ส่องสมรภูมิ‘สโมสรบอลไทย’ยุคเฟื่องฟู ฟอกเงิน-หาเสียง? ฤาธุรกิจ-การเมือง?

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ทีมข่าว TCIJ 19 เม.ย. 2558 | อ่านแล้ว 5113 ครั้ง

หากมองในมิติผู้ชมกีฬา อาจคิดไปว่า การเข้ามาสู่ทีมฟุตบอล หรือธุรกิจสโมสรกีฬานั้น สร้างกำไรมหาศาล ทั้งจากยอดผู้ชมเต็มสนามทุกครั้งเมื่อมองผ่านจอแก้ว หรือดูจากตราสินค้าและโฆษณารอบสนาม ไม่เว้นแม้แต่โฆษณาบนเครื่องแต่งกายของนักฟุตบอล  รวมถึงคัตเอาท์ บิลบอร์ดตามถนนหนทางในจังหวัด และข่าวคราวที่กลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจ กระทั่งนักการเมือง ต่างแข่งกันเป็นผู้สนับสนุนหลัก มีสโมสรเกิดใหม่มากมาย ทว่าในความเป็นจริง กำไรที่เกิดขึ้นในวงการนี้กลับไม่ใช่เม็ดเงิน…

ฟุตบอลไทยฟีเวอร์ “ตัวเลขที่น่าชื่นชม”

จุดพลิกผันครั้งใหญ่ของวงการลูกหนังไทย คือ ปี 2552 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ดำเนินงานตามสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC (Asian Football Confederation) ตั้งเป้าให้ฟุตบอลเอเชียทั้งทวีปต้องเป็นมืออาชีพและเติบใหญ่เทียบเท่ามาตรฐานยุโรป มีการออกระเบียบให้ทุกสโมสรฟุตบอลต้องจดทะเบียนนิติบุคคล หรือจัดตั้งเป็นบริษัท ส่งผลให้สโมสรฟุตบอลต่างแข่งกันระดมทุนเพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพให้ทีม ‘เงินทุน’ กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสภาพคล่องและพัฒนาทีม ตั้งแต่ซื้อตัวนักเตะต่างชาติฝีเท้าดี จ้างผู้ฝึกสอนจากต่างชาติ จัดหานักวิทยาศาสตร์การกีฬามาช่วยดูแลนักฟุตบอล ไปจนกระทั่งกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้ทีมฟุตบอลหลายทีมในขณะนั้นต้องปิดตัวลงหรือเปลี่ยนชื่อทีม และมีการเปลี่ยนผู้บริหารทีมให้มีลักษณะเป็นมืออาชีพมากขึ้น  

ฟุตบอลถูกมองว่าเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของประเทศไทยมาทุกยุคทุกสมัย ทำให้การสร้างภาพโดยการทำการตลาดในวงการฟุตบอลมักจะมีลักษณะเกินจริงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งการนำเสนอข่าวดารานักเตะค่าตัวแพงที่มีรายได้ค่าเหนื่อยมหาศาล การนำเสนอข่าวการทุ่มเงินของประธานสโมสรที่มีภาพผูกติดกับการเมือง รวมทั้งการสร้างความฝันสูงสุดของคนไทย นั่นก็คือความฝันที่จะได้เห็นทีมฟุตบอลทีมชาติไทยไปแข่งขันฟุตบอลโลก

อีกทั้งสื่อด้านกีฬายังนำเสนอถึงสถิติและรายได้ต่างๆ ของสโมสรฟุตบอลไทย ที่ทำให้คนไทยรู้สึกว่าธุรกิจฟุตบอลไทยนั้นกำลังไปได้ด้วยดี เช่น สถิติผู้ชมทั้งฤดูกาลของฟุตบอลไทย โดยเฉพาะไทยพรีเมียร์ลีกนั้นเพิ่มขึ้นทุกปีจากในปี 2552 ที่มีผู้ชมรวมทั้งฤดูกาลประมาณ 984,000 คน ก้าวกระโดดมาเป็น 1,911,277 คนในปี 2557 จากเฉลี่ยผู้ชมต่อนัดประมาณ 4,100 คน เมื่อปี 2552 มาเป็นเฉลี่ยต่อนัด 5,029 คนในปี 2557 และรายได้จากการขายของที่ระลึกรวมทุกสโมสร เมื่อปี 2552 มีประมาณ 24 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นเป็น 73,054,343 บาทในปี 2557 และรายได้จากการขายค่าบัตรเข้าชมเกมของทุกสโมสรรวมกัน เมื่อปี 2552 มีประมาณ 50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็นถึง 164,542,593 บาทในปี 2557 เลยทีเดียว

ปัจจัยอย่างการตลาดเกินจริงและชุดตัวเลขที่ดูสวยหรูเฟื่องฟูระดับ “อุตสาหกรรมลูกหนัง” นี้เอง ที่ทำให้กระแสฟุตบอลไทยอาจจะกำลังอยู่ใน “ภาวะฟองสบู่” รอเวลาระเบิดในอนาคต

เหรียญอีกด้าน “ตัวเลขที่คนมองข้าม”

อาจกล่าวได้ว่าความพยายามสร้างภาพและทำตลาดเกินจริงของทีมสโมสรฟุตบอลต่างๆ ได้บดบังเรื่องผลประกอบการของแต่ละทีมไปเกือบทั้งหมด กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำข้อมูลเปรียบเทียบภาพรวมในหมวดธุรกิจกิจกรรมด้านสโมสรกีฬาซึ่งนิติบุคคลสโมสรฟุตบอลถูกจัดให้อยู่ในหมวดนี้นั้น ในปี 2556 ซึ่งมีจำนวนนิติบุคคลที่ส่งงบการเงิน 171 ราย

(หมายเหตุ: ในรายงานชิ้นนี้ใช้ฐานปี 2556 เป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบเนื่องจากเป็นปีที่มีการส่งงบการเงินมากที่สุด ส่วนในปี 2555 ส่ง 10 ราย และปี 2557 ส่ง 12 รายเท่านั้น ข้อมูล ณ วันที่ 2 เม.ย. 2558)

จากภาพรวมอุตสาหกรรมสโมสรฟุตบอลในปี 2556 นั้นจากนิติบุคคลที่ส่งงบการเงิน 171 ราย แบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก 135 ราย (ส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมร้อยละ 42.55) เป็นธุรกิจขนาดกลาง 14 ราย (ส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 12.76) และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ 22 ราย (คิดเป็นร้อยละ 44.69)

นอกจากนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังได้จัดอันดับธุรกิจในกลุ่มธุรกิจกิจกรรมด้านสโมสรกีฬานี้ 69 อันดับในปี 2556 ในด้านการกำไรสุทธิสูงสุด 10 อันดับแรก พบว่ามีนิติบุคคลสโมสรฟุตบอล 5 ทีมเท่านั้น ติดใน 10 อันดับแรก ส่วน 10 อันดับสโมสรกีฬาที่ขาดทุนสูงสุดในปี 2556 นั้น เป็นนิติบุคคลสโมสรฟุตบอลทั้งสิ้น 9 อันดับ

ตารางแสดงนิติบุคคลสโมสรกีฬา 10 อันดับแรกที่ทำกำไรสูงสุดในปี 2556

ตารางแสดงนิติบุคคลสโมสรกีฬา 10 อันดับสโมสรกีฬาที่ขาดทุนสูงสุดในปี 2556

ที่มาข้อมูล: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

แม้สื่อมวลชนด้านกีฬาจะเปิดเผยถึงตัวเลขรายได้ของสโมสรฟุตบอลใหญ่ๆ ว่ามีรายได้ถึงหลักร้อยล้าน แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วมีทีมฟุตบอลไม่กี่ทีมเท่านั้นที่ทำกำไรได้ และเป็นผลกำไรในระดับที่ไม่ค่อยจูงใจแก่การทำธุรกิจมากนัก โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่านิติบุคคลสโมสรฟุตบอลที่ทำรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2556 นั้นมีเพียง 3 ทีมเท่านั้น คือ ที่ทำกำไรจากการประกอบธุรกิจได้ คือ บีอีซี-เทโร ศาสน จำกัด, สุพรรณบุรี ฟุตบอล คลับ จำกัด และอาร์มี่ ฟุตบอล จำกัด

ตารางเปรียบเทียบรายได้และผลกำไรสุทธิของ 10 สโมสรฟุตบอลที่มีรายได้สูงสุดในปี 2556

ที่มาข้อมูล: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นได้ชัดว่า แม้ฟุตบอลไทยจะมีการสร้างภาพว่ามีความเป็นมืออาชีพด้านธุรกิจอย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับพบว่าทีมที่ยังมีความใกล้ชิดกลับระบบราชการอย่างอาร์มี่ ยูไนเต็ด (ในนามนิติบุคคลอาร์มี่ ฟุตบอล จำกัด) ที่มีกำไร  5,178,092.44 ในปี 2556 แต่เมื่อมองถึงภาพรวมไม่ว่าจะเป็นทีมใหญ่ ทีมขนาดปานกลาง หรือทีมเล็กทีมน้อยต่างๆ ก็กำลังประสบปัญหาขาดทุน ต้องเปลี่ยนนายทุนทีม เปลี่ยนผู้บริหารทีมเกือบจะทุกปี  จึงทำให้เกิดคำถามว่า  บริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจอื่นเป็นด้านหลัก  ไฉนจึงยินดีขาดทุนทุกปีในวงการบอล

เนื้อแท้บอลไทย ธุรกิจไม่ใช่โจทย์หลัก

ตัวเลขประมาณการจากยอดแฟนบอลจากเพจไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกในปี 2557 ว่ามีประมาณ 3 ล้านคน และเมื่อเทียบกับยอดผู้ชมในปี 2557 ของทุกสนามรวมกันมี 1,911,277 คน จึงเป็นไปได้ว่า ไม่ใช่แฟนบอลทุกคนจะยอมควักกระเป๋าสนับสนุนทีมที่ตนติดตาม

ยรรยง อัครจินดานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ถอดประสบการณ์จากการคลุกคลีในวงการลูกหนังไทยว่า ทีมฟุตบอลไทยตั้งอยู่บน 3 โจทย์หลัก คือ ธุรกิจ การเมือง และความชอบส่วนบุคคล แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ เรื่องการเมืองและความชอบส่วนบุคคล

เพราะหากมองในมุมธุรกิจการกีฬา ทีมฟุตบอล ไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ ในทางกลับกันไม่ว่าทีมเล็กหรือทีมใหญ่ มักอยู่ในสภาพที่พออยู่ได้ คือ มีสภาพคล่องพอที่จะประคองทีมให้อยู่ต่อได้ในแต่ละปี เพราะทีมฟุตบอลอยู่ได้ด้วยผลงานที่เกิดจากการสร้างของนักเตะ ซึ่งหากอยากได้นักเตะฝีมือดี ทีมมีคุณภาพ ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่าหลักร้อยล้านในแต่ละปี ซึ่งหากอาศัยเพียงรายได้จากการจำหน่ายของที่ระลึก ตั๋วเข้าชม แม้จะขายหมดทุกนัดการแข่ง แต่เมื่อรวมกันแล้วก็ยังไม่พอต่อการบริหารทีม โดยเฉพาะทีมขนาดเล็กที่กำลังสร้างผลงานให้เป็นที่รู้จัก การวิ่งเข้าหาผู้สนับสนุน อย่างนักการ เมืองหรือกลุ่มธุรกิจ คือช่องทางหลักเพื่อรักษาสถานภาพของทีม

นอกจากนี้การเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักให้ทีมฟุตบอลประจำจังหวัด  บางทีก็เกิดจากบริษัทเจ้าของกิจการต่างๆ ที่ต้อง การขยายฐานการผลิต ที่อาจจะมีความขัดแย้งกับคนในพื้นที่ การสนับสนุนทีมฟุตบอลจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการสำหรับการลดแรงปะทะและส่งเสริมภาพลักษณ์ในพื้นที่

แหล่งข่าวจากวงการฟุตบอลภาคกลางเปิดเผยว่า เมื่อใดที่มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ แม้จะได้รับการรับรองว่าปลอดภัยทุกขั้นตอน แต่คนในพื้นที่ย่อมต่อต้านเป็นธรรมดา การทำประชาพิจารณ์ในแต่ละครั้งจึงยากที่จะผ่านอย่างไม่มีเงื่อนไข การเข้าไปสนับสนุนทีมฟุตบอลประจำจังหวัด จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่บริษัทเจ้าของโครงการเกิดใหม่ นำมาใช้เพื่อสร้างความรู้สึกดีกับคนในพื้นที่ เพื่อหวังให้การทำประชาพิจารณ์ในแต่ละครั้งได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่รอบโครงการ

“เพราะฟุตบอลเป็นเพียงกิจกรรมไม่กี่อย่างที่คนในจังหวัดรู้สึกร่วม การเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักทีมฟุตบอล มันทำให้คนในพื้นที่รัก มันง่ายต่อการทำประชาพิจารณ์ในการตั้งโรงงาน คือปกติทำประชาพิจารณ์โรงานมันผ่านยากอยู่แล้ว เพราะนำมลพิษเข้ามา แต่ถ้าชาวบ้านรัก เขาก็ยอม ” แหล่งข่าวท่านนี้กล่าว

เครื่องมือสร้างอำนาจ เครือข่ายและฐานเสียง

ระบบประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้ง  หากต้องการชนะเลือกตั้งจำเป็นต้องมีฐานเสียง และผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นักการเมืองคนสำคัญของหลายพรรคจำต้องเว้นวรรคทางการเมือง ทำให้อดีตนักการเมืองเหล่านี้หันมาลงทุนทำสโมสรฟุตบอลเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ก็คงหนีไม่พ้น เนวิน ชิดชอบ ที่หันมาจับกิจการธุรกิจลูกหนัง เข้าซื้อหุ้นทีมฟุตบอลในไทยพรีเมียร์ลีกในปี 2552 โดยลงทุนในสโมสรฟุตบอลการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมเปลี่ยนทีมบริหารและผู้ฝึกสอนยกชุด  ภายใต้ชื่อ”ทีมบุรีรัมย์-พีอีเอ” ปลุกปั้นทีมฟุตบอลจนก้าวขึ้นมาเป็นทีมชั้นนำและคว้าแชมป์ในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกได้ภายในระยะเวลารวดเร็ว

สายชล ปัญญชิต นักวิชาการอิสระ อธิบายปรากฏการณ์การเข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอลของนักการเมืองไทย ผ่านงานศึกษาเรื่อง “ฟุตบอลไทย อำนาจ การเมือง และความเป็นชาย” ว่า  ปรากฎการณ์ที่นักการเมืองเข้ามาสนับสนุนสโมสรฟุตบอล เกิดขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังการยุติบทบาททางการเมืองจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และอีก 3 พรรคการเมืองในปี 2551 สมัยนายยกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้นักการเมืองสามารถสร้างกิจกรรมที่เชื่อมโยงตนเองไว้กับผู้คน สังคม และความสนใจของสื่อมวลชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

การสร้างฐานมวลชนจากแฟนบอล เป็นอีกหนึ่งวิธีนิยมของนักการเมือง โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น ทั้งโดยการเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนหลัก หรือตั้งทีมฟุตบอลในท้องถิ่นขึ้นมา โดยเฉพาะวิธีหลังมักได้รับความนิยมเพราะแต่ละท้องถิ่นจะมีงบ ประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับกิจกรรมกีฬาในรูปแบบเงินอุดหนุน

ขณะที่วิธีการเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนหลักให้ทีม หากเป็นทีมใหญ่ มีผลงานดี ฐานแฟนคลับมาก กลุ่มทุนมักยื่นข้อเสนอขอเป็นผู้สนับสนุนด้วยตัวเอง เพราะนอกจากธุรกิจของตนจะเป็นที่จดจำและได้รับความนิยมจากฐานแฟนคลับแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ทางบวกให้อีกทางหนึ่ง

ในทางกลับกันหากเป็นทีมฟุตบอลขนาดเล็ก หรือทีมฟุตบอลที่กำลังสร้างชื่อเสียง มักต้องเป็นฝ่ายเข้าไปขอการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ วิธีคือ ยื่นข้อเสนอว่า ตราสินค้าของธุรกิจนั้นๆจะปรากฏบริเวณใดบ้าง ในการแข่งขันแต่ละครั้งจะมีผู้ชมจำนวนเท่าใดที่เห็นตราสินค้านั้น

หากเป็นการเข้าไปขอสนับสนุนจากนักการเมือง หรือทีมบอลของนักการเมืองเข้าไปขอสนับสนุนจากกลุ่มทุน ผลประโยชน์มักเกิดในรูปของ การตอบแทนในอนาคต อาทิ หากนักการเมืองเจ้าของทีมฟุตบอลได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลหรือในระดับท้องถิ่น กลุ่มทุนที่เคยให้การสนับสนุนทีมฟุตบอล มักเป็นตัวเลือกต้นๆ ที่ถูกเลือกเข้าไปร่วมรับผลประโยชน์ในโครงการก่อสร้างต่างๆ ของรัฐ

ณัฐกร วิทิตานนท์ นักวิชาการผู้ทำการศึกษาเรื่องฟุตบอลไทยมาอย่างต่อเนื่องอีกท่านหนึ่ง ได้ระบุไว้ในงานศึกษาเรื่อง "การเมืองกับฟุตบอลไทย" ในหนังสือ "ฟุตบอลไทย: ประวัติศาสตร์ อำนาจ การเมือง และความเป็นชาย" ได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลก ที่สโมสรฟุตบอลถูกผูกขาดความเป็นเจ้าของโดยนักการเมืองแตกต่างจากบริบทของประเทศอื่นๆ ซึ่งฟุตบอลเป็นธุรกิจเต็มตัว นักการเมืองไทยใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือสร้างความนิยมเชิงตัวบุคคล เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง และรักษามันเอาไว้ ขณะเดียวกันอำนาจรัฐก็ช่วยเอื้อให้สโมสรฟุตบอลทำงานได้ง่ายขึ้น สโมสรที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่สร้างตัวจากการพึ่งพิงรัฐ การทำทีมโดยปราศจากอำนาจทางการเมืองจะต้องเผชิญกับความยากลำบาก นั่นเพราะความเป็นรัฐสูงมาก และมีองค์กรภาครัฐหลายระดับเข้ามาเกี่ยวข้องชนิดยากหลีกเลี่ยงฟุตบอลกับการเมืองจึงยังแยกจากกันไม่ออก

สำหรับฟุตบอลในระดับไทยพรีเมียร์ลีกในฤดูการการแข่งขันปี 2558  นี้ จากข้อมูลที่รวบรวมโดยณัฐกร พบว่าทีมฟุตบอลในระดับไทยพรีเมียร์ลีกที่มีความเชื่อมโยงทางการเมือง (พรรคการเมือง, รัฐวิสาหกิจ และราชการ) มีถึง 13 ทีมจากทั้งหมด 18 ทีม ดังนี้ พรรคภูมิใจไทย 3 ทีม (ชัยนาท ฮอร์นบิล, บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และราชบุรี มิตรผล) พรรคชาติไทยพัฒนา 2 ทีม (สุพรรณบุรี เอฟซี และกัลฟ์ สระบุรี เอฟซี) พรรคประชาธิปัตย์ 1 ทีม (การท่าเรือ เอฟซี) พรรคชาติพัฒนา 1 ทีม (นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี) พรรคพลังชล 1 ทีม (ชลบุรี เอฟซี) พรรคเพื่อไทย 1 ทีม (เชียงราย ยูไนเต็ด) รัฐวิสาหกิจ 2 ทีม (ทีโอที เอสซี และการท่าเรือ เอฟซี) และข้าราชการ 2 ทีม (อาร์มี่ ยูไนเต็ด และราชนาวี เอฟซี) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในจับตา)

อ่าน 'จับตา': “กลุ่มผลประโยชน์-ทีมฟุตบอลในระดับไทยพรีเมียร์ลีก (TPL) ฤดูกาล 2015”  

http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5505

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ 
www.facebook.com/tcijthai

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: