นสังคมตัวเลือก ตอนนี้ถ้าคุณถูกจับคลุมถุงชน คุณแฮปปี้มั้ย ก็ไม่ แต่เมื่อสามสี่ร้อยปีที่แล้วคุณอาจจะเฉยๆ มันคือการเปลี่ยนแปลงของวิธีคิด การดำรงชีวิต แต่ทางเลือกมันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่นี้ แต่มันเกิดขึ้นกับทุกส่วนของชีวิตคุณ แต่มันจะมีทางเลือกจริงๆ หรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่งนะ

TCIJ: แต่ก็มีคนที่ต่อต้านบริโภคนิยม ขณะที่อาจารย์เหมือนจะมองการบริโภคเป็นเรื่องปกติ

ธเนศ: คุณต้องเข้าใจว่า การบริโภคของหรูหราฟุ่มเฟือยเป็นสิ่งที่ศาสนาห้ามมาตลอด คริสตศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่ต้องการแม้กระทั่งให้คุณทำงานหนัก เพราะการทำงานหนักคือการลงโทษของพระเจ้า จนกระทั่งโปรเตสแตนท์เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการมีชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดี มันผูกกับสิ่งนี้มาตลอด

อย่าลืมนะครับว่าคำว่า Consumption ในศตวรรษที่ 18-19 คำนี้หมายถึงวัณโรคนะครับ รากศัพท์ของมันจึงมีความหมายเชิงลบมาตลอดอยู่แล้ว ทีนี้ คุณก็ต้องเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสำนึกแบบเอ็นจีโอหรือฝ่ายซ้ายทั้งหมดซึ่งเติบโตขึ้นมากับวิธีคิดของศาสนาพวกนี้ เอ็นจีโอรับเงินส่วนใหญ่จากที่ไหน ก็องค์กรการกุศลที่เป็นศาสนาทั้งนั้น แล้วคุณจะให้เขาคิดอะไรอย่างอื่นล่ะ ก็ถูกแล้ว จะปล่อยให้ระบบทุนนิยมเขกกะบาลคุณอย่างเดียว ก็ต้องมีคนขึ้นมาบาลานซ์ ก็แฟร์ดี

เท่าที่ผมเห็นไม่มีศาสนาไหนในโลกที่ไม่แอนตี้การบริโภค ถ้าพูดภาษาแบบไทยๆ คือ ถ้าไม่คุมก็ต้องปล่อยให้กิเลสฟุ้งกระจาย จึงต้องควบคุม ต้องมีกลไกบางอย่างมาควบคุม แล้วคุณจะปล่อยให้คนร่ำรวยมหาศาล คนจนอยู่อย่างยากไร้ มันจึงต้องมีวิธีการจัดการ จึงต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ทาน มีทุกศาสนา โลกสมัยใหม่ที่ไม่มีศาสนา รัฐก็ต้องเข้ามาเก็บภาษี แล้วกระจายรายได้ สร้างสวัสดิการสังคม ก็ถูกแล้ว แต่ถ้าถามว่าเอ็นจีโอจะเวิร์คมั้ย ผมว่ามันก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

TCIJ: มีคนเล่าให้ฟังว่า อาจารย์ชอบเดินทางท่องเที่ยว

ธเนศ: ก็เที่ยวครับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เที่ยวเท่าไหร่ มีลูกยิ่งไม่ค่อยได้ไปไหน วิถีการเดินทางมันเปลี่ยนไป ดินแดนที่ผมไปแล้วชอบมาที่สุดคือละตินอเมริกา เมื่อก่อนเป็นดินแดนที่ผมไปบ่อยที่สุด แต่ผมไม่ได้ไปมาสิบปีแล้ว ไปทีผมจะใช้เวลาพอสมควร แต่ไม่นาน ผมไม่ใช่พวกแบ็กแพ็กเกอร์ที่เที่ยวกัน 12 เดือน 18 เดือน เราไปเดือนเดียว ขี้หมามาก พอเริ่มแก่มากขึ้น เวลาก็มีน้อยลง ผมไปเที่ยวคอสตาริก้า 3 อาทิตย์ ผมไปอยู่ที่อุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งที่ติดกับชายแดน เจอคนเยอรมัน นั่งคุยกัน เขาถามผมว่ามานานเท่าไหร่ ผมบอกว่ามา 3 อาทิตย์ เขาบอกว่าทำไมมาน้อยจัง เขามา 6 อาทิตย์ คอสตาริกาประเทศเขาเล็กมากนะ ผมก็คิดว่ามา 3 อาทิตย์น่าจะพอ ผมเจอคนอเมริกัน ถามเหมือนกัน ผมบอกว่ามา 3 อาทิตย์ คนอเมริกันบอกว่าทำไมคุณมานานจัง เขามาแค่ 5 วันเท่านั้น ผมคิดว่ามันเป็นความแตกต่างของสำนึกและความเข้าใจ

TCIJ: ทำไมอาจารย์ชอบละตินอเมริกา

ธเนศ: ผมว่าในแง่ธรรมชาติมันอลังการมากนะ ทั้งอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ น้ำตก แม่น้ำ ภูเขา คนก็จะมีชีวิตชีวามาก แล้วก็ไม่ลำบกจนเกินไป แต่ผมคงไม่มีโอกาสกลับไปแล้ว เพราะมันไกลและค่าใช้จ่ายสูง

TCIJ: ขอถามคำถามเชยๆ เก่าๆ ครับ นักเดินทางกับนักท่องเที่ยวต่างกันยังไง

ธเนศ: ผมประกาศตัวเองชัดเจนว่า ผมเป็นคนของระบบทุนนิยม ผมไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองต้องเป็นคนพิเศษกว่าคนอื่นๆ เราต้องเข้าใจว่าเวลาคุณพูดถึง Traveler คุณพูดถึงการเดินทางที่ใช้เวลาสามสี่เดือน สำหรับชีวิตผม เดินทางนานที่สุดคือ 3 เดือน ไม่เคยเดินทางนานกว่านี้ เพราะฉะนั้นผมจะไม่สามารถบอกได้ว่าผมเป็น Traveler

ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจวิธีคิดของฝรั่งนิดหนึ่ง เวลาเราพูดในสิ่งพวกนี้ ฝรั่งเขามีวิธีคิดว่าในโลกของปัจเจกชนที่ฉันต้องการความแตกต่างจากคนอื่นๆ ฉันเกลียดระบบทุนนิยม ฉันเกลียดอะไรที่เป็นแมส ฉันต้องมีอะไรพิเศษ ไปยังดินแดนที่ฉันไม่เคยไป สิ่งเหล่านี้มันก็มาพร้อมกับฐานคิดดั้งเดิมที่ทำให้ระบบทุนนิยมและระบบอาณานิคมของตะวันตกเกิดขึ้น แนวคิดการเดินทางกับการได้ความรู้เป็นสิ่งที่คู่กัน ในเยอรมนีจะชัดเจนมีการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา เพราะว่าการเดินทางของฝรั่งคือการไปเอาความรู้ด้วย อย่างเวลากัปตันคุกออกเดินทางก็ต้องมีนักต่างๆ ตามไปเก็บตัวอย่างพืช สัตว์ด้วย นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่า Voyage

เหมือนกับความสุข

ความสุขจะมีได้อย่างดีที่สุด

เมื่อคนอื่นอิจฉาคุณ

เราต้องเข้าใจคำว่า Travel รากศัพท์ของมันมีหมายถึงความลำบาก มาจากภาษาละติน Tripalium หรือเครื่องทรมานนักโทษ เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึง Travel มันหมายถึงความยากลำบาก ก็กลับไปสู่ประเด็นที่ผมพูดว่า คนทุกคนมีสำนึกว่าฉันเกลียดของหรูหราฟุ่มเฟือย และมันก็คือลักษณะของการจาริกแสวงบุญ เวลาฝรั่งที่พูดอะไรแบบนี้ สำหรับผม ผมจะมองไปยังประวัติศาสตร์ทางความคิดว่ามันฟอร์มตัวขึ้นมาได้อย่างไร ผมจะเฉยๆ สำหรับผมมันคือรูปแบบหนึ่งของศาสนาที่พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับการแสวงหาความรู้และการขยายตัวของการยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 16  เพียงแต่ตอนนี้ไม่มีอาณานิคม มันก็มีชุดความคิดอีกแบบ ฉันจะต้องเป็นคนแรกที่ไปถึงดินแดนตรงนั้น ฉันจะเป็น Explorer นอกจากนั้น ในศตวรรษที่ 19 มันยังพิสูจน์ความเป็นชายของคุณอีก

มันมาด้วยเซ๊นส์พวกนี้ เพราะฉะนั้นเวลาใครมาพูดเรื่องพวกนี้ ผมจะเฉยๆ ผมก็บอกว่ากูเป็นทัวริสต์ กูไม่ดัดจริตขนาดนั้นหรอก เคยเห็นมั้ย พระทิเบตที่เดินไปแล้วก็ต้องก้มกราบไป คล้ายๆ กัน มันเปลี่ยนรูปแบบไป ถ้าคุณเข้าใจว่า Tripalium คือการทรมานตนเอง แล้ววัฒนธรรมการทรมานตัวเองเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญมากของคริสตศาสนาก่อนจะมีโปรเตสแตนท์  ฉันจะไม่อยู่หรอกโรงแรมห้าดาว มันสะดวกสบายเกินไป เซ๊นส์พวกนี้ มันชัดเจนมาก

เพื่อนสนิทผมคนหนึ่ง ตอนนั้นเดินทางกันสามสี่คน เวลาเราน้อยมาก ธรรมดาผมจะไม่ค่อยกินฟาสต์ฟู้ด แต่ผมเป็นคนยืดหยุ่น ไม่ได้คิดอะไรมาก เพื่อนผมคนนี้บอกว่าฉันไม่กินแม็คโดนัลด์ เราก็ไม่ได้คิดอะไร งั้นก็เดินเข้าไปด้วยกัน เพื่อนคนนี้บอกฉันไม่เหยียบแม็คโดนัลด์ ไม่กินและไม่เหยียบ คุณคิดว่าคนไทยจะมีแบบนี้มั้ย ดังนั้น สิ่งที่คนพวกนี้ต้องการคือทางเลือก ผมคิดว่าเวลาคุณนั่งรถ ข้างๆ มีคนขับบีเอ็ม ซีรีส์ 7 คุณจะรู้สึกรังเกียจมั้ย เขารังเกียจเลยว่าคนพวกนี้คือพวกที่ทำให้สังคมเสื่อมโทรม สำนึกทางชนชั้นของคุณ เหล่านี้มาจากฝ่ายซ้ายทั้งสิ้น

การเดินทางในปัจจุบัน มันก็คือส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทุกวันนี้ที่คุณบอกว่าเป็น Traveler ได้ง่ายๆ อย่างหนึ่งเพราะว่าคุณมีอีโคโนมี่ คลาส นี่เรายังไม่ต้องนับโลว์คอสต์ที่เกิดทีหลังนะ พอเริ่มมีอิโคโนมี่ คลาส มันก็เอาแมสทั้งหมดเข้ามาอยู่ในระบบของแอร์ไลน์ อิโคโนมี่ คลาส ก็คือ Everyone can fly ล็อตแรก แต่เมื่อก่อนนี้ไม่มี

TCIJ: โลว์คอสต์มา การเดินทางท่องเที่ยวในทศวรรษต่อๆ ไปจะเปลี่ยนหน้าตาไปมั้ย

ธเนศ: ปัจจุบันคนจะบ่นเรื่องนักท่องเที่ยวจีน จริงๆ การคาดการณ์นักท่องเที่ยวจีนมีการคาดการณ์กันเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า นักท่องเที่ยวจีนในปี 2568 จะใหญ่ที่สุด แต่ตอนนี้แค่ 2558 ก็เยอะแล้ว เพราะคุณกำลังพูดถึงประชากรพันกว่าล้านคน แค่ออกมาแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ก็ตายแล้ว มันก็ต้องเปลี่ยน ต้องแข่งขันกันมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการผลิตแบบแมส

ผมเล่าให้คุณฟัง ตอนผมไปเที่ยวประเทศแทนซาเนีย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีเกาะทางตอนเหนือเกาะหนึ่ง เป็นเกาะที่น่าเที่ยวมากเพราะเป็นการพบกันของหลายอารายธรรม แอฟริกัน อาหรับ และอินเดีย มันมีที่พักแห่งหนึ่งราคาคืนละ 5 แสน คุณคิดว่ากี่คนที่จะไป มันมี แต่ผมถามว่าปริมาณทั้งหมดหรือแมสที่เข้ามาจะพักแบบนี้มั้ย

ในที่สุด ทุกคนต้องอยู่กับโลกของแมสทั้งสิ้น เราจึงรู้สึกว่าเราต้องการ Exclusive การผลิตสินค้าแมสมันผลิตกันมานานแล้ว ผมคิดว่าในท้ายที่สุด คุณต้องการเป็น Exclusive ต่างหาก ฉันจะไม่เหมือนใคร ฉันอยู่อเมริกา ฉันจึงตั้งชื่อลูกว่า อุรามะ เพราะพ่อคือคนตั้งชื่อเป็นโปรเฟสเซอร์ด้านสันสกฤต

TCIJ: ก่อนหน้านี้อาจารย์ไปเที่ยวอินเดีย เป็นยังไงบ้างครับ

ธเนศ: ถ้าถามผมนะ ถ้าพูดถึงความยากจน อินเดียยากจน แต่ในความรู้สึกผม โครงสร้างและความตึงเครียด ละตินอเมริกาหดหู่กว่าอินเดีย เพราะคริสตศาสนาไม่ทำให้รู้สึกถึงการปลอบประโลมได้เท่ากับศาสนาที่มีโครงสร้างวรรณะแบบในอินเดีย ยกตัวอย่างเวลาคุณดูรูปพระคริสต์ที่ถูกตรึงกางเขน แล้วบรรยากาศในละตินอเมริกากับโบสถ์ในยุโรป มันต่างกันสิ้นเชิง ในละตินอเมริกาจึงดูแล้วหดหู่มาก ถ้าเป็นในบ้านนอกก็จะผสมกับศาสนาผีๆ อินเดีย จน แต่ผมไม่รู้สึกหดหู่

TCIJ: (ช่างภาพถามแทรกว่า) อาจารย์คิดยังไงกับกระแสฮิปเตอร์

ธเนศ: ผมมองว่าโลกนี้ต้องมีความเปลี่ยนแปลง มีการเซ็ตเทรนด์ ชีวิตของเราในโลกสมัยใหม่ สิ่งที่สำคัญคือพอคุณมีความสุข คุณจะมีความเบื่อหน่ายกับอะไรหลายๆ อย่าง เพราะมันไม่สามารถกระตุ้นเร้าคุณได้ โลกของแฟชั่นฮิปเตอร์ก็คือโลกของการแข่งขันที่ทำให้คุณตื่นเต้น มีอะไรแปลกใหม่ เซ็ตเทรนด์ เพราะว่าแฟชั่น ถ้าคุณใส่อยู่คนเดียว มันไม่เป็นแฟชั่น เพราะมันไม่ได้แข่ง

เหมือนกับความสุข ความสุขจะมีได้อย่างดีที่สุดเมื่อคนอื่นอิจฉาคุณ ถามคำ คุณจะฮิปเตอร์ ฮิปเตอร์อยู่ในห้องสิ ทำไมต้องออกมาเดินข้างนอก มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางสังคม คุณซื้อปาเต๊ะ ฟิลิปมา แล้วคุณนั่งดูที่บ้านอยู่คนเดียวหรือซื้อเฟอร์รารี่แล้วจอดอยู่บ้านเฉยๆ จะซื้อมั้ย ส่วนใหญ่ก็ต้องขับออกมาโชว์ ถูกมั้ย มันเป็นการแสดงออก ก็เหมือนกันแหละ มันต้องสร้างสิ่งที่ไม่เหมือนใคร แล้วมันก็เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในตัว ไม่ดีเหรอ ดีจะตาย

TCIJ: อาจารย์ได้ยินข่าวนักท่องเที่ยวจีนขี้ในที่สาธารณะในเชียงใหม่...

ธเนศ: วัฒนธรรมการขี้แบบนี้ ในอินเดียก็เป็น ไม่ได้แปลว่าผมแฮปปี้นะ แต่ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจว่า เวลาคุณเป็นนักท่องเที่ยว คุณเดินทางมา คุณไม่รู้ว่าจะไปขี้ที่ไหน เรื่อง Toilet Training มันก็เป็นสิ่งสำคัญ เราเห็นว่าคนไทยยังฉี่ตามที่ต่างๆ เหมือนเดิม ถูกมั้ย เพียงแต่เราอาจจะไม่ไปขี้ ซึ่ง Toilet Training มันเป็นวัฒนธรรมฝรั่งนะ เป็นการฝึกให้มีวินัยในตนเอง

การควบคุมการขี้ เยี่ยว ก็เป็นของใหม่มากนะสำหรับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมือง เมื่อก่อนฝรั่งไม่มีห้องส้วม ในเมืองคุณก็ขี้ใส่กระโถน เสร็จแล้วก็โยนออกนอกหน้าต่าง เมืองในยุโรปในศตวรรษที่ 15-16 เมืองก็จะสกปรก มีทั้งขี้วัว ขี้ควาย ขี้คน เหมือนกับที่อินเดีย แต่สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ หายไปในการพัฒนาเมือง เพราะมันมีปัญหาใหญ่สำคัญคือการแบ่งโซนเพื่อควบคุมโรคระบาด น้ำสะอาดคุณก็ไม่มี น้ำมันแข็งหมดคุณจะกินที่ไหน คุณก็ต้องไปต้ม การหาน้ำกินจึงลำบากมาก ทุกคนถึงต้องกินน้ำที่มีแอลกอฮอล์ ตื่นเช้าขึ้นมาคุณก็ต้องกินเบียร์ กินไวน์ เป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่มีน้ำสะอาดให้คุณกิน แล้วมีโรคระบาด คุณจะกล้ากินเหรอ

ผมคิดว่าในปัจจุบัน ระบบสาธารณสุขเราดีมาก เรามีการประปา จนเราลืมสิ่งเหล่านี้ไปหมดแล้ว แต่ผมไม่ได้บอกนะว่าทุกคนต้องจำ ไม่มีใครจำหรอก แม้กระทั่งคนที่ผมไปเถียงเรื่องอาหารอิตาเลี่ยนก็ไม่มีใครจำ ผมว่าเป็นเรื่องปกติ

TCIJ: การขี้ในแต่ละวัฒนธรรม พอไปอยู่ในอีกวัฒนธรรมหนึ่งจึงถูกมองเป็นปัญหา?

ธเนศ: ก็ใช่ เพราะมันเป็นสิ่งสกปรก ถูกปะ คุณจะทำยังไงจึงจะจัดการกับสิ่งปฏิกูลของคุณ ไม่ว่าจะเป็นขี้ เยี่ยว เหงื่อ ขี้หู ขี้ตา แต่คุณอย่าลืมนะ คนจีนเรื่องแคะขี้มูกเป็นเรื่องปกติ คนไทยก็ไม่เห็นเป็นประเด็น ไม่ค่อยรู้สึก ฝรั่งไม่ได้เลยนะครับ เรื่องใหญ่มาก เป็นสิ่งที่ไร้มารยาทที่สุด คุณดูจมูกของเขาสิ หนึ่ง เรื่องสุขอนามัยผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ หลังจาก Black Dead ที่ฝรั่งตายกันเป็นล้านคนแล้ว เรื่องน้ำ เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่มาก ฝรั่งไม่อาบน้ำก็เพราะหลัง Black Dead เพราะมีความเชื่อว่าเชื้อโรคมากับน้ำ แต่จริงๆ มันมากับเห็บที่มากับหนู เพราะฉะนั้นมันถึงต้องพัฒนาแป้ง ทำน้ำหอมขึ้นมา นี่มันมาพร้อมกับ Black Dead

TCIJ: ห้องน้ำในอินเดียและจีน สาหัสอย่างที่เขาว่ากันหรือเปล่า

ธเนศ: คือผมว่าวิธีคิดมันคนละอย่าง เขาต้องการเก็บขี้เอาไว้เพื่อไปทำปุ๋ย ถูกมั้ย

ผมจะเล่าให้คุณฟัง ผมจำภาพนี้ติดตาเลย ตอนนั้นผมอายุประมาณ 6 ขวบ ไปกินร้านเย็นตาโฟชื่อดังร้านหนึ่งแถวตรอกจันทน์ ระหว่างที่กินอยู่ มีเด็กอายุประมาณสามสี่ขวบมานั่งขี้ข้างๆ แล้วขี้ก็กองอยู่ตรงนั้น คือมันไม่มี Toilet Training แม่ก็มาเก็บขี้ไป

ในอินเดียมีคนจนเยอะ เขาจะไปเข้าส้วมที่ไหน เขาไม่มีส้วมชักโครก ผมถามลูกศิษย์ผมว่าตอนนี้มีใครนั่งขี้ยองๆ บ้าง ยังมี แต่น้อยมากลงเรื่อยๆ บางคนนั่งยองๆ ขี้ไม่ได้แล้ว การนั่งยองๆ แบบนี้มันไม่สะดวกสบายใช่มั้ย ไม่นุ่มนวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อก่อนมันเป็นบาป นั่งขี้แบบนี้บาป เพราะสะดวกสบาย อย่าลืมนะครับ ผมเขียนไว้ในหนังสือปฏิวัติบริโภค เวลาเราเรียกแชร์แมน คือคนที่ได้นั่งเก้าอี้นะครับ ถ้าคุณไม่มีฐานันดร คุณไม่มีสิทธิ์นั่งเก้าอี้นะครับ คนที่จะได้นั่งในสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง เวลาคุณไปเที่ยวเมืองเก่าโรมัน แล้วเห็นหลุมขี้ มันไม่ใช่ทุกคนไปได้นะ

ถ้าเราพูดถึงกระบวนการทางกายภาพของเรา มันเป็นเรื่องทางธรรมชาติปกติที่ต้องขับของเสียออกมา ถ้าเราบอกว่าเรากินของหรูหราฟุ่มเฟือย แล้วมันกลายมาเป็นขี้หมด มันก็เป็นคอนเซ็ปต์ทางศาสนาที่สำคัญ เพราะมันเป็นการใช้ทรัพยากร มันต้องใช้พลังงานมาก แม้กระทั่งคุณจะเผาคนตายหนึ่งคน ถ้าคุณเผาสดๆ โดยไม่มียางรถยนต์ คุณต้องใช้ปริมาณไม้เท่าไหร่ มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้แรงงานคนปริมาณมากที่จะได้ฟืนจำนวนหนึ่งมาเผาศพสดๆ คุณต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ที่คุณจะสุมฟืนเผาศพศพหนึ่งให้เหลือแต่กระดูก เพราะฉะนั้นในสังคมแบบเดิมต้องการอะไรที่ไม่ใช่ทรัพยากรมากจนเกินไป นั่นเพราะว่าคุณก็ไม่มีปัญญา ถ้าคุณมี คุณก็ต้องสร้างปิรามิด คุณต้องมีเครื่องปั้นดินเผาแบบจิ๋นซี ถูกมั้ย ถามว่าจะตายแล้วสร้างปิรามิด ฟุ่มเฟือยมั้ย

TCIJ: การที่คนอินเดีย คนเนปาล ปล่อยศพลงแม่น้ำคงเพราะเหตุนี้

ธเนศ: ผมคิดว่าส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะจัดการ คุณจะเก็บศพไว้ที่บ้านเหรอ คุณจะทำยังไง ก็ต้องเอาไปฝัง เพราะมันง่ายที่สุด ดังนั้น สมัยก่อนเวลาเกิดโรคระบาด เมื่อตายเยอะ สิ่งเดียวที่คุณจะทำได้ก็คือต้องอพยพ

การฝัง การเผาก็ยังเกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ถ้ามองในแง่สังคมชนเผ่าดึกดำบรรพ์ คุณจะเอาแรงงานที่ไหน ถ้าตายเยอะ แล้วถ้าเป็นโรคระบาด คุณก็ต้องย้ายหมู่บ้าน คุณรู้มั้ยในปลายศตวรรษที่ 19 มะเร็งไม่ใช่โรคที่คนกลัวที่สุด เรียกว่ายังไม่ติด 1 ใน 5 เลย ที่กลัวที่สุดคือโรคพิษสุนัขบ้า เพราะมันตายใน 2 อาทิตย์ แต่มะเร็งอยู่ได้เป็นปี ผมถึงบอกว่า แม้กระทั่งความตายคุณก็ยังเปลี่ยน วัณโรคน่ากลัวยิ่งกว่ามะเร็งอีก

TCIJ: มีคำถามคลาสสิกที่หลายคนต้องถามอาจารย์ และจะขอถามซ้ำอีก อาจารย์มีศาสนาหรือเปล่า

ธเนศ: ผมดูจากประวัติศาสตร์ ผมเห็นประวัติศาสตร์การก่อเกิดของศาสนาต่างๆ เช่น ผมพูดเสมอๆ ว่าจีนอิมพอร์ตพุทธศาสนาเข้าไป ชนชั้นนำจีนจึงไม่เคยชอบพุทธศาสนาเพราะถือว่าเป็นศาสนานำเข้า จีนมีขงจื๊ออยู่แล้ว แต่คนยุโรปไม่เคยมีความคิดว่าอิมพอร์ตศาสนา

ศาสนาสำหรับผม ผมพูดอยู่เสมอๆ ว่า ในชีวิตมนุษย์มี 3 สิ่งที่กำหนดชีวิตมนุษย์ อันนี้เป็นกระบวนทัศน์ของผม หนึ่ง-เซ็กส์ ในแง่ของการรีโปรดักชั่น การดำรงชีวิต การส่งผ่านพันธุกรรมของมนุษยชาติ สองคือความตาย เพราะถ้าไม่มีความตายก็ยุ่ง ทุกคนเป็นอมตะนี่ยุ่งตายห่าเลย ในความสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้ วิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบคุณได้ มนุษย์ดันถามว่าฉันมาจากไหน ทำไมต้องเกิด ทำไมต้องตาย ศาสนาเท่านั้นที่จะเป็นสิ่งการันตี สามจึงเป็นศาสนา และการที่คุณจะไปชีวิตหลังความตายของคุณ คุณก็ต้องปฏิบัติให้มันสอดคล้องกับหลักศาสนา นี่คือศาสนาของผม เพราะฉะนั้นศาสนาจะไม่เคยแยกตัวเองออกจากเรื่องเซ็กส์

TCIJ: และความตาย...

ธเนศ: และความตาย

TCIJ: อาจารย์เชื่อว่ามีชีวิตหลังความตายมั้ย

ธเนศ: ผมไม่รู้และไม่สนใจ ถ้าฝรั่ง จะเรียกผมเป็น Agnostic ใช่มั้ย พระเจ้ามีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ที่ผมสนใจคือถ้ามีแล้วมันทำให้มนุษย์คิดอะไร ปฏิบัติอะไรมากกว่า สำหรับผม ถ้าคุณเชื่ออะไรบางอย่าง มันก็ทำให้คุณดำเนินไปในสิ่งนั้น นั่นคือสิ่งที่ผมสนใจมากกว่า ถ้าคุณเชื่อว่ามีพระเจ้า มีศาสนา และมันนำไปสู่วิถีปฏิบัติอะไรของคุณที่ตามมา แล้วถ้าคุณไม่เชื่อ มันนำไปสู่อะไรที่ตามมา ผมสนใจ แต่ถามว่ามันมีหรือไม่มี ผมไม่รู้

ไม่มีใครรู้ว่าความตายคืออะไร มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ สิ่งนั้นก็คือการสิ้นสุดของชีวิต เรากลัวตายมั้ย การรักชีวิตไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่คนจะไม่กลัวตายเมื่อถึงจุดที่คุณรู้ว่าคุณจะต้องตายจริงๆ

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าเรากลัวอะไร แต่ผมคิดว่าเรากลัวการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ศาสนาถึงบอกว่าคุณไม่ตาย คุณไปสวรรค์หรือคุณได้กลับชาติมาเกิด เพื่อรักษาสถานะว่าคุณไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้บอกว่าเราไม่ได้หายไปไหน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: