ย้อนรอยโครงการ ‘สวนเกษตรซีพี’ หลังมติ สคบ. ยื่นฟ้องบริษัทคืนเงินผู้บริโภค

ทีมข่าว TCIJ 19 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 3417 ครั้ง

15 ปีที่แล้ว บริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ เปิดโครงการสวนเกษตรพร้อมคำโฆษณา ‘เพียงแค่นำเงินมาลงทุนกับโครงการของเรา โดยไม่ต้องทำอะไร เราจะสร้างผลผลิตให้คุณมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก’ พร้อมรับประกันผลผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้นและการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตรจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ นอกจากนี้ เจ้าของสวนที่ซื้อที่ดินไม่ต้องมาดูแลเอง เพราะบริษัทจะเป็นผู้ดูแลและเก็บผลผลิตตลอดสัญญา 15 ปี พร้อมทั้งรับซื้อเพื่อจำหน่าย โดยแบ่งสัดส่วนกำไรให้คุ้มค่ากว่าลงทุนในธุรกิจอื่นๆ โดยเจ้าของสวนจะได้รับร้อยละ 70 และบริษัทจะได้รับเพียงร้อยละ 30

หากเป็นจริงตามคำโฆษณา ระยะเวลา 15 ปี  พื้นที่สวนแต่ละแปลงจะเต็มไปด้วยผลผลิต ทั้งทุเรียนและมังคุด แต่ปัจจุบันขนาดของลำต้นไม่สมบูรณ์ บางแปลงถูกเปลี่ยนเป็นต้นส้มโอ ทั้งที่เงื่อนไขข้อตกลงระบุในเอกสารว่า บริษัทจะปลูกสวนทุเรียนและมังคุด แต่จนถึงวันนี้เจ้าของที่ดินบางคนระบุว่าไม่เคยได้รับเงินปันผลเลย

โฆษณากำไรเกือบล้าน ลูกค้าโวย 15 ปีได้รับแค่สองหมื่น

ย้อนกลับไปก่อนวันทำสัญญา เจริญ วงศ์กังแห หนึ่งในกลุ่มผู้เสียหาย เปิดเผยกับ TCIJ ถึงสาเหตุที่ตัดสินใจทำสัญญากับโครงการสวนเกษตรปราจีนบุรีไฮการ์เดน เพราะเชื่อถือในศักยภาพของ ‘ซีพี’ ว่าจะสามารถสร้างกำไรจากผลผลิตได้จริงตามคำโฆษณาที่ระบุว่า ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้นควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยด้วยระบบคอมพิวเตอร์ รับประกันว่าต้นไม้จะได้รับน้ำทุกต้น อักทั้งมีพื้นที่สำหรับวิจัยเพื่อหาวิทยาการใหม่ๆ มาพัฒนาสวนให้สมบูณ์

ในโบร์วัชวร์ยังระบุอีกว่า หากนำเงินมาลงทุนกับสวนเกษตรของซีพี บริษัทจะจัดสรรค่าตอบแทนที่ได้จากกการขายผลผลิตทั้งหมดให้ร้อยละ 70 ขณะที่บริษัทได้รับเพียงร้อยละ 30 และจะเป็นผู้ดูแลตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวและรับซื้อผลผลิตเพื่อนำไปขาย

นอกจากนี้ บริษัทยังเปรียบเทียบผลตอบแทนใน 15 ปี ระว่างนำเงินไปฝากฝากธนาคารกับนำเงินมาลงทุนในสวนเกษตรของซีพี โดยเปรียบเทียบจากเงินลงทุน 960,000 บาท หากฝากธนาคาร จะได้รับผลตอบแทน 1,101,600 บาท ในขณะที่ผลตอบแทนจากสวนเกษตรอยู่ที่ 1,771,330 บาท

หากเป็นไปตามโฆษณาดังกล่าว ปัจจุบันพื้นที่สวนแต่ละแปลงจะเต็มไปด้วยผลผลิตทั้งทุเรียนและมังคุด ขณะที่สภาพจริงคือ ต้นทุเรียนและมังคุดหลายต้นยืนต้นตาย บางต้นสภาพไม่สมบูรณ์โตไม่เต็มที่ และพื้นที่สวนบางแปลงถูกเปลี่ยนเป็นต้นส้มโอ ทั้งที่เงื่อนไขข้อตกลงระบุในเอกสารบริษัทจะปลูกสวนทุเรียนและมังคุด

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค( สคบ.) เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง

บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัดมหาชน และบริษัท ปราจีนบุรีไฮการ์เดน จำกัด

โฆษณาชวนเชื่อให้ร่วมลงทุนในสวนเกษตรในเครือซี.พีฯ

“เมื่อหลายปีก่อน บริษัทแจ้งขอเปลี่ยนแปลงชนิดพืชในสวนจากทุเรียนและมังคุดเป็นส้มโอ เนื่องจากทุเรียนและมังคุดให้ผลผลิตได้ไม่ดี ยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก หากเปลี่ยนชนิดผลไม้ที่ปลูกเป็นส้มโอจะให้ผลผลิตดีกว่า”

บริษัทบอกลูกค้าเบี้ยวจ่าย ขาดเงินหมุนเวียน

ด้านบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านรายการสถานีประชาชน โทรทัศน์ไทยพีบีเอส ออกอากาศเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 หลังลูกค้าสวนเกษตรปราจีนบุรีไฮการ์เดน เข้าร้องเรียนต่อรายการ

โดยบริษัท ซี.พี.แลนด์ฯ ระบุว่า ได้เริ่มทำสัญญาบริการสวนเกษตรฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เนื่องจากราคาสภาพและอากาศที่ผันผวนของประเทศไทยทำให้ราคาผลไม้ตกต่ำ ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ทำให้ผลผลิตไม่ได้ผลตามที่ประมาณการ นอกจากนี้ มีเพียงลูกค้าบางรายเท่านั้นที่ได้ชำระค่าบริหารสวนครบถ้วน (จากจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น จำนวน 778 ราย) ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ชำระค่าบริหารสวนตามสัญญา ทำให้บริษัทที่ดูแลบริหารสวน ขาดเงินหมุนเวียนในการดูแลรักษา โดยที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้ดูแลต่อด้วยงบประมาณของบริษัทเอง

สคบ. ชี้ โฆษณาเกินจริง ให้คืนเงินผู้บริโภค

ต่อมา คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค( สคบ.) เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัดมหาชน และบริษัท ปราจีนบุรีไฮการ์เดน จำกัด  โฆษณาชวนเชื่อให้ร่วมลงทุนในสวนเกษตรในเครือซี.พีฯ และมีมติให้บริษัทชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,318,770 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี และค่าเสียหายจำนวน 537,570บาท และเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลอุทรณ์มีคำวินิจฉัยให้เป็นคดีผู้บริโภค

มติ สคบ.

คำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์

เอมอร ธรรมผุสนา หนึ่งในสมาชิกครอบครัวผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อเปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทย์ยื่นฟ้องบริษัท ซี.พี.แลนด์ฯ ทางบริษัทได้ยื่นข้อเสนอขอซื้อคืนจากผู้เสียหายที่คดีความยังไม่ขึ้นสู่ชั้นศาลและขึ้นสู่ชั้นศาลแล้ว โดยเสนอให้ราคาให้เท่ากับราคาที่ดินเมื่อเริ่มโครงการ บวกค่าเสียหาย 150,000 บาท ต่อแปลง ไม่รวมค่าปลูก ค่าดูแลต้นอ่อน และค่าบริหารสวนรายปี ที่ผู้เสียหายจ่ายให้ตลอด 20 ปี อีกทั้งผู้เสียหายต้องชำระค่าเสียภาษีการโอนที่ดินให้กับบริษัท พร้อมกำหนดเวลารับซื้อคืนหากเกินเวลาบริษัทจะไม่รับซื้อ ทำให้ลูกค้าบางรายเริ่มทยอยขายคืนตามข้อเสนอ เพราะกลัวบริษัทจะไม่รับซื้อคืน

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด หลังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปราจีนบุรีไฮการ์เดน จำกัด  คดีอยู่ระว่างนัดสืบพยานที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยนัดสืบพยานล่าสุดไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เนื่องจากทนายจำเลยอ้างว่าเจ็บคอ ไม่สามารถซักค้านพยานได้ ศาลจึงนัดสืบพยานอีกครั้ง วันที่ 28 มีนาคม 2558

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcitthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: